เอเอฟพี - ฝูงชนจำนวนมหาศาลหลั่งไหลเข้าสู่กรุงวอชิงตัน ตั้งแต่ก่อนรุ่งสางวันอังคาร (20) เพื่อร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของ บารัค โอบามา ในบรรยากาศความรู้สึกยินดีปรีดา ความปลอดโปร่งได้รับการเยียวยาในเรื่องเชื้อชาติ และความชื่นมื่นครั้งใหม่ ถึงแม้ประเทศชาติยังจะต้องเผชิญปัญหาหนักหน่วงอีกมากมาย
ผู้คนนับหมื่นนับแสน ทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาว คนผิวสีและคนผิวขาว คนเชื้อสายเอเชียและละตินอเมริกา จากมลรัฐต่างๆ มาชุมนุมกันในบริเวณลานเนชันแนล มอลล์ ซึ่งคาดว่า เมื่อถึงกำหนดพิธีการจริงตอนเที่ยงวันอังคาร (ตรงกับ 00.00 น.วันพุธที่ 21 เวลาเมืองไทย) จะมีคนเรือนล้านร่วมเฉลิมฉลองห้วงยามแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์
การต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวสียังคงตรึงในความทรงจำของคนจำนวนมาก ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่โอบามาจะสาบานตนว่าจะ “ดูแลรักษา คุ้มครอง และปกป้อง” รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และขจัดการแบ่งแยกสีผิวที่เป็นอุปสรรคมายาวนานของอเมริกา ในฐานะประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศ
อลิซาเบธ บรูคส์ ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ซึ่งพักอาศัยอยู่ในวอชิงตันมากว่า 30 ปี จ้องมองอาคารรัฐสภารูปโดมสีขาวอันเป็นสถานที่ซึ่งโอบามาจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
“ดิฉันยังจำเด็กผู้หญิงตัวน้อยสี่คนที่ถูกระเบิดที่โบสถ์แบ็ปดิสต์ บนถนนเลขที่ 16 ในอะลาบามาได้ดี” เธอเล่าถึงเหตุการณ์ที่พวกเหยียดผิวในเมืองเบอร์มิงแฮมเข้าทำร้ายคนผิวสี เมื่อปี 1963 ซึ่งทำให้เด็กผิวสีทั้งสี่เสียชีวิต
“แต่พรุ่งนี้จะมีเด็กผู้หญิงสองคนเข้าไปอยู่ในบ้านที่ทำเนียบขาวแล้ว” เธอพูดทั้งน้ำตาถึงลูกสาวสองคนของโอบามา คือ มาเลีย และ ซาชา
เรนิตา คิง วัย 46 ปี บอกให้ลูกชายวัยหกขวบของเธอสวดมนต์ขอพรแด่โอบามา เธอเดินทางจากเมืองฮุสตัน รัฐเทกซัส เพื่อเข้าร่วมในพิธีสาบานตนครั้งนี้และเป็นตัวแทนมารดาวัย 73 ปีของเธอซึ่งต้องเผชิญกับอคติผิวสีมาทั้งชีวิต
“แม่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นเหตุการณ์สำคัญนี้ ดิฉันมาที่นี่เพื่อแม่ที่ต้องทำงานปัดกวาดเช็ดถูพื้นหลังขดหลังแข็ง แล้วยังถูกเรียกว่านิโกรไม่รู้ว่ากี่ครั้งในชีวิต นี่คือสิ่งที่ฉันได้พบเห็นมาในฐานะคนอเมริกันคนหนึ่ง”
