xs
xsm
sm
md
lg

‘ตะวันตก’ล่ม‘เอเชีย’ผงาดจ่อขึ้นคุมโลกการเงินใหม่

เผยแพร่:   โดย: สก็อต บี. แมคโดนัลด์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Historic moment for Asian finance
By Scott B MacDonald
17/07/2009

สภาวะอันสับสนอลหม่านและโกลาหลทางการเงินในปี 2007-08 ประกอบกับการได้เห็นสัญญาณอันชัดเจนถึงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง ได้เปลี่ยนดุลยภาพของความมั่งคั่งในแวดวงการเงินโลก คำถามประการใหญ่คือ สถาบันการเงินในเอเชียจะสามารถหรือไม่ที่จะใช้ความได้เปรียบจากความเปลี่ยนแปลง แล้วก้าวขึ้นสู่บทบาทการนำในตลาดการเงิน – หรือว่าจะรั้งรอแล้วปล่อยปละให้ความไม่เสมอภาคระหว่างตะวันออกกับตะวันตกดำเนินไปเรื่อยๆ

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับสองของธนาคารแบงก์ออฟอเมริกา ซึ่งก็คือ Korea Investment Corp ประกาศเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เตรียมจะถือหุ้นของแบงก์มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ไว้ในมือไปอีกนานโดยไม่คิดเทขายทำกำไรระยะสั้น ในการนี้ ประธานคณะผู้บริหารด้านการเงินของกองทุนบริหารความมั่งคั่งภาครัฐ (SWFs) แห่งเกาหลีใต้เจ้านี้กล่าวว่า “ในเวลานี้ ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการถือสินทรัพย์นี้ไว้ นี่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับขณะนี้ เราเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้น และเราคิดว่าแบงก์ออฟอเมริกาจะฟื้นไปด้วยกันกับระบบเศรษฐกิจ”

ในการพูดถึงการลงทุนข้างต้นนี้ มีประเด็นที่ลึกล้ำลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า การดำเนินธุรกิจของกองทุนบริหารความมั่งคั่งภาครัฐรายนี้ สะท้อนถึงโฉมหน้าที่เปลี่ยนไปของขั้วอำนาจแห่งระบบเศรษฐกิจโลก ในการนี้ สภาวะอันสับสนอลหม่านและโกลาหลทางการเงินในปี 2007-08 ประกอบกับการได้เห็นสัญญาณอันชัดเจนถึงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง ได้ส่งผลในทางปรับระนาบของสนามประลองยุทธ์แห่งเกมการเงินโลก ซึ่งทำให้ฝั่งที่เหนือกว่าถูกปรับลงใกล้กับฝั่งที่ต่ำกว่า คำถามประการใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ สถาบันการเงินในเอเชียจะสามารถหรือไม่ที่จะก้าวขึ้นสู่บทบาทการนำในตลาดการเงินโลก

ธุรกิจการเงินเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีความเป็นโลกาภิวัตน์มากกว่าภาคเศรษฐกิจใดๆ ด้วยความที่มันเป็นตัวหล่อลื่นธุรกรรมทั้งหลายทั้งปวงทั้งของบุคคล ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจวบจนต้นทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 สถาบันการเงินในโลกตะวันตกได้ครองความเป็นเจ้าในเซกเตอร์สำคัญนี้อย่างต่อเนื่องยาวนาน ในขณะที่สิงคโปร์มีกองทุนบริหารความมั่งคั่งภาครัฐของตนเอง (เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ และ จีไอซีเอส) และญี่ปุ่นก็มีธนาคารพาณิชย์ใหญ่ยักษ์ระดับโลกที่เอาไปโอ่อวดในด้านความมโหระทึกของขนาดสินทรัพย์ได้ไม่อายใคร พวกแบงก์ตะวันตกกลับมีพละกำลังทางการเงินที่แข็งแกร่งด้วยการครอบครองเทคโนโลยีอันก้าวหน้าซับซ้อน การมีนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ทางการเงินนับไม่ถ้วน อีกทั้งยังมีแรงจูงใจอันมหาศาลในการสร้างกำไร

