xs
xsm
sm
md
lg

เจรจาจีน-สหรัฐฯ: การสนทนาของ“G2”

เผยแพร่:   โดย: จิงตง หยวน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China and the US: A G-2 by another name
By Jing-dong Yuan
30/07/2009

“การสนทนาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน” ครั้งประเดิมเริ่มแรก เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่ได้มีการทำข้อตกลงใหญ่ๆ อะไรกัน รวมทั้งในประเด็นปัญหาต่างๆ ทางยุทธศาสตร์ ก็ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าอย่างที่ปรารถนากัน กระนั้นก็ตาม การหารือกันคราวนี้ก็ได้ปูพื้นฐานสร้างบรรยากาศแห่งมิตรไมตรีเพื่อความร่วมมือกันในอนาคต และมีผลในเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับกันในระดับพื้นฐาน ว่าจำเป็นจะต้องทำงานร่วมมือกันเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายต่างๆ ของโลก

สิงคโปร์ – ณ การสนทนาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน (US-China Strategic and Economic Dialogue หรือ S&ED) ครั้งประเดิมเริ่มแรก ที่ กรุงวอชิงตันระหว่างวันที่ 27-28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่ง ซึ่งสาระสำคัญคือการส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือกันทั้งในด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ, พลังงาน, และสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นทั้งสองฝ่ายยังให้คำมั่นสัญญาที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละฝ่าย ตลอดจนในเรื่องการทำงานเพื่อมุ่งไปสู่การเจริญเติบโตของโลกที่มีความสมดุลมากยิ่งขึ้น

ขณะที่การสนทนาหารือคราวนี้เอง มิได้บังเกิดผลถึงขั้นมีข้อตกลงใหญ่ๆ อะไรออกมา แต่กระนั้นมันก็เป็นการปูพื้นฐานสร้างบรรยากาศสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในระยะหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป สหรัฐฯกับจีนนั้นไม่เคยต้องพึ่งพาอาศัยกันทางเศรษฐกิจจนถึงระดับที่เป็นอยู่ขณะนี้เลย และทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายต่างๆ ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่

การสนทนาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีนนี้ เป็นการต่อยอดขึ้นจากการหารือสองฝ่ายในระดับสูงว่าด้วยประเด็นปัญหาทางยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจที่ได้เคยจัดมาแล้วในอดีต ทว่าหลักเหตุผลพื้นฐานนั้นมีความแตกต่างออกไป ในยุคคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้มีการริเริ่มจัดการสนทนาในระดับสูงว่าด้วยประเด็นปัญหาทางความมั่นคงขึ้นเมื่อปี 2005 จากนั้นก็กลายเป็น “การสนทนาทางเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์” (Strategic Economic Dialogue) ในอีก 1 ปีต่อมา ทั้งนี้การสนทนาประเด็นทางยุทธศาสตร์นั้น วอชิงตันมุ่งหมายที่จะกระตุ้นส่งเสริมให้ปักกิ่งกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายหนึ่งในระบบระหว่างประเทศ ขณะที่การสนทนาทางเศรษฐกิจเชิงยุทธศาสตร์ มุ่งเน้นที่ประเด็นปัญหาสำคัญๆ ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตั้งแต่ข้อกล่าวหาที่ว่าจีนปั่นค่าเงินตรา ไปจนถึงภาวะความไม่สมดุลทางการค้า

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในเมื่อจีนก้าวผงาดขึ้นมามหาอำนาจสำคัญรายหนึ่งบทเวทีระดับโลกแล้วเช่นนี้ อีกทั้งได้รับผลประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดการบูรณาการเพิ่มขึ้นอย่างใหญ่หลวงเช่นนี้ จีนก็ย่อมได้รับการคาดหมายว่าจะกระทำตามบรรทัดฐานและวิธีปฏิบัติระหว่างประเทศ ซึ่งบรรดาสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศยอมรับกัน นอกจากนั้นมันยังมีนัยด้วยว่า วอชิงตันกำลังทำหน้าที่เป็นครูที่คอยให้คำแนะนำแก่นักเรียนอย่างปักกิ่ง ในเรื่องเกี่ยวกับความรับผิดชอบทางการทูต ตลอดจนจรรยาบรรณในกิจการทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ไม่ว่าในตอนเริ่มแรกจะบังเกิดขึ้นด้วยมูลเหตุจูงใจอะไร ก็ล้วนแต่กลายเป็นพื้นฐานให้เกิดการจัดการปรึกษาหารือระดับสูงระหว่างสองฝ่าย ที่มีลักษณะเป็นสถาบันและสม่ำเสมอมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนผลประโยชน์ที่มีอยู่ร่วมกัน ในลักษณะที่ตรงไปตรงมา, สร้างสรรค์, และร่วมมือกัน นอกจากนั้น กระบวนการเหล่านี้ยังช่วยบรรเทาแรงบีบคั้นของรัฐสภาสหรัฐฯ ตลอดจนกระแสในสหรัฐฯที่มุ่งผลักดันให้วอชิงตันออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อมุ่งต่อต้านและลงโทษจีน ถึงแม้ในระยะยาวแล้วมาตรการเหล่านี้อาจจะสร้างความเสียหายอันใหญ่โตขึ้นมาได้

