xs
xsm
sm
md
lg

หนี้ของสหรัฐฯ บนเส้นทางล้มละลาย

เผยแพร่:   โดย: ดับเบิลยู โจเซฟ สตรูป

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

US debt on default path
By W Joseph Stroupe
22/04/2009

ข้อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะสามารถกลับลำออกจากนโยบายการเงินขณะนี้ได้ทันท่วงทีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ตลอดจนข้ออ้างว่าไม่มีทางที่ตราสารหนี้ของรัฐบาลจะกลายเป็นเอ็นพีแอลขึ้นมาได้นั้น ออกจะเป็นข้อสนับสนุนที่สวยหรูเกินกว่าจะเชื่อถือได้

โครงการของรัฐบาลอเมริกันที่อัดฉีดเม็ดเงินปริมาณมหาศาลเพื่ออุ้มวอลล์สตรีทและพื้นที่ธุรกิจเจ้าปัญหาอื่นๆ ของประเทศ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ตลอดจนโปรแกรมภาครัฐใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาอื่นๆ อีกสารพัดเรื่อง ล้วนส่งผลให้ยอดขาดดุลงบประมาณของสหรัฐอเมริกาพุ่งทะยานฟ้า

ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดสรรหรือสัญญาที่จะจัดสรรงบประมาณเพื่อกอบกู้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไปแล้วมากกว่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ โดยที่ยอดขาดดุลงบประมาณของปีงบประมาณปัจจุบัน ถึงกับพุ่งแตะระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์ทีเดียว กระทรวงการคลังสหรัฐฯ สาดเม็ดเงินไปท่วมตลาดในประเทศด้วยการออกตราสารหนี้รุ่นใหม่ ขณะที่วี่แววก็ดูจะถดถอยน้อยลงมากที่สหรัฐฯ จะสามาระดึงสภาวะขาดดุลอันมหาศาลให้กลับมาคุมอยู่มือได้สำเร็จในเร็ววัน เมื่อคำนึงถึงฝีไม้ลายมือในการจับจ่ายของภาครัฐอเมริกันแล้ว เรามั่นใจได้ว่ากฎหมายเพิ่มภาษีอย่างดุเดือดจะต้องผุดขึ้นมาแน่ๆ เพื่อที่รัฐบาลจะสามารถมีกำลังไปรับผิดชอบหนี้ภาครัฐได้ไหว แต่นั่นจะไปบดขยี้พลังการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจะนำมาซึ่งอนาคตอันน่าชังอย่างขนาดใหญ่ทีเดียว

ในเงื่อนไขบีบคั้นอย่างนี้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ หนีไม่พ้นที่จะต้องแบกรับผลร้ายอันเกิดจากนโยบายเงินเฟ้อรุนแรงของทางการวอชิงตัน แม้ฝ่ายธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ (เฟด) จะให้คำสัญญาอันว่างเปล่าว่าจะถอยออกจากนโยบายดังกล่าวโดยทันทีที่จำเป็นเพื่อปกป้องเสถียรภาพค่าเงินในยามที่เงินเฟ้อเบนหัวมาแผลงฤทธิ์อีก

นอกจากนั้น เมื่อถึงคราวที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาในท้ายที่สุด มันก็จะอ่อนล้าต่อเนื่องไปเป็นปีๆ ดังนั้น ภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจะไม่สามารถทรหดยืนยาวรอให้ทางการยอมกลับลำออกจากนโยบายเงินเฟ้อรุนแรงได้ไหว ในทำนองเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็จะไม่สามารถทรหดยืนยาวรอเวลาที่จะเป็นอิสระจากนโยบายดังกล่าว ในการนี้ วอชิงตันได้สร้างวงจรอุบาทว์ที่ซ้ำเติมกลับไปกลับมาระหว่างค่าเงินดอลลาร์และระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทางด้านเฟดเองก็สาหัสเช่นกัน เฟดถูกจำกัดอยู่ด้วยนโยบายมองสั้นๆ และไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจเฟ้อหนักผสมฝืดรุนแรง อันเป็นสภาพการณ์ที่เงินดอลลาร์ไม่มีทางจะอยู่รอดได้

ถ้าท่านไม่ได้หลบไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำในระยะที่ผ่านมา ท่านย่อมทราบดีว่าผู้สนับสนุนทางการเงินรายสำคัญของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งก็คือจีน ตลอดจนประเทศอื่นๆ ในเอเชียกับในตะวันออกกลาง ล้วนแต่ขุ่นเคืองกับแนวโน้มอนาคตของค่าเงินดอลลาร์ในระยะสั้นและระยะกลาง ประเทศเหล่านี้สูญเสียศรัทธาเชื่อมั่นที่เคยมีต่อศักยภาพของสหรัฐฯ ในอันที่จะสามารถจัดระเบียบทางการเงิน การเศรษฐกิจ และทางด้านเงินตราได้เรียบร้อยทันท่วงทีก่อนที่ผลกระทบจากนโยบายสายตาสั้นจะย้อนกลับไปแผลงฤทธิ์เล่นงานสหรัฐฯ ได้ปางตาย ประเทศเหล่านี้กำลังเตรียมหนทางแก้ปัญหาอันเป็นหนทางที่จะใช้เวลาราว 2-3 เพื่อผลักไสให้เงินดอลลาร์ถูกทอดทิ้ง ชะตากรรมของสินทรัพย์การเงินในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นนับว่าได้ถูกลิขิตไว้แล้วว่าจะตกต่ำถึงขีดสุด

การประเมินดังกล่าวซึ่งครอบคลุมถึงกระทั่งตราสารหนี้ที่เคยเชื่อกันว่าปลอดภัยที่สุด คือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ นับว่าไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสำหรับนักลงทุนที่เชี่ยวชาญและพรั่งพร้อมด้วยข่าวสารข้อมูล ข้อมูลเรื่องนี้ปรากฏให้เห็นได้จากการที่ต้นทุนการประกันพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ พุ่งทะยานสูงเสียดฟ้านั่นเอง ตลาดสำหรับตราสารซีดีเอส ซึ่งเป็นตราสารอนุพันธ์ที่ค้ำยันหนี้ล้มละลาย ได้เห็นแล้วว่าต้นทุนพวกนี้ทวีตัวอย่างรวดเร็วในยามที่ภาครัฐทุ่มเทเงินเข้าไปในโครงการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ภายในระบบเศรษฐกิจ เอาไปซื้นสินทรัพย์เป็นพิษทั้งหลาย เอาไปหนุนสินทรัพย์เอ็นพีแอล เอาไปอุ้มสินทรัพย์เจ้าปัญหา อีกทั้งช่วยสินทรัพย์และหุ้นในแบงก์ผีดิบใกล้ล้มในวอลล์สตรีทนั่นเอง

ในการไปแบกรับสินทรัพย์เน่าบูดที่ทวีปริมาณมหาศาลดั่งภูเขาเลากา ตราสารหนี้ของรัฐบาลก็จึงพลอยดูเลวไปด้วยกัน ภาพลักษณ์ของตราสารหนี้ของรัฐบาลดูกระดำกระด่างอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระอันสาหัสเกินกว่าจะเป็นจริงได้ในขณะนี้ของรัฐบาล ของเฟด ของกระทรวงการคลัง ของระบบเศรษฐกิจ และของค่าเงินดอลลาร์

วอลล์สตรีท เจอร์นัลได้ตรวจสอบประเด็นต้นทุนในการค้ำประกันหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ไว้ในบทความเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2009 ภายใต้หัวเรื่องว่า “ความผันผวนในตลาดนั้นย่ำแย่แต่ไม่อับจน” ผู้เขียนชี้ว่าความกลัวและความผันผวนของฝ่ายต่างๆ ในตลาดการเงินได้โยกย้ายจากตลาดตราสารทุนไปสู่ตลาดตราสารหนี้ภาครัฐ ผ่านการที่รัฐบาลไปซื้อสินทรัพย์แย่ๆ และมีปัญหาหนักหนา เอาไว้มหาศาลเหลือเกิน

