xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์ “มูฮัมหมัด ยูนุส”: จากสินเชื่อรายย่อยสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม

เผยแพร่:   โดย: มารวาน มาคาน-มาร์คาร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

From microfinance to social shake-up
By Marwaan Macan-Markar
21/08/2009

มูฮัมหมัด ยูนุส ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากผลงานปฏิวัติวิธีการกระจายสินเชื่อไปในหมู่คนยากจน เวลานี้เขากำลังพินิจพิจารณาไปที่สถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เขากำลังเสนอความคิดเห็นว่า พวกนักศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีมือที่เปรอะเปื้อน เพราะมันไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเองเท่านั้น หากยังดีสำหรับความก้าวหน้าของชาวบ้านในชนบทอีกด้วย

กรุงเทพฯ – หลังจากที่สั่นคลอนแนวความคิดแบบเดิมๆ ทางด้านการธนาคาร โดยเสนอความคิดที่ว่าสินเชื่อคือสิทธิขั้นพื้นฐาน จนสามารถช่วยเหลือคนยากจนในบังกลาเทศ ประเทศบ้านเกิดของเขา ให้ได้รับเงินกู้สำหรับการลงทุนทำธุรกิจขนาดย่อยๆ แล้ว บัดนี้ มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ก็กำลังทอดสายตาของเขาไปยังการสั่นคลอนแนวความคิดอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

“การศึกษาจำเป็นที่จะต้องทำให้บูรณาการเข้ากับชีวิต เข้ากับประสบการณ์และปฏิบัติการจริงๆ” เป็นคำกล่าวของชายผู้นี้ ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในสมญานาม “นายธนาคารของคนยากจน” จากการบุกเบิกริเริ่มความคิดในการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ให้แก่ผู้ยากไร้ทางเศรษฐกิจ และก่อตั้งธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ขึ้นในบังกลาเทศเมื่อปี 1983 ธนาคารแห่งนี้คือองค์การด้านสินเชื่อรายย่อยและการพัฒนาชุมนุม ซึ่งให้เงินกู้ก้อนเล็กๆ แก่คนยากจนในชนบทโดยไม่เรียกร้องการค้ำประกัน

ยูนุสได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 2006 จากความคิดที่เป็นการเปลี่ยนแปลงพลิกผันแนวความคิดแบบเดิมๆ นี้เอง

เมื่อกลางเดือนสิงหาคม นายแบงก์และนักเศรษฐศาสตร์วัย 69 ปีผู้นี้ได้เริ่มต้นการเดินทางมุ่งสู่เป้าหมายอันใหม่ของเขา ด้วยการเปิดดำเนินงาน “ศูนย์ยูนุส” (Yunus Center) ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology หรือ AIT) ศูนย์กลางการเรียนรู้ในด้านการพัฒนาหลายๆ ด้าน ซึ่งตั้งอยู่ย่านชานเมืองหลวงของประเทศไทย ยูนุสมีความสัมพันธ์กับเอไอทีมาอย่างยาวนาน และมีความเชื่อมั่นในภารกิจของสถาบันแห่งหนึ่งในฐานะสถาบันอุดมศึกษาระดับภูมิภาคซึ่งมุ่งส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

เงินทุนเริ่มต้นสำหรับศูนย์ยูนุส จะมาจากทางเอไอที ขณะที่มูลนิธิและองค์กรการพัฒนาอื่นๆ อย่างเช่น องค์การพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Swedish International Development Agency) ก็จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทางด้านการศึกษา

ศูนย์แห่งนี้มีกำหนดเปิดการศึกษาการวิจัยในปลายปีนี้ โดยที่ระบุภารกิจของตนเองเอาไว้ว่า เพื่อยกระดับชาวบ้านชนบทให้พ้นจากความยากจน ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนพวกเขา “ให้สามารถรับมือและสามารถเข้าควบคุมการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาเอง โดยผ่านการทำการเกษตรและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของพวกเขาเอง”

“เราต้องการดึงดูดนักศึกษาซึ่งมีความสนใจที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมของพวกเขา ด้วยการจัดทำโปรแกรมการศึกษาที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งพวกเขาสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงๆ” เขาบอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service หรือ IPS) ระหว่างการให้สัมภาษณ์ภายหลังการเปิดตัวศูนย์ยูนุสในวันที่ 19 สิงหาคม

ต่อไปนี้เป็นบางส่วนของคำสัมภาษณ์

อินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส): คุณเพิ่งประกาศจัดตั้งศูนย์การศึกษาที่มุ่งเน้นพวกประเด็นปัญหาอย่างเช่น ความมั่นคงด้านอาหาร, การเกษตร, และการยกระดับคนจนให้พ้นออกจากความยากจน ศูนย์ของคุณมีความโดดเด่นแตกต่างจากคนอื่นอย่างไร ในเมื่อก็มีสถาบันอื่นๆ อีกหลายแห่งอยู่แล้วซึ่งประกาศจะทำภารกิจแบบเดียวกัน