เมื่อถึงยุคประธานาธิบดีบารัค โอบามา เขาเข้าดำรงตำแหน่งในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังตกอยู่ท่ามกลางวิกฤตอันหนักหนาสาหัสที่สุดนับตั้งแต่ช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในทศวรรษ 1930 ทว่าสำหรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนที่เขาได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชนั้น ต้องถือว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพดีทีเดียว สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศโดยรวมของโอบามา เนื้อหาสาระในวิธีการของเขาก็คือ เจตนารมณ์ที่จะผลักดันเรื่องลัทธิพหุภาคี (multilateralism) โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดจากคำพูดของเขาเองที่กล่าวว่า “เราสามารถแสดงความเป็นผู้นำของเราได้ดีที่สุด ตอนที่เรากำลังรับฟังผู้อื่น”

ในการดำเนินความสัมพันธ์สองฝ่ายกับจีน คณะรัฐบาลสหรัฐฯในยุคของโอบามาก็หันมาใช้ท่าทีรับฟังอย่างเอาจริงเอาจัง อันที่จริงในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาบทบาทของจีนเองในเวทีโลกก็มีการเพิ่มพูนและยกระดับสูงขึ้นไปอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากฐานะความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ครั้นมาบัดนี้สหรัฐฯก็ให้น้ำหนักความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในเรื่องที่ทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันได้อย่างไรเพื่อรับมือกับปัญหาท้าทายระดับโลกทั้งหลาย ปัญหาท้าทายดังกล่าวนี้ มีตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ เรื่องสิ่งแวดล้อมไปจนถึงการแพร่กระจายอาวุธทำลายร้ายแรง ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศ ฮิลลารี คลินตัน และรัฐมนตรีคลัง ทิโมธี ไกธ์เนอร์ ของสหรัฐฯ ได้ร่วมกันออกคำแถลงร่วมฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ยอมรับความเป็นจริงในเรื่องนี้ โดนระบุว่า “แทบจะไม่มีปัญหาระดับโลกใดเลยสามารถที่จะแก้ไขได้โดยสหรัฐฯหรือจีนฝ่ายเดียว และก็แทบจะไม่มีปัญหาใดเลยสามารถที่จะแก้ไขได้โดยที่สหรัฐฯและจีนไม่ร่วมมือกัน”

โอบามากล่าวเปิดการสนทนาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจที่กรุงวอชิงตันคราวนี้ ด้วยการเสนอวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่สหรัฐฯกับจีนควรจะต้องร่วมมือกันรับมือและแก้ไข เมื่อพิจารณาจากผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้สิ่งสำคัญเร่งด่วนที่โอบามาเสนอ ได้แก่ การทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างยั่งยืน, อนาคตของพลังงานสะอาด, การป้องกันการแพร่กระจายอาวุธทำลายร้ายแรง, และภัยคุกคามต่อความมั่นคงซึ่งกำลังบังเกิดขึ้นจากพวกที่อยู่นอกระบบปกติอีกทั้งมีลักษณะข้ามชาติ

ทางคณะผู้แทนจีนนั้นแสดงความกังวลมากกว่าในเรื่องมูลค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และการขาดดุลอย่างสูงลิ่วของสหรัฐฯ เหตุผลของท่าทีเช่นนี้ย่อมมองเห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือ จีนกำลังถือครองพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐฯเป็นปริมาณกว่า 800,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

รองนายกรัฐมนตรี หวังฉีซาน ของจีน ขอให้สหรัฐฯพยายามรักษาความสมดุลด้านต่างๆ ทางเศรษฐกิจของตนให้ถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งจัดการกับปริมาณเงินของตนให้ดี แต่เขายอมรับเช่นกันว่า จีนก็ควรต้องปรับสมดุลในเศรษฐกิจของตนเสียใหม่ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการบริโภคภายในประเทศอย่างใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม

ประเทศทั้งสองยังดูจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างใหญ่โตกันอีกในระยะหลายๆ เดือนและหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป ในเวลาที่พวกเขากำลังหาทางก้าวไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนในระยะยาว แน่นอนว่าการปรับเปลี่ยนเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และบางอย่างคงจะส่งผลสืบเนื่องอย่างสำคัญต่อการจ้างงาน, การบริโภค, และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม

ขณะที่สองประเทศเห็นพ้องต้องกันว่าการจัดการกับประเด็นปัญหาเรื่องนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือและอิหร่านนั้น ต้องถือเป็นเรื่องที่ทรงความสำคัญ ทว่าพวกเขาก็ไม่ได้มีการแถลงเกี่ยวกับวิธีการอันเฉพาะเจาะจง เป็นต้นว่า จีนตั้งใจหรือไม่ที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อเกาหลีเหนือ แล้วก็ไม่เป็นที่ชัดเจนเช่นกันว่าปักกิ่งยอมรับมากขึ้นหรือไม่ที่จะให้ใช้มาตรการลงโทษอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเตหะรานสืบเนื่องจากโครงการเพิ่มความเข้มข้นยูเรเนียมของอิหร่าน สภาพเช่นนี้จึงเป็นการบ่งชี้ว่าในประเด็นปัญหาทางยุทธศาสตร์นั้น ปักกิ่งและวอชิงตันก็ยังคงมีความแตกต่างกันอยู่ทั้งในเรื่องของมุมมองโดยองค์รวม และเรื่องวิธีการเฉพาะเจาะจงในการแก้ไขปัญหา

ถึงแม้เรื่องทางด้านยุทธศาสตร์ในการสนทนาคราวนี้ ยังมีอะไรอีกมากที่จะต้องเรียกร้องผลักดันกันต่อไปอีก แต่ผลในเชิงบวกประการหนึ่งจากการหารือครั้งนี้ก็คือ การรื้อฟื้นการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างนายทหารระดับสูง ซึ่งต้องหยุดชะงักไปชั่วคราวในปีที่แล้ว สืบเนื่องจากสหรัฐฯตัดสินใจขายอาวุธให้ไต้หวัน

การติดต่อระหว่างทหารต่อทหารของทั้งสองฝ่ายในเวลานี้ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด และทั้งสองฝ่ายจะต้องใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อกระตุ้นส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน และพัฒนากลไกในการบริหารจัดการวิกฤตขึ้นมา ปักกิ่งและวอชิงตันยังจะต้องแก้ไขประเด็นปัญหาเรื่องการถ่ายโอนอำนาจ และต้องบริหารจัดการการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ (ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกันจริงๆ หรือเป็นความเข้าใจว่ามีการแข่งขันก็ตามที) ในขณะที่จีนกำลังสร้างสมสมรรถนะทางทหารของตน และสหรัฐฯก็ปรับเปลี่ยนสถานะด้านกลาโหมของตนในทั่วโลก ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาก็ได้เกิดกรณีทางทะเลหลายกรณีที่หากถูกปล่อยปละไม่ดูแลกันให้ดีแล้ว ก็อาจส่งผลต่อเนื่องที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นมาได้

ปักกิ่งและวอชิงตันออกจากการสนทนาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจครั้งแรกนี้ ด้วยความสำเร็จที่จำกัดแม้อาจกล่าวได้ว่าทรงความสำคัญ ทั้งสองฝ่ายแสดงให้เห็นว่ามีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันแบบรอบด้าน, เน้นความร่วมมือกัน, และเป็นไปในเชิงบวก และปูพื้นฐานสร้างบรรยากาศสำหรับการหารือกันในอนาคต ที่จะอิงอยู่กับผลประโยชน์อันมีร่วมกันทั้งระดับทวิภาคี, ระดับภูมิภาค, และระดับโลก สิ่งที่ถือเป็นความสำเร็จในขั้นพื้นฐานที่สุดก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับว่ามีแต่ต้องทำงานร่วมกันเท่านั้น พวกเขาจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาท้าทายต่างๆ จำนวนมากได้ บางทีนี่อาจจะเป็นความสำเร็จสำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นในการสนทนาหารือเป็นเวลา 2 วันคราวนี้

ดร.จิงตง หยวน เป็นผู้อำนวยการโครงการการไม่แพร่กระจายอาวุธร้ายแรงในเอเชียตะวันออก ณ ศูนย์กลางเจมส์ มาร์ติน เพื่อศึกษาการไม่แพร่กระจายอาวุธร้ายแรง สถาบันมอนเทอเรย์เพื่อการระหว่างประเทศศึกษา เวลานี้เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสรับเชิญ ที่สถาบันเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ทัศนะในข้อเขียนนี้เป็นของตัวเขาเอง ไม่เกี่ยวกับสถาบันที่เขาสังกัดหรือทำงานอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น