xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์ชี้สัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีนดีขึ้น ถ้าพรรคดีพีเจฝ่ายค้านชนะเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คาดหมายกันว่า ยูกิโอะ ฮาโตยามะ หวัหน้าพรรคดีพีเจ จะได้เป็นผู้นำญี่ปุ่นคนใหม่
รอยเตอร์ –ชัยชนะของพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ แจแปน (ดีพีเจ) ที่คาดกันว่าจะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ (30) นี้ จะเป็นการเปิดทางสู่การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ในช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการหลีกเลี่ยง ไม่ให้มีอะไรมารบกวนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่สุดของพวกตน

ผลสำรวจความเห็นในญี่ปุ่นกำลังชี้ให้เห็นว่า พรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ (แอลดีพี) คงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องตกจากอำนาจ ภายหลังขึ้นเป็นรัฐบาลปกครองญี่ปุ่นแทบจะต่อเนื่องตลอดห้าสิบปีที่ผ่านมา ในสภาพเช่นนี้หมายความว่า ปักกิ่งก็จะต้องปรับตัวให้เข้ากับคณะรัฐบาลใหม่ในกรุงโตเกียว ซึ่งยังไม่เคยทำหน้าที่บริหารมาก่อนอีกทั้งมีแนวโน้มที่จะแตกแยกกันภายในด้วย
คลิกอ่าน--เกาะติด "เลือกตั้ง" สู่ยุคใหม่ญี่ปุ่น 2009

แต่พวกนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองและสามของโลกนี้จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

เวลานี้ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังต้องให้ความสำคัญกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจภายหลังภาวะทรุดดิ่งทั่วโลก โดยที่ท่าทีของพรรคดีพีเจซึ่งพรักพร้อมกล้าเผชิญปัญหาตกค้างเรื้อรังจากความขัดแย้งของทั้งสองประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนมุ่งมั่นที่จะสานสายสัมพันธ์กับประเทศแถบเอเชียให้ดีขึ้น ก็ถือว่าเป็นท่าทีที่ได้แต้มจากจีนทั้งสองเรื่อง

“ปัญหาและความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับญี่ปุ่นจะยังไม่หายไปถึงแม้พรรคดีพีเจขึ้นสู่อำนาจ แต่โดยรวมแล้วนโยบายของพรรคนี้ก็ถือว่าเอื้ออำนวยไปในทางบวกอย่างมากสำหรับความสัมพันธ์นี้” เป็นความเห็นของหลิวเจียงหยง ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยชิงหวา ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลจีนและเคยพบปะกับผู้นำของพรรคดีเจพีหลายคน

เขากล่าวต่อไปว่า “แน่นอน ภายในพรรรคดีพีเจมีความเห็นที่ผิดแผกแตกต่างกัน และในช่วงแรกๆ อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนบางประการขึ้นมา ทว่าโดยภาพรวมแล้วพวกเขาต้องการให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ซึ่งจีนเองก็คิดเช่นนั้น”
เด็กชาวญี่ปุ่นมาร่วมงานหาเสียงของนายกรัฐมนตรี ทาโร อาโซะ หัวหน้าพรรคแอลดีพี
ความแตกแยกหมาดหมางอย่างรุนแรงระหว่างโตเกียวกับปักกิ่ง จะกระทบกระเทือนต่อการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ
ในภาวะปัจจุบันที่ความต้องการของสหรัฐฯต่อสินค้าส่งออกของทั้งจีนและญี่ปุ่นคงจะไม่ฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับเดิมอีก ทำให้มหาอำนาจเอเชียทั้งสองต่างก็ไม่ต้องการเสี่ยงทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับโตเกียวตกอยู่ในอาการไร้เสถียรภาพ ซุนเฉิง ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองญี่ปุ่นประจำมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ของจีนกล่าว

“แนวโน้มเศรษฐกิจในภาพกว้าง คือสิ่งที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีน” เขาชี้ “ภายใต้รัฐบาลพรรคดีพีเจ ญี่ปุ่นจะยังคงต้องมีท่าทีต่อจีนแบบผสมปนเปกัน กล่าวคือต้องการให้สองฝ่ายพึ่งพากันและกันทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น แต่ก็ยังกังวลกับผลลัพธ์ที่จะติดตามมา”

ในยุครัฐบาลพรรคแอลดีพีนั้น สายสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับจีนมีการปรับเปลี่ยนกลับไปกลับมา ระหว่างความเป็นศัตรูที่เย็นชาต่อกัน และการรอมชอมปรองดองกันแบบลังเลไม่แน่ใจ
ช่วงที่ตึงเครียดที่สุดคือในสมัยของนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ (2001-2006) เนื่องจากโคอิซูมิเดินทางไปยังศาลเจ้ายาสุคูนิเพื่อคารวะดวงวิญญาณผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่จีนและหลายประเทศในเอเชียมองว่าศาลเจ้าดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์กระตุ้นเตือนถึงความโหดร้ายของทหารญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองภูมิภาคนี้ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตาม ผู้นำแอลดีพีที่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อๆ จากโคอิซูมิ ได้เปลี่ยนท่าทีและไม่เดินทางไปที่ศาลเจ้าดังกล่าวอีก จึงทำให้ความสัมพันธ์กับจีนดีขึ้น และยูกิโอะ ฮาโตยามะ หัวหน้าพรรคดีพีเจก็ได้บอกเช่นกันว่าเขาจะไม่ไปศาลเจ้าดังกล่าว

กระนั้นก็ตาม ญี่ปุ่นและจีนก็ยังจะต้องสะสางข้อพิพาทต่อกันในเรื่องอื่นๆ อีก โดยเฉพาะเรื่องแหล่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์ รวมทั้งความกังวลใจอยู่ลึกๆ ของญี่ปุ่นต่อการที่จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทมากขึ้นในเอเชียและในโลก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การทหาร และการเมือง

ซุนกล่าวว่า ถ้าหากชาวญี่ปุ่นตื่นขึ้นมาในเช้าวันจันทร์ (31) และพบว่าว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือฮาโตยามะ ความขัดแย้งและความกังวลในเรื่องดังกล่าวของญี่ปุ่นก็จะยังคงมีอยู่ เฉกเช่นเดียวกับปัญหาต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในภูมิภาคแถบนี้

จีนอาจจะตอกกลับรัฐบาลใหม่ในโตเกียวอย่างรวดเร็ว ถ้าหากรัฐบาลนี้กดดันจีน

ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและปัญหาในทิเบตและซินเจียง เพราะจีนถือว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาภายในของจีนเอง และสาธารณชนชาวจีนซึ่งมีลักษณะชาตินิยมสูงมาก ก็จะลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่นผู้เคยเป็นศัตรูโหดเหี้ยมในช่วงสงคราม

ฟิล ดีนส์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แห่ง มหาวิทยาลัยเทมเปิลวิทยาเขตโตเกียว มีความเห็นว่า แม้เมื่อขึ้นครองอำนาจแล้ว พรรคดีเจพีก็คงจะไม่เปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ให้แตกต่างไปจากรัฐบาลของพรรคแอลดีพีมากนัก

ขณะที่ ศาสตราจารย์หวงต้าหุ่ย ผู้เชี่ยวชาญการเมืองญี่ปุ่นแห่งมหาวิทยาลัยเหรินหมินในปักกิ่ง ให้ความสนใจมากกว่าในประเด็นที่พรรคดีเจพีให้คำมั่นจะเปิดทางร่วมมืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับจีน ในปัญหาเกาหลีเหนือ และปัญหาอื่นๆ ของภูมิภาคแถบนี้

พวกนักวิชาการชาวจีนยังเห็นแตกต่างจากนักวิชาการตะวันตกอย่างดีนส์ โดยชี้ถึงคำพูดของฮาโตยามะ ที่เคยเหน็บแนมเยาะหยัน ทาโร อาโซะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ซึ่งพยายามส่งเสริมนโยบายการทูตแบบเน้น “ค่านิยม” ทั้งนี้ฮาโตยามะบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่จะต้องสร้างสายสัมพันธ์กับชาติต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีค่านิยมอย่างเดียวกับญี่ปุ่น

ศาสตราจารย์หลิวแห่งมหาวิทยาลัยชิงหวากล่าวว่า “เพื่อรวบรวมอำนาจเข้ามาไว้ในมือให้แข็งแกร่ง พรรคดีพีเจจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายการต่างประเทศที่มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับสหรัฐฯและกับจีน” กระนั้นก็ตาม “ญี่ปุ่นก็จะต้องเน้นหนักให้ความสนใจกับตนเองก่อนอื่นใด”

คลิกอ่าน--เกาะติด "เลือกตั้ง" สู่ยุคใหม่ญี่ปุ่น 2009

กำลังโหลดความคิดเห็น