มูฮัมหมัด ยูนุส: มันจะเป็นมากกว่าแค่ศูนย์วิจัย มันยังจะเป็นศูนย์ปฏิบัติการด้วย เราไม่ได้กำลังจะผลิตกระดาษออกมา ด้วยการบอกให้นักศึกษาเขียนวิทยานิพนธ์ เราต้องการให้นักศึกษาออกแบบโปรแกรการศึกษาของพวกเขาเอง ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ได้ จุดมุ่งหมายก็คือจะต้องให้โปรแกรมการศึกษาเหล่านี้ขับดันโดยประสบการณ์และการมีส่วนร่วมในชีวิต นักศึกษาสามารถที่จะใช้เวลา 1 ปี หรือ 2 ปีหรือมากกว่านั้นนิดหน่อยเพื่อทำตามโปรแกรมการศึกษาของพวกเขาให้จบ นี่คือวิธีที่พวกเขาจะได้ปริญญาจากที่นี่

ไอพีเอส: หมายความว่าสิ่งที่อยู่ในความคิดของคุณนั้นเป็นวิธีใหม่ในการศึกษาใช่ไหม

ยูนุส: ใช่ครับ มันจะเป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ และด้วยการท้าทายคนอื่นๆ ในสิ่งที่คนอื่นๆ กำลังทำๆ กันอยู่ ตลอดจนการท้าทายในสิ่งที่เห็นกันว่าจำเป็นจะต้องทำ ครูบาอาจารย์ในโปรแกรมเช่นนี้จะเป็นพวกที่มีหน้าที่สนับสนุน นักศึกษาจะเป็นผู้มีบทบาทนำ พวกเขาจะบอกอาจารย์ถึงแผนการที่พวกเขามีอยู่, ทำไมพวกเขาจึงเลือกที่จะทำเช่นนั้นเช่นนี้, และพวกเขาคาดหวังที่จะนำแผนการเหล่านี้มาปฏิบัติด้วยวิธีใด ขณะที่อาจารย์ก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นเพื่อคอยวิพากษ์วิจารณ์นักศึกษา แต่เพื่อที่จะได้เรียนรู้ให้มากขึ้น

ไอพีเอส: คุณได้แรงบันดาลใจจากไหนที่ทำให้คุณคิดที่จะเดินไปในเส้นทางแบบนี้

ยูนุส: ผมก็ขบคิดถึงแบบจำลองของการเรียนรู้แบบนี้อยู่เรื่อยๆ แหละ คนหนุ่มสาวไม่ควรที่จะเอาแต่นั่งอยู่ในห้องเรียน พวกเขามีศักยภาพอันมหาศาลยิ่งที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง พวกเขามีพละกำลังอันมหาศาลเหลือเกิน พวกเขาควรที่จะก้าวออกไปและรับมือกับปัญหาต่างๆ โดยตรง และพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้น

ไอพีเอส: เป็นไปได้ไหมว่าสิ่งที่คุณกำลังทำที่นี่ ก็คือการเดินตามเรื่องราวของคุณเองที่ออกไปทำงานโดยตรงกับคนยากจน ถึงแม้คุณจะไปศึกษาไปผ่านการอบรมเพื่อเป็นนักเศรษฐศาสตร์อาชีพ ได้ปริญญาเอก แล้วก็สอนอยู่ในบรรยากาศของมหาวิทยาลัยตามแบบแผน

ยูนุส: ครับ นั่นคือสภาพตอนที่ผมเริ่มทำงานเรื่องกรามีนแบงก์ จริงครับ นั่นคือสิ่งที่ผมทำหลังจากที่ก้าวออกจากมหาวิทยาลัยและเริ่มจัดตั้งธนาคาระดับรากหญ้า ด้วยการทำงานกับคนยากจนในหมู่บ้านข้างๆ ดังนั้น ผมจึงกำลังบอกว่า พอได้แล้วเรื่องการเขียนวิทยานิพนธ์ มีคนทำงานอย่างนั้นมากพอแล้ว แต่มีคนบางคนจะต้องก้าวออกไปและค้นคว้าปัญหาสังคมต่างๆ กันที่ชุมชนคนยากจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม, ปัญหาความยากจน, การเกษตร, สุขภาพที่ย่ำแย่, ที่อยู่อาศัย แล้วก็แก้ไขมันตรงนั้นเลย และถ้าหากมันเป็นผลงานชั้นเยี่ยม นักศึกษาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นตัวอย่างของทั่วทั้งประเทศของพวกเขา

ไอพีเอส: หมายความว่าพวกมหาวิทยาลัยและประชาคมวิชาการตามแบบแผนเดิมๆ ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาบางเรื่องที่คุณกังวลห่วงใย อย่างเช่น การเกษตร หรือความมั่นคงด้านอาหาร ใช่ไหม

ยูนุส: มันยังมีช่องว่างอยู่เยอะแยะเลย พวกอาจารย์น่ะไม่มีความรู้ชนิดที่นำมาใช้ปฏิบัติได้ พวกเขาอยู่ในหอคอยงาช้าง ชีวิตจะต้องถูกนำมาบูรณาการเข้ากับการศึกษา เพราะชีวิตคือสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา แต่การศึกษาเป็นสิ่งที่กำลังถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง การศึกษาควรที่จะเป็นตัวนำหน้าไปไกล และไม่เอาความรู้เก่าๆ มาแบ่งปันให้กับประชาชน การศึกษาควรหมายถึงความพยายามที่จะนำเอาความรู้แห่งอนาคตมาให้กับประชาชน เพื่อที่พวกเขาจะได้สามารถก้าวไปสู่อนาคตได้

ไอพีเอส: แล้วจะว่ายังไงกับเรื่องคุณประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ล่ะ ที่ผ่านมาทาง “การปฏิวัติเขียว” (Green Revolution) ซึ่งพวกนักวิจัยได้รับการยกย่องเรื่อยมาว่า สามารถช่วยเหลือแก้ไขความหิวโหยในภูมิภาคแถบนี้ได้

ยูนุส: ใช่ครับ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีสำหรับการเกษตรครั้งที่ยอดเยี่ยมที่สุด เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 โดยผ่านการปฏิวัติเขียว พวกผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งที่สำคัญแล้วก็คือ ข้าว มีการเพิ่มผลิตขึ้นมาอย่างฉับพลันทันใด ทว่าหลังจากนั้นมันก็ดูเหมือนกับยืนนิ่งอยู่กับที่ หลังจากนั้นแล้วเราไม่ได้เห็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในทางการเกษตรอีกเลย แต่ในขณะเดียวกัน โลกกลับมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทว่าการเปลี่ยนแปลงในการเกษตรกลับดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ผลผลิตอาหารกำลังเพิ่มขึ้นในอัตราเชื่องช้าลง ขณะที่ตลาดกำลังขยายตัวออกไป

ไอพีเอส: แล้วคุณเห็นว่าเป็นเพราะอะไรจึงทำให้คุณประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการเกษตร ยังไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

ยูนุส: เพราะมีด้านอื่นๆ ที่น่าตื่นเต้นกว่า เป็นที่ซึ่งวิทยาศาสตร์สามารถที่จะไปรวมศูนย์และก็เป็นที่ซึ่งเงินทองกำลังหลั่งไหลเข้าไป อย่างเช่น เทคโนโลยีการสื่อสาร และโทรศัพท์มือถือ พวกนี้มีตลาดที่ใหญ่โต พวกนี้กำลังดึงดูดความสนใจของผู้คนนับล้านๆ ที่ต้องการมีโทรศัพท์มือถือไว้พกติดตัว เงินทองใหญ่ๆ คาดการณ์กันแล้วก็ต้องวิ่งไปในทิศทางนั้น แต่การเกษตรไม่ได้ถูกมองว่าเป็นส่วนที่น่าตื่นเต้น ไม่ได้เป็นส่วนที่สามารถทำเงินทำทองได้มากมาย ด้วยเหตุนี้มันจึงต้องออกมาในรูปของธุรกิจเพื่อสังคม (social business) นี่คือแนวความคิดที่ผมกำลังส่งเสริมสนับสนุนโดยผ่านทางศูนย์ใหม่แห่งนี้ มันจะเน้นเรื่องการสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นต่อสังคมมากกว่าการหาเงินหาทอง

ไอพีเอส: แต่คุณกำลังออกมาขวางแนวโน้มทางด้านประชากรนะ แนวโน้มที่พวกคนหนุ่มสาวในพื้นที่ชนบทกำลังโยกย้ายเข้าไปในเมืองใหญ่เพราะสามารถหางานทำและมีชีวิตที่น่าตื่นเต้นกว่า คุณจะทำให้ชีวิตในการเกษตรเป็นชีวิตที่มีความสุขสำหรับคนหนุ่มสาวได้ยังไง

ยูนุส: ทุกวันนี้ วิถีชีวิตแบบที่สร้างขึ้นมาโดยเศรษฐกิจแบบมุ่งหาเงินหาทองนั้น ทุกๆ คนต่างต้องพยายามมองหาว่าเงินทองอยู่ที่ไหน และพวกเขาก็อาจจะไม่ต้องการนั่งอยู่ในหมู่บ้านเพราะมันไม่มีเงินทองอยู่ที่นั่น อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณแหวกออกมาจากกระบวนทัศน์แบบนี้ มองกันให้เข้าใจว่าชีวิตควรจะเป็นอย่างไร และบอกว่า “ผม/ดิฉันสามารถมีความสุขได้ด้วยการทำให้เกิดผลกระทบต่อสังคมขึ้นมา ด้วยการแก้ไขปัญหาของประชาชนและชีวิตของพวกเขา” คุณก็จะมองสิ่งต่างๆ แตกต่างออกไป จากนี้ไปจุดเน้นจะกลายเป็นเรื่องการสร้างผลกระทบต่อสังคม เป็นพันธะผูกพัน เป็นการอุทิศตน มันเป็นอะไรที่ออกจากหัวใจของพวกเขาเอง ไม่ใช่เพราะมีใครบางคนกำลังจ่ายเงินให้พวกเขาทำสิ่งเหล่านี้

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น