xs
xsm
sm
md
lg

อเมริกันเล่นเกม “โมโนโพลี” แต่รัสเซียเล่น “หมากรุก” (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: สเปงเกลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Americans play Monopoly, Russians chess
By Spengler
18/08/2008

พูดกันตามจริง รัสเซียกำลังเล่นเกมเพื่อรักษาชีวิตของตัวเองให้อยู่รอด เนื่องจากในด้านอัตราเกิดของประชากรได้ผ่านเลยจุดที่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้ไปเสียแล้ว โดยรัสเซียกำลังกลายเป็นประเทศที่พลเมืองตายมากกว่าเกิด และจำนวนมีแต่จะน้อยลงเรื่อยๆ สภาพอันยากลำบากทางประชากรศาสตร์เช่นนี้ คือสิ่งที่มอสโกให้ความสำคัญที่สุด ในเวลาที่คิดคำนวณเรื่อง “การสั่งสมรวบรวม” ชนชาติรัสเซียนับล้านๆ คนที่กระจัดกระจายอยู่ในประเทศใกล้เคียงกับตน โดยที่หลังจากจอร์เจียแล้ว ก็ย่อมจะต้องถึงคราวของยูเครน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ณ คืนวันที่ 22 พฤศจิกายน 2004 วลาดิมีร์ ปูติน ผู้เป็นประธานาธิบดีของรัสเซียในเวลานั้น และเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานี้ ได้ชมข่าวโทรทัศน์อยู่ใน “ดาชา” หรือบ้านพักตากอากาศในชนบทของเขาใกล้ๆ กรุงมอสโก ผู้ที่อยู่กับปูตินในคืนนั้นรายงานว่า เขาโกรธเกรี้ยวและรู้สึกไม่อยากเชื่อ ขณะที่เหตุการณ์การปฏิวัติ “สีส้ม” กำลังคลี่คลายพัฒนาไปในยูเครน “พวกเขาหลอกลวงผม” ปูตินพูดถึงสหรัฐฯอย่างขมขื่น “ผมจะไม่มีวันเชื่อพวกเขาอีกแล้ว” ชาวรัสเซียยังคงไม่สามารถหยั่งรู้เข้าใจได้ว่า ทำไมฝ่ายตะวันตกจึงได้โยนทิ้งผู้ที่สามารถกลายเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างรัสเซียไปได้ลงคอ แล้วหันไปหายูเครนแทน ทั้งนี้ พวกเขาประเมินความโง่เขลาของฝ่ายตะวันตกต่ำเกินไปนั่นเอง

พวกคนอเมริกันที่มีแนวความคิดแบบแข็งตัวไม่ยืดหยุ่น เป็นพวกแรกถัดจากปูตินที่บอกว่าพวกเขารู้สึกตัวเองโง่เขลา วิกเตอร์ เดวิส แฮนสัน เขียนไว้ในวันที่ 12 สิงหาคม [1] ถึง “ความฉลาดหลักแหลมสุดๆ แบบภูติผีปีศาจ” ของมอสโกในจอร์เจีย ขณะที่ พ.อ.ราลฟ์ ปีเตอร์ส คอลัมนิสต์และคอมเมนเทเตอร์ทางโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม [2] ก็ได้แสดงความพิศวงว่า “คนรัสเซียเป็นพวกอนารยชนที่เปียกชุ่มไปด้วยแอลกอฮอร์ ทว่าบางครั้งพวกเขาก็อาเจียนออกมาเป็นอัจฉริยะ ... จักรวรรดิของพระเจ้าซาร์แห่งนี้ ไม่ได้เคยผลิตอัจฉริยะอันน่าหวาดผวาขนาดนี้ออกมาเลยภายหลังจาก [โจเซฟ] สตาลิน แล้ว” การเปรียบเปรยโดยใช้ถ้อยคำอันแสดงถึงความสุดยอดเหนือมนุษย์เช่นนี้ ชวนให้ระลึกถึงข้อสังเกตเก่าๆ ที่ได้เคยมีผู้พูดไว้ เกี่ยวกับเรื่องที่ทำไมโครงเรื่องของหนังสือการ์ตูนอเมริกัน จึงมีต้องพวกผู้ร้ายระดับซูเปอร์ แล้วก็มีซูเปอร์ฮีโรผู้แสนจะงี่เง่า เพื่อคอยทำให้สนามการเล่นเกมมีความราบเรียบเสมอกันมากขึ้น เรื่องแบบเดียวกันนี้ก็ดูจะประยุกต์ใช้กับพวกซูเปอร์มหาอำนาจได้ด้วย

