เอเอฟพี - การประชุมเวทีสังคมโลก (World Social Forum - WSF) ซึ่งเป็นเวทีประชุมของกลุ่มนิยมซ้าย ที่จัดเคียงคู่กับการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (WEF) ได้ปิดฉากลงในวันอาทิตย์ (1) ที่ประเทศบราซิล โดยมีข้อสรุปว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการสิ้นสุดของโลกาภิวัตน์ และจำเป็นจะต้องมีการดำเนินการเพื่อปกป้องคนยากจน
“พวกเราเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านแนวคิดโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่ และตอนนี้โลกาภิวัตน์ก็กำลังทำลายตนเองอยู่ เราจึงต้องกำหนดนิยามโลกให้เป็นไปอย่างที่เราต้องการ” คานดิโด กรซีโบว์สกี ผู้ก่อตั้งกลุ่ม WSF กล่าว
ทางด้าน ฟาติมา เมลโล กรรมการผู้หนึ่งของเวทีประชุมแห่งนี้กล่าวว่า “วิกฤตการณ์เศรษฐกิจบังคับให้เราต้องปรับปรุงข้อเสนอใหม่ ตอนนี้เราได้สร้างเครือข่ายขนาดใหญ่เพื่อต่อต้านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ และในปีนี้เราจะออกรณรงค์และจัดทำปฏิบัติการระดับโลกอีกหลายครั้งด้วยกันเพื่อให้มั่นใจว่าคนยากจนไม่ได้รับความเดือดร้อนสูงเกินไป”
ผู้จัดเวทีประชุม WSF ระบุว่า มีผู้เข้าร่วมการประชุมในปีนี้เป็นจำนวนมากโดยสามารถรวมผู้คนได้ถึง 133,000 คนจากกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ สมาคมศาสนา องค์กรด้านครอบครัว นักนิเวศวิทยา และกลุ่มฝ่ายซ้ายอื่นๆ ส่วนกรซีโบว์สกี บอกด้วยว่า การที่ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว “เป็นการรับประกันว่าการประชุมเวทีสังคมโลกจะยังเดินหน้าต่อไป”
ทั้งนี้ WSF จะจัดชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ครั้งแรกในวันที่ 28 มีนาคม เพื่อต่อต้านการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาชั้นนำ 20 ประเทศ หรือ จี 20 ที่กรุงลอนดอน ซึ่งกำลังเตรียมการประชุมเพื่อประเมินมาตรการต่างๆ ในการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก
ทว่ากลุ่มสหภาพแรงงานและผู้ตอบรับจะเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงครั้งนี้เห็นว่า กลุ่มจี20ยังไม่ใช่ตัวแทนที่ครบถ้วนของผู้ที่จะมาแก้ปัญหาวิกฤตการณ์โลกได้ จึงได้เรียกร้องให้หน่วยงานอื่น คือ สหประชาชาติเข้ารับภารกิจดังกล่าวแทน แต่สหประชาชาติเองก็จะต้องยกเครื่ององค์กรใหม่ด้วย
ที่ประชุม WSF ยังเสนออีกว่าควรมีการจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศจากธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมทั้งพวกเศรษฐี เพื่อนำเงินมาสนับสนุนโครงการสาธารณะทั่วโลก ยุติการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และเปลี่ยนระบบการสำรองเงินตราระหว่างประเทศไปเป็นเงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐฯ
อนึ่ง เวทีประชุมดังกล่าวเริ่มต้นโดยกลุ่มนิยมซ้ายเมื่อปี 2001 เพื่อให้เป็นเวทีทางเลือกของการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (WEF) ซึ่งจัดที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในระยะหลังเวทีประชุม WSF เริ่มมีบทบาทและวาระของตนเองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ซึ่งมีผู้นำประเทศนิยมซ้ายจากบราซิล เวเนซุเอลา โบลิเวีย เอกวาดอร์ และปารากวัยเข้าร่วมการประชุมด้วย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมก็พุ่งเป้าความสนใจไปยังประธานาธิบดี บารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ ด้วยความหวังว่าผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่จะเปลี่ยนทิศทางนโยบายให้ต่างจากของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งถูกมองว่าใช้นโยบายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายคนยากจนในละตินอเมริกา และทำลายเศรษฐกิจ