xs
xsm
sm
md
lg

องค์การใหม่เอี่ยมของพวกอนุรักษนิยมใหม่

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ และ แดเนียล ลูบัน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Ghosts of US’s unilateralist past rise
By Jim Lobe and Daniel Luban
27/03/2009

เมื่อเปรียบเทียบกับ “โครงการเพื่อศตวรรษใหม่ของอเมริกัน” (Project for the New American Centuryหรือ PNAC) ที่เสื่อมถอยจืดจางไปแล้ว องค์การด้านนโยบายการต่างประเทศของพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) ซึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นมาหมาดๆ และใช้ชื่อว่า “โครงการริเริ่มด้านนโยบายการต่างประเทศ” (Foreign Policy Initiative) ก็ชวนให้หวนระลึกถึงยุคทศวรรษ 1990 ตอนที่ PNAC ดำเนินการสร้างสมพัฒนาตัวเองจนกระทั่งต่อมาได้เข้าไปผลักดันให้เกิดนโยบายการต่างประเทศอันแข็งกร้าวในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าขันแกมสังเวชก็คือ สำหรับการประกาศตัวอย่างเป็นทางการขององค์การใหม่ในคราวนี้ พวกเขาเลือกที่จะผลักดันให้สหรัฐฯดำเนินนโยบายเพิ่มกำลังทหารแบบพุ่งทะยานในอัฟกานิสถาน

วอชิงตัน – องค์การทางด้านนโยบายการต่างประเทศของพวกอนุรักษนิยมใหม่ (neo-conservative) แห่งหนึ่ง ซึ่งเพิ่งก่อตัวจัดตั้งขึ้นมาใหม่และยังคงมีความคลุมเครือไม่ชัดเจน กำลังทำให้นักสังเกตการณ์บางคนหวนย้อนระลึกถึงยุคทศวรรษ 1990 ตอนที่องค์การก่อนหน้านี้ของพวกเขาดำเนินการสร้างสมพัฒนานโยบายการต่างประเทศแบบนักเอกภาคีนิยม (unilateralist พวกที่เชื่อว่าควรใช้นโยบายการต่างประเทศแบบคำนึงถึงตัวเองเป็นสำคัญ ไม่สนใจหารือหรือเกี่ยวข้องกับประเทศอื่น)ที่แสนจะก้าวร้าว ซึ่งจะไปผลิดอกออกผลในสมัยคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช

องค์การนี้ที่ใช้ชื่ออันดูแห้งแล้งไร้รสชาติว่า “โครงการริเริ่มด้านนโยบายการต่างประเทศ” (Foreign Policy Initiative หรือ FPI) เป็นความคิดของ วิลเลียม คริสโตล บรรณาธิการนิตยสาร “วีกลี่ สแตนดาร์ด”, รอเบิร์ต เคแกน กูรูด้านนโยบายการต่างประเทศของพวกอนุรักษนิยมใหม่, และ แดน เซเนอร์ อดีตเจ้าหน้าที่ในคณะรัฐบาลบุช เท่าที่ผ่านมา FPIยังคงทำตัวเงียบๆ ไม่ค่อยมีข่าวคราว และกิจกรรมเพียงอย่างเดียวในเวลานี้ก็คือ การเป็นสปอนเซอร์ให้แก่การประชุมสัมมนา ซึ่งมุ่งหมายที่จะผลักดันให้สหรัฐฯเพิ่มกำลังทหารแบบพุ่งทะยาน (surge) ในอัฟกานิสถาน

แต่ก็มีบางคนมองว่า FPIน่าจะกลายเป็นทายาทขององค์การก่อนหน้านี้ของคริสโตลและเคแกน นั่นก็คือ “โครงการเพื่อศตวรรษใหม่ของอเมริกัน” (Project for the New American Century หรือ PNAC) ซึ่งปัจจุบันหยุดทำงานไปแล้ว พวกเขาเริ่มเปิดตัวองค์การนี้เมื่อปี 1997 และมามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันมากที่สุด จากการเป็นผู้นำการรณรงค์เรียกร้องให้โค่นล้มอดีตประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ของอิรัก ทั้งก่อนหน้าและหลังจากเหตุการณ์การโจมตี 11 กันยายน 2001

