เอเจนซี- ว่าที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เตรียมประกาศแต่งตั้ง มารี ชาปิโร ผู้มีประสบการณ์มากมายด้านการคุมกฎภาคการเงิน ให้เป็นประธานของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (เอสอีซี)ของสหรัฐฯ คนใหม่ เพื่อช่วยปรับองค์กรยกเครื่องหน่วยงานแห่งนี้ ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
เอสอีซีก่อตั้งขึ้นหลังจากปี 1929 อันเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรุนแรง เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลตลาด รวมทั้งพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่เมื่อวอลล์สตรีทดำดิ่งลงอย่างต่อเนื่องจากวิกฤตการเงินในปัจจุบัน และบรรดากรณีฉ้อโกงทางการเงินต่างก็ผุดกันขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้คณะกรรมการตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์หนักหน่วงว่าทำหน้าที่ได้เหมาะสมแล้วหรือไม่
การล้มละลายของวาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อย่างแบร์ สเติร์นส์ และเลห์แมน บราเธอร์สทำให้พวกสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของเอสอีซี ซึ่งมีหน้าที่ต้องกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดให้มีความโปร่งใส และสมควรที่จะจับความผิดปกติได้มาตั้งแต่ต้นๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายมหาศาลเช่นนี้
และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ร้อนแรงมากขึ้น เมื่อกรณีฉ้อโกงนักลงทุนเป็นเงินถึง 50,000 ล้านดอลลาร์ ได้รับการเปิดเผยออกมาว่าเป็นฝีมือของนักลงทุนชั้นตำนานอย่างเบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์ ที่มีความสนิทแนบแน่นกับเอสอีซี และที่หนักกว่านั้นก็คือการฉ้อโกงนี้ดำเนินมาเนิ่นนานหลายปีแล้ว
สำหรับชาปิโรนั้น ตอนนี้มีตำแหน่งเป็นประธานบริหารของสำนักงานกำกับดูแลอุตสาหกรรมการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังที่พวกอุตสาหกรรมหลักทรัพย์จัดตั้งขึ้นมาดูแลตัวเอง โดยก่อนหน้านี้เธอก็เคยดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในกรรมาธิการของเอสอีซีเป็นเวลาถึงหกปี หลังจากนั้นก็ไปเป็นประธานของคณะกรรมการกำกับดูแลการค้าตราสารอนุพันธ์ฟิวเจอร์สสินค้าโภคภัณฑ์ (ซีเอฟทีซี) ในปี 1994 ในช่วงที่บิลล์ คลินตัน เป็นประธานาธิบดี
ชาวพรรคเดโมแครต 2 รายที่ทราบเรื่องดีกล่าวว่า โอบามาเตรียมการที่จะประกาศการแต่งตั้งชาปิโรเป็นประธานเอสอีซีคนต่อไป ในการแถลงข่าวที่นครชิคาโก เวลา 9.45 น.วันพฤหัสบดี(18) ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 22.45 น. เวลาเมืองไทย)
การแต่งตั้งประธานเอสอีซีนั้น จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากวุฒิสภา ซึ่งก็เห็นกันว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และหากเป็นไปตามนั้น เธอก็จะเข้าแทนที่ คริสโตเฟอร์ ค็อก ประธานเอสอีซีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นชาวพรรครีพับลิกันและได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช
การประกาศตัวประธานเอสอีซีคนใหม่ครั้งนี้ บังเกิดขึ้นขณะที่โอบามาซึ่งกำลังจะเริ่มทำงานในวันที่ 20 มกราคม มีเป้าหมายที่จะเร่งประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีของเขาให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะออกเดินทางไปพักผ่อนกับครอบครัวที่ฮาวายในวันเสาร์(20)
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งประธานเอสอีซีนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรี ดังนั้น การที่โอบามาเร่งประกาศรายชื่อออกมาในช่วงนี้ จึงย้ำแสดงให้เห็นว่าโอบามามีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของหน่วยงานกำกับดูแลแห่งสำคัญนี้ ให้กลับมาโดยเร็ว
ตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียง โอบามาก็ได้เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบกำกับดูแลวอลล์สตรีทเรื่อยมา เพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤตซ้ำซากขึ้นอีกในอนาคต และได้กล่าวชัดเจนว่าการปรับโครงสร้างของหน่วยงานกำกับดูแลเป็นหนึ่งในนโยบายที่เขาจะต้องพิจารณาเพื่อนำไปปฏิบัติ แต่เขาก็ไม่เคยชี้ชัดว่าควรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
วิธีหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาหลายรายก็คือ การควบรวมเอสอีซีเข้ากับซีเอฟทีซี ซึ่งดูแลการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าของพวกน้ำมัน และพืชผลการเกษตรสำคัญอย่างเช่นกาแฟ น้ำตาล และอื่น ๆ
เมื่อวันพุธ(17) ค็อกซ์กล่าวว่าเขาเป็นกังวลเกี่ยวกับการดูแลคดีแมดอฟฟ์ของเอสอีซี เพราะว่ามีผู้รายงานความผิดปกติของกองทุนของแมดอฟฟ์มาตั้งแต่ปี 1999 และก็มีการร้องเรียนซ้ำเข้ามาอีกหลายหน แต่เจ้าหน้าที่ของเอสอีซีไม่เคยส่งเรื่องให้ระดับคณะกรรมการเดินหน้าจัดการกับความผิดปกตินี้เลย ทำให้ค็อกซ์ซึ่งเป็นประธานคนปัจจุบันได้รับเสียงตำหนิไปเต็ม ๆ ถึงแม้ในเสียงวิจารณ์เหล่านี้หลายเสียงในนั้นก็ให้เหตุผลด้วยว่า การตัดลบงบประมาณลงทำให้ประสิทธิภาพในการบังคับใช้ระเบียบตลอดจนในการกำกับดูแลของเอสอีซีด้อยลงไป
นักวิเคราะห์พากันเห็นว่าการเลือกชาปิโรของโอบามาเป็น "ก้าวแรกที่ดี" ที่จะพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดได้