(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Obama takes small steps in Moscow
By M K Bhadrakumar
10/07/2009
เมื่อเจาะลึกลงไปเบื้องหลังแรงโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างหวือหวาที่แวดล้อมการเยือนกรุงมอสโกของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตลอดจนความคืบหน้าด้านบวกว่าด้วยสนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่และความร่วมมือกันในเรื่องอัฟกานิสถานแล้ว การประชุมสุดยอดคราวนี้สามารถสรุปได้ว่า วอชิงตันกับมอสโกยังคงมีความคิดเห็นกันไปคนละทางทั้งในเรื่องเกี่ยวกับอิหร่าน, ประเด็นร้อนรุ่มใกล้ระเบิดว่าด้วยจอร์เจีย, และอิทธิพลของรัสเซียในยุคหลังสหภาพโซเวียต
สงครามเย็นกำลังก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัด ทว่าพลังขรึมขลังและลี้ลับที่แวดล้อมการหารือระดับสุดยอดระหว่างผู้นำรัสเซีย-อเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังคงลอยอ้อยอิ่งอยู่ในสายลมไม่รู้หาย สำหรับเหตุการณ์เฉกเช่นการประชุมซัมมิตในกรุงมอสโกระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม ซึ่งอัดแน่นไปด้วยเรื่องเร้าอารมณ์ความรู้สึกในช่วงก่อนจะไปถึงตรงนั้น รวมทั้งยังสามารถอ้างอิงสาวย้อนไปในประวัติศาสตร์ได้อย่างยาวไกลแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดจะอยู่ที่ท่าทีหลังการหารือผ่านพ้นไป
เห็นได้ชัดเจนว่า ฝ่ายรัสเซียนั้นแทบจะปล่อยมือให้พวกมือดีของทำเนียบขาวไปตีฆ้องร้องป่าวกันเองในการแถลงสรุปต่อสื่อมวลชน เพื่อมุ่งแพร่กระจายความรู้สึกประทับใจที่ว่าการประชุมสุดยอดคราวนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เด่นชัด ขณะที่รัสเซียนั้นใช้ท่าทีเงียบเฉยไม่ค่อยพูดอะไรออกมา
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความขรึมขลังและลี้ลับเกี่ยวกระหวัดการประชุมซัมมิตมอสโกคราวนี้ ก็คือ ภาพลักษณ์ส่วนตัวอันดึงดูดใจของโอบามา และเสน่ห์ชวนหลงใหลจากท่าทางและคำพูดของเขา โอบามานั้นไม่เคยมี “ความเกี่ยวพันโยงใยกับรัสเซีย” มาก่อนเลย ยกเว้นแต่ความรักที่เขามีต่อกวีเอกชาวรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ ปุชกิน ซึ่งน่าที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตั้งชื่อบุตรสาวคนที่สองของเขาว่า “นาตาชา” (Natasha) เพื่อเป็นเกียรติแด่ภรรยาของท่านมหากวีผู้มีนามว่า นาตาลยา กอนชาโรวา (Natalya Goncharova (ปกติแล้วชื่อ นาตาชา ในภาษารัสเซีย เป็นการกร่อนรูปจากคำว่า นาตาลยา) อันที่จริง คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาที่ทรงภูมิปัญญาทั้งหลายต่างก็ชื่นชอบปุชกินกันทั้งนั้น อาจจะเป็นเพราะปุชกินก็มีรากเหง้าที่เป็นชาวแอฟริกันโดยที่ปู่ของเขานั้นมาจากเอธิโอเปีย อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งการเมืองของมหาอำนาจใหญ่ที่แห้งแล้งน้ำใจไม่มีการลดราวาศอกให้แก่กัน ความผูกพันระหว่างมนุษย์เป็นสิ่งที่แทบจะต้องหลงลืมกันไปเลย
ด้วยเหตุฉะนี้ ฝ่ายรัสเซียจึงรู้สึกว่ายังคงมีปริศนาเกี่ยวกับตัวโอบามาที่ยังไม่ได้รับคำตอบ แม้กระทั่งในวันก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้จวนเจียนจะมาถึงกรุงมอสโกอยู่แล้ว ดังที่หนังสือพิมพ์อิซเวสเตีย (Izvestia) ชี้เอาไว้ว่า “บารัค โอบามายังคงเป็นตัวละครผู้ลึกลับ ... เขาเป็นผู้รักประชาธิปไตยจริงๆ และเป็นบุคคลผู้รักษาคำพูด หรือว่าเป็นเพียงนักพูดจอมกะล่อน เขาให้คำมั่นสัญญาในเรื่องต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่จะกดปุ่มเพื่อตั้งเครื่อง (reset) ปรับความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับรัสเซียเสียใหม่ ... ในวัฒนธรรมทางการเมืองของสหรัฐฯนั้น คุณสามารถที่จะกลายเป็นประธานาธิบดีได้ หากคุณมีความสามารถพิเศษทางด้านการพูด [อดีตประธานาธิบดี] บิลล์ คลินตัน มักใช้ลูกเล่นอันเดิมๆ เพื่อเชิดชัก [ประธานาธิบดี] บอรัส เยลตซิน นั่นก็คือ เขาจะผงกศีรษะในทุกๆ สิ่งที่ท่านประธานาธิบดีของรัสเซียกล่าว และทำให้เยลตซินบังเกิดความมั่นใจในมิตรภาพของเขา ขณะที่ไม่เคยเลยที่จะขยับถอยจากจุดที่เขายืนอยู่แม้สักนิ้วเดียว ทีมงานของคลินตันจึงบอกว่า เยลตซินทำทุกๆ อย่างที่คลินตันต้องการ”
