(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)
Tibetans stick to the ‘middle way’
By Denis Burke
26/11/2008
หนทางต่อสู้แบบ “ทางสายกลาง” ซึ่งคิดขึ้นโดยบรรดาชาวทิเบตผู้ลี้ภัยอยู่ต่างแดนในช่วงทศวรรษ 1980 นั้น มุ่งต่อสู้เรียกร้องให้ทิเบตได้รับสิทธิปกครองตนเองจากทางการจีนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก โดยจะใช้วิธีการต่อสู้แบบอหิงสา แต่หลังจากที่เวลาผ่านพ้นไปแล้ว 20 ปี หนทางดังกล่าวนี้ก็ยังแทบไม่บังเกิดผลลัพธ์เป็นชิ้นเป็นอันอะไรเลย กระนั้นก็ตาม การประชุมหารือครั้งพิเศษของเหล่าชาวทิเบตที่เป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญๆ (ยกเว้นแต่องค์ทะไลลามะที่มิได้ทรงเข้าร่วมด้วย) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในที่สุดแล้วก็ยังคงลงมติให้ใช้ยุทธศาสตร์นี้กันต่อไป ด้วยความมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ระบบการเมืองของชุมชนชาวลี้ภัยของพวกเขาเอง
อัมสเตอร์ดัม – ตลอดระยะเวลา 50 ปีนับแต่ที่องค์ทะไลลามะเสด็จออกมาลี้ภัยในต่างแดน แทบไม่มีปีไหนเลยที่สามารถแข่งขันกับปี 2008 ได้ ในแง่ของการเป็นหลักหมายอันแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ดิ้นรนของชาวทิเบต ช่วงเวลา 1 ปีแห่งการประท้วง, การจลาจล, การเปิดเจรจากันรอบใหม่, และการใช้ถ้อยคำอันรุนแรงจากทุกๆ ฝ่ายนี้ ในที่สุดแล้วก็มาขมวดปมกันอยู่ที่การประชุมหารือครั้งพิเศษของบรรดาชาวทิเบตลี้ภัยคนสำคัญๆ เพื่อประเมินถึงสถานการณ์ของทิเบต ตลอดจนยุทธศาสตร์ของพวกเขา
พวกผู้ลี้ภัยในต่างแดนเหล่านี้ได้คิดค้นสิ่งที่เรียกกันว่า หนทางการต่อสู้แบบ “ทางสายกลาง” ขึ้นในทศวรรษ 1980 ซึ่งต่อมายังได้รับการรับรองจากการจัดลงประชามติในกลางทศวรรษ 1990 ยุทธศาสตร์เช่นนี้มุ่งต่อสู้เรียกร้องให้ทิเบตได้รับสิทธิปกครองตนเองเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก แต่ยังคงรวมอยู่ในประเทศจีน และให้ต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ด้วยวิธีที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านพ้นมาแล้ว 20 ปี แต่“ทางสายกลาง”ก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์อันมีความหมายอะไรขึ้นมา การเจรจาระหว่างจีน-ทิเบตรอบล่าสุดได้ยุติลงในสัปดาห์ก่อนหน้าที่การประชุมพิเศษคราวนี้จะเริ่มขึ้น โดยไม่มีรายงานจากทั้งสองฝ่ายว่ามีความคืบหน้าอะไร
สำหรับผลการประชุมพิเศษครั้งนี้นั้นปรากฏออกมาว่า ผู้เข้าร่วมประชุมต่างมีความเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่าจะยังคงสนับสนุนหนทางต่อสู้แบบ “ทางสายกลาง” กันต่อไป ถึงแม้ก่อนหน้าการประชุมจะเปิดขึ้น ได้ปรากฏสัญญาณหลายอย่างหลายประการว่าจะมีการประเมินทบทวนยุทธศาสตร์นี้กันครั้งใหญ่ ระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ องค์ทะไลลามะเองก็ได้ทรงเสนอแนะว่า การที่จะดำเนินการเจรจากับคณะผู้นำจีนในปัจจุบันต่อไป