เอเจนซี/เอเอฟพี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ระบุเมื่อวันจันทร์(15)ว่า การอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ของสหรัฐฯ จะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยบรรเทาลงไปในปีนี้ รวมทั้งทำให้เกิดการฟื้นตัวมีอัตราการเติบโตเป็นบวกเล็กน้อยในปีหน้า
ไอเอ็มเอฟชี้ด้วยว่า หากพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ในระยะกลาง เวลานี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯก็ถือว่าอยู่เหนือระดับที่ควรจะเป็นตามปัจจัยเหล่านี้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และค่าของมันจะเป็นอย่างไรต่อไปก็จะขึ้นอยู่กับความต้องการสินทรัพย์สหรัฐฯของต่างประเทศ
หลังจากการหารือประจำปีตามปกติระหว่างสหรัฐฯกับไอเอ็มเอฟคราวนี้ ไอเอ็มเอฟเสนอในรายงานที่นำออกเผยแพร่วันจันทร์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯนั้นมาถูกทางแล้วที่ยังคงอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่จนถึงขณะนี้ แต่ก็จำเป็นต้องจัดทำ "ยุทธศาสตร์ทางออก" ที่มีประสิทธิภาพ นั่นคือการเตรียมการที่จะทำให้สามารถเลิกใช้มาตรการกระตุ้นยามฉุกเฉินได้อย่างราบรื่น รวมทั้งหันความใส่ใจไปที่การแก้ไขการขาดดุลทางการคลังที่พุ่งทะยานขึ้น เมื่อถึงช่วงที่เศรษฐกิจดีขึ้นมาแล้ว
"เราเห็นสัญญาณที่ดีหลายประการ แต่ก็เห็นด้วยว่ามีปัญหาหนักในอนาคตซึ่งต้องการการเอาใจใส่และมาตรการรับมือที่มีประสิทธิภาพ" รองกรรมการผู้จัดการอันดับหนึ่งของไอเอ็มเอฟ จอห์น ลิปสกี กล่าวในการแถลงข่าวเกี่ยวกับรายงานฉบับนี้
ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ปัญหาความตึงตัวทางการเงิน เมื่อผสมกับการที่ตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดแรงงานยังคงมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง น่าที่จะกลายเป็นปัจจัยคอยสกัดกั้นการเจริญเติบโต โดยที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนก็คงต้องใช้เวลาจนกระทั่งถึงกลางปี 2010
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้ในรายงานฉบับนี้ว่า ปีนี้เศรษฐกิจสหรัฐฯจะหดตัวราว2.5% และปีหน้าจะขยายตัวราว 0.75% ซึ่งเป็นการปรับสูงขึ้นมาคำพยากรณ์ของไอเอ็มเอฟในเดือนเมษายน ที่บอกว่าปี 2009 อัตราการเติบโตจะหดตัว 2.8% และปี 2010 อัตราการเติบโตจะเป็น 0%
กระนั้นก็ตาม การคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟยังคงสดใสน้อยกว่าตัวเลขพยากรณ์ล่าสุดของทางการสหรัฐฯเอง เป็นต้นว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ทำนายว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะติดลบระหว่าง 1.3 - 2.0% ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี ส่วนในปีหน้าจะมีอัตราเติบโตเป็นบวกในระดับ 2.0 - 3.0%
เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นทางการคลังของวอชิงตัน รายงานในวันจันทร์ของไอเอ็มเอฟประมาณการว่า จะทำให้ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% ในปื 2009 และ 0.25% ในปี 2010
นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟชี้อีกว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯจะตกลงมาสู่ "ระดับที่ต่ำมากๆ" และเป็นไปได้ว่าจะลงถึงก้นเหวในระดับประมาณ 0.5% ในปี 2010 ก่อนที่จะเริ่มปรับขึ้น
ลิปสกี้กล่าวว่า นโยบายการตอบโต้วิกฤตของรัฐบาลสหรัฐฯถือว่า "เข้มแข็งและรอบด้าน" และข้อมูลเมื่อเร็ว ๆนี้แสดงให้เห็นว่า การดิ่งลงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้นได้ชะลอลง และเงื่อนไขต่างๆ ทางการเงินก็เริ่มดีขึ้น
กระนั้นก็ตาม ไอเอ็มเอฟชี้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และหากว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆไม่กระเตื้องขึ้นดังคาดเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิหน้า ก็อาจจะต้องพิจารณาใช้มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯควรจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเช่นนี้ต่อไปอีก
ไอเอ็มเอฟบอกว่า ความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดในภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็คือ ความเป็นไปได้ที่อัตราการบังคับขายทอดตลาดที่อยู่อาศัยจะยังคงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยจะลดลงเรื่อย ๆ รวมทั้งการที่อาจจะเกิดความปั่นป่วนทางการเงินขึ้นมาอีก
รายงานของไอเอ็มเอฟชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯเผชิญหน้ากับปัญหาหนักหน่วง 3 ประการที่สัมพันธ์กัน ประการแรกก็คือต้องดำเนินมาตรการด้านการเงินการคลังต่อไปเพื่อหนุนส่งให้เกิดการฟื้นตัวที่ยั่งยืน ประการที่สองได้แก่การพัฒนายุทธศาสตร์ทางออก เพื่อลดการเข้าแทรกแซงของรัฐที่ทำมาตลอดในช่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ และประการที่สาม จะต้องทำการปฏิรูปทางการเงินและการคลัง เพื่อแก้ไขสาเหตุพื้นฐานของวิกฤตที่สืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนาน
ในขณะที่เศรษฐกิจกำลังทำท่าเริ่มกระเตื้องขึ้น ไอเอ็มเอฟก็เห็นว่าสหรัฐฯควรจะจัดทำและเผยแพร่ยุทธศาสตร์ทางออก ที่จะยกเลิกมาตรการกระตุ้นทางการเงิน รวมทั้งต้องให้มั่นใจว่ามีการประสานงานในเรื่องนี้ในระดับนานาชาติ
ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2009 - 2011 การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐฯจะอยู่ที่ 9% ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ และหนี้สาธารณะนั้นจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบสองเท่าตัว ไปอยู่ในระดับเท่ากับ 75% ของจีดีพี
รายงานของไอเอ็มเอฟบอกว่า งบประมาณประจำปี 2010 ของรัฐบาลสหรัฐฯที่เปิดเผยออกมาแล้วนั้น มีการกำหนดจุดมุ่งหมายต่างๆ อย่างเหมาะสมแล้ว แต่ก็เตือนว่ารัฐบาลสหรัฐฯจัดทำงบประมาณฉบับนี้บนพื้นฐานของการมองภาพรวมเศรษฐกิจในเชิงบวกมากเกินไป
"ตามการคาดการณ์ของเรา คงจะต้องมีการใช้มาตรการเพิ่มเติมขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถที่จะบรรลุเป้าหมายระยะยาวต่างๆ เหล่านี้" ลิปสกีกล่าวในการแถลงข่าว
ลิปสกีกล่าวอีกว่า เมื่อมองไปข้างหน้าแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งยวดที่สหรัฐฯควรทำก็คือ ออกมาตรการต่าง ๆเพื่อให้มั่นใจว่าวิกฤตเช่นครั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนั้นเขายังแสดงความชื่นชมข้อเสนอของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องแต่งตั้งผู้กำกับตรวจสอบที่จะเป็นผู้ดูแลเรื่องความเสี่ยงเชิงระบบ