แบงก์พาณิชย์ในโลกตะวันตกยังได้รับการหนุนเนื่องจากภาครัฐบนความเชื่อแบบหลับหูหลับตาในธรรมชาติแห่งตลาดเสรี, การกำกับดูแลน้อยที่สุด และการเน้นในด้านปริมาณ ผลก็คือพวกนี้มีช่วงนาทีทองที่สามารถเสกสรรผลิตภัณฑ์การเงินที่ซับซ้อน อิงอยู่กับการสร้างภาระหนี้อย่างนุงนังหนักหน่วง และหากินด้วยการเร่ขายผลิตภัณฑ์ให้แก่นักลงทุนผู้หิวกระหายตัวเลขผลตอบแทนงดงามในทุกภูมิภาคทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ภูมิทัศน์เริ่มปรับเปลี่ยนกันแล้วนับจากที่เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลกในปี 2001-02 ช่วงแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบูมของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในปี 2002-08 ได้ดูดเอาเงินทุนมหาศาลเข้าสู่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลทั้งหลายในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลีใต้ อินเดีย หรือสิงคโปร์ ในทางกลับกัน ประเทศเหล่านี้ก็ถูกบีบให้ทบทวนยุทธศาสตร์การลงทุน ทบทวนบทบาทของสถาบันที่ทำหน้าที่ด้านการลงทุน อีกทั้งทบทวนถึงผลกระทบระยะยาวจากรูปแบบการลงทุนที่ดำเนินอยู่ ทั้งนี้ ในขณะที่ความสัมพันธ์กับแบงก์ชาติตะวันตกยังราบรื่นนั้น พวกสถาบันการเงินในเอเชียที่มากด้วยพรสวรรค์และพรแสวงได้พัฒนาศักยภาพขึ้นมาได้ไล่เลี่ยกับพวกต้นแบบ หรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ

วิกฤตการเงินครั้งใหญ่ปะทุขึ้นในปี 2007-2009 เมื่อจักรวาลทางการเงินของโลกตะวันตกพังพาบลงมา เจ้าพ่อยี่ห้ออุโฆษในตลาดการเงินที่ยืนหยัดมาเก่าแก่อย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส, แบร์ สเทิร์นส์ และเมอร์ริล ลินช์ ถูกลบไปจากสารบบ บ้างล้มละลาย บ้างถูกผนวกรวมกลืนกินเข้าไปอาณาจักร์ของสถาบันการเงินอื่น ในเวลาเดียวกัน สถาบันอันแข็งแกร่งประดุจฐานพักพิงยามคลื่นร้ายพายุคำรามเล่นงานโลกแห่งการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นแฟนนี เม หรือเฟรดดี้ แมค ล้วนแต่ตกที่นั่งหมิ่นเหม่จะร่วงหล่นลงสู่ห้วงเหวหายนะได้ทุกเมื่อโดยมีสถานภาพคลุมเครือสุดๆ ยิ่งกว่านั้น ภาวะชะตาขาดทำนองนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะแก่สหรัฐฯ ในอังกฤษก็ด้วยที่ต้องเห็นแบงก์ชั้นนำกระเป๋าฉีกหลังจากที่ระบบการเงินของอังกฤษเข้มแข็งมาโดยตลอดหลายทศวรรษนับจากเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำปี 1929 ปิดฉากไป ทั้งนี้ แบงก์พาณิชย์ขนาดใหญ่ในยุโรปมากมายมีอาการร่อแร่หมิ่นเหม่จะล้ม แต่ประคองตัวรอดไปได้ก็ด้วยการแทรกแซงจากภาครัฐ ใช่แต่เท่านั้น การทุ่มเทเงินกู้มหาศาลเข้าไปในยุโรปตะวันออกก็ปรากฏลางร้ายว่าจะเกิดกลายเป็นทะเลแห่งหนี้เสียหนี้สูญ

นับจากปี 2007 ธรรมชาติแห่ง“สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน” ได้กัดกินและทำลายสถาบันการเงินของโลกตะวันตกด้วยวิกฤตล้มละลายในตลาดซับไพรม์ ตลอดจนความเหลวแหลกในตลาดสินเชื่อที่เกี่ยวข้องนับไม่ถ้วน ทำให้สถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปส่วนใหญ่บาดเจ็บสาหัสกันถ้วนหน้า ในการนี้ ตามข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ความเสียหายที่เกิดแก่สถาบันการเงินสหรัฐฯ สูงเกือบถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ฝั่งเอเชียโดนหางเลขไปแค่ 40,000 ล้านดอลลาร์

