xs
xsm
sm
md
lg

เซ็งการเมือง ?

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ระยะนี้มักจะมีข่าวออกมาเป็นระยะว่า ผู้คนชาวไทยจำนวนไม่น้อยต่างก็เกิดอาการเซ็งการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้เอามากๆ คือเกิดอาการเบื่อหรือไม่สนุกกับการเมืองที่เป็นอยู่จนไม่รู้จะทำยังไง

อันที่จริงแล้ว อาการเซ็งการเมืองที่ว่านี้ไม่ได้เป็นเอาเฉพาะในช่วงนี้ หากแต่เกิดมาแล้วหลายปีก่อนหน้านี้ เพียงแต่ช่วงก่อนหน้านี้ยังไม่มีใครบ่นให้ได้ยินดังๆ เท่านั้น เราจึงไม่ค่อยรู้กัน หรือถึงรู้ก็ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า อาการเซ็งนี้จะยืนยาวมาจนถึงบัดนี้

อาการเซ็งการเมืองนั้นเป็นอย่างไร นับเป็นเรื่องที่ชวนคิดชวนอภิปราย แต่โดยทั่วไปแล้วน่าจะเข้าใจร่วมกันว่า เป็นอาการที่ผู้คนรู้สึกเบื่อพฤติกรรมของนักการเมือง ฉะนั้น สิ่งที่เราควรเข้าใจร่วมกันก่อนก็คือ ที่ว่าเบื่อพฤติกรรมของนักการเมืองนั้น เบื่ออะไรอย่างไร

เท่าที่ผมลองประมวลดูแล้ว พบว่า พฤติกรรมที่ชวนให้เซ็งของนักการเมืองอาจแบ่งอธิบายได้เป็นข้อๆ ดังนี้

หนึ่ง เป็นพฤติกรรมแบบไม้หลักปักขี้เลน คือเป็นคนที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ วันนี้พูดอย่าง พรุ่งนี้พูดอีกอย่าง หรือไม่ก็พูดอย่าง แต่ทำอีกอย่างตรงข้ามกับที่พูด

ถ้าหากอาการเซ็งเป็นไปตามข้อแรกนี้แล้วละก็ ผมขอบอกว่า นี่คือพฤติกรรมของนักการเมืองแทบจะทั่วโลก ซึ่งไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบอย่างไรก็ต้องยอมรับ แต่ถ้าถามว่า ทำไมนักการเมืองจึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ คำตอบเบื้องต้นก็คือว่า นั่นเป็นพฤติกรรมที่แฝงการ “ต่อรอง” อะไรบางอย่างเอาไว้ หรือพูดอีกอย่างก็คือคำที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “เล่น” การเมืองนั่นเอง

ฉะนั้น หากเราเกิดอาการเซ็งการเมืองขึ้นมาเพราะข้อนี้ สาเหตุก็คงเป็นเพราะนักการเมือง “เล่น” กันมากจนเกินไป มากยังกับว่าบ้านเมืองเป็นสนามเด็กเล่น และคนดู (คือชาวเราทั้งหลาย) โง่หมือนคนกินแกลบยังไงยังงั้น

สอง เป็นพฤติกรรมที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬาหรือไม่มีสปิริต คือเป็นคนที่ไม่ยอมรับผิดเวลาที่ทำผิด หรือเมื่อสังคมจับได้คาหนังคาเขาว่าทำผิด แต่ก็ไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ให้เห็น เช่น กล่าวคำขอโทษ หรือไม่ก็ลาออกจากตำแหน่งที่นั่งอยู่

อาการเซ็งในข้อนี้หนักกว่าข้อแรก เพราะในข้อนี้ถ้าหากเปรียบเทียบกับนักการเมืองในประเทศที่เจริญมากกว่าไทยอย่างสหรัฐฯ ยุโรป หรือญี่ปุ่น หรือน้อยกว่าไทยในอีกบางประเทศแล้ว ของไทยกลับทำไม่ได้อย่างนักการเมืองต่างประเทศ กล่าวคือว่า เวลาที่นักการเมืองในประเทศเหล่านั้นทำอะไรผิด หรือทำไม่ได้ตามที่ได้สัญญิงสัญญาเอาไว้ เขาจะมีน้ำใจนักกีฬาหรือสปิริตด้วยการแสดงคำขอโทษ หรือไม่ก็ลาออกจากตำแหน่งการเมือง ถ้าหนักข้อยิ่งกว่านั้นก็ฆ่าตัวตายหนีอายไปเสีย (อย่างกรณีนักการเมืองญี่ปุ่น) แต่กับนักการเมืองไทยแล้วไม่มีการแสดงสปิริตแบบที่ว่าแม้แต่น้อย ได้แต่ทำไขสือไม่รู้ไม่ชี้ ถ้าแย่กว่านั้นก็จะสวนกลับด้วยคำพูดแรงๆ ด้วยความโมโหโกรธาเวลาที่ถูกนักข่าวถาม