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า นักการเมืองรัสเซียทุกคนล้วนแต่เฉลียวฉลาดกันทั้งนั้น พวกที่โง่เขลาต่างก็ดับดิ้นไปหมดแล้ว ตรงกันข้ามกับอเมริกาที่มีความพึงพอใจอยู่กับการส่งเสริมสนับสนุนคนทึ่มๆ ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันให้เข้าใจได้ ก็เกิดขึ้นจากความไม่สมส่วนกันเช่นนี้เอง ชาวรัสเซียไม่สามารถเชื่อได้ว่า ชาวอเมริกันจะมีความโง่เขลาเหมือนเช่นที่พวกเขาแสดงออกมา และดังนั้น จึงหันไปสรุปว่าวอชิงตันต้องการที่จะทำลายพวกเขาเสียแหละมากกว่า นี่คือสิ่งที่สาธารณชนชาวรัสเซียผู้รอบรู้ข่าวสารเป็นอันดีมีความเชื่อกันอยู่ เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่โพสต์กันในเวทีสนทนาตามเว็บเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ความรับรู้ความเข้าใจเช่นนี้นับว่ามีอันตราย เพราะมันไม่ได้มีต้นตอมาจากการโฆษณาชวนเชื่อ แต่มาจากจุดได้เปรียบเสียเปรียบของการดำรงตนให้อยู่รอดต่อไป ซึ่งมีความผิดแผกแตกต่างกันอย่างมากมาย รัสเซียนั้นกำลังต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง เมื่อต้องเผชิญกับแนวโน้มทางประชากรที่กำลังมีจำนวนลดน้อยถอยลงไปสู่ความหายนะ ตลอดจนความเป็นไปได้ที่คนมุสลิมจะกลายเป็นคนส่วนข้างมากของประเทศเมื่อถึงกลางศตวรรษนี้ ทรัพยากรที่หายากที่สุดของสหพันธรัฐรัสเซียก็คือคน มอสโกไม่สามารถละเลยเพิกเฉยต่อชาวรัสเซีย 22 ล้านคนที่ตกค้างอยู่นอกเขตพรมแดนของตน ภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 หรือในทำนองเดียวกัน ก็ไม่อาจไม่แยแสชาวชนชาติอย่างเช่น ชาวออสซีเชีย ที่แม้มีจำนวนน้อยทว่าจงรักภักดี ในสายตาของรัสเซียนั้น การที่ฝ่ายตะวันตกมุ่งทำการปิดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ ก็ด้วยคาดการณ์มุ่งหมายให้เกิดการแตกแยกกันในระหว่างชนชาติต่างๆ ของรัสเซีย โดยที่รัสเซียนั้น ตั้งแต่เริ่มแรกถือกำเนิด ก็มีลักษณะเป็นการรวมตัวกันทางการเมืองและวัฒนธรรม ไม่ใช่รัฐของชนชาติหนึ่งชนชาติใด

ชาวรัสเซียทราบดี (เช่นเดียวกับทุกๆ คนที่ติดตามอ่านข่าวหนังสือพิมพ์) ว่าประธานาธิบดี มิเฮอิล ซาคัชวิลี แห่งจอร์เจีย ไม่ได้เป็นตัวอย่างของนักประชาธิปไตยเลย หากแต่เป็นชิ้นงานที่น่าสะอิดสะเอียนต่างหาก เขาเป็นผู้สั่งให้ส่งตำรวจปราบจลาจลเข้าเล่นงานผู้ประท้วง และปิดสื่อมวลชนฝ่ายค้าน เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่เขา พูดสั้นๆ ก็คือ เป็นนักการเมืองที่ออกมาจากเบ้าหลอมเดียวกับปูตินนั่นเอง ฝ่ายรัสเซียเชื่อด้วยว่า ผลประโยชน์ของอเมริกาในจอร์เจียนั้น ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตย แต่อยู่ในลักษณาการเดียวกับที่วอชิงตันได้หนุนหลังเหล่าแก๊งอันธพาลในจังหวัดโคโซโว ของเซอร์เบีย ซึ่งสหรัฐฯได้ส่งมอบอำนาจปกครองดินแดนแห่งนั้นให้แก่คนเหล่านี้ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ทว่านี่ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฝ่ายรัสเซียวินิจฉัยผิดพลาดเกี่ยวกับความโง่เขลาของฝ่ายอเมริกัน อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ชอบพูดอยู่เสมอว่า ถ้าหากมีมูลสัตว์อยู่กองหนึ่งแล้ว มันก็ต้องหมายความว่ามีม้าตัวหนึ่งอยู่แถวๆ นั้น ทว่าพวกที่ชอบพูดเลียนแบบเขากลับย่ำแย่กว่านั้นอีก เพราะถึงขนาดแยกไม่ออกระหว่างม้ากับกองมูลสัตว์ ปฏิกิริยาโต้ตอบเชิงอุดมการณ์ในเรื่องการส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตย ได้เข้าครอบงำบงการคณะรัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช จนกระทั่งบุคคลอาวุโสบางคนในหมู่พวกเขาพร้อมที่จะอุดจมูกและเสแสร้งมองให้มูลสัตว์กลายเป็นม้า ด้วยการระบุว่า โคโซโว, ยูเครน, และจอร์เจีย ต่างก็เป็นชิ้นงานอันยอดเยี่ยมแท้จริงแห่งประชาธิปไตย