อาจกล่าวได้ว่าแบงก์ทางเอเชียหลบหลีกอานุภาพการทำลายล้างของระเบิดเวลาชื่อตราสารอนุพันธ์ในตลาดซับไพรม์ได้เป็นส่วนใหญ่ แม้จะเกิดกลียุคในตลาดการเงินโลก แต่โดยทั่วไปแล้ว แบงก์ในเอเชียยังมีฐานเงินทุนที่แข็งแรงดี มีการอันเดอร์ไรท์หนี้ที่ยังนับได้ว่าเข้มงวด และไม่ถูกเล่นงานงอมพระรามจากการล้มระเนนของตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ อาจจะด้วยประสบการณ์ที่ยังตราตรึงไม่รู้จางจากพิษวิกฤตการเงินปี 1997-98 จึงอาจมีบ้างเป็นบางแบงก์ในเอเชียที่ต้องเดือดร้อนจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในปี 2008-09 แต่ไม่ปรากฏสภาพการณ์หายนะตายเป็นเบือเกิดขึ้นในแวดวงแบงก์ของเอเชีย ยิ่งกว่านั้น อันที่จริงแล้ว พวกแบงก์ในจีน อินเดีย และเกาหลีมีบทบาทอันสำคัญในการปล่อยสินเชื่อและให้ปัจจัยหนุนช่วยการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค

ณ บัดนี้ สถาบันการเงินในเอเชียอยู่ในตำแหน่งแห่งที่อันดีมาก ในอันที่จะฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ป่วยหนักของพรรคพวกในซีกโลกตะวันตก พวกกองทุนบริหารความมั่งคั่งภาครัฐ (SWFs) ของเกาหลี จีน และสิงคโปร์ มีเม็ดเงินในมือระดับมหาศาล ขณะที่สินทรัพย์ของฝั่งโลกตะวันตกนับว่าถูกสตางค์เป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ขอบันทึกไว้ตรงนี้ด้วยว่าจีนเป็นรายใหญ๋ที่สุดในบรรดาผู้ถือตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า ณ เดือนพฤษภาคม 2009 ที่ระดับ 801,500 ล้านดอลลาร์ และญี่ปุ่นเป็นอันดับที่ 2 ด้วยมูลค่า 677,200 ล้านดอลลาร์ ในการนี้จีนเพิ่มปริมาณการถือครองขึ้นอีกหลังการเยือนปักกิ่งของรมว.คลังทิโมธี ไกธ์เนอร์ เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สารที่สื่อถึงกันมีอยู่ว่า ทางวอชิงตันให้คำมั่นที่ชำระคืนหนี้ให้ทั้งหมดอย่างแน่นอน การดำเนินการของจีนส่งผลเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่สหรัฐฯ พร้อมช่วยรักษาเรตติ้งตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาลอเมริกันที่ระดับ AAA ดังเดิม

ภูมิทัศน์ใหม่ในตลาดการเงินของโลกตะวันตกเอื้อมากขึ้นแก่การรุกคืบของสถาบันการเงินเอเชีย กล่าวคือ ปัจจุบันนี้ ฝ่ายกำกับดูแลภาคการเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีความชัดเจนว่าจะนิยมผลิตภัณฑ์การเงินแบบเรียบง่าย ที่เป็นความเรียบง่ายประมาณเดียวกับไอศกรีมวานิลลาล้วน ปลอดจากการผูกพันกับหนี้ และมีความเสี่ยงน้อยมากๆ อันที่จริงแล้วความรู้สึกของสาธารณชนในโลกตะวันตกส่วนใหญ่เอนเอียงไปในทิศทางการพัฒนาระบบการธนาคารที่หวนสู่บทบาทดั้งเดิม คือการเป็นตัวกลางที่ประชาชนจะนำเงินไปฝากได้อย่างปลอดภัย ให้ดอกเบี้ยตามสมควร แล้วก็ทำหน้าที่ปล่อยกู้โดยทำการวิเคราะห์อย่างเหมาะสม ซึ่งแน่นอนว่าพวกเพลเยอร์ในตลาดการเงินย่อมค้านหัวชนฝา ในเมื่อบทบาทพื้นฐานแค่นี้ย่อมจำกัดเพดานการสร้างกำไรและการแสวงหาผลตอบแทนการลงทุนอย่างร้ายทีเดียว

