xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ดันแบงก์เปิดไมโครไฟแนนซ์ รับเรื่องยาก-ยก4ทางเลือกปรับใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เกริก"จี้แบงก์ไทยเปิดบริการไมโครไฟแนนซ์ ระบุสามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอขอธปท. แม้เป็นเรื่องยาก ส่วนผู้เล่นรายใหม่ที่เข้ามาให้บริการนี้เปิดช่องเข้ามาปี 55 เป็นต้นไป ย้ำไม่ได้ยกเรื่องนี้เป็นข้อต่อรองแบงก์ไทย แต่หวังแบงก์ไทยแข่งขันต่างชาติได้ภายใต้ตลาดเสรี ด้านข้อพิพาทไทยกับกัมพูชาไม่ห่วงสาขาแบงก์ไทย ซึ่งปัจจุบันมีไม่ถึง 10 แห่งและมั่นใจแบงก์ไทยสามารถดูแลตัวเองได้

นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เปิดเผยว่า ขณะนี้ธปท.ได้เปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ในระบบสามารถให้บริการด้านการเงินฐานราก(ไมโครไฟแนนซ์)ได้ทันที โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากธปท.หลังจากที่แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 ซึ่งได้เวลาร่างมาตั้งแต่ปี 50และได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อช่วยให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ส่วนผู้ให้บริการรายใหม่จะเปิดโอกาสให้ในปี 55-57 ต่อไป

“แบงก์พาณิชย์ไทยสามารถนำตัวอย่างรูปแบบที่มีอยู่ทั่วโลกมาใช้ได้ หรืออาจพัฒนารูปแบบใหม่ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้แบงก์ อีกทั้งไม่ได้ยกเรื่องเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาในระยะต่อไปเป็นข้อต่อรอง แม้ยอมรับว่าเรื่องไมโครไฟแนนซ์ในขณะนี้จะเป็นเรื่องยากที่แบงก์ไทยจะทำ เพราะเป็นจำนวนเงินที่น้อยต่อธุรกรรมแต่เราต้องการเห็นเขามีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ภายใต้ระบบตลาดเสรี จึงต้องมีการพัฒนาการเงิน และสร้างราคาค่าบริการที่ไม่แพงให้แก่ผู้บริโภคด้วย” นายเกริก กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันในประเทศไทยมีสภาพคล่องจำนวนมาก ขณะเดียวกันรูปแบบและกระบวนการต่างๆ ของไมโครไฟแนนซ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็กระจายอยู่ทั่วไปในต่างประเทศ หรืออาจนำความรู้เหล่านี้นำมาสร้างเป็นรูปแบบใหม่ก็ได้ โดยเท่าที่ธปท.ศึกษาอยู่มี 4 รูปแบบ โดยรูปแบบที่ 1 เรียกว่ากรามีนแบงก์ ซึ่งรูปแบบนี้อยู่ในประเทศบังคลาเทศและอินเดียถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยให้คนจนกู้ยืมเงินไปซื้อของมาขายตามบ้านเรือนคนต่างๆ เสมือนร้านขายของชำเคลื่อนที่ ซึ่งช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ต้องออกจากหมู่บ้านไปซื้อของในพื้นที่ห่างไกล ขณะเดียวกันคนจนได้รับรายได้เพิ่มเติมด้วย

รูปแบบที่ 2 เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียเรียกว่า ดานามอนแบงก์ ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ หรือในไทยเปรียบเสมือนธนาคารเฉพาะกิจของรัฐที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ รูปแบบที่ 3 เกิดในประเทศแถบแอฟริกาตะวันออก โดยเฉพาะประเทศเคนยาที่ประชาชนเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินถึง 80%โดยรูปแบบนี้มีบริษัทมือถือยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษอย่างโวดาโฟนมาให้บริการทางการเงินผ่านมือถือและสร้างตัวแทนที่เป็นร้านค้าต่างๆ รวมถึงเปิดรับสมาชิกที่ต้องการบริการทางการเงินผ่านตัวแทนร้านค้า ทำให้เพิ่มความสะดวกและลดข้อกัดในการใช้บริการ จากเดิมที่ต้องโอนเงินขั้นต่ำแปลงเป็นสกุลเงินบาทอยู่ที่ 1,000 บาทต่อรายการ เหลือแค่ 100 บาทเท่านั้น

ส่วนรูปแบบสุดท้ายอยู่ในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกันอาทิ ประเทศบราซิล เม็กซิโก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้แม้ประเทศเหล่านี้พัฒนามากกว่าไทย แต่สถาบันการเงินมาให้บริการได้ลำบาก แต่รูปแบบนี้กลับใช้ข้อดีจากที่มีร้านชำจำนวนมากกระจายทุกแห่งให้นำเครื่องเอทีเอ็มไปติดตั้ง ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการจะได้รับบัตรเอทีเอ็มใช้บริการเครื่องเอทีเอ็มดังกล่าว ทำให้สามารถใช้บริการทางการเงินโดยการเกาะกลุ่มกับระบบธนาคาร

**หวังNIMแคบลง**

รองผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ในระบบมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เฉลี่ย 3% ถือว่าอยู่ระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยสิงคโปร์อยู่ที่ระดับ 2.5% มาเลเซีย 2.7% ฟิลิปปินส์กว่า 3% และอินโดนีเซีย 5-6% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธปท.ต้องการเห็น คือรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยแคบลงกว่าในระดับปัจจุบันและธนาคารพาณิชย์ควรเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ด้วยและช่วยให้ภาคธุรกิจไทยให้มีต้นทุนต่ำสามารถแข่งขันระหว่างประเทศได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น

**ไม่ห่วงแบงก์ไทยในกัมพูชา**

นายเกริก กล่าวว่า สำหรับความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เชื่อว่าด้านการค้าขายระหว่างประเทศจะไม่มีปัญหา ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ไทยที่ไปตั้งสาขาในกัมพูชาสามารถดูแลกันเองได้ ซึ่งปัจจุบันมีไม่ถึง 10 แห่ง ถือว่ามีสาขาไม่มากนัก และเชื่อว่าผู้ที่ทำงานในพื้นที่ดังกล่าวจะเข้าใจปัญหาได้ดีประกอบกับกระทรวงการต่างประเทศไทยก็มีการเตือนผู้ประกอบการในพื้นที่อยู่เป็นระยะจึงไม่น่าเป็นห่วง
กำลังโหลดความคิดเห็น