พวกสมาชิกก่อตั้งของ PNAC มีจำนวนมากทีเดียวที่ในเวลาต่อมาได้คุมตำแหน่งระดับสำคัญๆ ในคณะรัฐบาลบุช อาทิ รองประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์, รัฐมนตรีกลาโหมโดนัลด์ รัมสเฟลด์, และรัฐมนตรีช่วยกลาโหม พอล โวลโฟวิตซ์

FPI นั้นเพิ่งก่อตั้งขึ้นในปีนี้เอง และแทบไม่สามารถหารายละเอียดอะไรเกี่ยวกับองค์การนี้ได้เลย โดยเท่าที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เว็บไซต์ขององค์การนี้ระบุชื่อบุคคล 3 คนว่าเป็นคณะกรรมการบริหารของ FPI ได้แก่ เคแกน, คริสโตล, และเซเนอร์ ผู้ซึ่งมีความสำคัญเป็นที่รู้จักขึ้นมาก็ในฐานะที่เป็นโฆษกให้แก่พวกหน่วยงานยึดครองของสหรัฐฯในอิรัก

สำหรับผู้ทำงานให้แก่ FPI มีการเอ่ยชื่อเอาไว้ 3 คน โดยที่ 2 คนในจำนวนนี้อันได้แก่ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย เจมี ฟลาย และ คริสเตียน วิตตัน เป็นผู้ที่เพิ่งลุกออกมาจากตำแหน่งด้านนโยบายการต่างประเทศของคณะรัฐบาลบุช ขณะที่คนที่ 3 ได้แก่ ราเชล ฮอฟฟ์ งานสุดท้ายที่เธอทำก็คืออยู่กับคณะกรรมการสมาชิกรัฐสภาแห่งชาติของพรรครีพับลิกัน เมื่อสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส(ไอพีเอส)ติดตามสอบถามไปยังสำนักงานขององค์การนี้ ปรากฏว่าฟลายได้ระบุว่าเซเนอร์คือผู้ที่สามารถตอบคำถามต่างๆ ได้ทั้งหมด แต่แล้วเซเนอร์ก็ไม่เคยติดตามกลับมายังไอพีเอสเลย

ในคำแถลงบอกวัตถุประสงค์ของ FPI ได้ระบุบ่งบอกเอาไว้ว่า “สหรัฐฯยังคงเป็นชาติที่โลกไม่อาจขาดเสียได้” และเตือนว่า สำหรับความทุกข์ยากลำบากทั้งทางการเงินและทางยุทธศาสตร์ของวอชิงตันในเวลานี้นั้น “การยื่นมือออกไปจนสุดเหยียดในทางยุทธศาสตร์นั้นไม่ได้เป็นปัญหาเลย และการตัดทอนลดขนาดก็ไม่ใช่ทางออก” คำแถลงนี้เรียกร้องให้ “เกี่ยวข้องพัวพันอยู่ในโลกทั้งทางด้านการทูต, เศรษฐกิจ, และการทหารอย่างต่อเนื่องต่อไป และปฏิเสธไม่ยอมรับนโยบายทั้งหลายที่จะนำพาเราก้าวไปสู่เส้นทางแห่งลัทธิโดดเดี่ยวตัวเอง”

คำแถลงบอกวัตถุประสงค์นี้ เริ่มต้นด้วยการระบุถึงบรรดาภัยคุกคามต่อสหรัฐฯทั้งหลาย ซึ่งช่างเป็นบทสวดซ้ำๆ ซากๆ ที่เราแสนคุ้นเคย นั่นก็คือ “รัฐอันธพาล”, “รัฐที่ล้มเหลว”, “อัตตาธิปไตย”, และ “การก่อการร้าย” แต่แล้วกลับให้น้ำหนักมากที่สุดแก่ “ความท้าทาย” จาก “พวกมหาอำนาจที่ก้าวผงาดขึ้นมาและที่ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่” โดยพวกมหาอำนาจที่กล่าวถึงนี้ มีการระบุชื่อออกมาจริงๆ ก็เพียงจีนและรัสเซีย

การเน้นชื่อจีนและรัสเซียเช่นนี้ น่าจะเป็นเครื่องสะท้อนถึงอิทธิพลของเคแกน ผู้ซึ่งเคยเสนอความคิดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่า ยุคศตวรรษที่ 21 จะถูกครอบงำด้วยการต่อสู้ระหว่างกลุ่มพลังแห่งประชาธิปไตย (ที่นำโดยสหรัฐฯ) และพวกอัตตาธิปไตย (นำโดยจีนและรัสเซีย) เขายังเรียกร้องให้จัดตั้งสันนิบาตแห่งประเทศประชาธิปไตย เพื่อใช้เป็นกลไกในการสู้รบกับอำนาจของจีนและรัสเซีย ปรากฏว่าคำแถลงบอกวัตถุประสงค์ของ FPI ก็มีการเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้อง “ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขันแก่บรรดาพันธมิตรประชาธิปไตยของอเมริกา”

การเน้นย้ำดังกล่าวนี้ น่าจะบ่งชี้ด้วยว่า FPI นั้นมุ่งหมายที่จะทำให้การประจันหน้ากับจีนและรัสเซีย เป็นแกนกลางแห่งจุดยืนด้านนโยบายการต่างประเทศขององค์การ ถ้าหากเป็นเช่นนี้จริง มันก็จะเหมือนกับการย้อนกลับไปสู่วันเวลาต้นๆ แห่งคณะบริหารบุช ก่อนหน้าเหตุการณ์ 11 กันยายน โดยตอนนั้นเองนิตยสารวีกลี่ สแตนดาร์ด ของคริสโตล เป็นผู้นำในการโจมตีวอชิงตัน ในสิ่งที่นิตยสารนี้กล่าวหาว่าเป็น “การพะเน้าพะนอ” ปักกิ่ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับการออกเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว FPI กลับเลือกที่จะผลักดันให้สหรัฐฯเพิ่มความพยายามทางทหารให้มากยิ่งขึ้นอีกในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้งานแรกขององค์การนี้ ซึ่งกำหนดจะจัดขึ้นในกรุงวอชิงตันวันที่ 31 มีนาคม จะเป็นการประชุมสัมมนาที่ใช้ชื่อหัวข้อว่า “อัฟกานิสถาน: การวางแผนเพื่อไปสู่ความสำเร็จ”

ผู้ขี้นพูดคนสำคัญที่สุดของงานนี้ จะเป็นวุฒิสมาชิก จอห์น แมคเคน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2008 ของพรรครีพับลิกัน อีกทั้งเป็นที่นิยมชมชื่นมานานนมทั้งของเคแกนและคริสโตล เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แมคเคนก็ได้ไปแสดงปาฐกถาที่สถาบันวิสาหกิจอเมริกัน (American Enterprise Institute หรือ AEI) ซึ่งเป็นสถาบันศึกษาวิจัยสำคัญยิ่งของพวกอนุรักษนิยมใหม่ ในปาฐกถาที่ได้รับการเผยแพร่กว้างขวางนี้ แมคเคนเสนอแนะว่า สหรัฐฯไม่สามารถที่จะลดระดับความผูกพันทางทหารของตนในอัฟกานิสถานลงได้ และเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามขึ้นเป็นสองเท่าอีกคำรบหนึ่ง เพื่อเอาชนะสงครามนี้ให้ได้

สำหรับผู้ขึ้นพูดคนอื่นๆ ยังมีอาทิ นักวิจัยของ AEI เฟรเดอริก เคแกน ผู้เป็นน้องชายของรอเบิร์ต เคแกน และเป็นผู้เสนอคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งในเรื่องการใช้ยุทธศาสตร์เพิ่มกำลังทหารแบบพุ่งทะยานในอิรัก, ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านความไม่สงบ พ.ท.จอห์น แนเกิล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการคนใหม่ของ ศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงใหม่ของอเมริกัน (Center for a New American Security) , และ ส.ส.เจน ฮาร์แมน แห่งพรรคเดโมแครต ที่มีความคิดแบบสายเหยี่ยว

เป็นเรื่องหลีกหนีไม่พ้นที่ FPI จะต้องถูกนำเอามาเปรียบเทียบกับ PNAC ซึ่งก่อตั้งโดยคริสโตลและเคแกน ไม่นานหลังจากที่วารสาร “ฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส” ตีพิมพ์บทความของพวกเขาที่ใช้ชื่อว่า “สู่นโยบายการต่างประเทศแบบชาวเรแกนใหม่” (Toward a Neo-Reaganite Foreign Policy) ซึ่งเรียกร้องให้วอชิงตันแสดงบทบาทเป็น “ผู้มีอำนาจครอบงำโลกที่ทรงไว้ซึ่งความเมตตา” (benevolent global hegemony) และตักเตือนคัดค้านสิ่งที่พวกเขาเห็นว่า เป็นการที่พรรครีพับลิกันในยุคหลังสงครามเย็นกำลังไหลเอื่อยไปสู่ “ลัทธิโดดเดี่ยวตัวเองยุคใหม่” หลังจากที่พ่ายแพ้สูญเสียทำเนียบให้แก่บิลล์ คลินตัน