ดังนั้น เราจึงได้เห็นความคึกคักกลับมาเยือนวอลล์สตรีทบ่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา แต่เราก็ได้เห็นเช่นกันว่า ความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ภาครัฐของสหรัฐฯ นั้นถูกกระทบจากมุมมองเชิงจิตวิทยาในหมู่นักลงทุนและจากการประเมินระดับความเสี่ยง ในการนี้ ดัชนี VIX index ซึ่งจับกระแสความกลัวของตลาด อันเป็นดัชนีที่สร้างขึ้นโดยบริษัทวิจัยความน่าเชื่อถือของตราสารอนุพันธ์ นามว่า Credit Derivatives Research ได้แสดงให้เห็นว่าดัชนีชี้อาการของผู้กู้ชั้นเยี่ยมทั้ง 7 ซึ่งรวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณอันน่าเป็นห่วง โดยที่ดัชนีนี้พุ่งขึ้นสู่ระดับ 75 แล้ว จากที่เคยอยู่แค่ระดับ 3 ในช่วงก่อนเศรษฐกิจเฟื่องฟู

ดังนั้น ตลาดจึงอยู่ในภาวะผวากลัวมากขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นความกลัวที่จะลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ทางการเงินที่อยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์

เมื่อวงจรอุบาทว์สามารถฝังตัวเองได้อย่างมั่นคงและยากจะย้อนกลับ อาทิ ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นช่วงที่ตราสารหนี้รัฐบาลสะสมตัวสูงขึ้นมากจริงๆ ถึงตอนนั้น ก็จะเสื่อมถอยลงระยะหนึ่งอันเป็นช่วงที่วอชิงตัน เฟด และกระทรวงการคลัง พยายามจะถอนตัวออกจากนโยบายเงินเฟ้อรุนแรง เพียงเพื่อจะพบว่าตนเองติดหล่มอยู่ในวงจรอุบาทว์ซึ่งไม่มีทางให้หลุดออกได้ต่อเนื่องไปตลอด 12-24 เดือนต่อไป และเมื่อถึงตอนนั้น วอชิงตันจะไม่ทางเลือกเหลือติดมือนอกจากการปล่อยให้กระทรวงการคลังอยู่ในฐานะเอ็นพีแอลในพันธบัตรบางประเภท พร้อมกับดิ้นรนต่อด้วยการสร้างปัญหาเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วยพันธบัตรประเภทอื่นๆ

ในการนี้ นักลงทุนที่ยังถือสินทรัพย์ทางการเงินสกุลดอลลาร์ไว้มหาศาล ก็จะถูกกระทบรุนแรงในตอนนั้น

นอกเสียจากว่าสถานการณ์อันแสนดีเกิดขึ้นมาได้พร้อมกับช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กลับเข้าที่เข้าทางได้โดยเร็ว นอกเสียจากว่าสินทรัพย์เป็นพิษของรัฐบาลและแผนอุ้มหนี้สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างเอกอุ นอกเสียจากว่าซีเคียวริไทเซชั่นสามารถกลับฟื้นคืนชีพได้ โดยที่สหรัฐฯ สามารถจัดระเบียบตลาดการเงินในประเทศได้สำเร็จใน 3-4 ปีข้างหน้า คำทำนายสำหรับตอนนี้ย่อมหนีไม่พ้นว่าตราสารหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ จะกลายเป็นเอ็นพีแอล และวิกฤตค่าเงินดอลลาร์จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ภายในระยะไม่เกิน 24-36 เดือนข้างหน้า ในการนี้ อังกฤษกับญี่ปุ่นก็จะต้องเผชิญกับปัญหาทำนองเดียวกันอย่างแน่นอน

ดับเบิลยู โจเซฟ สตรูป เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำนายเชิงยุทธศาสตร์ และเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Global Events Magazine ซึ่งเข้าชมได้ที่ www.globaleventsmagazine.com
กำลังโหลดความคิดเห็น