xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:ความสำคัญของ Stress Test กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่จดเปลี่ยน ข้อมูลเศรษฐกิจหลายตัวบ่งชี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจจะหดตัวในอัตราลดลง และอาจจะมีโอกาสฟื้นตัวได้บ้างในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า นอกจากนี้ มีทิศทางว่าการแก้ปัญหาบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ ไคร์สเลอร์ และ เจนเนอร์รัลมอเตอร์ (GM) มีแนวโน้มที่ดีขึ้น และอาจจะเสร็จสิ้นภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ทว่ายังมีปัญหาสำคัญคือ ประชาชนทั่วไปและธุรกิจยังขาดความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงิน การทำ Stress Test โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯเป็นการสร้างความมั่นใจด้วยการให้ข้อมูลแก่สาธารณชนว่า สถานภาพของธนาคารชั้นนำ 19 แห่งเป็นอย่างไร สถาบันการเงินใดบ้างมีปัญหา และในกรณีที่มีปัญหาก็ต้องมีแผนการเพิ่มทุนให้ชัดเจน ส่วนถ้าสถาบันการเงินไม่สามารถเพิ่มทุนได้เองรัฐบาลก็จะเข้าไปเพิ่มทุนให้ ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินกลับคืนมา อย่างไรก็ตาม ยังมีอุปสรรคอีกประการหนึ่งคือ ถ้าวงเงินที่รัฐบาลต้องช่วยเพิ่มทุนมีมูลค่าสูงมาก ก็จะทำให้ต้องขอเงินจากรัฐสภา ซึ่งหากไม่ได้รับการอนุมัติก็จะทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข และเศรษฐกิจก็อาจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้ นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่าสาธารณชนจะเชื่อผลของ Stress Test ได้มากขนาดไหน ซึ่งถ้าไม่เชื่อถือก็จะไม่ทำให้ความเชื่อมั่นกลับคืนมาได้

ก่อนที่จะอธิบายถึงผลของ Stress Test ผมจะตอบคำถามที่ผู้อ่านอาจะสงสัยอยู่ว่า Stress Test คืออะไร ผมขอสรุปสั้นๆ ว่า Stress Test เป็นการทดสอบความพอเพียงของเงินทุนของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ 19 แห่งในสถานการณ์เศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 2 กรณีใหญ่ๆ คือ กรณีพื้นฐาน และกรณีที่เศรษฐกิจมีปัญหารุนแรง กรณีพื้นฐาน ตั้งข้อสมมติว่าเศรษฐกิจไม่เลวร้ายเกินไปนัก โดยเศรษฐกิจในปี 2552 หดตัวร้อยละ 2.0 และในปี 2553 จะขยายตัวร้อยละ 2.1 อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูงสุดร้อยละ 8.4 ในปี 2552 และ ร้อยละ 8.8 ในปี 2553 ส่วนกรณีที่เศรษฐกิจมีปัญหารุนแรง เศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 3.3ในปี 2552 และขยายตัวร้อยละ 0.5 ในปี 2553 อัตราการว่างงานสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 8.9 ในปี 2552 และร้อยละ 10.3 ในปี 2553 จากนั้นจะวิเคราะห์ว่า ในทั้ง 2 กรณีโดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจมีปัญหารุนแรงสถาบันการเงินใดบ้างใน 19 แห่งที่มีปัญหาทุนไม่พอเพียง

ความกังวลต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงิน ไม่ใช่เฉพาะเพียงความเสียหายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ยังรวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นแล้ว แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็ยังพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในอีกประมาณ 1 ปีครึ่งหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ Stress Test จึงบอกเราอย่างคร่าวๆ ได้ถึงฐานะการเงินของสถาบันการเงินสำคัญในอนาคตด้วยว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีที่เศรษฐกิจยังมีปัญหาต่อไปในปี 2553

ประชาชนทั่วไปและนักธุรกิจให้ความสำคัญกับผลของ Stress Test นี้มาก เพราะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤติการเงิน ในระยะหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณว่ามีเสถียรภาพมากขึ้น จากการที่ตัวเลขเศรษฐกิจบางตัว เช่น ยอดค้าปลีกคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรม, สัดส่วนของสินค้าคงคลังต่อยอดค้าส่งและค้าปลีก, ยอดการก่อสร้างบ้านใหม่ รวมไปถึงความมั่นใจของผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้น และการแก้ปัญหาบริษัทรถยนต์รายใหญ่ 2 รายคือบริษัทไคร์สเลอร์และบริษัทเจนเนอร์รัลมอเตอร์ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยบริษัทไคร์สเลอร์ได้ยื่นศาลขอล้มละลายเพื่อปรับองค์กรใหม่ (Bankruptcy for Reorganizations) ตามที่ตกลงกับรัฐบาล ซึ่งตามข้อตกลง รัฐบาลสหรัฐฯ จะให้เงินกู้แก่บริษัทอีก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าบริษัทไคร์สเลอร์จะกลับมาผลิตได้อีกใน 60 วัน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าบริษัท GM อาจจะต้องใช้วิธีเดียวกันกับไคร์สเลอร์ ดังนั้น จึงคาดว่าใน 2-3 เดือนข้างหน้าการแก้ปัญหาบริษัทรถยนต์ทั้ง 2 แห่งจะเสร็จสิ้น และทั้ง 2 บริษัทก็พร้อมที่จะประกอบธุรกิจได้เหมือนเดิม เหลือแต่ปัญหาสถาบันการเงินที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด ผลของ Stress Test จึงสำคัญมากที่จะเรียกความความเชื่อมั่นจากสาธารณชนที่มีต่อสถาบันการเงินให้กลับคืนมาได้

ผลของ Stress Test ออกมาค่อนข้างดี แม้ว่าผลการทดสอบชี้ว่าจะมี 10 สถาบันการเงินขนาดใหญ่ต้องเพิ่มทุนก็ตาม แต่เป็นวงเงินรวมกันเพียง 74,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินตามโครงการ Troubled Asset Relief Program (TARP) งวดที่ 2 อีก 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ น่าจะเพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ โดยในขั้นต้นสถาบันการเงินเหล่านั้น ต้องพยายามเพิ่มทุนด้วยตัวเองก่อน และต้องเสนอแผนระดมทุนแก่รัฐบาล กรณีที่เพิ่มทุนไม่ได้ตามกำหนด และรัฐบาลถือหุ้นบุริมสิทธิ์อยู่แล้ว ก็จะเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญ สำหรับกรณีที่เปลี่ยนประเภทหุ้นแล้วยังไม่เพียงพอ หรือเป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลไม่เคยช่วยเหลือมาก่อน รัฐบาลจะเพิ่มทุนให้ ซึ่งคาดว่าวงเงินใหม่ที่รัฐบาลจะใช้จริงจะต่ำกว่า 74,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้คาดว่ารัฐบาลจะไม่ต้องขอเงินเพิ่มเติมจากรัฐสภา เพราะเป็นสิ่งที่ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่สถาบันการเงินบางแห่งที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้วนำเงินดังกล่าวไปใช้อย่างไม่เหมาะสม เช่นจ่ายโบนัสและซื้อเครื่องบิน ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนผู้เสียภาษีทั้งหลาย ทว่าผลการประเมิน Stress Test ก็ยังได้รับคำวิจารณ์ว่า ตั้งข้อสมมติในกรณีที่เศรษฐกิจมีปัญหารุนแรงโดยประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป เช่นอัตราการว่างงานสูงสุด เนื่องจากในเดือนเมษายนที่ผ่านมาอัตราการว่างงานก็ขึ้นไปถึงร้อยละ 8.9 ซึ่งเท่ากับอัตราสูงสุดตามสมมติฐานแล้ว และแน่นอนว่าจะเพิ่มขึ้นอีก และในปีหน้าก็มีแนวโน้มว่าจะสูงกว่าร้อยละ 10.3 อย่างไรก็ตาม ผลของ Stress Test ได้สร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชนพอสมควร ซึ่งดูได้จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น

ผมคาดว่า ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ผิดปกติ กระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาส 3 ปีนี้ และความมั่นใจในสถาบันการเงินจะค่อยๆ กลับคืนมา ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นได้ในปลายปี 2552 ดังนั้นผมยังหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะฟื้นตัวได้เล็กน้อยในต้นปี 2553

                                                 bunluasak.p@cimbthai.com
กำลังโหลดความคิดเห็น