การแสดงปฏิกิริยาอย่างหลังนี้ถือว่าแย่มากๆ เพราะคนที่ควรเป็นฝ่ายพูดแรงๆ หรือด่า หรือแสดงอาการโกรธก็คือ ประชาชนหรือชาวบ้าน ไม่ใช่นักการเมืองคนนั้น

ข้อสาม เป็นพฤติกรรมที่ไร้จิตสำนึกทางการเมือง ในข้อนี้หากจะกล่าวอีกอย่างก็อาจจะคาบเกี่ยวกับการไม่มีจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมือง แต่เนื่องจากทุกวันนี้การเมืองมีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน (ซึ่งยังแบ่งขาวแบ่งดำได้ชัดเจน) จุดยืนหรืออุดมการณ์จึงกลายเป็นเรื่องที่หาได้ยากในหมู่นักการเมืองไปแล้ว

ฉะนั้น ที่ผมใช้คำว่าจิตสำนึกในที่นี้ ผมต้องการสื่อความหมายกว้างๆ ที่อาจจะรวมหรือไม่รวมจุดยืนหรืออุดมการณ์ทางการเมืองก็ได้ แต่จิตสำนึกตามปกติจะต้องมี ถ้าไม่มีก็จะเป็นปัญหา ซึ่งก็คืออีกข้อหนึ่งที่ชวนให้เซ็งนักการเมืองไทย

ถ้าเช่นนั้นแล้ว อะไรคือสิ่งที่บ่งชี้ว่า นักการเมืองไทยไม่มีจิตสำนึกทางการเมืองเล่า? คำตอบเบื้องต้นที่เห็นได้ชัดและเห็นมานานแล้วก็คือ การที่นักการเมืองไทยมา “เล่น” การเมืองนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีความรู้อย่างที่คนจะมีอาชีพนักการเมืองพึงรู้หรือควรรู้ แต่มา “เล่น” เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้กับตนเองบ้าง เพราะต้องการ “สืบสันตติวงศ์” บ้าง (เช่น พ่อ “เล่น” การเมืองแล้ว ก็อยากให้ลูกหรือหลานได้ “เล่น” สืบทอดต่อไป) เพราะต้องการมีตำแหน่งเพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลบ้าง ฯลฯ

นักการเมืองที่มีพฤติกรรมเช่นนี้หาได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน และเพราะมีมากขึ้น เราจึงได้เห็นนักการเมืองเหล่านี้แสดงภูมิของตนออกมาแบบไม่น่าเป็นไปได้ เช่น ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการปฏิวัติ 2475 ไม่รู้จักเหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา หรือเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ไม่รู้แม้กระทั่งเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นไม่รู้แม้กระทั่งเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในไทยปัจจุบันด้วยซ้ำ ฯลฯ

เรียกได้ว่าเป็นคนที่ไม่ศึกษา ไม่อ่าน ไม่ติดตาม และไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น หรือถ้าแสดงภูมิรู้อะไรให้เห็นให้ได้ยินบ้าง ก็จับได้ว่าไม่ได้อ่านเอง แต่ฟังเขาเล่ามาอีกที นักการเมืองประเภทนี้สนใจอยู่อยู่แต่ว่าตนจะได้ตำแหน่งอะไร จะได้เงินเท่าไหร่กับการยกมือในสภาหรือการเข้าสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่ง จะได้อภิสิทธิ์อะไรเพื่อแสดงความกร่าง เป็นต้น เพราะไร้จิตสำนึกเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่เราจะได้เห็นนักการเมืองประเภทนี้ชอบทำตัวเป็น “เจ้าองค์ใหม่” อยู่เสมอ

ที่ผมประมวลมานี้คิดว่าน่าจะพอแก่การ ถึงคิดว่าน่าจะมีมากกว่า 3 ข้อ แต่แค่ 3 ข้อนี้ก็เต็มกลืนจนเกินกว่าจะไม่เซ็งได้ยังไงอีก

จะอย่างไรก็ตาม ถึงจะประมวลสรุปได้แค่ 3 ข้อ แต่เพียงข้อใดข้อหนึ่งใน 3 ข้อนี้ ผมเชื่อว่า ต่างล้วนทำให้เกิดอาการเซ็งได้เท่าๆ กัน ฉะนั้น ถ้ามีครบทั้ง 3 ข้อด้วยแล้วก็ยิ่งแล้วใหญ่ และโชคร้ายก็คือว่า คนไทยต้องเจอกับนักการเมืองที่มีคุณวิบัติหรือโทษสมบัติทั้ง 3 ข้อนี้รวมกันเสียด้วย เหตุดังนั้น ถ้าไม่เซ็งตอนนี้แล้วจะไปเซ็งตอนไหน? แต่ข่าวดีก็คือว่า ในโชคร้ายก็ย่อมมีโชคดี เพราะไม่ว่าท่านจะเซ็งการเมืองหนักเบาอย่างไร มันก็ยังดีที่มันเป็นเพียงแค่เซ็ง ไม่ได้ไปไกลกว่านั้น