ลองหันมาขบคิดด้วยแนวทางนี้กันดูบ้าง รัสเซียนั้นกำลังเล่นเกมหมากรุก ขณะที่ฝ่ายอเมริกันกำลังเล่นเกมโมโนโพลี (Monopoly ในเมืองไทยมักรู้จักกันในชื่อ “เกมเศรษฐี”-ผู้แปล) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “เกมสงคราม” ที่ฝ่ายอเมริกันมีอยู่ ก็คือสิ่งที่บังเกิดขึ้นในเกมกระดานที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทพาร์กเกอร์ บราเธอร์ส เกมนี้นี่เอง

เกมกระดานโมโนโพลีนี้ ผู้ที่จะชนะต้องเข้าครอบครองบรรดาช่องตารางในกระดาน ที่เป็นช่องอสังหาริมทรัพย์ทั้งหลาย หากเปลี่ยนจากอสังหาริมทรัพย์มาเป็นฐานทัพทางทหาร คุณก็จะได้เห็นองค์รวมของความคิดเชิงยุทธศาสตร์แบบอเมริกัน

แนวความคิดในการชนะเกมทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายอเมริกัน อยู่ที่ว่าจะต้องสั่งสมรวบรวมช่องอสังหาริมทรัพย์ในกระดานเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพที่เป็นจริง มันก็อาจจะเป็น ฐานทัพในอุซเบกิสถาน และ คีร์กิซถาน, ท่อส่งน้ำมันในจอร์เจีย, รัฐบาล “มุสลิมหัวไม่รุนแรง” ในโคโซโว ที่ยอมให้องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) เข้าไปตั้งฐานทัพขนาดใหญ่, การติดตั้งส่วนหนึ่งของระบบป้องกันขีปนาวุธในโปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ก, และอื่นๆ อีกทำนองเดียวกันนี้ ทว่าแท้ที่จริงแล้วนี่ย่อมไม่ใช่ยุทธศาสตร์เลย มันเป็นเพียงวิธีทำแต้มในการเล่นเกมกระดานเท่านั้น

ในส่วนของเกมหมากรุกแล้ว ผู้เล่นจะต้องขบคิดในมุมของความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างหมากตัวต่างๆ กล่าวคือ ในการเคลื่อนวางตัวหมากต่างๆ ในตำแหน่งที่อยู่ตามชายขอบ ต้องคาดคำนวณว่าเมื่อรวมกันแล้วก็จะสามารถควบคุมศูนย์กลางของกระดานได้ โดยที่จะต้องเป็นการตระเตรียมสำหรับการเข้ารุกโจมตีพระราชาของฝ่ายตรงข้ามให้อยู่หมัดในขั้นสุดท้าย

ฝ่ายรัสเซียจริงๆ แล้ว อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถดูดซับข้อเท็จจริงง่ายๆ ที่ว่า อเมริกาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในทางยุทธศาสตร์อะไรเลย วอชิงตันเพียงแค่ต้องการเข้าครอบครองช่องที่มีค่าบนกระดานให้ได้มากๆ เท่านั้น พวกเขามีความโง่เขลาได้ถึงขนาดนี้แหละ

กระนั้นก็ตามที ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายนี้ยังมีความผิดแผกแตกต่างกันที่สำคัญมากอีกประการหนึ่ง นั่นคือ ฝ่ายอเมริกันกำลังเล่นเกมเพื่อความสำเร็จของการงาน และความได้เปรียบที่เข้าใจว่าจะได้รับมา แต่ทว่าฝ่ายรัสเซียกำลังเล่นเพื่อรักษาชีวิตตัวเองให้อยู่รอด แบบเดียวกับตัวเอกที่เป็นนักรบครูเสดในภาพยนตร์เรื่อง “The Seventh Seal” ของ อิงมาร์ เบิร์กแมน

คนทึ่มๆ นั้นสามารถทราบได้ว่าคนฉลาดๆ มีความเฉลียวฉลาดมากกว่าพวกเขา แต่พวกเขาไม่อาจทราบได้หรอกว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น พ.อ.ราล์ฟ ปีเตอร์ส อดีตนักวิเคราะห์ข่าวกรองทางทหารของสหรัฐฯ รู้สึกประทับใจมากกับความสำเร็จทางยุทธวิธีของกองทหารรัสเซียในจอร์เจีย ทว่าไม่สามารถหยั่งรู้ทำความเข้าใจได้ว่า ยุทธวิธีเหล่านี้จะมีส่วนในในการปิดเกมในตอนท้ายอย่างไร เขาเขียนเอาไว้ว่า “ความเป็นจริงใหม่ที่กำลังปรากฏให้เห็นอยู่ในเวลานี้ก็คือ รัสเซียที่ทั้งมีอาวุธนิวเคลียร์, ร่ำรวยด้วยเงินสดๆ , และอุดมด้วยน้ำมันและก๊าซ ไม่ได้รู้สึกวิตกอะไรมากมายนักเลยว่า อนาคตระยะยาวของตนนั้นอยู่ในภาวะมืดมน เมื่อคำนึงถึงปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ทั้งที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมในประเทศตัวเอง, ช่วงอายุของชีวิตผู้คนชาวรัสเซียซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำ, และประชากรกำลังลดจำนวนลง ตรงกันข้าม รัสเซียกลับมองแต่เรื่องเฉพาะหน้า และเห็นเป็นโอกาสที่จะกอบกู้เกียรติศักดิ์ศรี ตลอดจนทำให้ฝ่ายปรปักษ์อ่อนแอลง”

แต่แท้ที่จริงแล้วเรื่องกลับกลายเป็นตรงกันข้ามเลย นั่นคือ ปูตินก็เหมือนกับเป็นผู้เล่นหมากรุกชั้นดี เขามีความคิดอยู่ในใจแล้วว่าจะปิดเกมอย่างไร ตั้งแต่ตอนที่เขาต่อสู้เพื่อเข้าควบคุมกระดานให้ได้ในระยะแรกๆ ของเกมนี้ ทั้งนี้ประเด็นทางประชากรคือสิ่งที่เป็นแกนกลางในการคาดคำนวณของปูติน โดยผลประโยชน์สำคัญที่สุดของสหพันธรัฐรัสเซีย ได้แก่ชาวรัสเซียซึ่งพำนักอาศัยในประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆ กัน ความปรารถนาที่จะให้ชาวอับคาเซีย และชาวเซาท์ออสซีเชีย จำนวนรวมกันไม่กี่แสนคน ยังคงอยู่ในสหพันธรัฐรัสเซีย แทนที่จะสังกัดกับจอร์เจีย อาจจะดูเหมือนกับเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก ทว่ามอสโกกำลังพยายามที่จะวางแบบอย่างเอาไว้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับผู้คนอีกหลายสิบล้านคน ซึ่งอาจจะดึงเข้ามาเป็นพลเมืองของทางสหพันธรัฐได้ โดยส่วนที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งมากที่สุด คือพวกที่เวลานี้อยู่ในเขตแดนประเทศยูเครน

ก่อนที่จะไปพิจารณากันเกี่ยวกับสภาพทางประชากรในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงรัสเซีย ควรที่จะพูดกันก่อนเกี่ยวกับข้อน่าสังเกตสองสามประการในปัญหาความยากลำบากทางด้านประชากรของประเทศนี้

สหประชาชาติได้ตีพิมพ์เผยแพร่การคาดการณ์ทางด้านประชากรของรัสเซียจนกระทั่งถึงปี 2050 และผมได้นำมาขยายเพิ่มเติมขึ้นจนกระทั่งถึงปี 2100 ถ้าหากนักประชากรศาสตร์ของยูเอ็นคิดคำนวณได้อย่างถูกต้องแล้ว จำนวนประชากรวัยผู้ใหญ่ของรัสเซียจะลดต่ำลงจากประมาณ 90 ล้านคนในปัจจุบัน จนเหลือเพียง 20 ล้านคนเมื่อถึงสิ้นศตวรรษนี้ รัสเซียนั้นเป็นประเทศเดียวในโลกที่จำนวนการทำแท้งมีสูงกว่าจำนวนการคลอดทารก อันนับเป็นมาตรวัดความสิ้นหวังแห่งชาติ ที่กำลังชี้ไปที่ระดับแห่งความวิบัติหายนะ