การที่ฝ่ายรัสเซียจะมีความเคลือบแคลงสงสัยนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ มีเหตุผลใหญ่ๆในเรื่องนี้รวม 3 ประการด้วยกัน อย่างแรกสุด โอบามาได้รวบรวมทีมงานด้านนโยบายการต่างประเทศมาดูแลเรื่องรัสเซีย โดยที่ประกอบด้วยตัวบุคคลซึ่งทราบกันดีว่ามี “แนวทางแข็งกร้าว” ต่อรัสเซีย เป็นต้นว่า ไมเคิล แมคฟาล (Michael Mcfaul) ผู้อำนวยการอาวุโสที่ดูแลกิจการรัสเซียและยุโรปของสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ทั้งนี้ สตีเฟน โคเฮน (Stephen Cohen) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งเป็นนักวิชาการลือชื่อด้านรัสเซีย ได้กล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “กำแพงกีดขวางสำคัญที่สุดก็คือ ‘แนวความคิดแบบเก่า’ ... แนวคิดที่ว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจผู้พ่ายแพ้, รัสเซียไม่ได้เป็นมหาอำนาจอันถูกต้องชอบธรรมซึ่งควรมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับสหรัฐฯ, และที่ว่ารัสเซียควรต้องยอมผ่อนปรนอ่อนข้อขณะที่สหรัฐฯไม่ต้องทำเช่นนั้น, ตลอดจนที่ว่าสหรัฐฯสามารถทำผิดคำมั่นสัญญาของตนเองก็ได้ เพราะรัสเซียยังคงเป็นจักรวรรดินิยมและชั่วร้าย ... ยังคงมีแรงสนับสนุนอย่างมหาศาลในสหรัฐฯต่อแนวความคิดแบบเก่าๆ เช่นนี้ มันยังคงเป็นทัศนะของพวกส่วนข้างมาก”
อย่างที่สอง ดังที่อิซเวสเตียได้ชี้เอาไว้แล้ว คำพูด, สำนวนโวหาร, และกิริยามารยาทอันดีของโอบามานั้น มันก็ใช้ได้อยู่หรอก ทว่า “คณะรัฐบาลสหรัฐฯยังต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนเองได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนไปจริงๆ เท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรสักหยดหนึ่งถูกเทออกมาจาก ‘ขวดแห่งคำมั่นสัญญา’ เข้าไปใน ‘แก้วแห่งความสัมพันธ์ที่มีการกดปุ่มเพื่อตั้งเครื่องกันใหม่’เอาเลย”
อย่างที่สาม สืบเนื่องจากอย่างที่สอง ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า การพูดถึง“การกดปุ่มเพื่อตั้งเครื่องกันใหม่” คือการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงในโยบาย หรือว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนถ้อยคำโวหารเท่านั้น ความสัมพันธ์รัสเซีย-อเมริกากำลังอยู่ในสภาพที่หล่นฮวบลงมาสู่จุดต่ำสุดในรอบ 25 ปี ส่วนที่เป็นด้านดีก็คือมีสัญญาณหลายๆ ประการว่าคณะรัฐบาลโอบามากำลังดำเนินการขบคิดทบทวนเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯในโลกทุกวันนี้ ทว่าส่วนที่เป็นด้านยากลำบากก็คือ เราไม่สามารถขบคิดเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียแบบเริ่มต้นจากกระดาษเปล่าๆ ได้ เหตุผลก็คือ มีอะไรเกิดขึ้นมามากเกินพอเสียแล้ว เป็นต้นว่า “การปฏิวัติสี”ที่อุปถัมภ์โดยสหรัฐฯในจอร์เจียและยูเครน, การที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้)ยังคงขยายตัวเข้าไปในดินแดนที่เป็นอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต, การแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลอย่างไม่ลดราวาศอกในดินแดนยูเรเชีย, แผนการของสหรัฐฯที่จะติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรปกลาง, ความขัดแย้งในแถบคอเคซัส ฯลฯ
หากไม่พูดถึงมรดกทางการเมืองอันขมขื่นเหล่านี้ แล้วหันมาดูสภาพทางด้านนโยบายการต่างประเทศของฝ่ายรัสเซียกันบ้าง ก็จะพบว่ามีการปรับเปลี่ยนไปสู่ลักษณะที่ “มุ่งเป็นฝ่ายกระทำ” ไปแล้ว ถ้าเราจะเปรียบเทียบกับการเดินนโยบายในลักษณะที่ “เป็นฝ่ายถูกกระทำ”ในอดีต เมื่อครั้งที่นาโต้จัดการแยกสลายยูโกสลาเวีย หรือการที่สหรัฐฯเข้าไปยึดครองอัฟกานิสถานในปี 2001 และอิรักในปี 2003
เรื่องที่สำคัญพอๆ กันอีกเรื่องหนึ่งก็คือ รัสเซียก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในโลก มีความตระหนักเป็นอันดีว่า “ชั่วขณะแห่งการเป็นขั้วอำนาจหนึ่งเดียวของโลก” ของสหรัฐฯนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว และตัวโอบามาเองก็น่าที่จะตระหนักถึงความเปล่าประโยชน์ที่จะพยายามไปประคองรักษา “ภาวะแห่งการเป็นขั้วอำนาจหนึ่งเดียวของโลก”นี้เอาไว้ แม้มันยังคงมีแรงเฉื่อยอย่างมหาศาลอยู่ทั้งในด้านการเมืองและด้านจิตวิทยา ด้วยเหตุนี้ การประชุมซัมมิตในมอสโกจึงสามารถที่จะใช้ให้เป็นเวทีอันเอิกเกริกเป็นพิเศษ สำหรับการวางกรอบหรือการให้คำจำกัดความที่โดดเด่นชัดเจนยิ่งขึ้น แก่การกดปุ่มตั้งเครื่องใหม่ให้แก่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียตามที่โอบามาได้ให้สัญญาไว้
ความเห็นอย่างเป็นฉันทามติทั้งทางฝ่ายอเมริกาและฝ่ายรัสเซียก็คือ ซัมมิตคราวนี้จะไม่สามารถก่อให้เกิดการผ่าทางตันอันน่าตื่นเต้นใดๆ ได้ และแล้วสิ่งที่ออกมาจริงๆ ก็เป็นเช่นนั้น มันไม่ได้มีผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งใหญ่ กระนั้น มันก็ดูเหมือนมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปใน 2 ประเด็นปัญหาสำคัญ ซึ่งอาจใช้เป็นแรงกระตุ้นให้แก่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย
ประเด็นแรกคือ มีความคืบหน้าไปหลายอย่างในเรื่องการเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ มันยังเป็นก้าวเล็กๆ และไม่ใช่ก้าวที่น่าเชื่อมั่นอะไรมากด้วย แต่ข้อเท็จจริงก็ยังมีอยู่ว่าทั้งสองฝ่ายสามารถสร้างความคืบหน้าดังกล่าวขึ้นมาได้ สำหรับประเด็นที่สองคือการทำข้อตกลงกันในเรื่องอัฟกานิสถาน เรื่องนี้ก็เช่นกัน มันไม่ได้ถึงขั้นที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย หรือจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางโคจรของสงครามอัฟกานิสถาน กระนั้นมันก็เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย
ทั้งโอบามาและประธานาธิบดีดมิตริ เมดเวเดฟ ต่างเรียกร้องให้ลดหัวรบนิวเคลียร์ในคลังแสงของประเทศพวกเขาลงมา จากจำนวน 2,200 หัวรบ ให้เหลือระหว่าง 1,500 ถึง 1,675 หัวรบ และให้ลดจำนวนยานส่งขีปนาวุธ จาก 1,600 เครื่องลงมาเหลือระหว่าง 500 ถึง 1,100 เครื่อง พวกเขามีเวลา 7 ปีที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ เมดเวเดฟเรียกการตกลงกันคราวนี้ว่าเป็น “การประนีประนอมที่สมเหตุสมผล” และหวังว่าจะสามารถทำความตกลงเกี่ยวกับสนธิสัญญาฉบับใหม่ทั้งฉบับได้ในช่วงสิ้นปีนี้
แต่เขาก็ส่งสัญญาณด้วยว่ายังคงมีความแตกต่างอย่างร้ายแรงกันอยู่ ในเรื่องแผนการที่จะนำเอาบางส่วนของระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯมาติดตั้งในยุโรปกลาง เป็นที่ชัดเจนทีเดียวว่า ยังคงมีอุปสรรคขวางกั้นในเส้นทางของการเจรจากันเพื่อจัดทำข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนสนธิสัญญาลดกำลังอาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Arms Reduction Treaty หรือ START) ที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ถึงแม้ผู้นำทั้งสองจะพยายามลดทอนน้ำหนักของความแตกต่างเหล่านี้ก็ตามที