คงจะไม่บังเกิดดอกผลอะไร พระองค์ยังทรงย้ำข้อสังเกตเหล่านี้อีกภายหลังการประชุมพิเศษนี้ เมื่อพระองค์ทรงเตือนให้ชาวทิเบตระลึกถึงความสำคัญที่จะต้องไม่ทำให้ผู้คนชาวจีนเกิดความรู้สึกแปลกแยก ถึงแม้ทิเบตจะต้องเผชิญกับการกระทำต่างๆ ของรัฐบาลจีนก็ตามที น่าสังเกตด้วยว่า องค์ทะไลลามะดูเหมือนจะทรงกำลังแสดงถึงความปรารถนาที่จะให้คณะผู้แทนทั้งหลายได้หารือประเด็นต่างๆ กันได้อย่างเสรี ดังนั้น พระองค์จึงทรงเลือกที่จะไม่ปรากฏพระองค์อยู่ในที่ประชุมครั้งนี้
ถึงแม้การประชุมจะดูเสมือนเป็นการหารือที่มุ่งจะทบทวนยุทธศาสตร์ของเหล่าผู้ลี้ภัยกันใหม่ทั้งหมด ทว่าการประชุมนี้กลับตอบสนองแก่วัตถุประสงค์อื่นที่ฉีกแนวแตกต่างออกไปอย่างมากมาย การตัดสินใจที่จะธำรงแรงขับเคลื่อนแบบอหิงสาเพื่อการมีอำนาจปกครองตนเองได้มากขึ้น ควรต้องถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ภายในทิเบตปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความล้มเหลวที่จะสร้างความก้าวหน้าบนโต๊ะเจรจา หรือการใช้แนวทางที่แข็งกร้าวมากขึ้นในฝ่ายทางการปักกิ่ง หรือเหนืออื่นใด การที่สถานการณ์ย่ำแย่มากขึ้นเรื่อยๆ ภายในทิเบต
สิ่งที่ดำเนินมานานสักระยะหนึ่งแล้วคือ การที่คนหนุ่มสาวชาวทิเบตไหลทะลักจากเขตชนบทเข้าสู่ตัวเมืองต่างๆ เพื่อหางานทำ ดังเห็นได้ว่า จำนวนของคนทิเบตหนุ่มสาวยากจนและว่างงานทวีมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น ลาซา ในขณะเดียวกัน จำนวนคนจีนฮั่นก็เพิ่มขึ้นในเมืองเหล่านี้เช่นกัน โดยที่พวกนี้สามารถแสวงหาความสำเร็จทางเศรษฐกิจในจุดต่างๆ ที่คนทิเบตไม่สามารถทำได้ เงื่อนไขที่สร้างความตึงเครียดในระหว่างชนชาติปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวาง ปะทุเป็นการจลาจลในทิเบตปีนี้
จลาจลในระดับที่รุนแรงแบบที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ห่างหายไปจากทิเบตนานนับได้เป็นยี่สิบปี ปฏิกิริยาของตำรวจจีนในช่วงต้นปรากฎออกมาแบบระงับยับยั้งอย่างผิดปกติยิ่ง ซึ่งสะท้อนไปถึงนโยบายสร้างบรรยากาศส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในยามเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งทำให้จีนต้องผละจากยุทธวิธีปกติที่จะมีความอดกลั้นแค่ระดับ 0 เท่านั้น ความตึงเครียดในระหว่างชนชาติที่ปรากฏในการเดินขบวนที่ลาซานั้น ชัดเจนมากกว่าความวุ่นวายที่สามารถดึงความสนใจจากนานาชาติในครั้งอื่นๆ ก่อนหน้ากรณีมีนาคม สิ่งที่สำคัญและน่าจับตาเกี่ยวกับกรณีเดินขบวนลาซาเมื่อเดือนมีนาคม คือการที่โลกตะวันตกพากันประนามปฏิกิริยาในทางการรักษาความสงบของทางการจีน ซึ่งเป็นการประนามที่ออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงก่อนที่สถานการณ์จะกระจ่าง ทั้งนี้ สื่อมวลชนจำนวนมากในโลกตะวันตก รายงานการปราบปรามด้วยมาตรการรุนแรงก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริง ส่งผลเป็นการกระตุ้นให้ภายในจีนเกิดกระแสต่อต้านตะวันตก ตลอดจนต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์ทิเบต แผ่ไปตามสารพัดบล็อกและเว็บไซต์ข่าวสาร