ที่ว่าโชคดีก็เพราะว่า อาการเซ็งของคนเราเป็นอาการที่มีลักษณะชั่วคราว โอกาสที่จะพัฒนาไปสู่โรคต่างๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคเบื่ออาหาร โรคเครียด หรือโรคร้ายอย่างมะเร็งนั้น มีน้อยจนแทบจะไม่มีก็ว่าได้

อาการเซ็งที่เกิดขึ้นอย่างหนักสุดก็แค่ทำให้เรารู้สึกหมดสนุกกับเรื่องนั้นไปชั่วขณะเท่านั้น ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่า เวลาที่เราหมดสนุกกับอะไรก็ใช่ว่าเราจะหาอะไรที่สนุกใหม่ๆ มาแทนที่ไม่ได้เสียเมื่อไหร่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมขอบอกว่า การที่เกิดอาการเซ็งการเมืองนั้น ถือว่าเป็นโชคดีของสังคมไทย เพราะที่เซ็งกันนั้นก็ด้วยสำนึกที่ใฝ่ดีกับบ้านเมือง อยากจะเห็นบ้านเมืองมีการเมืองที่สร้างสรรค์ ดังนั้น พอเห็นมันไม่สร้างสรรค์ซ้ำๆ ซากๆ นานนับปี อาการเซ็งก็ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา

ในขณะเดียวกันก็แน่นอนว่า อาการเซ็งย่อมไม่ใช่อาการที่น่าพิสมัย เป็นอาการที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ไม่ว่าจะเซ็งอะไรก็ตาม แต่กับกรณีอาการเซ็งการเมืองซึ่งไม่น่าพิสมัยเช่นกันนั้น ผมมีวิธีแก้เพื่อให้เกิดการผ่อนคลายเหมือนกัน นั่นคือ ให้หยุดติดตามการเมืองแบบใจจดใจจ่อไปสักระยะหนึ่ง

ที่ว่าอย่าติดตามแบบใจจดใจจ่อหมายความว่า ให้ติดตามแค่ข่าวพาดหัวบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือถ้าจะพลิกไปอ่านในหน้าต่อ ก็อย่าอ่านรายละเอียด แต่ให้อ่านเฉพาะหัวข้อที่แทรกอยู่ระหว่างย่อหน้า และถ้าไม่อ่านได้เลยก็ยิ่งดี (ให้อ่านข่าวอื่นแทน) หรือถ้าใครที่เคยอ่านข่าวผ่านเว็บไซต์ ก็ขอให้ใจแข็งอย่าไปเปิดอ่านเป็นอันขาดสักระยะหนึ่ง แต่ถ้ายังใจไม่แข็งพอ ก็ให้อ่านแบบที่ผมแนะนำให้อ่านหนังสือพิมพ์

ที่ผมแนะนำเช่นนั้นก็เพราะผมเคยไปอยู่ต่างประเทศเป็นแรมเดือน อยากรู้ข่าวเมืองไทย (โดยที่ไม่ได้เซ็งอะไรทั้งสิ้น) ก็ไม่อาจรู้ได้ (ซึ่งเซ็งไปอีกแบบ) แต่พอกลับมาเมืองไทยแล้วดูข่าวย้อนหลัง กลับพบว่าไม่มีอะไรใหม่ในการเมืองไทยจากเวลาแรมเดือนที่ผ่านมา ประสบการณ์นี้ทำให้ผมพบว่า การเมืองไทยก็ไม่ต่างกับละครน้ำเน่า นั่นคือ ดูตอนแรกตอนเดียวแล้วมาดูอีกทีตอนอวสาน มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกขาดช่วงขาดตอนหรือล้าหลังแต่อย่างใด

ถ้าใครเซ็งก็ลองดูเถิดครับ ส่วนใครที่ไม่เซ็งก็ว่ากันไปตามสบาย
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น-ไม่ว่าคนไหนก็ต้องประสบความล้มเหลว
ช่างไม่เหมือนกับในสหรัฐอเมริกาเลย สำหรับบุคคลที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศในญี่ปุ่นนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียว อัตราต่อรองของเขาจะหนักไปทางข้างประสบความล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ ในสภาพที่ต้องอยู่ท่ามกลางระบบราชการซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเอง , ต้องเผชิญกับผลสำรวจคะแนนนิยมที่รุกคืบกดดันอยู่ตลอดเวลา, ไปจนถึงการไร้มืออาชีพมาช่วยเขียนร่างคำปราศรัย นายกรัฐมนตรีแดนอาทิตย์อุทัยไม่ว่าคนไหนก็ตาม จึงเหมือนกับถูกปล่อยปละทอดทิ้ง จนไม่สามารถที่จะหว่านเสน่ห์เรียกความสนับสนุนจากสาธารณชน หรือดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายต่างๆ ที่ประกาศเอาไว้
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
[ข้อมูลที่ถูกลบ]
กำลังโหลดความคิดเห็น