ในอีกด้านหนึ่ง ข้อตกลงเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน ถือได้ว่าเป็นคำแถลงสำคัญทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย ทั้งนี้มอสโกตกลงยินยอมให้สหรัฐฯขนส่งยุทโธปกรณ์และกำลังทหารข้ามดินแดนของตนไปยังอัฟกานิสถาน การขนส่งเช่นนี้อนุญาตให้กระทำได้ถึง 4,500 เที่ยวบินต่อปี โดยที่จะดำเนินการ “อย่างโปร่งใส” นั่นคือ มอสโกสงวนสิทธิ์ที่จะเข้าตรวจสอบสินค้าที่เครื่องบินทหารอเมริกันขนส่ง ทำเนียบขาวบอกว่าข้อตกลงนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ปีละ 133 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่มากมายอะไรเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายโดยรวมของสงครามอัฟกานิสถาน ทว่าเงินทุกดอลลาร์ย่อมจะมีความหมายอยู่ทั้งนั้น
ประเด็นสำคัญก็คือ ข้อตกลงนี้ถือเป็นภาคต่อของการที่มอสโกให้ความสนับสนุนอย่างไม่มียั้งต่อสหรัฐฯ เมื่อตอนที่ฝ่ายหลังถูกโจมตีในวันที่ 11 กันยายน 2001 และก็เป็นการสัญญาณความพรักพร้อมของรัสเซียที่จะเดินหน้าสู่การเป็นหุ้นส่วนแบบเท่าเทียมกัน มันเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่ามอสโกไม่ได้มีความประสงค์ร้ายและรู้สึกยินดีกับความยากลำบากของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน
อย่างไรก็ดี จากการที่มอสโกกำลังให้เส้นทางติดต่อเข้าถึงเอเชียกลางแก่สหรัฐฯเช่นนี้ เมื่อมองในมุมกลับ ก็ย่อมทำให้สหรัฐฯไม่มีความจำเป็นและไม่มีความชอบธรรมเลยที่จะไปตั้งค่ายตั้งฐานทางทหารในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหมายทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ นอกจากนั้น รัสเซียยังต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่จะต้องให้บรรดามหาอำนาจในภูมิภาคแถบนี้ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเสถียรภาพให้แก่สถานการณ์ในอัฟกานิสถานอีกด้วย หากจะอ้างอิงคำพูดของเมดเวเดฟแล้ว รัสเซียกำลังส่งสัญญาณว่า “เราพรักพร้อมที่จะมีความร่วมมืออย่างเต็มขนาดกับสหรัฐฯและหุ้นส่วนอื่นๆ ของเรา เป็นต้นว่า ในเรื่องการขนส่งผ่านดินแดนของเรา เรายังพรักพร้อมที่จะช่วยเลือในด้านอื่นๆ อีกด้วย”
มอสโกมองว่าการร่วมมือกันในเรื่องอัฟกานิสถาน คือส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในความพยายามใดๆ ที่จะกดปุ่มตั้งเครื่องปรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียกันเสียใหม่ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วยังคงมีความชะงักงันในประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งกันอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว โอบามานั้นไม่ได้มีท่าทีใดๆ ที่จะประนีประนอมในประเด็นเหล่านี้เลย และในแง่นี้ก็ทำให้เขาไม่ได้แตกต่างไปจากประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนๆ ในยุคหลังสงครามเย็น
น่าจะเป็นจริงที่ว่า สหรัฐฯยังมีการเติมองค์ประกอบใหม่แห่งความขัดแย้งเพิ่มเข้ามาอีก จากการที่คณะรัฐบาลโอบามามีความจงใจที่จะใช้ยุทธศาสตร์ซึ่งมุ่งสร้างความหมางเมินระหว่างเมดเวเดฟ กับนายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน และมุ่งก่อให้เกิดความร้าวฉานขึ้นภายในวังเครมลิน ปีเตอร์ ลาเวลล์ (Peter Lavelle) นักจับตามองรัสเซียผู้มีชื่อเสียงพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “โอบามาอาจจะเกิดเชื่อขึ้นมาว่าเขามีความเชี่ยวชาญชนิดสามารถบงการการเมืองรัสเซียได้ ... หรือไม่เช่นนั้นเขาก็กำลังได้รับคำแนะนำที่เลวมากๆ ... ในรัสเซียทุกวันนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยจริงๆ ที่จะพยายามทำให้เมดเวเดฟหันมาต่อต้านปูติน ทั้งคู่ต่างเป็นตัวแทนของวิธีการดำเนินนโยบายแบบเดียวกัน รวมทั้งนโยบายด้านการต่างประเทศด้วย เพียงแต่ต่างเดินไปในเส้นทางที่ผิดแผกกันเท่านั้น”
