xs
xsm
sm
md
lg

การจลาจลซินเจียงทำให้พวกอิสลามิสต์รู้สึกสับสน

เผยแพร่:   โดย: ศรีราม เชาเลีย

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Xinjiang riots confound Islamists
By Sreeram Chaulia
27/07/2009

จวบจนถึงเวลานี้จีนยังไม่เคยถูกพวกนักรบญิฮัดทำการโจมตีอย่างรุนแรง ทั้งที่ดำเนินนโยบายอย่างเกรี้ยวกราดต่อชาวอุยกูร์มุสลิม ที่เป็นชนชาติส่วนน้อยในประเทศตน เรื่องนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้ยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายอย่างเหนือชั้น หากแต่เป็นเพราะพวกอิสมามิสต์และพวกผู้สนับสนุนบังเกิดความสับสนเสียมากกว่า ทั้งนี้ภาพลักษณ์ของจีนในฐานะเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของฝ่ายตะวันตก ทำให้พวกมุสลิมหัวแข็งกร้าวรู้สึกลังเลไม่แน่ใจ ขณะที่อิทธิพลบารมีที่กำลังเพิ่มมากขึ้นของปักกิ่ง ก็น่าจะทำให้พวกอยาโตลเลาะห์อารมณ์ร้อนแรงของอิหร่านต้องปิดปากไม่ส่งเสียง

ถึงแม้เกิดเหตุการณ์อันรุนแรงใหญ่โต ซึ่งกระทบกระเทือนชาวอุยกูร์มุสลิม ที่เป็นชนชาติส่วนน้อยที่พำนักอาศัยในเขตปกครองซินเจียง (ซินเกียง) ของจีน แต่โลกมุสลิมก็ไม่ได้เปล่งเสียงโกรธกริ้วออกมาด้วยความพร้อมเพรียง หรืออย่างเด็ดเดี่ยวหนักแน่นเลย อันที่จริงชาวมุสลิมตามส่วนต่างๆ ทั่วโลก ที่ออกมาร่วมการประท้วงต่อต้านการปฏิเสธสิทธิประชาธิปไตยในอิหร่านในช่วงสองสามวันสุดท้ายนั้น น่าจะมีจำนวนมากกว่าการประท้วงต่อสู้เพื่อพี่น้องร่วมศาสนาเดียวกันของพวกเขาในซินเจียงเสียอีก

นับแต่ที่รัฐเข้าทำการปราบปรามกวาดล้าง ภายหลังเกิดการต่อสู้ตามท้องถนนในเมืองอูรุมชี, คัชการ์ และส่วนอื่นๆ ของซินเจียงแล้ว ธงแห่งการประท้วงก็โบกสะบัดอย่างอ่อนแรง จากจุดที่มั่นของชนชาติอุยกูร์นอกประเทศจีนจำนวนเพียงหยิบมือเดียว สภาพเช่นนี้ช่างแตกต่างอย่างไกลลิบจากความหวังที่จะได้เห็นชาวมุสลิมนับล้านๆ ออกมาแสดงความเคียดแค้น ด้วยความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับนักเคลื่อนไหวชาวอุยกูร์ ผู้กำลังเรียกร้องต้องการสิทธิในการตัดสินอนาคตของตนเองโดยไม่ต้องอยู่ใต้การปกครองของจีน

ประเด็นอยู่ที่ว่า ซินเจียงยังคงประสบความล้มเหลวในการปลุกให้เกิดกระแสความรักความศรัทธาอันร้อนแรงจากทั่วทั้งโลกอิสลาม ถึงแม้ชาวอุยกูร์ที่ส่วนใหญ่เป็นคนมุสลิมนิกายสุหนี่ กำลังถูกทำให้กลายเป็นผู้ด้อยสิทธิ์ด้อยเสียงลงเรื่อยๆ ภายใต้การควบคุมของคอมมิวนิสต์จีน

ระยะหลายปีที่ผ่านมา เมื่อชาวมุสลิมตลอดจนสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาถูกละเมิดหรือถูกหยามเหยียด โทสะความกริ้วโกรธก็มีการแพร่กระจายออกไปตามช่องทาง จนกลายเป็นการประท้วงของมวลชนตามที่ต่างๆ ตั้งแต่โมร็อกโกไปจนถึงมาเลเซีย กระแสความไม่พอใจภายหลังการตีพิมพ์การ์ตูนดูหมิ่นศาสดามุฮัมมัดในเดนมาร์กเมื่อปี 2005 ก่อให้เกิดแรงสั่นสะท้านในทุกๆ ที่บนโลกที่มีชาวมุสลิมจำนวนมากพอสมควรพำนักอาศัยอยู่ ทั้งการขู่สังหารชีวิต, การเผาหุ่น, การวางเพลิงเผาสิ่งสาธารณูปโภค, การจุดไฟเผาสถานทูต, การโจมตีด้วยระเบิด, และพฤติกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลานั้น ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 139 คน เพลิงแค้นคราวนั้นฮือโหมร้อนแรงยิ่ง จนกระทั่งสื่อขนานนามให้ว่า “การ์ตูน อินติฟาดา” (Cartoon intifada) ทั้งนี้ “อินติฟาดา” หรือ “การลุกฮือขึ้นสู้” เป็นการอ้างอิงถึงการลุกฮือขึ้นสู้ของชาวปาเลสไตน์ซึ่งคัดค้านการปกครองของอิสราเอล อันเป็นเรื่องที่สามารถปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึกของชาวมุสลิมได้เสมอ ไม่ว่าพวกเขาจะมีสัญชาติอะไร

ช่วงก่อนหน้านั้นอีกแต่อยู่ในปี 2005 เช่นเดียวกัน นิตยสารนิวสวีกได้รายงานข่าวกล่าวหาว่า มีบุคลากรชาวอเมริกันบางคนซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่คุกอ่าวกวนตานาโม จงใจเอาคัมภีร์กุรอานทิ้งลงชักโครก คราวนั้นก็ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกแค้นเคืองแผ่ลามไปตามประเทศมุสลิมต่างๆ แม้จะอยู่ห่างไกลกัน ไม่ว่าจะเป็น ปากีสถาน, อียิปต์, หรืออินโดนีเซีย ความเคียดแค้นจากพฤติกรรมนี้เองยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ เชห์ซาด ตันเวียร์ (Sheazad Tanweer) มือระเบิดฆ่าตัวตายเชื้อสายปากีสถาน ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อเหตุบึ้มระบบขนส่งสาธารณะของกรุงลอนดอนในเดือนกรกฎาคม 2005

แต่เมื่อมาถึงเดือนกรกฎาคม 2009 และเกิดเหตุรุนแรงในซินเจียง ไฉนจึงไม่มีชาวมุสลิมผู้กราดกริ้วด้วยเพลิงแค้นลงมาประท้วงเต็มท้องถนน ไฉนจึงไม่มีเหล่าผู้นำออกมาปลุกเร้าโหมฮือไฟพิโรธของมวลชน หากดูการเคลื่อนไหวที่เป็นทางการด้วยแล้ว ก็มีเพียงตุรกีประเทศเดียวที่ออกมาแถลงอย่างขุ่นเคืองว่า จีนกำลัง “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวอุยกูร์ ทว่าภาษาอันบาดหูเช่นนี้ของทางการอังการา มีสาเหตุเนื่องมาจากความใกล้ชิดทางเชื้อชาติ มากกว่าความรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อ “พี่น้องชาวมุสลิม” ด้วยกัน ทั้งนี้ชาวอุยกูร์นั้นในทางเชื้อชาติแล้วถือว่ามีต้นรากมาจากพวกเตอร์คิก (Turkic)

มีผู้อพยพชาวอุยกูร์จำนวนนับพันนับหมื่นพำนักอาศัยอยู่ในตุรกี คนเหล่านี้ทำให้นักชาตินิยมชาวตุรกีหวนนึกถึงความฝันที่จะก่อตั้ง “เตอร์กิสถานตะวันออก” (East Turkestan ชื่อนี้เป็นชื่อเก่าของซินเจียง) ซึ่งเป็นเอกราชขึ้นมา ชาวเติร์กในปัจจุบันส่วนใหญ่นั้นเป็นพวกเลือดผสมภายหลังที่บรรพบุรุษผ่านการติดต่อคบค้ากับชาวยุโรปและชาวอาหรับมายาวนาน ขณะที่ชาวอุยกูร์แยกตัวเองออกมาอยู่ต่างหากจากกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ จึงได้รับการยกย่องจากคนเติร์กว่าเป็นพวกที่ใกล้เคียงกับบรรพบุรุษสายเลือดบริสุทธิ์ของตนมากที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง ความอยู่รอดของชาวอุยกูร์ผู้กำลังเผชิญกับการไหลบ่าทางด้านประชากรในประเทศจีน จึงก่อให้เกิดความรู้สึกในทางอัตลักษณ์แห่งชาติขึ้นมาในตุรกี

เนื่องเพราะอารมณ์ผูกพันกับชาวอุยกูร์เช่นนี้เอง รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของตุรกีจึงกล้าเสี่ยงที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจซึ่งมีอยู่กับปักกิ่ง ด้วยการเรียกร้องให้คว่ำบาตรสินค้านำเข้าของจีน ภายหลังเหตุรุนแรงปะทุขึ้นในเมืองอูรุมชี ขณะที่สมาชิกรัฐสภาตุรกีจำนวนถึง 107 คนพากันลาออกจากกลุ่มความร่วมมือในฝ่ายรัฐสภาระหว่างจีน-ตุรกี ชาวเติร์กจำนวนนับพันนับหมื่นเข้าร่วมกับชาวอุยกูร์ทั้งในนครอิสตันบูลและตามเมืองใหญ่อื่นๆ ของตุรกีภายหลังพิธีละหมาดใหญ่วันศุกร์ โดยพากันตะโกนก้องว่า “จีนเป็นฆาตกร” และ “คัดค้านการล้างเผ่าพันธุ์”

คณะผู้แทนของตุรกีชุดหนึ่งที่ประกอบด้วย ส.ส. 5 คน และนำโดยประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ซาเฟอร์ อุสกุล (Zafer Uskul) ประกาศว่าจะเดินทางไปซินเจียงเพื่อประเมินสถานการณ์จริงๆ ในที่เกิดเหตุ แต่ป้าย “สิทธิมนุษยชน” ที่ ส.ส.เหล่านี้ติดเอาไว้กลายเป็นอุปสรรคทำให้ปักกิ่งระงับการเดินทางของพวกเขาโดยไม่มีการอธิบายต่อสาธารณชน

แต่ความห่วงใยที่ตุรกีมีต่อซินเจียงนี้ ไม่ได้แพร่กระจายหรือก่อให้เกิดความกระตือรือร้นขึ้นในประเทศมุสลิมอื่นๆ แม้กระทั่งในบรรดาประเทศที่มีรั้วติดกัน ขณะที่ผู้สังเกตการณ์หลายคนชี้ว่า เป็นเรื่องขำไม่ออกที่ตุรกีซึ่งเป็นรัฐที่คนจำนวนมากเชื่อว่าได้กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอาร์เมเนียระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้รัฐนี้เองไม่เคยยอมรับเลยนั้น กลับกำลังมาเล่นงานจีนด้วยการอ้างข้อหาเดียวกันนี้

ยังมีประเทศมุสลิมที่มิได้มีรากเหง้ามาจากชาวเตอร์คิกอีกเพียงประเทศเดียว ที่ส่งเสียงเอะอะขึ้นมาบ้างในทันทีที่ทราบข่าวความวุ่นวายในซินเจียง ประเทศนั้นก็คืออินโดนีเซีย พวกองค์กรอิสลามิสต์ในกรุงจาการ์ตาจัดการชุมนุมที่หน้าสถานทูตจีน ชูแผ่นผ้าและแผ่นป้ายตลอดจนเปล่งเสียงโจมตีการปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์ของปักกิ่ง ทว่าการชุมชนเหล่านี้ก็อาจโยงใยเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในแดนอิเหนา ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในช่วงไม่กี่วันหลังเหตุจลาจลที่อูรุมชีปะทุขึ้นมา

นอกจากนี้แล้ว กลุ่มชาวแอลจีเรียที่มีความเป็นมาน่าเคลือบแคลง แต่รู้จักกันในนาม “อัลกออิดะห์ในดินแดนมาเกร็บของอิสลาม” (al-Qaeda in the Islamic Maghreb) ได้ออกคำแถลงข่มขู่จะเล่นงานคนจีนในต่างแดน เพื่อแก้แค้นให้แก่ “ชาวมุสลิมผู้เสียชีวิต” ในซินเจียง มีที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์บางคนยืนยันอย่างมั่นอกมั่นใจว่า “พวกนักรบญิฮัดต้องการเห็นการปฏิบัติการโจมตีเล่นงานจีน” สืบเนื่องจากการใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อชาวอุยกูร์ ทว่าเรื่องนี้ส่วนใหญ่แล้วยังคงเป็นการคาดเดากันเสียมากกว่า

อิหร่าน ประเทศมุสลิมสำคัญอีกรายหนึ่ง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาได้เคยเป็นผู้โหมกระพือพายุแห่งความกราดเกรี้ยว เข้าเล่นงานพฤติกรรมเหยียบย่ำดูหมิ่นสัญลักษณ์ของอิสลาม (เช่นกรณีของนักเขียน ซัลมัน รัชดี) และประท้วงการได้รับความลำบากเดือดร้อนของชาวมุสลิม (ทั้งชาวชิอะห์และชาวสุหนี่) แต่ในคราวนี้กลับยังคงนิ่งเงียบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในซินเจียง เหมือนกับว่ามีการตกลงกันทางวาจาระหว่างเตหะรานและปักกิ่งว่า พวกเขาจะไม่ตำหนิติเตียนกันและกันในเรื่องที่เป็นปัญหาการเมืองภายในประเทศ การปิดปากสนิทจริงๆ ของเตหะรานในปัญหาอุยกูร์ น่าจะเป็นการตอบแทนที่ปักกิ่งรับรองชัยชนะของประธานาธิบดีมาห์มุด อาห์มาดิเนจัด ในการเลือกตั้งที่น่ากังขาเมื่อเดือนมิถุนายน

นอกจากนั้น ความจริงที่ว่าอิหร่านจำเป็นต้องได้จีนมาอยู่ข้างตน เมื่อใดก็ตามที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นมีวาระพิจารณาโครงการนิวเคลียร์ของเตหะราน ก็น่าจะฉุดรั้งพวกอยาโตลเลาะห์อารมณ์ร้อนแรงไม่ให้ประณามเหตุนองเลือดในซินเจียง

ทำไมทั้งสถาบันและสาธารณชนของอิสลาม จึงปล่อยให้ความรุนแรงในซินเจียงผ่านไปโดยไม่แสดงปฏิกริยาอะไรมากมาย นอกจากการบ่นพึมพำแค่คำสองคำ คำตอบน่าจะอยู่ที่วิธีการอันสลับซับซ้อนในการจัดชั้นศัตรูของพวกอิสลามิสต์ ทั้งนี้ พวกมุสลิมหัวรุนแรงจะประณาม “ฝ่ายตะวันตก” ทั้งยวง เป็นตัววายร้ายที่ทำลายความรุ่งเรืองทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรมของอิสลามในอดีต ดังนั้น หากในประเทศทางยุโรปหรืออเมริกาเหนือ ถูกพบเห็นว่ามีการกระทำโหดร้ายทารุณหรือการดูหมิ่นเหยียดหยามต่ออิสลามและผู้ยึดมั่นนับถือศาสนานี้แล้ว มันก็จะเป็นการย้ำยืนยันอคติและความชิงชังที่มีกันอยู่นานแล้ว และยังได้รับการบ่มเพาะตอกย้ำทั้งจากการชุมนุมประท้วงของชาวมุสลิม และจากผู้อยู่ในอำนาจซึ่งกระตุ้นส่งเสริมการชุมนุมประท้วงเหล่านี้

บางครั้งคำว่า “ฝ่ายตะวันตก” ก็ขยายรวมไปถึงพวกประเทศอย่างเช่น รัสเซีย, อิสราเอล, และอินเดีย โดยชาติเหล่านี้ทั้งหมดต่างถูกพวกอิสมามิสต์และสานุศิษย์มองว่า กำลังกดขี่ชาวมุสลิมในดินแดนที่ประเทศเหล่านี้มีปัญหาพิพาทอยู่กับทางฝ่ายมุสลิม แต่ภาพลักษณ์ของจีนนั้นแตกต่างออกไป โดยจีนถูกมองว่าเป็นคู่ปรับตัวฉกาจของพวกมหาอำนาจตะวันตก อีกทั้งไม่เคยเข้าไปแทรกแซงในตะวันออกกลาง ภาพลักษณ์เช่นนี้ทำให้พวกมุสลิมหัวแข็งกร้าวรู้สึกสับสนยุ่งเหยิง ไม่ทราบว่าจะจัดชั้นจีนอย่างไรดีในโครงสร้างการแบ่งมิตรแบ่งศัตรูของพวกตน

พวกนักรบญิฮัดนิยมแบ่งโลกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ดารุลอิสลาม (dar-ul-Islam ดินแดนที่ปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามและผู้ปกครองเป็นมุสลิม) และดารุสฮาร์บ (dar-ul-Harb ดินแดนที่ปกครองโดยพวกนอกศาสนา และชาวมุสลิมต้องลำบากเดือดร้อน) ทว่าไม่อาจจัดจีนให้อยู่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสองฝ่ายนี้ได้อย่างเหมาะเหม็งเอาเสียเลย

จีนยังคงรอดพ้นจากการถูกพวกนักรบญิฮัดเล่นงานโจมตีครั้งใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นบนดินแดนจีนเอง หรือสิ่งที่เป็นตัวแทนของจีนในต่างแดน ถึงแม้ใช้ความแข็งกร้าวต่อชาวอุยกูร์เรื่อยมา เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเพราะมียุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายอย่างเหนือชั้น หากแต่เป็นเพราะวิธีติดป้ายชื่อในหมู่พวกอิสลามิสต์มากกว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับ “ฝ่ายตะวันตก” แม้ว่าจะคำที่หลวมเอามากๆ ทั้งในทางภูมิศาสตร์และในทางการเมือง แต่ก็จะต้องกลายเป็นเป้ายอดนิยมของพวกมุสลิมหัวรุนแรงกันต่อไป

ศรีราม เชาเลีย เป็นรองศาสตราจารย์ด้านการเมืองโลก ณ สถาบันกฎหมายโลกจินดัล (Jindal Global Law School) เมืองโซนิปัต ประเทศอินเดีย
กำลังโหลดความคิดเห็น