ในยุคการปกครองของปูติน รัฐบาลรัสเซียได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการเพิ่มอัตราการเกิดอย่างใหญ่โต เพื่อจูงใจให้สตรีชาวรัสเซียมีบุตร ดังที่เขาเตือนเอาไว้ในสุนทรพจน์แถลงนโยบายประจำปี 2006 ของเขาว่า “พวกท่านทราบกันอยู่แล้วว่า ประชากรในประเทศของเรากำลังลดน้อยลงโดยเฉลี่ยถึงปีละเกือบ 700,000 คน เราได้หยิบยกประเด็นปัญหานี้ขึ้นมาพูดกันหลายครั้งหลายคราวแล้ว ทว่าส่วนใหญ่ยังแทบไม่ได้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไข ... ประการแรกทีเดียว เราจำเป็นจะต้องลดอัตราการตายให้ต่ำลง ประการที่สอง เราจำเป็นต้องมีนโยบายด้านการอพยพย้ายถิ่นที่มีประสิทธิภาพ และประการที่สาม เราจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการเกิดให้สูงขึ้น”

อัตราการเกิดของรัสเซียได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระยะหลายๆ ปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นการขานรับนโยบายสนับสนุนการเพิ่มอัตราการเกิดของปูติน ทว่านักประชากรศาสตร์ก็ชี้ให้เห็นว่า จำนวนของสตรีรัสเซียที่อยู่ในวัยมีบุตรได้ กำลังอยู่ในแนวโน้มที่ลดถอยลงอย่างฮวบฮาบ และเมื่อจำนวนผู้ที่อาจเป็นมารดาได้กำลังมีจำนวนน้อยลงอย่างพรวดพราดเช่นนี้ จึงย่อมทำให้อัตราการเกิดตกต่ำลงไปด้วย ตามการพยากรณ์ของยูเอ็น จำนวนชาวรัสเซียที่อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปีอันเป็นวัยเหมาะสมที่สุดสำหรับสตรีที่จะมีบุตร กำลังลดต่ำลงจาก 25 ล้านคนในปัจจุบัน จนเหลือเพียง 10 ล้านคนภายในปี 2040

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อพิจารณากันในด้านอัตราการเกิดของประชากรรัสเซีย มันได้ผ่านเลยจุดที่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้ไปเสียแล้ว นอกจากนั้น ถึงแม้ประชากรของสหพันธรัฐรัสเซีย ยังคงมีส่วนที่ถือกันว่าเป็นคนชนชาติรัสเซียอยู่ถึงประมาณสี่ในห้า ทว่าชนกลุ่มน้อยที่เป็นมุสลิมในแถบเอเชียกลางต่างหาก ซึ่งกำลังมีอัตราการเกิดสูงกว่าชนชาติอื่นๆ นักประชากรศาสตร์บางคนทำนายว่า ชาวมุสลิมจะกลายเป็นคนส่วนข้างมากในรัสเซียภายในปี 2040 หรือหากจะล่าช้าออกไปก็จะไม่เกินกลางศตวรรษนี้

การดำเนินการส่วนหนึ่งของรัสเซียเพื่อมุ่งตอบโต้แก้ไขปัญหานี้ ได้แก่การส่งเสริมให้ชาวรัสเซียที่ตกค้างอยู่นอกพรมแดนของสหพันธรัฐภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 ได้อพยพกลับเข้ามาอยู่ภายในรัสเซีย ประมาณกันว่ามีชาวรัสเซีย 6.5 ล้านคนจากอดีตสหภาพโซเวียต กำลังทำงานอยุ่ในรัสเซียเวลานี้ในฐานะชาวต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ ติดตัว และกฎหมายใหม่ของหมีขาวก็มุ่งที่จะรับรองให้ฐานะแก่คนเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม มี “พี่น้องร่วมชาติ” ชาวรัสเซียที่พำนักอาศัยอยู่ต่างประเทศเพียง 20,000 คนเท่านั้น ที่ได้ยื่นขออพยพเข้ามาอยู่ในสหพันธรัฐ ภายใต้กฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งที่ออกมาเพื่อมุ่งดึงดูดชาวรัสเซียให้กลับมา

