เอเจนซี - ซิตี้กรุ๊ป อิงค์ อาจจะต้องเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่ง หลังจากผลการตรวจสอบขั้นต้นของหน่วยงานกำกับดูแลสหรัฐฯออกมาแล้ว นอกจากนี้ แบงก์ออฟอเมริกาก็อาจต้องการเงินทุนใหม่อีกหลายพันล้านดอลลาร์เช่นกัน ทั้งนี้ตามรายงานของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลฉบับวันอังคาร (28)
วอลสตรีทเจอร์นัล อ้างแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับการประเมินผลความแข็งแกร่งของธนาคารใหญ่ 19 แห่งของรัฐบาลสหรัฐฯ และรายงานข่าวนี้ก็ทำให้เกิดการคาดเดาและการวิเคราะห์กันอย่างขนานใหญ่ในวอลล์สตรีท เนื่องจากนักลงทุนพยายามที่จะหาข้อมูลกันว่า ธนาคารอื่นๆ อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับซิตี้แบงก์ และแบงก์ออฟอเมริกาหรือไม่
หุ้นของธนาคารเวลส์ ฟาร์โกหล่นลงมา 5% ในขณะที่แบงก์ออฟอเมริกาและซิตี้กรุ๊ป ราคาหุ้นร่วง 10 และ 7% ตามลำดับ
นอกจากนั้น ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวเมื่อวันพุธ (28) ว่า ธนาคารที่ถูกทางการทดสอบแล้ว มีอย่างน้อย 6 แห่งต้องการเงินทุนเพิ่มเติม
แหล่งข่าวของบลูมเบิร์ก ยังกล่าวด้วยว่า ธนาคารที่กล่าวถึงเหล่านี้ บางแห่งอาจจำเป็นต้องได้เม็ดเงินอัดฉีดเพิ่มจากรัฐบาล แต่เงินทุนส่วนใหญ่จะเป็นไปในรูปของการเปลี่ยนหุ้นบุริมสิทธิ์ที่รัฐบาลถืออยู่ ให้เป็นหุ้นสามัญมากกว่า
ในเรื่องเกี่ยวกับซิตี้กรุ๊ป วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่า ซิตี้ได้ขอนุมัติกระทรวงการคลังสหรัฐฯในการจ่ายโบนัสพิเศษให้แก่พนักงาน นอกจากนี้ ก็ยังพยายามแยกหน่วยงานซื้อขายพลังงานที่ชื่อ ไฟโบร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซิตี้แบงก์ ออกไปให้เป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์อิสระ หรือนำเอานักลงทุนข้างนอกมาร่วมทุนด้วย
ในวันอังคารนั้นเอง นักวิเคราะห์ของเอฟบีอาร์ ก็รายงานว่า แบงก์ออฟอเมริกาน่าจะต้องการเม็ดเงินอย่างน้อย 70,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อคงอัตราส่วนมูลค่าทางบัญชีที่ไม่รวมสินทรัพย์จับต้องไม่ได้ ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ก่อนหน้านี้ ทั้งซิตี้และแบงก์ออฟอเมริกา ต่างก็ประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสแรกปีนี้ที่ดีกว่าที่คาดกัน แต่นักวิเคราะห์มีความข้องใจกันว่าสถานการณ์จะดีขึ้นต่อไปเรื่อย ๆหรือไม่ เพราะตอนนี้มีความเสี่ยงสูงเรื่องหนี้เสีย รวมทั้งกำไรจากธุรกิจเทรดดิ้งก็สูงผิดปกติ ตลอดจนมีรายได้ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว เข้ามาประคองให้ผลประกอบการดีขึ้น
“หากคุณถามคนอื่นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ธนาคารใดที่น่าจะต้องมีการระดมทุนใหม่มากที่สุด ผมคิดว่าคำตอบจะออกมาว่า เป็นแบงก์ออฟอเมริกา และซิตี้กรุ๊ป” วอลเตอร์ ทอดด์ ผู้จัดการกองทุนของกรีนวูด แคปิตอล แอสโซซิเอตส์ กล่าว
ธนาคารทั้งสองแห่งนี้ได้รับเงินไปแล้วรวมกัน 45,000 ล้านดอลลาร์ จากโครงการบรรเทาสินทรัพย์มีปัญหาของรัฐบาล ซึ่งนับว่าสูงกว่าธนาคารใหญ่อื่นๆ อย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารทั้งสองจะมีปัญหาหนี้สูญ โดยเฉพาะสินเชื่อผู้บริโภค สืบเนื่องจากอัตราการว่างงานในสหรัฐฯที่สูงขึ้นที่สุดในรอบหลาย ๆปี แบงก์ออฟอเมริกานั้นมีสินเชื่อผู้บริโภคอยู่ถึง 600,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรก ส่วนซิตี้กรุ๊ปก็มีสินเชื่อดังกล่าวอยู่ 500,000 ล้านดอลลาร์
สินเชื่อเหล่านี้แม้จะทำให้ธนาคารมีรายได้จากอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนจากการที่ลูกค้าไม่จ่ายหนี้ นอกจากนี้ ธนาคารทั้งสองก็ยังเงินทุนที่จะมาประคองการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในจำนวนน้อยมาก
นักวิเคราะห์ชี้ว่า อัตราส่วนมูลค่าทางบัญชีที่ไม่รวมสินทรัพย์จับต้องไม่ได้ของซิตี้นั้น อยู่ที่ 1.66% ในช่วงไตรมาสแรก และหากว่ามีแปลงสภาพหุ้นบุริมสิทธิ์มาเป็นหุ้นสามัญ รวมกับเงิน 2,700 ล้านดอลลาร์ที่ได้จากการขายหุ้นสมิธ บาร์นีย์ ออกไปให้กับมอร์แกน สแตนลีย์ ก็จะทำให้อัตราส่วนมูลค่าทางบัญชีที่ไม่รวมสินทรัพย์จับต้องไม่ได้ ขึ้นมาเป็น 4.97%
ส่วนอัตราส่วนมูลค่าทางบัญชีที่ไม่รวมสินทรัพย์จับต้องไม่ได้ ของแบงก์ออฟอเมริกานั้นอยู่ที่ 1.8% และหากอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 12% ธนาคารก็จะต้องการเม็ดเงินทุนราว 60,000-70,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้อยู่เหนือระดับ 3% ซึ่งเป็นระดับที่รัฐบาลกำหนดให้ธนาคารต่างๆ ต้องทำตาม
ในขณะที่นักวิเคราะห์คนอื่นๆ กล่าวว่า อัตราส่วนดังกล่าวควรจะสูงเกิน 5% หากว่าธนาคารต้องการที่จะฝ่าฟันให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งถดถอยแรง จนทำให้อัตราการว่างงานในประเทศขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 25 ปี