กล่าวโดยภาพรวมแล้ว การประชุมสุดยอดคราวนี้สามารถสรุปได้ว่า วอชิงตันกับมอสโกยังคงมีความคิดเห็นกันไปคนละทางทั้งในเรื่องเกี่ยวกับอิหร่าน, ประเด็นร้อนรุ่มใกล้ระเบิดว่าด้วยจอร์เจีย, และอิทธิพลของรัสเซียในยุคหลังสหภาพโซเวียต
เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
Obama takes small steps in Moscow
By M K Bhadrakumar
10/07/2009
เมื่อเจาะลึกลงไปเบื้องหลังแรงโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างหวือหวาที่แวดล้อมการเยือนกรุงมอสโกของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตลอดจนความคืบหน้าด้านบวกว่าด้วยสนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่และความร่วมมือกันในเรื่องอัฟกานิสถานแล้ว การประชุมสุดยอดคราวนี้สามารถสรุปได้ว่า วอชิงตันกับมอสโกยังคงมีความคิดเห็นกันไปคนละทางทั้งในเรื่องเกี่ยวกับอิหร่าน, ประเด็นร้อนรุ่มใกล้ระเบิดว่าด้วยจอร์เจีย, และอิทธิพลของรัสเซียในยุคหลังสหภาพโซเวียต
สงครามเย็นกำลังก่อตัวขึ้นมาอย่างเงียบๆ อีกครั้งหนึ่งหรือไม่ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัด ทว่าพลังขรึมขลังและลี้ลับที่แวดล้อมการหารือระดับสุดยอดระหว่างผู้นำรัสเซีย-อเมริกาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังคงลอยอ้อยอิ่งอยู่ในสายลมไม่รู้หาย สำหรับเหตุการณ์เฉกเช่นการประชุมซัมมิตในกรุงมอสโกระหว่างวันที่ 6-7 กรกฎาคม ซึ่งอัดแน่นไปด้วยเรื่องเร้าอารมณ์ความรู้สึกในช่วงก่อนจะไปถึงตรงนั้น รวมทั้งยังสามารถอ้างอิงสาวย้อนไปในประวัติศาสตร์ได้อย่างยาวไกลแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดจะอยู่ที่ท่าทีหลังการหารือผ่านพ้นไป
เห็นได้ชัดเจนว่า ฝ่ายรัสเซียนั้นแทบจะปล่อยมือให้พวกมือดีของทำเนียบขาวไปตีฆ้องร้องป่าวกันเองในการแถลงสรุปต่อสื่อมวลชน เพื่อมุ่งแพร่กระจายความรู้สึกประทับใจที่ว่าการประชุมสุดยอดคราวนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่เด่นชัด ขณะที่รัสเซียนั้นใช้ท่าทีเงียบเฉยไม่ค่อยพูดอะไรออกมา
เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความขรึมขลังและลี้ลับเกี่ยวกระหวัดการประชุมซัมมิตมอสโกคราวนี้ ก็คือ ภาพลักษณ์ส่วนตัวอันดึงดูดใจของโอบามา และเสน่ห์ชวนหลงใหลจากท่าทางและคำพูดของเขา โอบามานั้นไม่เคยมี “ความเกี่ยวพันโยงใยกับรัสเซีย” มาก่อนเลย ยกเว้นแต่ความรักที่เขามีต่อกวีเอกชาวรัสเซีย อเล็กซานเดอร์ ปุชกิน ซึ่งน่าที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตั้งชื่อบุตรสาวคนที่สองของเขาว่า “นาตาชา” (Natasha) เพื่อเป็นเกียรติแด่ภรรยาของท่านมหากวีผู้มีนามว่า นาตาลยา กอนชาโรวา (Natalya Goncharova (ปกติแล้วชื่อ นาตาชา ในภาษารัสเซีย เป็นการกร่อนรูปจากคำว่า นาตาลยา) อันที่จริง คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาที่ทรงภูมิปัญญาทั้งหลายต่างก็ชื่นชอบปุชกินกันทั้งนั้น อาจจะเป็นเพราะปุชกินก็มีรากเหง้าที่เป็นชาวแอฟริกันโดยที่ปู่ของเขานั้นมาจากเอธิโอเปีย อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งการเมืองของมหาอำนาจใหญ่ที่แห้งแล้งน้ำใจไม่มีการลดราวาศอกให้แก่กัน ความผูกพันระหว่างมนุษย์เป็นสิ่งที่แทบจะต้องหลงลืมกันไปเลย
ด้วยเหตุฉะนี้ ฝ่ายรัสเซียจึงรู้สึกว่ายังคงมีปริศนาเกี่ยวกับตัวโอบามาที่ยังไม่ได้รับคำตอบ แม้กระทั่งในวันก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯผู้นี้จวนเจียนจะมาถึงกรุงมอสโกอยู่แล้ว ดังที่หนังสือพิมพ์อิซเวสเตีย (Izvestia) ชี้เอาไว้ว่า “บารัค โอบามายังคงเป็นตัวละครผู้ลึกลับ ... เขาเป็นผู้รักประชาธิปไตยจริงๆ และเป็นบุคคลผู้รักษาคำพูด หรือว่าเป็นเพียงนักพูดจอมกะล่อน เขาให้คำมั่นสัญญาในเรื่องต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่จะกดปุ่มเพื่อตั้งเครื่อง (reset) ปรับความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับรัสเซียเสียใหม่ ... ในวัฒนธรรมทางการเมืองของสหรัฐฯนั้น คุณสามารถที่จะกลายเป็นประธานาธิบดีได้ หากคุณมีความสามารถพิเศษทางด้านการพูด [อดีตประธานาธิบดี] บิลล์ คลินตัน มักใช้ลูกเล่นอันเดิมๆ เพื่อเชิดชัก [ประธานาธิบดี] บอรัส เยลตซิน นั่นก็คือ เขาจะผงกศีรษะในทุกๆ สิ่งที่ท่านประธานาธิบดีของรัสเซียกล่าว และทำให้เยลตซินบังเกิดความมั่นใจในมิตรภาพของเขา ขณะที่ไม่เคยเลยที่จะขยับถอยจากจุดที่เขายืนอยู่แม้สักนิ้วเดียว ทีมงานของคลินตันจึงบอกว่า เยลตซินทำทุกๆ อย่างที่คลินตันต้องการ”
การที่ฝ่ายรัสเซียจะมีความเคลือบแคลงสงสัยนั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ มีเหตุผลใหญ่ๆในเรื่องนี้รวม 3 ประการด้วยกัน อย่างแรกสุด โอบามาได้รวบรวมทีมงานด้านนโยบายการต่างประเทศมาดูแลเรื่องรัสเซีย โดยที่ประกอบด้วยตัวบุคคลซึ่งทราบกันดีว่ามี “แนวทางแข็งกร้าว” ต่อรัสเซีย เป็นต้นว่า ไมเคิล แมคฟาล (Michael Mcfaul) ผู้อำนวยการอาวุโสที่ดูแลกิจการรัสเซียและยุโรปของสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ทั้งนี้ สตีเฟน โคเฮน (Stephen Cohen) แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งเป็นนักวิชาการลือชื่อด้านรัสเซีย ได้กล่าวไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า “กำแพงกีดขวางสำคัญที่สุดก็คือ ‘แนวความคิดแบบเก่า’ ... แนวคิดที่ว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจผู้พ่ายแพ้, รัสเซียไม่ได้เป็นมหาอำนาจอันถูกต้องชอบธรรมซึ่งควรมีสิทธิเสมอภาคเท่าเทียมกับสหรัฐฯ, และที่ว่ารัสเซียควรต้องยอมผ่อนปรนอ่อนข้อขณะที่สหรัฐฯไม่ต้องทำเช่นนั้น, ตลอดจนที่ว่าสหรัฐฯสามารถทำผิดคำมั่นสัญญาของตนเองก็ได้ เพราะรัสเซียยังคงเป็นจักรวรรดินิยมและชั่วร้าย ... ยังคงมีแรงสนับสนุนอย่างมหาศาลในสหรัฐฯต่อแนวความคิดแบบเก่าๆ เช่นนี้ มันยังคงเป็นทัศนะของพวกส่วนข้างมาก”
อย่างที่สอง ดังที่อิซเวสเตียได้ชี้เอาไว้แล้ว คำพูด, สำนวนโวหาร, และกิริยามารยาทอันดีของโอบามานั้น มันก็ใช้ได้อยู่หรอก ทว่า “คณะรัฐบาลสหรัฐฯยังต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อแสดงให้เห็นว่า ตนเองได้เปลี่ยนแปลงจุดยืนไปจริงๆ เท่าที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรสักหยดหนึ่งถูกเทออกมาจาก ‘ขวดแห่งคำมั่นสัญญา’ เข้าไปใน ‘แก้วแห่งความสัมพันธ์ที่มีการกดปุ่มเพื่อตั้งเครื่องกันใหม่’เอาเลย”
อย่างที่สาม สืบเนื่องจากอย่างที่สอง ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า การพูดถึง“การกดปุ่มเพื่อตั้งเครื่องกันใหม่” คือการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงในโยบาย หรือว่าเป็นเพียงการเปลี่ยนถ้อยคำโวหารเท่านั้น ความสัมพันธ์รัสเซีย-อเมริกากำลังอยู่ในสภาพที่หล่นฮวบลงมาสู่จุดต่ำสุดในรอบ 25 ปี ส่วนที่เป็นด้านดีก็คือมีสัญญาณหลายๆ ประการว่าคณะรัฐบาลโอบามากำลังดำเนินการขบคิดทบทวนเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯในโลกทุกวันนี้ ทว่าส่วนที่เป็นด้านยากลำบากก็คือ เราไม่สามารถขบคิดเรื่องความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียแบบเริ่มต้นจากกระดาษเปล่าๆ ได้ เหตุผลก็คือ มีอะไรเกิดขึ้นมามากเกินพอเสียแล้ว เป็นต้นว่า “การปฏิวัติสี”ที่อุปถัมภ์โดยสหรัฐฯในจอร์เจียและยูเครน, การที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้)ยังคงขยายตัวเข้าไปในดินแดนที่เป็นอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต, การแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลอย่างไม่ลดราวาศอกในดินแดนยูเรเชีย, แผนการของสหรัฐฯที่จะติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธในยุโรปกลาง, ความขัดแย้งในแถบคอเคซัส ฯลฯ
