xs
xsm
sm
md
lg

บุชยัง “ไม่ตัดสินใจ” แผนช่วยอุตฯ รถ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทำเนียบขาวยังไม่มีมาตรการชัดเจนเกี่ยวกับแผนช่วยชีวิตอุตสาหกรรมรถยนต์
เอเอฟพี - คนงานภาคอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯนับแสนคน ยังคงกังวลใจในวันอาทิตย์ (14) ระหว่างที่รอว่าทำเนียบขาวจะมีมาตรการชัดเจนเกี่ยวกับแผนช่วยชีวิตอุตสาหกรรมรถยนต์หรือไม่ ในขณะที่โฆษกของประธานาธิบดีระบุว่ายังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในเรื่องนี้

“เราจะเน้นที่การพยายามดำเนินนโยบายอย่างถูกต้องในขณะเดียวกันก็พิจารณาถึงผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้เสียภาษีและเศรษฐกิจของประเทศ โดยเราจะใช้เวลาเท่าที่มีอยู่ในการทำให้ถูกต้อง” โทนี แฟรตโต โฆษกของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันเสาร์ (13) และเสริมว่ารัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างการประเมินข้อมูลทางการเงินของบริษัทรถยนต์ “เพื่อประกอบการพิจารณาและทบทวนทางเลือกต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ” ทว่า “ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ออกมา”

ทั้งนี้ หลังจากที่แผนการซึ่งรัฐบาลจะให้เงินกู้ช่วยเหลือระยะสั้นมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ ไม่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทำเนียบขาวต้องรีบออกมาแสดงท่าทีว่า อาจจะพิจารณานำเอาเงินจากแผนกอบกู้วิกฤตภาคการเงินมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ออกมาช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์

โดย บรูคลี แมคลัฟลิน โฆษกหญิงประจำทำเนียบขาว กล่าวเมื่อวันศุกร์(12)ว่ากระทรวงการคลังสหรัฐฯ “เตรียมพร้อมที่จะเข้าแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น จนกว่ารัฐสภาจะเปิดประชุมใหม่และดำเนินการช่วยเหลือให้อุตสาหกรรมรถยนต์อยู่รอดในระยะยาว”

กำหนดการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปจะมีขึ้นในวันที่ 6 มกราคม

เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ กำลังร้องขอให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือโดยบอกว่าเงินสดกำลังจะขาดมือภายในปลายเดือนนี้แล้ว เช่นเดียวกับไครส์เลอร์ ยักษ์อันดับสาม โดยที่อันดับสองคือฟอร์ดนั้น ก็ขอความช่วยเหลือเช่นกัน แม้ฐานะยังดีกว่าอีก 2 รายอยู่บ้าง

จีเอ็ม ยอมรับว่า กำลังว่าจ้างที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการเงินมาช่วยพิจารณาทางเลือกที่มีอยู่ทั้งหมด รวมทั้งการยื่นขอล้มละลายด้วย และเมื่อวันศุกร์ (12) บริษัทก็ได้ประกาศว่าจะหยุดการผลิตในอเมริกาเหนือลง 30 เปอร์เซ็นต์ “เพื่อรับมือกับภาวะตลาดที่ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว”

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้ปฏิเสธที่จะช่วยอุตสาหกรรมรถยนต์โดยดึงเงินออกจากแผนการบรรเทาสินทรัพย์ที่มีปัญหา (Troubled Asset Relief Program - TARP) มูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลจัดไว้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจภาคการเงิน แต่เมื่อวุฒิสภาไม่รับรองมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์แก่อุตสาหกรรมรถยนต์ ทำให้เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนท่าที

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือระยะสั้นดังกล่าวกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำยอมปรับโครงสร้างกิจการครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอดของกิจการในระยะยาว และจะต้องคืนเงินช่วยเหลือให้กับรัฐบาลหรือไม่ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นขอล้มละลาย

สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้ผ่านการรับรองมาตรการระยะสั้นดังกล่าวนี้ไปเมื่อวันพุธ (10) แต่เมื่อเข้าสู่วุฒิสภาในวันรุ่งขึ้น กลับถูกคัดค้านจากวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน ซึ่งกล่าวหาพวกสหภาพแรงงานในเรื่องข้อขัดแย้งเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการปรับค่าจ้างของคนงานให้ทัดเทียมกับคนงานของบริษัทรถยนต์ต่างชาติในสหรัฐฯ ที่ไม่ได้สังกัดสหภาพแรงงาน

แฮร์รี รีด ผู้นำเสียงข้างมากของวุฒิสภาพรรคเดโมแครต กล่าวว่า เขา “รู้สึกมีกำลังใจ” กับการประกาศของรัฐบาลบุช และรู้สึกชื่นชมต่อการเปลี่ยนใจของรัฐบาลในเรื่องการใช้เงินจากกองทุนทีเออาร์พี

ส่วน บารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ขอให้ทำเนียบขาวและคองเกรส “หาหนทาง” ในการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์โดยเร่งด่วน พร้อมไปกับการกดดันให้ “มีการปรับโครงสร้างระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง”
กำลังโหลดความคิดเห็น