“องค์การใหม่นี้ทำให้ผมย้อนไปนึกถึง Project for the New American Century” เป็นคำกล่าวของ สตีเวน เคลมอนส์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์อเมริกัน แห่ง มูลนิธิอเมริกาใหม่ (New America Foundation) “เหมือนๆ กับ PNAC องค์การใหม่นี้จะกลายเป็นรีสอร์ตสถานพักฟื้น สำหรับพวกที่ต้องการให้กลไกทางทหารของสหรัฐฯขยายตัวยิ่งใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ และพวกที่แบ่งโลกออกเป็นผู้ที่เข้าข้างฝ่ายถูกต้องและฝ่ายมีอำนาจ กับพวกที่เป็นปีศาจร้ายหรือพวกที่จะพะเน้าพะนอปีศาจร้าย”

รายชื่อผู้ที่เป็นสมาชิกของ PNAC นั้น แท้ที่จริงแล้วก็เหมือนกับ “หนังสือชุดใครเป็นใคร” ของพวกอนุรักษนิยมใหม่ ตลอดจนพวกเหยี่ยวในคณะรัฐบาลบุชชุดต่อไปในอนาคต ทั้งนี้นอกเหนือจากเชนีย์, รัมสเฟดล์, และโวลโฟวิตซ์แล้ว สมาชิกผู้ก่อตั้ง PNAC ยังประกอบด้วย เจบ บุช ที่เวลานั้นเป็นผู้ว่าการมลรัฐฟลอริดา อีกทั้งได้รับการพิจารณาว่าน่าจะเป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมากกว่าพี่ชายของเขาเสียอีก, ไอ ลิวอิส “สกูตเตอร์” ลิบบี ผู้ซึ่งต่อมารับตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่ของรองประธานาธิบดีเชนีย์ และลาออกจากคณะรัฐบาลบุชไปภายหลังถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาเบิกความเท็จในเดือนตุลาคม2005, และ เอลเลียต อะบรามส์ ผู้ซึ่งจะกลายเป็นผู้ช่วยระดับท็อปด้านตะวันออกกลางในสภาความมั่นคงแห่งชาติของบุช แล้วยังมีคนอื่นๆ อีกมากที่ต่อมาเข้าทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ ของคณะรัฐบาลบุช

คำแถลงแสดงหลักการของ PNAC ในเดือนมิถุนายน 1997 ได้เรียกร้องให้มี “นโยบายแบบชาวเรแกนในด้านการมุ่งสร้างความเข้มแข็งทางทหารและการมีความแจ่มชัดทางศีลธรรม” อันจะนำมาซึ่ง “การเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหมอย่างสำคัญ” และ “การท้าทายระบอบปกครองที่เป็นปรปักษ์ต่อผลประโยชน์และค่านิยมของเรา”

ในเดือนมกราคม 1998 PNAC ได้ตีพิมพ์จดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีคลินตัน เรียกร้องให้ “ขับระบอบปกครองซัดดัม ฮุสเซน ออกจากอำนาจ” โดยหากมีความจำเป็นก็ต้องใช้กำลังทหาร จดหมายฉบับนั้นลงนามโดยบุคคลหลายๆ คนที่ต่อมาจะกลายเป็นผู้วางแผนและผู้สนับสนุนการรุกรานอิรักในปี 2003 อาทิเช่น รัมสเฟลด์, โวลโฟวิตซ์, อะบรามส์, ริชาร์ด อาร์มิเทจ ซึ่งจะกลายเป็นรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศในเวลาต่อมา, และ จอห์น โบลตัน ที่กลายเป็นเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำสหประชาชาติในยุคคณะรัฐบาลบุชเช่นกัน

ในเดือนกันยายน 2001 เพียงไม่กี่วันภายหลังเหตุการณ์โจมตี 11 กันยายน PNAC ได้ออกจดหมายอีกฉบับหนึ่ง เรียกร้องประธานาธิบดีบุชให้ขยายขอบเขตของ “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ให้กว้างขวางออกไป โดยไม่เพียงมุ่งเล่นงานพวกที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อการโจมตีเท่านั้น แต่ยังต้องรวมเอาอิรัก และกลุ่มเฮซโบลเลาะห์ในเลบานอนเข้าไว้ด้วย

และในเดือนเมษายน 2002 PNAC ได้ประณามตราหน้ ายัตเซอร์ อาราฟัต และองค์การบริหารปาเลสไตน์ (Palestinian Authority หรือ PA) ว่าเป็น “ซี่ล้อซี่หนึ่งในกลไกของการก่อการร้ายในตะวันออกกลาง” PNAC ยังได้เปรียบเทียบอาราฟัตว่าเหมือนๆ กับ อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำของอัลกออิดะห์ และเรียกร้องให้สหรัฐฯยุติการสนับสนุนที่ให้แก่ทั้ง PA และการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์โดยรวม

“การต่อสู้ต่อต้านการก่อการร้ายของอิสราเอลนั้น คือการต่อสู้ของเรานั่นเอง” PNAC บอก พร้อมกับเรียกร้องบุชให้ “เร่งรัดแผนการเพื่อการขับ ซัดดัม ฮุสเซน ออกจากอำนาจ”

การที่ FPI จัดงานเปิดตัวต่อสาธารณชนครั้งแรกของตน ด้วยการประชุมสัมมนาที่มุ่งเน้นไปยังเรื่องที่ว่า ทำไมวอชิงตันจึงควรเพิ่มระดับในการเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันในอัฟกานิสถานนั้น ต้องถือว่าเป็นเรื่องชวนขันแกมสังเวช เมื่อพิจารณาถึงบทบาทของ PNAC ตลอดจนพวกเหยี่ยวอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกคณะรัฐบาลบุช ในการผลักดันจนทำให้เกิดการรุกรานอิรักในเวลาอันรวดเร็วมาก ภายหลังสหรัฐฯเพิ่งเปิดยุทธการเพื่อขับไล่ตอลิบานและอัลกออิดะห์ออกจากอัฟกานิสถานในปลายปี 2001 ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเชื่อว่าการที่ต้องแบ่งกำลังทหารและทรัพยากรด้านข่าวกรองไปยังอิรักนั่นเอง ทำให้ทั้งคณะผู้นำตอลิบานและอัลกออิดะห์สามารถรอดชีวิตไปได้ และสร้างกำลังของตนขึ้นมาใหม่

การที่คณะรัฐบาลบุช (ซึ่งก็ไม่พ้นการให้ความกระตุ้นส่งเสริมอย่างแข็งขันจาก PNAC ตลอดจนพวกที่สนับสนุนองค์การนี้) ให้ความสำคัญลำดับสูงสุดแก่อิรัก ถึงขั้นถือว่าเป็น “แนวรบแกนกลางในสงครามต่อสู้การก่อการร้าย” ยังหมายความด้วยว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีฮามิด คาร์ไซ ซึ่งฝ่ายตะวันตกหนุนหลังอยู่นั้น จะไม่ได้รับความช่วยเหลืออันจำเป็นเท่าที่ควรจะได้

PNAC ยุติกิจกรรมลงในทางเป็นจริงเมื่อประมาณช่วงต้นๆ สมัยที่สองของบุช ส่วนหนึ่งน่าจะเนื่องจากการที่ทางองค์การต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงเป็นอันมาก จากการมีบทบาทเป็นหัวเรื่องหัวแรงในเรื่องสงครามอิรัก

ทว่าการก่อตั้ง FPI ขึ้นมาก็น่าจะเป็นสัญญาณแสดงว่า พวกผู้ก่อตั้งองค์การนี้ยังคงวาดหวังอีกคำรบหนึ่งที่จะได้บ่มเพาะพัฒนานโยบายการต่างประเทศแบบก้าวร้าวมากขึ้น ในระหว่างที่พวกเขาต้องลี้ภัยออกจากทำเนียบขาว ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมตัวสำหรับตอนที่พวกเขาได้หวนคืนสู่อำนาจทางการเมืองอีกในคราวหน้า

จิม โล้บ สร้างบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ http://www.ips.org/blog/jimlobe/.

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น