การต่อสู้ในเรื่องว่าแบงก์พาณิชย์ควรได้รับอนุญาตให้ทำธุรกรรมใดได้บ้างนั้น เป็นหนึ่งในประเด็นความขัดแย้งหลักภายในสหรัฐฯ อังกฤษและประเทศยุโรปมากมาย ดังเห็นได้ว่าแม้กระทั่งในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของค่ายอุดมการตลาดเสรีดั้งเดิม รัฐบาลท่านได้เข้าไปเป็นเจ้าของแบงก์ใหญ่ๆ สารพัดยี่ห้อ ไม่ว่าจะซิตี้กรุ๊ป หรือแบงก์ออฟอเมริกา พร้อมกับเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่ ตลอดจนเป็นหัวหอกในการพิจารณาว่าจะคุมเข้มตลาดการเงินให้หนักมือมากขึ้นอย่างมหาศาล ประเด็นตรงนี้มีอยู่ว่า แบงก์ในโลกตะวันตกได้สะดุดขาตัวเองจนคว่ำคะมำ และทางการได้เข้าไปแทรกแซงเพื่อกวาดล้างจุดบอดอันเป็นพิษภัยเภทภัยทั้งหลาย กระบวนการทำนองนี้มีแนวโน้มจะต้องใช้เวลานานหลายปี และจะทำหน้าที่เป็นตัวถ่วงระบบเศรษฐกิจ นอกจากนั้น มันยังเป็นการลดอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเพลเยอร์แห่งซีกโลกตะวันตกลงอย่างใหญ่หลวง พร้อมกับเปิดประตูกว้างให้แก่เพลเยอร์อื่นๆ ที่มีศักยภาพดี อาทิ แบงก์และพวกกองทุนบริหารความมั่งคั่งภาครัฐ (SWFs) ของเอเชีย

หลังสภาวะอันสับสนอลหม่านและโกลาหลทางการเงินในปี 2007-08 สถาบันการเงินของเอเชียได้ผงาดขึ้นมาพร้อมกับอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมากมายกว่าที่เคยเป็นมาก่อน พร้อมกับคงบทบาทสำคัญอยู่ภายในศูนย์กลางแห่งการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น จีน อินเดีย เกาหลี หรือสิงคโปร์ ตลอดจนรับบทบาทการเป็นหนึ่งในเสาหลักแห่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก สถาบันการเงินเอเชียเหล่านี้ต้องรับมือกับแรงกดดันให้ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงโมเดลการพัฒนาเอเชียออกจากการพึ่งพิงภาคส่งออกที่มากเกินไปในปัจจุบัน

ในเรื่องนี้ จะมากจะน้อยก็ตาม พวกแบงก์พาณิชย์เอเชียมักต้องทำหน้าที่เป็นเครื่องมือภาคสมทบให้แก่การเดินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ในอดีตที่ผ่านมา บทบาทนี้ถูกเอ่ยอ้างถึงในฐานะที่เป็นภาคการเงินตามการชี้นำของรัฐ กล่าวคือการแจกจ่ายสินเชื่อให้แก่ภาคเศรษฐกิจสำคัญตามที่ทางการระบุว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ แม้เรื่องทำนองนี้เป็นอดีตไปมากแล้ว แต่สำหรับหลายประเทศ โดยเฉพาะจีน แบงก์ยังต้องเล่นบทสำคัญภายในนโยบายภาคการเงินใต้การชี้นำของรัฐอยู่อย่างมากทีเดียว

ระบบเศรษฐกิจแห่งสองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกเดินเครื่องอยู่ด้วยภาคส่งออกของเอเชีย ซึ่งมีผู้บริโภคอเมริกันเป็นผู้รับซื้อด้วยเงินที่ได้จากการหยิบยืมจากนักออมเงินเอเชีย ในเวลาเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ทำหน้าที่เป็นแหล่งพักพิงให้แก่การทำกำไรของภาคส่งออกเอเชีย อันเป็นระบบที่แบงก์พาณิชย์ของโลกตะวันตกทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในอันที่จะหาสิ่งที่เหมาะจะเข้าไปลงทุน ในขณะที่ระบบนี้ทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาได้มากกว่าสามทศวรรษ และช่วยยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของคนเอเชียและสร้างสมให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของรัฐบาลในชาติในเอเชียทวีตัวสูงลิ่วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนนั้น มันทิ้งมรดกไว้ในรูปของความอสมดุลย์ในทางเศรษฐกิจมหภาคภายในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งสองประการในเรื่องนี้คือการที่ผู้บริโภคอเมริกันสร้างหนี้สินอันแสนจะบิ๊กบึ้มมโหฬาร กับสายโซ่แห่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ

สภาวะอันสับสนอลหม่านและโกลาหลทางการเงิน กับการตกต่ำทางเศรษฐกิจกำลังพาให้ระบบนี้ไหลไปสู่จุดจบ พร้อมกับเสนอความท้าทายอันแสนจะเย้ายวนและเร้าใจแก่ชาวเอเชีย แต่ประเด็นปัญหายังมีอยู่ ทั้งนี้ มูดี้ส์ สำนักระดับโลกด้านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ ชี้ไว้ในรายงานแนวโน้มวงการธนาคารเอเชีย 2009 (มิถุนายน 2009) ว่า “ความมั่งคั่งที่พุ่งเพิ่มมหาศาลเมื่อเร็วๆ นี้ทั่วเอเชีย จะสามารถหรือไม่ที่จะสร้างการบริโภคภายในท้องถิ่นในระดับที่เพียงพอแก่การทดแทนดีมานด์ที่หดหายไปจากสหรัฐฯ และประเทศร่ำรวยอื่นๆ อันเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเอเชีย”

สิ่งที่มาแทนที่ระบบเดิมจะต้องเป็นอะไรที่มีดุลยภาพดีขึ้น มันหมายถึงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากเดิมสำหรับสถาบันการเงินเอเชีย สำหรับระยะสั้น สถาบันเหล่านี้ต้องรักษาบทบาทการสนับสนุนโลกตะวันตกเอาไว้ ผ่านการรับซื้อตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินไปเพื่อเจือจุนทางการเงินให้แก่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ) แต่ในช่วงระยะยาวข้างหน้าต่อไป สถาบันการเงินในเอเชียต้องสยายปีกการลงทุนระดับโลกทั้งด้านกว้างและด้านลึก พร้อมกับหนุนพัฒนาการของตลาดทุนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นอะไรที่อุกฤษฏ์แก่การช่วยให้ตลาดท้องถิ่นหยั่งรากลงลึกอย่างยั่งยืนได้

นี้หมายถึงการมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมศักยภาพเชิงการแข่งขันที่สามารถลดอุปสรรคแก่การเข้าสู่ภาคการธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง ทั้งหลายทั้งปวงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าจะนำภูมิหลังแห่งประสบการณ์การทดลองบทบาททางการเงินของบางประเทศเป็นเครื่องชี้วัด เราจะพบว่ามันมีโอกาสหายนะได้มากทีเดียว อาทิ ความพยายามของสถาบันการเงินญี่ปุ่นที่จะออกรุกตลาดการเงินโลกในปลายทศวรรษ 1980 อันเป็นการลงทุนที่จบลงด้วยการขาดทุนย่อยยับและวิกฤตอันเรื้อรังในระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นโดยรวม นอกจากนั้น มันยังสร้างความเข็ดขยาดแก่การคิดที่จะก้าวออกไปไกลในแง่ของการสร้างนวัตกรรมทางการเงินและการไปสัมผัสกับความเสี่ยงสูงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลตอบแทนสูงจัดๆ ทั้งหลาย

วิกฤตการเงินโลกกำลังฉุดกระชากให้ภูมิทัศน์ของตลาดการเงินระหว่างประเทศต้องเปลี่ยนแปลง แม้ยังไม่ชัดเจนว่าแบงก์พาณิชย์ญี่ปุ่นจะเต็มใจเพียงไรที่จะเข้ารับบทบาทสำคัญให้มากขึ้น แต่สำหรับพรรคพวกทางจีน อินเดีย และอาจรวมถึงสิงคโปร์กับเกาหลีแล้ว มันคือความท้าทายที่จะได้เห็นดีกันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามนี้หลายประเทศกำลังอยู่ในทิศทางขาขึ้น ความลับของเรื่องนี้จึงมีอยู่ว่า เอเชียจะสามารถหรือไม่ที่จะดำเนินการกับการเปลี่ยนแปลงโมเดลทางเศรษฐกิจและบทบาทของสถาบันการเงิน

หากว่ามีการตอบรับความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น การปรับดุลยภาพทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างฝ่ายเอเชียกับฝ่ายโลกซีกตะวันตกจะถูกเร่งเครื่องขึ้นมา แต่หากไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น ฝั่งตะวันตกจะสร้างตัวเองขึ้นใหม่ ซึ่งย่อมทำให้ความพยายามอันเก่าแก่ในอันที่จะการสร้างความเท่าเทียมระหว่างตะวันออกกับตะวันตก จะต้องเนิ่นช้าออกไปอย่างน่าเจ็บใจ

สก็อต บี. แมคโดนัลด์ ประธานคณะวิจัยสินเชื่อและเศรษฐกิจของค่าย อลาดิน แคปิตอล แมเนจเมนท์ ในสแตมฟอร์ด มลรัฐคอนเนตทิคัต ขณะนี้กำลังจะเข็นหนังสือใหม่ออกมาในหัวเรื่องของโลกาภิวัตน์กับเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น