ทั่วเมืองวอชิงตัน ผู้คนมาร่วมฉลองเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้กันอย่างเนืองแน่น ที่บริเวณดูปองต์ เซอร์เคิล กลุ่มผู้หญิงจากสมาคมสตรีเดลตา ซิกมา เธตา มาเข้าแถวถ่ายรูปกับรูปคัตเอาต์ขนาดเท่าจริงของโอบามา ขณะที่มีผู้คนยืนเข้าแถวรอเข้ารับประทานอาหารในร้าน “เบน'ส ชิลลี โบล” ซึ่งโอบามาเคยมารับประทานอาหารในช่วงเดือนนี้เอง
เอิร์ล สแตฟฟอร์ด นักธุรกิจจากเวอร์จิเนีย ทุ่มเงิน 1.6 ล้านดอลลาร์ นำคนด้อยโอกาส 300 คนมาร่วมงานเฉลิมฉลองครั้งนี้ด้วย โดยเขาได้จองที่พักในโรงแรมแมริออตต์ไว้ให้ รวมทั้งออกค่าเสื้อผ้าและอาหาร ตลอดจนค่าบัตรเชิญในงานเลี้ยงพิธีสาบานตนและบัตรเข้าชมพิธีที่แถวหน้าให้คนเหล่านี้ด้วย
ส่วนตลอดถนนเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นเส้นทางซึ่งโอบามาจะนั่งรถผ่านพร้อมกับประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ก่อนเข้าพิธีสาบานตนนั้น ก็มีผู้คนนั่งรอขบวนรถ รวมทั้งมีช่างภาพตั้งกล้องรอเก็บภาพสำคัญ แม้อากาศจะหนาวเหน็บก็ตาม
แต่ที่จะขาดไม่ได้เห็นจะเป็นสุขาเคลื่อนที่ ซึ่งมีการนำมาจัดตั้งไว้เป็นแถวยาวเพื่อรองรับฝูงชนจำนวนมหาศาลในงานนี้เช่นกัน
ด้านเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็ต้องจัดชุดปฏิบัติการรักษาความปลอดภัย รวมทั้งวางแผนการปิดกั้นถนนเส้นทางต่างๆ ในช่วงพิธีการ
นอกจากนั้น บนอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งตรงทางแยกจากถนนเพนซิลเวเนียเข้าสู่รัฐสภา ก็มีป้ายขนาดใหญ่สองป้ายติดตั้งอยู่เพื่อต้อนรับประธานาธิบดีทั้งคนปัจจุบันและคนใหม่ ป้ายหนึ่งมีข้อความว่า “ขอต้อนรับท่านประธานาธิบดี” ส่วนอีกป้ายหนึ่งเขียนว่า “ขอบคุณท่านประธานาธิบดี”
สถานที่ซึ่งอาจจะดูหม่นหมองที่สุดในเขตเมืองวอชิงตัน เห็นจะเป็นทำเนียบขาวที่กลายเป็นสถานที่ว่างเปล่าไปอย่างแปลกตา โดยมีทีมผู้ช่วยของรัฐบาลบุชไม่กี่คนยังคงเก็บข้าวของส่วนที่เหลือออกจากทำเนียบ ส่วนที่บริเวณเวสต์วิง ผนังกำแพงที่เคยติดรูปการประชุมผู้นำโลกในยุครัฐบาลบุชถูกถอดออก และกลายเป็นผนังว่างเปล่าในวันสุดท้ายของการปฏิบัติภารกิจของรัฐบาลบุช
ประธานาธิบดีบุช เองไม่ได้ปรากฏตัวในวันสุดท้ายของการทำงาน แต่มีรายงานว่า เขาได้สั่งลดโทษนักโทษสองคนในคดียิงผู้ลักลอบขนยาเสพติดชาวเม็กซิโกรายหนึ่ง จากโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต
และที่หน้าบ้านเลขที่ 1600 ถนนเพนซิลเวเนีย อันมีชื่อเสียงนี้เอง ก็มีพวกนักกิจกรรมและนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาอำลายุคสมัยของเขากันตลอดวันเช่นกัน
“ขอบคุณบุช และ (รองประธานาธิบดีดิก) เชนีย์ สำหรับห้วงเวลาแปดปีแห่งฆาตกรรมและการทำร้ายร่างกาย การทรมานและการทำลาย” ชายผู้หนึ่งยืนชูป้ายข้อความดังกล่าว