หากไม่พูดถึงมรดกทางการเมืองอันขมขื่นเหล่านี้ แล้วหันมาดูสภาพทางด้านนโยบายการต่างประเทศของฝ่ายรัสเซียกันบ้าง ก็จะพบว่ามีการปรับเปลี่ยนไปสู่ลักษณะที่ “มุ่งเป็นฝ่ายกระทำ” ไปแล้ว ถ้าเราจะเปรียบเทียบกับการเดินนโยบายในลักษณะที่ “เป็นฝ่ายถูกกระทำ”ในอดีต เมื่อครั้งที่นาโต้จัดการแยกสลายยูโกสลาเวีย หรือการที่สหรัฐฯเข้าไปยึดครองอัฟกานิสถานในปี 2001 และอิรักในปี 2003
เรื่องที่สำคัญพอๆ กันอีกเรื่องหนึ่งก็คือ รัสเซียก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในโลก มีความตระหนักเป็นอันดีว่า “ชั่วขณะแห่งการเป็นขั้วอำนาจหนึ่งเดียวของโลก” ของสหรัฐฯนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว และตัวโอบามาเองก็น่าที่จะตระหนักถึงความเปล่าประโยชน์ที่จะพยายามไปประคองรักษา “ภาวะแห่งการเป็นขั้วอำนาจหนึ่งเดียวของโลก”นี้เอาไว้ แม้มันยังคงมีแรงเฉื่อยอย่างมหาศาลอยู่ทั้งในด้านการเมืองและด้านจิตวิทยา ด้วยเหตุนี้ การประชุมซัมมิตในมอสโกจึงสามารถที่จะใช้ให้เป็นเวทีอันเอิกเกริกเป็นพิเศษ สำหรับการวางกรอบหรือการให้คำจำกัดความที่โดดเด่นชัดเจนยิ่งขึ้น แก่การกดปุ่มตั้งเครื่องใหม่ให้แก่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียตามที่โอบามาได้ให้สัญญาไว้
ความเห็นอย่างเป็นฉันทามติทั้งทางฝ่ายอเมริกาและฝ่ายรัสเซียก็คือ ซัมมิตคราวนี้จะไม่สามารถก่อให้เกิดการผ่าทางตันอันน่าตื่นเต้นใดๆ ได้ และแล้วสิ่งที่ออกมาจริงๆ ก็เป็นเช่นนั้น มันไม่ได้มีผลลัพธ์ที่สำคัญยิ่งใหญ่ กระนั้น มันก็ดูเหมือนมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปใน 2 ประเด็นปัญหาสำคัญ ซึ่งอาจใช้เป็นแรงกระตุ้นให้แก่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย
ประเด็นแรกคือ มีความคืบหน้าไปหลายอย่างในเรื่องการเจรจาเพื่อทำสนธิสัญญาจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ มันยังเป็นก้าวเล็กๆ และไม่ใช่ก้าวที่น่าเชื่อมั่นอะไรมากด้วย แต่ข้อเท็จจริงก็ยังมีอยู่ว่าทั้งสองฝ่ายสามารถสร้างความคืบหน้าดังกล่าวขึ้นมาได้ สำหรับประเด็นที่สองคือการทำข้อตกลงกันในเรื่องอัฟกานิสถาน เรื่องนี้ก็เช่นกัน มันไม่ได้ถึงขั้นที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย หรือจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางโคจรของสงครามอัฟกานิสถาน กระนั้นมันก็เป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมาย
ทั้งโอบามาและประธานาธิบดีดมิตริ เมดเวเดฟ ต่างเรียกร้องให้ลดหัวรบนิวเคลียร์ในคลังแสงของประเทศพวกเขาลงมา จากจำนวน 2,200 หัวรบ ให้เหลือระหว่าง 1,500 ถึง 1,675 หัวรบ และให้ลดจำนวนยานส่งขีปนาวุธ จาก 1,600 เครื่องลงมาเหลือระหว่าง 500 ถึง 1,100 เครื่อง พวกเขามีเวลา 7 ปีที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ เมดเวเดฟเรียกการตกลงกันคราวนี้ว่าเป็น “การประนีประนอมที่สมเหตุสมผล” และหวังว่าจะสามารถทำความตกลงเกี่ยวกับสนธิสัญญาฉบับใหม่ทั้งฉบับได้ในช่วงสิ้นปีนี้
แต่เขาก็ส่งสัญญาณด้วยว่ายังคงมีความแตกต่างอย่างร้ายแรงกันอยู่ ในเรื่องแผนการที่จะนำเอาบางส่วนของระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯมาติดตั้งในยุโรปกลาง เป็นที่ชัดเจนทีเดียวว่า ยังคงมีอุปสรรคขวางกั้นในเส้นทางของการเจรจากันเพื่อจัดทำข้อตกลงควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนสนธิสัญญาลดกำลังอาวุธทางยุทธศาสตร์ (Strategic Arms Reduction Treaty หรือ START) ที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ถึงแม้ผู้นำทั้งสองจะพยายามลดทอนน้ำหนักของความแตกต่างเหล่านี้ก็ตามที
ในอีกด้านหนึ่ง ข้อตกลงเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน ถือได้ว่าเป็นคำแถลงสำคัญทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย ทั้งนี้มอสโกตกลงยินยอมให้สหรัฐฯขนส่งยุทโธปกรณ์และกำลังทหารข้ามดินแดนของตนไปยังอัฟกานิสถาน การขนส่งเช่นนี้อนุญาตให้กระทำได้ถึง 4,500 เที่ยวบินต่อปี โดยที่จะดำเนินการ “อย่างโปร่งใส” นั่นคือ มอสโกสงวนสิทธิ์ที่จะเข้าตรวจสอบสินค้าที่เครื่องบินทหารอเมริกันขนส่ง ทำเนียบขาวบอกว่าข้อตกลงนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่งได้ปีละ 133 ล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่มากมายอะไรเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายโดยรวมของสงครามอัฟกานิสถาน ทว่าเงินทุกดอลลาร์ย่อมจะมีความหมายอยู่ทั้งนั้น
ประเด็นสำคัญก็คือ ข้อตกลงนี้ถือเป็นภาคต่อของการที่มอสโกให้ความสนับสนุนอย่างไม่มียั้งต่อสหรัฐฯ เมื่อตอนที่ฝ่ายหลังถูกโจมตีในวันที่ 11 กันยายน 2001 และก็เป็นการสัญญาณความพรักพร้อมของรัสเซียที่จะเดินหน้าสู่การเป็นหุ้นส่วนแบบเท่าเทียมกัน มันเป็นการเน้นย้ำให้เห็นว่ามอสโกไม่ได้มีความประสงค์ร้ายและรู้สึกยินดีกับความยากลำบากของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน
อย่างไรก็ดี จากการที่มอสโกกำลังให้เส้นทางติดต่อเข้าถึงเอเชียกลางแก่สหรัฐฯเช่นนี้ เมื่อมองในมุมกลับ ก็ย่อมทำให้สหรัฐฯไม่มีความจำเป็นและไม่มีความชอบธรรมเลยที่จะไปตั้งค่ายตั้งฐานทางทหารในภูมิภาคที่เต็มไปด้วยความหมายทางยุทธศาสตร์แห่งนี้ นอกจากนั้น รัสเซียยังต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่จะต้องให้บรรดามหาอำนาจในภูมิภาคแถบนี้ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างเสถียรภาพให้แก่สถานการณ์ในอัฟกานิสถานอีกด้วย หากจะอ้างอิงคำพูดของเมดเวเดฟแล้ว รัสเซียกำลังส่งสัญญาณว่า “เราพรักพร้อมที่จะมีความร่วมมืออย่างเต็มขนาดกับสหรัฐฯและหุ้นส่วนอื่นๆ ของเรา เป็นต้นว่า ในเรื่องการขนส่งผ่านดินแดนของเรา เรายังพรักพร้อมที่จะช่วยเลือในด้านอื่นๆ อีกด้วย”
มอสโกมองว่าการร่วมมือกันในเรื่องอัฟกานิสถาน คือส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในความพยายามใดๆ ที่จะกดปุ่มตั้งเครื่องปรับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียกันเสียใหม่ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วยังคงมีความชะงักงันในประเด็นปัญหาที่ขัดแย้งกันอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว โอบามานั้นไม่ได้มีท่าทีใดๆ ที่จะประนีประนอมในประเด็นเหล่านี้เลย และในแง่นี้ก็ทำให้เขาไม่ได้แตกต่างไปจากประธานาธิบดีสหรัฐฯคนก่อนๆ ในยุคหลังสงครามเย็น
น่าจะเป็นจริงที่ว่า สหรัฐฯยังมีการเติมองค์ประกอบใหม่แห่งความขัดแย้งเพิ่มเข้ามาอีก จากการที่คณะรัฐบาลโอบามามีความจงใจที่จะใช้ยุทธศาสตร์ซึ่งมุ่งสร้างความหมางเมินระหว่างเมดเวเดฟ กับนายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน และมุ่งก่อให้เกิดความร้าวฉานขึ้นภายในวังเครมลิน ปีเตอร์ ลาเวลล์ (Peter Lavelle) นักจับตามองรัสเซียผู้มีชื่อเสียงพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “โอบามาอาจจะเกิดเชื่อขึ้นมาว่าเขามีความเชี่ยวชาญชนิดสามารถบงการการเมืองรัสเซียได้ ... หรือไม่เช่นนั้นเขาก็กำลังได้รับคำแนะนำที่เลวมากๆ ... ในรัสเซียทุกวันนี้ มันเป็นไปไม่ได้เลยจริงๆ ที่จะพยายามทำให้เมดเวเดฟหันมาต่อต้านปูติน ทั้งคู่ต่างเป็นตัวแทนของวิธีการดำเนินนโยบายแบบเดียวกัน รวมทั้งนโยบายด้านการต่างประเทศด้วย เพียงแต่ต่างเดินไปในเส้นทางที่ผิดแผกกันเท่านั้น”
กล่าวโดยภาพรวมแล้ว การประชุมสุดยอดคราวนี้สามารถสรุปได้ว่า วอชิงตันกับมอสโกยังคงมีความคิดเห็นกันไปคนละทางทั้งในเรื่องเกี่ยวกับอิหร่าน, ประเด็นร้อนรุ่มใกล้ระเบิดว่าด้วยจอร์เจีย, และอิทธิพลของรัสเซียในยุคหลังสหภาพโซเวียต
เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี