xs
xsm
sm
md
lg

ช่วงเวลาสำคัญยิ่งสำหรับ“โอบามา”ในกรุงมอสโก (ตอน3)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรากุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

A moment of truth for Obama in Moscow
By M K Bhadrakumar
03/07/2009

ด้วยการวางกลเม็ดต่างๆ อันยักเยื้องซ่อนเงื่อนประดุจเขาวงกต รัสเซียหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียมีการยกระดับให้ดียิ่งขึ้น โดยสิ่งที่จะเป็นหมากเด็ดที่สุดก็คือ การยื่นเสนอต่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในเรื่องการให้ความร่วมมือเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถาน มีความเป็นไปได้ที่ว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียโดยรวม กำลังทำท่าซวนเซเฉียดใกล้ที่จะพังครืนลงมานั้น การร่วมมือกันในบริเวณเทือกเขาฮินดูกูฏดังกล่าวนี้ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ สำหรับการประชุมสุดยอดที่กรุงมอสโกวันจันทร์(6)นี้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 ตอน นี่คือตอนที่ 3 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนสอง)

ทางฝ่ายรัสเซียนั้น โดยเนื้อหาสาระแล้ว ก็พยายามที่จะฟันฝ่าการถูกขีดวงล้อมกรอบเช่นนี้ ด้วยการริเริ่มสร้างรูปแบบภาคี 3 ฝ่ายกับทางอัฟกานิสถานและปากีสถานขึ้นมา ประธานาธิบดีของ 3 ประเทศนี้ได้จัดการหารือร่วมกัน ระหว่างที่ต่างไปเข้าร่วมการประชุม เอสซีโอ ณ เมืองเยคาเตรินเบิร์ก (Yekaterinburg) ประเทศรัสเซียในเดือนที่แล้ว ต่อจากนั้นก็มีการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศกันอีกในวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน ณ เมืองตริเอสเต

มอสโกกำลังมองหาศักยภาพต่างๆ ในการพัฒนาความร่วมมือแบบ 3 ฝ่ายนี้ ทั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 3 ประเทศได้ตกลงเห็นพ้องกันที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือกัน ทว่าจะอยู่ “ในแนวทางอันสอดคล้องกับความริเริ่มอื่นๆ ของประชาคมระหว่างประเทศ”

รัฐมนตรีเหล่านี้มีมติให้สำรวจศักยภาพต่างๆ ที่จะร่วมมือกันในเรื่องเฉพาะเจาะจงบางเรื่อง เป็นต้นว่า การควบคุมพรมแดน, การแลกเปลี่ยนข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ, การฝึกอบรมการต่อต้านการก่อการร้าย, และการฝึกอบรมบุคลากรด้านการต่อต้านยาเสพติด ทว่าที่น่าสนใจมากก็คือ พวกเขายังจะส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านที่ดีระหว่างกัน, รวมทั้งการสร้างเสถียรภาพขึ้นในภูมิภาค, ตลอดจนการหาทางร่วมมือกันทางเศรษฐกิจด้วย, นอกเหนือจากการขยาย “ปฏิสัมพันธ์ว่าด้วยเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน” ในสหประชาชาติ, เอสซีโอ, และองค์การที่ประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Conference) เหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของชาติทั้ง 3 ยังเห็นพ้องกันที่จะ “ศึกษาและพัฒนาวิสัยทัศน์ร่วมกันและมุมมองร่วมกันในเรื่องสันติภาพและการพัฒนาของภูมิภาคแถบนี้”

กล่าวโดยสรุป ขณะที่ไม่สร้างความหมางใจความกระทบกระเทือนต่อตัวตนของสหรัฐฯ แต่รัสเซียก็กำลังพัฒนาแนวทางอิสระของตนเอง ในการติดต่อกับผู้สนับสนุนสำคัญทั้ง 2 ในยุทธศาสตร์ “อัฟกานิสถาน-ปากีสถาน” (AfPak) ของสหรัฐฯ

มอสโกกำลังเดินแต้มอย่างเฉียบคมโดยอาศัยความความกระตือรือล้นอย่างยิ่งยวดของปากีสถาน ซึ่งก็กำลังต้องการพัฒนาเส้นทางการคบค้านด้านการเมือง-การทหารกับทางมอสโก ผู้บัญชาการทหารบกปากีสถาน พล.อ.อัชฟัค คิอานี (Ashfaq Kiani) ไปเป็นแขกในกรุงมอสโกเมื่อเดือนที่แล้ว ในการเยือนที่มีลักษณะมุ่งเน้นด้านพิธีการ การเยี่ยมเยียนคราวนี้ถูกจัดขึ้นมาท่ามกลางภูมิหลังที่สหรัฐฯกำลังเพิ่มทหารในอัฟกานิสถาน อีกทั้งมีการเปิดยุทธการใหญ่ที่เฝ้ารอคอยกันมานานแล้วเพื่อปราบปรามพวกตอลิบาน

สิ่งที่ดูเหมือนว่ากำลังบังเกิดขึ้นก็คือ อิสลามาบัดตอบโต้วอชิงตัน โดยใช้กลเม็ดแบบเดียวกันกับที่สหรัฐฯกำลังพยายามดึงเอาอินเดียเข้ามาเกี่ยวพันกับปัญหาอัฟกานิสถานในฐานะเป็นมหาอำนาจภูมิภาคที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้เสีย ถึงแม้ปากีสถานจะได้คัดค้านแล้วก็ตาม ส่วนการที่มอสโกยอมเสี่ยงที่จะสร้างความขุ่นเคืองให้แก่นิวเดลี ด้วยการสร้างรูปแบบการคบค้าระดับภูมิภาคแบบพิเศษเฉพาะกับปากีสถานเช่นนี้ ย่อมชี้ให้เห็นถึงการแข่งขันทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อันดุเดือดในแถบเทือกเขาฮินดูกูฏ

วิธีการทำนองเดียวกันนี้ของรัสเซียในอีกกรณีหนึ่ง ดูเหมือนจะปรากฏให้เห็นในการตัดสินใจของมอสโก ที่จะไม่คัดค้านความพยายามอย่างแรงกล้าของสหรัฐฯที่จะรักษาสิ่งปลูกสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกทำนองฐานทัพ อย่างน้อยก็บางส่วนเอาไว้ ณ เมืองมานาส (Manas) ประเทศคีร์กิซสถาน เรื่องนี้นำไปสู่สูตรใหม่ซึ่งสหรัฐฯได้รับอนุญาตให้ดำเนินการ “ศูนย์ขนถ่ายสินค้า” รวมทั้งสามารถรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศที่มีในมานาสอยู่แล้วเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มค่าธรรมเนียมที่จ่ายให้แก่รัฐบาลคีร์กีซเป็น 3 เท่าตัวของอัตราเดิม

เมื่อสื่อมวลชนคาดเดากันว่า กรุงบิชเคกกระทำการตามอำเภอใจโดยไม่ได้รับความเห็นพ้องจากรัสเซีย (ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เมื่อพิจารณาถึงพันธะกรณีต่างๆ ของคีร์กีซสถานในฐานะเป็นประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม) เมดเวเดฟก็ออกมาแถลงอย่างเปิดเผยว่า รัสเซียถือว่าศูนย์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการแนวหลังที่มานาสแห่งนี้ เป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับการก่อการร้ายในระดับสากล

นอกจากนั้น เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้เคยมีความเคลื่อนไหวในทิศทางนี้มาก่อนแล้ว จากการที่รัสเซียตัดสินใจอนุญาตให้ขนส่งวัสดุทางทหารที่ไม่ใช่อาวุธประหัตประหาร ไปให้แก่กองกำลังทหารนาโต้ในอัฟกานิสถาน ในช่วงก่อนหน้าการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-รัสเซียคราวนี้ พวกนักวิจารณ์ข่าวชาวรัสเซียยังได้ส่อแสดงนัยว่า “มอสโกอาจทำอะไรมากขึ้นไปอีก ด้วยการอนุญาตให้ขนส่งยุทโธปกรณ์ไปยังอัฟกานิสถานโดยผ่านดินแดนของตน” นอกเหนือจากการให้เพิ่มเที่ยวบินตามเส้นทางที่เรียกกันว่า “เส้นทางทางเหนือ” นี้แล้ว

รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ อเล็กซานเดอร์ กรุชโค (Alexander Grushko) ของรัสเซีย กล่าวภายหลังการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการของสภารัสเซีย-นาโต้ (Russia-NATO Council) เมื่อวันอาทิตย์(28มิ.ย.) ที่เมืองตริเอสเตว่า “สำหรับการขนส่งสินค้าด้านการทหารนั้น เราได้ลงนามในข้อตกลงกับเยอรมนี, ฝรั่งเศส, และสเปนไปแล้ว เรายังกำลังพิจารณาคำขอจากอิตาลีอีกด้วย” มอสโกนั้นประเมินว่าสหรัฐฯกำลังเผชิญความยากลำบากสาหัสในการลำเลียงข้าวของทั้งทางพลเรือนและทางทหารไปยังอัฟกานิสถานในเส้นทางผ่านปากีสถาน เนื่องจากสหรัฐฯและพันธมิตรในปัจจุบันกำลังสูญเสียรถบรรทุกเป็นจำนวนที่สูงถึง 200 คันต่อเดือน จากการที่พวกหัวรุนแรงเข้าโจมตีขบวนลำเลียงบนเส้นทางสายนี้อยู่เป็นประจำ

รัสเซียยังคาดการณ์ว่า ขณะที่อเมริกันยังคงพูดจาอยู่เรื่อยว่าจะพัฒนาเส้นทางขนส่งผ่านประเทศจอร์เจีย ทว่านั่นเป็นสิ่งที่พูดง่ายกว่าทำ เนื่องจากจะต้องมีการสร้างท่าขนส่งขึ้นมาใหม่หลายๆ แห่ง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องปรับปรุงพวกท่าขนส่งที่มีอยู่ตามเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลสาบแคสเปียนให้ทันสมัยขึ้น เส้นทางใหม่นี้ยังจะต้องมีการขนถ่ายสินค้ากัน 2 ทอดด้วย นอกจากนั้นยังจะต้องใช้ทางรถไฟยุคโซเวียตที่ค่อนข้างชำรุดทรุดโทรมแล้ว การก่อสร้างระเบียงทางรถไฟสายบากู-ทบิลิซิ-อาคัลคาลากี-คารส์ (the Baku-Tbilisi-Akhalkalaki-Kars railway corridor) ที่กำลังดำเนินอยู่ อาจจะช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งได้ ทว่าในอีกด้านหนึ่งก็มีความจำเป็นที่จะต้องข้ามทะเลสาบแคสเปียน แล้วจากนั้นก็ต้องขนส่งต่อไปยังอัฟกานิสถานอีก ซึ่งหมายความว่าเส้นทางดังกล่าวนี้อย่างมากก็เป็นได้แค่เส้นทางเสริม

พวกโฆษกของรัสเซียได้ขยายความว่า ในโลกที่ถูกทำให้เป็นหนึ่งเดียวแล้วเช่นนี้ ความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ประการหนึ่งก็คือ ความมั่นคงปลอดภัยเป็นเรื่องที่ต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน โดยไม่อาจแบ่งแยกว่าเป็นของชาติใดชาติหนึ่ง ผลประโยชน์ของมอสโกและของสหรัฐฯนั้นไม่เพียงแต่ไม่ได้ขัดแย้งกันในปากีสถานเท่านั้น หากในความเป็นจริงยังสอดคล้องต้องกันอีกด้วย ความเห็นเช่นนี้ไปไกลถึงขั้นพูดกันว่า ในยุคสมัยปัจจุบัน “ไม่มีเวลาและไม่มีที่ทางสำหรับเกมแบบที่ผู้ชนะคว้าเดิมพันไปทั้งหมดคนเดียวอีกแล้ว ขณะที่หากกองทหารสหรัฐฯรีบถอนตัว [ออกจากอัฟกานิสถาน] ก็จะกลายเป็นการสร้างภัยคุกคามให้แก่ผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซียในภูมิภาคเอเชียกลางอันสำคัญยิ่งทางยุทธศาสตร์ด้วยซ้ำไป”

ดังนั้น ในโอกาสเช่นนี้มอสโกจึงต้องก้าวขึ้นแสดงบทบาทเป็นมหาอำนาจของโลกที่มีความรับผิดชอบ และ “ให้ความช่วยเหลืออย่างชนิดจับต้องได้” แก่วอชิงตันในการแก้ไขปัญหาอัฟกานิสถาน

การเสนอความคิดเห็นเช่นนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการอิงหลักเหตุผลโดยปราศจากรากฐานความเป็นจริง ในเวลานี้ อารมณ์ความรู้สึกโดยทั่วไปของมอสโกที่มีต่อภยันตรายของการก่อการร้าย กำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่มีความโกรธกริ้วมากขึ้นเรื่อยๆ พวกผู้ก่อการร้ายได้เข้าโจมตีพื้นที่คอเคซัสเหนือของสหพันธรัฐรัสเซียด้วยความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้ เฉพาะปีนี้ได้เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในคอเคซัสเหนือมากกว่า 300 เหตุการณ์แล้ว โดยที่ได้ทำให้บุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยเสียชีวิตไป 75 คน และการสังหารในบางรายก็กลายเป็นข่าวเกรียวกราวทีเดียว เป็นต้นว่า การเสียชีวิตของ อะดิลเกเรย์ มาโกเมดตากิรอฟ (Adilgerei Magomedtagirov) รัฐมนตรีมหาดไทยของสาธารณรัฐปกครองตนเองดาเกสถาน แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เมดเวเดฟเดินทางไปเยือนดาเกสถานโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า เขาใส่เสื้อแจ๊กเก็ตหนังและสวมแว่นดำ ด้วยท่าทางที่แข็งกร้าวมากๆ ประธานาธิบดีหนุ่มผู้นี้ได้เปล่งคำพูดที่มีสำนวนดิบๆ ซึ่งมักชวนให้นึกถึงนายกรัฐมนตรีวลาดิมีร์ ปูติน “นี่คือลัทธินิยมความรุนแรงที่ส่งเข้ามาให้เราจากต่างแดน เมื่อพวกสันดานโรคจิตทั้งหลายเข้ามาขี้ใส่ประเทศของเรา” เมดเวเดฟกล่าวให้ความเห็น และมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ของรัฐด้วย “งานสร้างความสงบเรียบร้อย งานทำลายพวกก่อการร้ายจอมป่วน จะต้องดำเนินต่อไป” เขากล่าวย้ำ

เป็นเรื่องน่าสนใจมากทีเดียว เรื่องที่เมดเวเดฟพูดถึงในคราวนี้ สามารถที่จะแทนที่ด้วยบริบทของสิ่งที่สหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่ในอัฟกานิสถานได้อย่างเหมะเหม็งสมบูรณ์แบบทีเดียว ทั้งนี้เขาพูดว่า “เป็นเพราะประชาชนยากจน อัตราการว่างงานก็สูงลิ่ว และการบริหารของรัฐบาล [ส่วนท้องถิ่น] ก็พิกลพิการไปทั้งระบบ จึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานตกฮวบลงไป ซึ่งนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นและนำไปสู่การสูญเสียความยอมรับอำนาจของรัฐ สภาพเช่นนี้จะต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้นต่อไป ... กิจกรรมต่อต้านยาเสพติดทั้งหลาย โดยเนื้อหาสาระแล้วเป็นสิ่งที่คู่กันไปกับการต่อสู้ปราบปรามการก่อการร้าย เราเข้าใจดีว่าเงินทองที่ได้มาจากยาเสพติด เงินทองที่มาจากการขายยาเสพติด ในที่สุดแล้วก็จะไหลไปหล่อเลี้ยงพวกผู้ก่อการร้าย เราในทุกวันนี้อยู่ในสถานการณ์ที่โชคร้าย เมื่อเพื่อนบ้านของเราเป็นผู้ส่งปัญหาชนิดนี้ให้แก่เรา เราควรจะต้องต่อสู้ร่วมกันกับพวกเขาเพื่อสยบภัยคุกคามเหล่านี้ แน่นอนทีเดียว เรื่องนี้ยังจะทำให้สถานการณ์ในแถบคอเคซัสยิ่งสับสนยุ่งยากขึ้นไปอีก”

ด้วยการวางกลเม็ดต่างๆ อันยักเยื้องซ่อนเงื่อนประดุจเขาวงกตเหล่านี้ และจากสัจธรรมที่แสนโหดของชีวิตจริงๆ ทำให้รัสเซียวาดหวังที่จะยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซีย โดยเตรียมเสนอต่อโอบามา ให้มีความร่วมมือกันในเรื่องอัฟกานิสถานอย่างใหญ่โตเพิ่มขึ้นมากมาย มีความเป็นไปได้จริงๆ ที่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อซึ่งความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียโดยรวมกำลังซวนเซอย่างน่ากลัวใกล้จะถึงขั้นล่มสลายนั้นเอง ความร่วมมือกันในแถบเทือกเขาฮินดูกูฏ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ สำหรับการประชุมสุดยอดที่กรุงมอสโก

ดังที่เมดเวเดฟได้ชี้ไว้ในบทวิจารณ์ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของวังเครมลินเมื่อวันพฤหัสบดี(2) “คณะรัฐบาลสหรัฐฯชุดใหม่ภายใต้ประธานาธิบดีโอบามา กำลังแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ และสร้างความสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น, เชื่อถือไว้วางใจได้ยิ่งขึ้น, และในที่สุดแล้วจะมีความทันสมัยมากขึ้น เรานั้นพร้อมแล้วสำหรับสิ่งนี้”

มอสโกจะต้องคำนวณแล้วว่า เป็นเรื่องได้ประโยชน์ที่จะช่วยเหลือให้โอบามาได้บรรเทาความเจ็บปวดในจุดที่กำลังเป็นบาดแผลกลัดหนองมากที่สุดในขณะนี้ อีกทั้งมีความเสี่ยงสูงที่จะลุกลามกลายเป็นเนื้อร้ายตายเน่า ผลของการแสดงมิตรไมตรีเช่นนี้จะส่งผลดีในการบ่งบอกให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซียนั้นยังคงสามารถที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ในหนทางที่จริงจังและยั่งยืน

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหลายๆ ประเทศ อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี
  • ช่วงเวลาสำคัญยิ่งสำหรับ“โอบามา”ในกรุงมอสโก (ตอน1)
  • ช่วงเวลาสำคัญยิ่งสำหรับ“โอบามา”ในกรุงมอสโก (ตอน2)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น