ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ไบโอไทยแนะรัฐฯเร่งปรับปรุงกม.สิทธิบัตรป้องกันต่างชาติจดสิทธิบัตรข้าวและทรัพยากรชีวภาพสนองพระราชดำรัสในหลวง
ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการคุ้มครองข้าวไทย และทรงขอบใจนักวิทยาศาสตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้ช่วยกันรักษาข้าวไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 นั้น
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิถีหรือไบโอไทย ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์และมีปฏิบัติการเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า "เป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ได้มีพระราชดำรัสดังกล่าว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระองค์มีพระราชดำรัสซึ่งเป็นการคุ้มครองข้าวไทยไม่ให้กลายเป็นของต่างชาติ
"เพราะก่อนหน้านี้เมื่อปี 2541 พระองค์ท่านได้รับสั่งแสดงความกังวลกับผู้บริหารของสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศหรือ IRRI กรณีบริษัทในสหรัฐอเมริกาได้จดเครื่องหมายการค้า "จัสมาติ" โดยอ้างว่าเป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคหลงผิดว่าเป็นข้าวไทย ซึ่งอีรี่ตอบพระองค์ท่านว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และจะสนับสนุนต่อรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น"
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า การที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จดสิทธิบัตรยีนข้าวหอมมะลิในต่างประเทศนั้น จะต้องไม่เป็นกับดัก และต้องระวังไม่ให้ต่างชาติใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาขอแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการจดสิทธิบัตรยีนหรือจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอ
เช่น การทำเอฟทีเอกับสหรัฐอเมริกา และยุโรป เนื่องจากบรรดาบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่และสถาบันวิจัยในประเทศอุตสาหกรรมจะแย่งชิงเข้ามาจดสิทธิบัตรเพื่อผูกขาดพันธุกรรมของทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทยเป็นว่าเล่น เนื่องจากขีดความสามารถของประเทศอุตสาหกรรมในการวิจัยและจดสิทธิบัตรนั้นเหนือกว่าจนไม่อาจเปรียบเทียบได้กับประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
ตัวอย่างเช่น จากการศึกษาของ ETC Group พบว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ 5 บริษัท คือ ซินเจนต้า, ดูปองต์, เอเวนติส และมอนซานโต้ และดาวเคมิคอล ควบคุมสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรถึง 71%
การยอมรับระบบกฎหมายสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตจึงเท่ากับการยอมรับการแปรทรัพยากรพันธุกรรมให้กลายเป็นทรัพย์สินเอกชนของบริษัททั้งหลายนั่นเอง นี่คือเหตุผลที่ประเทศเจ้าของทรัพยากรชีวภาพและประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากคัดค้านการจดสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
นายวิฑูรย์ ยังเสนอว่า ที่จริงแล้ววิธีการที่จะสนองพระประสงค์ของพระเจ้าอยู่หัว และเสียงเรียกร้องของนักวิชาการและภาคประชาชนในการคุ้มครองทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ จุลินทรีย์ และอื่นๆ ที่พึงกระทำมากที่สุด และเร่งด่วนที่สุด คือ
หนึ่ง รีบดำเนินการปรับปรุงกฎหมายในการรองรับสิทธิของชุมชนและอธิปไตยของประเทศในทรัพยากรชีวภาพ เช่นเดียวกับการออกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชเมื่อปี 2542 ที่ได้ให้การคุ้มครองในพันธุ์พืชของท้องถิ่น โดยกฎหมายที่ควรแก้โดยเร็วที่สุดคือ พระราชบัญญัติสิทธิบัตร 2522 โดยต้องระบุให้ผู้ที่ขอรับสิทธิบัตรต้องเปิดเผยที่มาของทรัพยากรชีวภาพที่ใช้ในการประดิษฐ์ เช่นเดียวกับที่อินเดียดำเนินการ รวมทั้งต้องตรากฎหมายเพื่อคุ้มครองพันธุกรรมสัตว์และจุลินทรีย์ซึ่งเป็นช่องโหว่ของระบบกฎหมายไทย
สอง เมื่อเราไม่สามารถผลักดันให้กฎหมายของประเทศอุตสาหกรรมห้ามการจดสิทธิบัตรในสิ่งมีชีวิตได้ เราควรผลักดันให้การเจรจาในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศต้องมีหลักเกณฑ์การเปิดเผยที่มาของทรัพยากรชีวภาพ และการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม เพื่อเป็นหลักประกันว่าทรัพยากรชีวภาพของประเทศจะไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยบรรษัทขนาดใหญ่อย่างไม่เป็นธรรม
“รัฐบาลและรัฐสภาควรรีบดำเนินการดังกล่าวนี้โดยเร็ว เพราะนี่คือเสียงเรียกร้องของภาคประชาชน ประชาคมวิชาการ อีกทั้งยังสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกด้วย” นายวิฑูรย์ สรุป