xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปมฆ่าตัวตายมหาเศรษฐีเยอรมนี “อาย-เสียหน้า” รุนแรงกว่า “การเจ๊ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

งอดอล์ฟ เมอร์คเคิล
เอเจนซี/เอเอฟพี - กรณีการฆ่าตัวตายของ อดอล์ฟ เมอร์คเคิล มหาเศรษฐีเยอรมนี วัย 74 ปี เมื่อวันจันทร์ (5) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ระบุ น่าจะมีสาเหตุมาจากความรู้สึกอับอายอย่างรุนแรงมากกว่าการประสบขาดทุนในช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลก 
         
“นักอุตสาหกรรมที่สูญเสียเงินในตลาดหุ้นมีแรงจูงใจในการฆ่าตัวตายต่างไปจากกรณีคุณพ่อลูกหกตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะตกงาน” เด็ตเลฟ ลีปมานน์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาเศรษฐกิจแห่งมหาวิทยาลัยฟรียูนิเวอร์ซิตี ในกรุงเบอร์ลิน กล่าว
         
“ชีวิตความเป็นอยู่ของ เมอร์คเคิล ย่อมไม่ถูกคุกคามจากการลงทุนอย่างเสี่ยงๆ ของเขา แต่เขาถูกคุกคามจากความรู้สึกอับอาย เสียหน้า และการสูญเสียเกียรติ” ลีปมานน์ เสริม
         
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ เมอร์คเคิล ตัดสินใจกระโดดให้รถไฟชนเมื่อวันจันทร์ เขาก็ได้ขึ้นทำเนียบเป็นหนึ่งในหลายๆ นักลงทุนระดับมหาเศรษฐีของโลกที่ปิดฉากชีวิตด้วยน้ำมือตนเองในวิกฤตเศรษฐกิจระลอกนี้ 
         
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนที่แล้ว เทียรี มากอง เดอ ลา วิลล์ฮูเชต์ ชาวฝรั่งเศส วัย 65 ปี ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทบริหารการเงิน “แอคเซส อินเตอร์เนชันแนล” ก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการกรีดข้อมือตนเองในสำนักงานที่นิวยอร์ก หลังจากที่ถูก เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ โกงเงินลูกค้าของเขาไปถึง 1,400 ล้านดอลลาร์ 
         
“คนแบบ เมอร์คเคิล อาจมีแรงจูงใจที่จะประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นคนที่มีความรู้สึกอ่อนไหวมากด้วย” เกอร์ริต กราล นักจิตบำบัดคนหนึ่งในแฟรงก์เฟิร์ต กล่าว กราล มีคนไข้ในความดูแลสูงถึงปีละ 400 คน และในจำนวนนี้เป็นคนไข้ที่มาจากกลุ่มอาชีพนักบริหารและนักการธนาคารเป็นสัดส่วนสูงกว่าวิชาชีพอื่นๆ
         
“โชคร้ายที่เขาฆ่าตัวตายไปเสียก่อน ทั้งๆ ที่เราสามารถรักษาเขาได้ มีหลายคนที่เผชิญกับสภาพการณ์แบบเดียวกันนี้แล้วบอกว่า “ช่างหัวมันเถอะ” พวกเขาจะมองหาทางที่จะรักษาชีวิตที่เหลืออยู่ไว้ และไม่คิดจะฆ่าตัวตายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
         
ทั้งนี้ มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เตือนตั้งแต่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ว่า วิกฤตการณ์การเงินโลกอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น “มีหลักฐานชัดเจนว่าการฆ่าตัวตายนั้นมีความเกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ทางการเงิน ดิฉันไม่ได้พูดถึงกรณีเศรษฐีกระโดดตึกฆ่าตัวตาย แต่กำลังพูดถึงคนยากคนจนด้วย”
         
จริงอยู่ที่ เมอร์คเคิล ไม่ได้เลือกวิธีกระโดดตึก แต่เขาก็กลายศพอยู่ข้างทางรถไฟใกล้บ้านของเขาทางตอนใต้ของเมืองบลอบิวเรน ละทิ้งอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากถึงราว 100,000 คน กับยอดขายต่อปีที่สูงถึง 30,000 ล้านยูโร (40,000 ล้านดอลลาร์) ไปหลังจากที่เขาประสบขาดทุนไปหลายร้อยล้านยูโรจากการลงทุนผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการลงทุนในกิจการโฟล์กสวาเกน จนมียอดขาดทุนสูงถึง 400 ล้านยูโร
         
เมื่อเดือนที่แล้ว เมอร์คเคิล เพิ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ แฟรงก์เฟิร์ตเตอร์ ออลเกเมน ไซตุง ว่า สิ่งที่ทำให้เขาเจ็บปวดที่สุด ก็คือ “ผมกำลังถูกโจมตีและถูกวาดภาพให้เป็นนักพนันคนหนึ่ง”
         
กราล วิเคราะห์ว่า “เขา (เมอร์คเคิล) เป็นคนที่ทุ่มเททั้งชีวิตให้กับการทำงานหนัก เพื่อทำสิ่งที่ดี แต่กลับพบว่าทุกอย่างพังทลายลงไป เขามองเห็นความล้มเหลวทางการเงิน และรู้สึกว่า ตนเองล้มเหลว สภาพจิตใจของคนแบบนี้จะคอยมองแต่ด้านลบในชีวิตของตนและไม่ค่อยเห็นด้านดี คนพวกนี้จึงรู้สึกผิดและอับอายขายหน้า”
         
อนึ่ง ยังมีกรณีการฆ่าตัวตายในทำนองเดียวกันนี้อีกหลายกรณี เช่น ที่อังกฤษ เคิร์ก สตีเฟนสัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของบริษัทลงทุนเอกชน “โอลิแวนต์” ถูกรถไฟชนเสียชีวิตที่กรุงลอนดอนเมื่อเดือนกันยายน ต่อมาศาลมีคำตัดสินว่าเป็นการฆ่าตัวตาย
         
ส่วนที่ บราซิล นักค้าหุ้นรายหนึ่งยิงตัวเองที่ตลาดซื้อขายล่วงหน้าโภคภัณฑ์ในกรุงเซาเปาโลเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่เขาได้รับการช่วยชีวิตไว้ได้ทัน ทว่า ที่ลอสแองเจลิส คาร์ทิค ราชาราม ผู้บริหารการเงินวัย 45 ปี ตัดสินใจฆั่วตายพร้อมครอบครัวเมื่อเดือนตุลาคม ราชารามได้เขียนจดหมายเล่าสาเหตุว่าเป็นเพราะเขาหมดตัวจากการลงทุนในตลาดหุ้น
         
        
กำลังโหลดความคิดเห็น