นี่ทำให้ยังคงมีอีกราว 9.5 ล้านคน ที่เป็นพลเมืองของเบลารุส ประเทศซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากยุคสหภาพโซเวียต และปัจจุบันยังคงรวมกันเป็นสหภาพแบบกึ่งทางการกับสหพันธรัฐรัสเซีย นอกจากนี้มีคนรัสเซียที่พำนักอยู่ในยูเครนที่อยู่ถัดไปทางทิศตะวันตก และคาซัคสถาน ทั้งนี้เมื่อรวมแล้วใน 3 ประเทศเหล่านี้มีคนเชื้อชาติรัสเซียพำนักอาศัยอยู่มากกว่า 15 ล้านคน และพวกเขาถือเป็นทรัพยากรทางยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด พอล โกเบิล รายงานในเว็บไซต์ “หน้าต่างแห่งยูเรเชีย” (Window on Eurasia) ของเขาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมเอาไว้ดังนี้

“มอสโกยอมล่าถอยทัพ[ในจอร์เจีย] ภายหลังเผชิญการคัดค้านอย่างดุเดือดจากประเทศอื่นๆ ทว่าวิธีปฏิบัติเพื่อมอบความเป็นพลเมืองรัสเซีย ซึ่งมีความก้ำกึ่งคลุมเครือทางกฎหมายและได้เริ่มดำเนินการกันมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 แล้ว ในเขตแดนของอดีตสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตหลายต่อหลายแห่งนั้น กลับยังคงไม่ได้มีการล่าถอยเลย หลักฐานมากมายแสดงให้เห็นว่า มีผู้คนประมาณ 1-2 ล้านคนที่เวลานี้พำนักอาศัยอยู่ในดินแดนของอดีตสหภาพโซเวียต เป็นพวกที่มี 2 สัญชาติในทางพฤตินัย และไม่ค่อยยินยอมบอกกล่าวเรื่องนี้แก่ทางการผู้รับผิดชอบด้วย รัสเซียก็แทบไม่ทำอะไรเลยเพื่อหยุดยั้งกระบวนการดังกล่าวนี้ ยิ่งกว่านั้น เริ่มตั้งแต่ปี 1997 รัสเซียกลับส่งเสริมการถือสองสัญชาติในทางพฤตินัยด้วยซ้ำไป”

รัสเซียจำเป็นจะต้องกลืนกินเบลารุสและภาคตะวันออกของยูเครน เพื่อผลประโยชน์แห่งการดำรงคงอยู่ของตัวเอง สำหรับเบลารุส หรือ ไบโลรัสเซีย นั้น ไม่มีใครแยแสสนใจอยู่แล้ว ประเทศนี้ไม่เคยมีการดำรงคงอยู่ในฐานะชาติหรือมีวัฒนธรรมแห่งชาติที่เป็นอิสระมาก่อน หนังสือไวยากรณ์ในภาษาไบโลรัสเซียกว่าจะมีการตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มแรกก็เมื่อถึงปี 1918 แล้ว และมีประชากรของเบลารุสแค่มากกว่าหนึ่งในสามนิดหน่อย ที่พูดภาษานี้เมื่ออยู่บ้าน ดินแดนที่มีผู้คนราว 10 ล้านเช่นนี้ ไม่มีที่ไหนที่จะมีเหตุผลน้อยยิ่งไปกว่านี้แล้วในการประกาศตัวเป็นเอกราช พิจารณาจากข้อสรุปดังกล่าวนี้ ก็ดูเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องถามไถ่กันต่อไปว่า ทำไมใครๆ ถึงควรที่จะแยแสสนใจในเรื่องเกี่ยวกับยูเครน คำถามเช่นนี้อาจก่อให้เกิดการโต้แย้งกันดุเดือดยิ่งกว่ากรณีเบลารุส อย่างน้อยก็ในขณะนี้ แต่ผมขอแสดงความมั่นใจว่า ชะตากรรมของยูเครนคือจะต้องเกิดการแบ่งแยกดินแดนแน่นอน

หมายเหตุ
[1] ดู National Review Online, Moscow’s Sinister Brilliance.
[2] ดู New York Post, A czar is born: Bad Vlad wins war, dupes West & proves he’s genius.

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)

สเปรงเกลอร์ เป็นคอลัมนิสต์ประจำของเอเชียไทมส์ออนไลน์

  • อเมริกันเล่นเกม“โมโนโพลี”แต่รัสเซียเล่น “หมากรุก” (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น