xs
xsm
sm
md
lg

หัวหน้าแก้ไขอุตฯรถยนต์สหรัฐฯ"ลาออก"ลือพัวพันถูกสอบทุจริตครั้งนั่งบริษัทเก่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สตีเวน แรตเนอร์(ไฟล์ภาพ) ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯแล้ว
เอเจนซี- สตีเวน แรตเนอร์ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์สหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลกระบวนการล้มละลายของเจนเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป และไครส์เลอร์ กรุ๊ปแล้ว ทั้งนี้ตามการแถลงของกระทรวงการคลังเมื่อวันจันทร์(13) ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่ากำลังมีการสอบสวนอย่างเข้มข้น กรณีบริษัทเพื่อการลงทุนที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง อาจมีการกระทำทุจริต เพื่อให้ได้งานบริหารจัดการกองทุนบำเหน็จบำนาญของมลรัฐนิวยอร์ก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ทิโมธี ไกธ์เนอร์ แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า แรตเนอร์ ประสงค์จะกลับไปมีชีวิตส่วนตัวและอยู่ร่วมกับครอบครัวในนิวยอร์ก ขณะที่แหล่งข่าวใกล้ชิด แรตเนอร์ กล่าวว่า เขาไม่มีแผนจะกลับไปร่วมงานกับบริษัท ควอดแรงเกิล ที่เขาร่วมก่อตั้งและเคยทำงานมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

แรตเนอร์ซึ่งเคยมีอาชีพเป็นนักหนังสือพิมพ์ สร้างตนเองจนกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในฐานะนายแบงก์ดูแลธุรกิจสื่อ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ควอดแรงเกิล ซึ่งเป็นกองทุนไพรเวตอิควิตี้ฟันด์ (บริษัทภาคเอกชนที่ทำกิจการกองทุนเพื่อการลงทุน และกิจการบริหารเงินทุน)ที่มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจสื่อเป็นหลัก เขาเข้ารับหน้าที่แก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความฉงนสนเท่ห์ของผู้คนในวอลสตรีท ถึงแม้ผลงานเมื่ออยู่ในตำแหน่งแล้วของเขา จะทำให้เขาเป็นที่ยอมรับกันอยู่มาก

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ชื่อของ ควอดแรงเกิล และ แรตเนอร์ ถูกนำไปเกี่ยวโยงกับคดีคอร์รัปชั่นในธุรกิจบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนของอัยการมลรัฐนิวยอร์ก แอนดรูว์ คูโอโม

แหล่งข่าวใกล้ชิดคดีนี้เปิดเผยว่า การสอบสวนของคูโอโม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรตเนอร์ เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการเรียกเอกสารหลักฐานหลายอย่างจาก ควอดแรงเกิล เพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบรายละเอียดการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญของมลรัฐนิวยอร์ก

อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งถึงขณะนี้ ทั้งแรตเนอร์และควอดแรงเกิล ยังไม่ถูกตั้งข้อหาว่ากระทำการอันเป็นการผิดกฎหมายแต่อย่างใด

กรณีความไม่ชอบมาพากลในการบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญมลรัฐนิวยอร์ก ถูกเปิดประเด็นขึ้นหลังจากมีการตั้งข้อสงสัยว่า มีกลุ่มล็อบบียิสต์ที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทไพรเวตอิควิตี้ฟันด์ ให้ดึงงานบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญของมลรัฐนิวยอร์กและมลรัฐอื่น ๆ ไปให้แก่บริษัทเหล่านั้น

การสอบสวนได้นำไปสู่การตั้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องแล้วหลายราย รวมทั้ง เฮนรี มอร์ริส ซึ่งเป็นผู้ระดมทุนคนสำคัญของอดีตผู้อำนวยการสำนักงานบัญชีกลางของมลรัฐนิวยอร์ก

ขณะที่กรณีอื้อฉาวเรื่องนี้ถูกเปิดโปงขึ้นเมื่อเดือนเมษายนนั้น ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้กล่าวปกป้องแรตเนอร์ โดยชี้ว่าเขายังไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่ากระทำการอันเป็นการผิดกฎหมายแต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวก็ไม่ได้ส่งสัญญาณว่า การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมยานยนต์ของ แรตเนอร์ มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับการสอบสวนคดีคอร์รัปชั่นกองทุนบำเหน็จบำนาญมลรัฐนิวยอร์กแต่อย่างใด

คูโอโม ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครต และเป็นตัวเก็งคนหนึ่งที่จะลงแข่งขันชิงตำแหน่งผู้ว่าการมลรัฐนิวยอร์กในอนาคต ดำเนินการสอบสวนคดีนี้มาเป็นเวลา 2 ปี เพื่อหาพยานหลักฐานว่า มีผู้ประกอบการวาณิชธนกิจใช้อิทธิพลของล็อบบียิสต์ เป็นเครื่องมือนำทางเข้ารับงานบริหารกองทุนบำเหน็จบำนาญของมลรัฐจริงหรือไม่ โดยมีคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯเข้ามีส่วนร่วมในการสอบสวนเรื่องนี้ด้วย ซึ่งจนถึงขณะนี้มีผู้เกี่ยวข้องได้เปิดปากรับสารภาพผิดไปแล้ว 2 ราย

แหล่งข่าวใกล้ชิดการสอบสวนคดีนี้ระบุว่า คำร้องทุกข์กล่าวโทษของตลาดหลักทรัพย์ที่มีไปถึงสำนักงานอัยการนั้นระบุว่า มีอดีตผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงทางการเมืองในมลรัฐนิวยอร์กกับพวกอีกหลายคน รวมทั้ง "ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่ง" ของ ควอดแรงเกิล กรุ๊ป พัวพันกับคดีนี้ ซึ่งแหล่งข่าวชี้ว่า "ผู้บริหารระดับสูง" คนดังกล่าวไม่น่าจะเป็นคนอื่นนอกเหนือจาก แรตเนอร์

เม็ก เรลลี โฆษกหญิงของกระทรวงการคลังสหรัฐฯแถลงว่า การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานของ แรตเนอร์ เป็นขั้นตอนแรกของการปรับลดภารกิจของคณะทำงานชุดนี้ และขั้นตอนต่อไปจนมีการปรับลดจำนวนบุคลากรลงเรื่อย ๆ จนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ คือการออกจากภาวะล้มละลายของไครส์เลอร์และจีเอ็ม

เรลลี ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการสอบสวนคดีคอร์รัปชั่นกองทุนบำเหน็จบำนาญมลรัฐนิวยอร์ก ขณะที่ แรตเนอร์ก็ยังไม่ให้ความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น