xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจโลกขยายตัวแค่0.5% ด้านเอเชียอาจชะลอตัวแรงกว่าที่คิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF ลงมาที่ 0.5 % ครั้งนี้ เป็นการสะท้อนภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ ความเสียหายของสถาบันการเงินซึ่งปัจจุบันอยู่ประมาณ 1.06 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นถ้าพิจารณาตามการประเมินของ IMF จะพบว่ายังมีความเสียหายที่ต้องรับรู้ในอนาคตอีกประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่าน ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้อัตราการเติบโตหรือการขยายตัวของประเทศต่างๆลดน้อยจนแทบจะไม่มีการเติบโตเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้าว่าจะมีแนวโน้มและวิธีการแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ จึงทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ และศูนย์วิจัยนครหลวงไทย ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงภูมิภาคเอเชียไว้อย่างน่าสนใจที่เดียว

IMF ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ที่ 0.5 %

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้จัดทำรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) และ รายงานประเมินเสถียรภาพระบบการเงินโลก (Global Financial Stability Report) โดยมีสาระสำคัญของรายงานทั้ง 2 ฉบับคือ IMF ได้ประเมินว่า ในปี 2552 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 0.5 % yoy ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปี 2553 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาขยายตัวที่ 3% yoy เนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 2552 และผลบวกของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลกและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่ธนาคารกลางทั่วโลกพร้อมเพรียงกันลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ปลายปี 2551 อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนนั้น และปัญหาในภาคการเงินต้องได้รับการแก้ไขจนสถาบันการเงินและตลาดสินเชื่อสามารถกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในระบบเศรษฐกิจได้ ขณะเดียวกัน IMF ได้คาดการณ์ถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญในปี 2552 ดังนี้ สหรัฐอเมริกา ที่ -1.6 % yoy กลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป ที่ -2.0 % yoy ญี่ปุ่นที่ -2.6 % yoy จีนที่ 6.8 % yoy รัสเซียที่ -0.7 % yoy อินเดียที่ 5.1 % yoy บราซิลที่ 1.8 % yoy และกลุ่มประเทศอาเซียน 5 (ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย) ที่ 2.7 % yoy

ในส่วนของระบบการเงินโลก IMF ประเมินความเสียหายของสถาบันการเงินนั้นอยู่ที่ 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มประมาณการความเสียหายจากเดิมในเดือนตุลาคม 2551 ที่ IMF ประเมินที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ให้ความเห็นว่า การปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF ลงมาที่ 0.5 % ครั้งนี้ เป็นการสะท้อนภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ความเสียหายของสถาบันการเงินซึ่งปัจจุบันอยู่ประมาณ 1.06 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นถ้าพิจารณาตามการประเมินของ IMF จะพบว่ายังมีความเสียหายที่ต้องรับรู้ในอนาคตอีกประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะกดดันระบบการเงินโลกอย่างมากในแง่ของการเพิ่มทุน ในที่สุดสถาบันการเงินของโลกส่วนใหญ่จะต้องกลับเป็นของรัฐบาล (Nationalization) เพราะภาคเอกชนไม่มีทุนเพียงพอที่จะทำการเพิ่มทุนสถาบันการเงินได้และประการสำคัญ ในส่วนของเศรษฐกิจจีนที่คาดกันว่าจะเป็นความหวังว่า ประเทศในแถบเอเชียนั้น จีนจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 6.7 % ซึ่งต่ำกว่าการประเมินของรัฐบาลจีนที่ 8 % ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชียอาจจะชะลอตัวแรงกว่าที่ประเมินกันไว้

ด้านนายโอลิวิเยร์ บลังชาร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วอาจเผชิญภาวะถดถอยครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ ก็ได้ปรับลดตัวเลขการคาดการณ์ความเสียหายจากหนี้เสีย ในกลุ่มธนาคารและสถาบันการเงินของสหรัฐ เป็น 2 .2 ล้านล้านดอลล่าร์ หรือประมาณ 77 ล้านล้านบาท จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 49 ล้านล้านบาทเท่านั้น

ส่วนนายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ขึ้นเวทีการประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และชี้ว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการจัดการทั่วโลก ซึ่งการแก้ปัญหาจะสามารถดำเนินการได้ด้วยการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติแบบถึงรากถึงโคน เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของการจัดการสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้นล้มเหลวและจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งปัจจุบันมีประเทศหน้าใหม่บางประเทศที่เข้ามามีบทบาท และประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องรวมกำลังและแสดงจุดยืนออกมา

นายอันนัน กล่าวถึง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีสมาชิกถาวรและมีสิทธิวีโต้ คือ สหรัฐ อังกฤษ รัสเซีย จีน และฝรั่งเศสว่า ตอนนี้ โลกไม่ควรจะเดินหน้าไปบนพื้นฐานของประเทศที่ชนะสงครามเมื่อ 60 ปีที่แล้ว เราอยู่บนโลกที่เป็นอิสระและทางเดียวที่จะผลักดันโลกให้เคลื่อนไปข้างหน้าได้ก็คือ การร่วมมือกัน
ขณะที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า อันนันเป็นหนึ่งในประธานร่วมของการประชุม WEF จำนวน 6 รายในปีนี้ ซึ่งประกอบด้วยนายรูเพิร์ต เมอร์ด็อค เจ้าพ่อสื่อ สตีเฟน กรีน ประธานธนาคารเอชเอสบีซี เวอร์เนอร์ เวนนิ่ง จากเบเยอร์ อานันด์ จี มหินทรา นักวิชาการด้านอุตสาหกรรมชาวอินเดีย และมาเรีย รามอส ประธานบริหารทรานส์เน็ทกลุ่มธุรกิจขนส่งของแอฟริกาใต้

นอกจากนี้ อดีตเลขายูเอ็นยังได้เรียกร้องให้ที่ประชุมร่วมกันแก้ปัญหา 3 ประการ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาด้านพลังงานและความมั่นคง และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยชี้ว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับผู้นำประเทศต่างๆที่จะต้องหานโยบายที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่นานาประเทศจะได้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนได้ รวมทั้งสร้างงานให้กับผู้ที่ว่างงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น