อย่างไรก็ตาม การประชุมพิเศษคราวนี้ได้กลายเป็นการเปิดเวทีให้แก่การหารือกันอย่างจริงจังในเรื่องของอนาคตทิเบต และเหนืออื่นใดคือการเป็นเวทีให้แก่การฝึกที่จะสร้างนโยบายขึ้นมาด้วยวิธีการประชาธิปไตย องค์ทะไลลามะได้ทรงแสดงความกังวลให้ได้ทราบกันหลายครั้งหลายหนในเรื่องที่ว่า แรงสนับสนุนต่อ “ทางสายกลาง” นั้นนับวันแต่จะลดน้อยถอยลง มาบัดนี้เมื่อการประชุมพิเศษมีมติที่จะดำเนินยุทธศาสตร์นี้ต่อไป จึงไม่เพียงเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีเป็นเอกภาพในหมู่ผู้ต้องลี้ภัยอยู่ต่างแดนเหล่านี้ให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ระบบการเมืองทั้งระบบของชุมชนผู้ลี้ภัยเหล่านี้อีกด้วย
เป็นเวลานานมาแล้วที่องค์ทะไลลามะได้ทรงพยายามผลักดันให้ชาวทิเบตลี้ภัย หวังพึ่งพาคำชี้แนะทางการเมืองของพระองค์ให้น้อยลง โดยที่มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเมื่อถึงเวลาในการเสาะแสวงหาผู้ที่จะเป็นทายาทสืบตำแหน่งต่อจากทะไลลามะพระองค์นี้ จะต้องบังเกิดความสับสนซับซ้อนเป็นอย่างยิ่งทีเดียว การประชุมคราวนี้จึงเป็นการให้โอกาสแก่ชุมชนชาวลี้ภัยที่จะร่วมกันดำเนินการอภิปรายถกเถียงทางการเมืองซึ่งมีความสำคัญ ในสภาพที่ทะไลลามะมิได้ปรากฏพระองค์ ทั้งนี้ รวมทั้งการถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะสรรหาทายาทของพระองค์ในขณะที่ทะไลลามะองค์ปัจจุบันยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่
สิ่งที่ยังไม่ได้ปรากฏออกมาจากการประชุมนี้ เห็นจะได้แก่ตารางกำหนดเวลาสำหรับการดำเนินการไปตาม “ทางสายกลาง” กรรมะ โชเภล ผู้เป็นประธานการประชุมพิเศษครั้งนี้บอกกับเว็บไซต์ข่าวภายุล ว่าถ้าหากคณะผู้นำจีนไม่ยอมสนองตอบต่อวิธี “ทางสายกลาง” เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมไม่มีเหตุผลใดๆ เลย ที่ชาวทิเบตจะไม่หันไปหานโยบายเรียกร้องต่อสู้เพื่อเป็นเอกราช
ทว่ารัฐบาลจีนได้แถลงออกมาอย่างชัดเจนมากๆ เมื่อเร็วๆ นี้แล้วว่า พวกเขาตีความหนทางการต่อสู้แบบ “ทางสายกลาง” ว่าเป็นเพียงการอำพรางซ่อนเร้นเจตนามุ่งไปสู่เอกราช ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นในปีนี้ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าปักกิ่งมีความสนใจใดๆ ที่จะอภิปรายหารือเรื่องการเพิ่มอำนาจปกครองตนเองแก่ทิเบต แม้กระทั่งถ้อยแถลงในปลายทศวรรษ 1970 ของเติ้งเสี่ยวผิง ที่บอกว่ายกเว้นแต่เรื่องเอกราชแล้ว เรื่องอื่นๆ ล้วนสามารถเจรจากันได้ทั้งสิ้น มาในบัดนี้ก็ยังถูกปฏิเสธบอกปัดโดยเจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่ง
“สหายเติ้งเสี่ยวผิงไม่เคยพูดแถลงเช่นนั้นเลย มันเป็นการอ้างคำพูดที่ไม่มีจริง” เว็บภายุลรายงานว่า จูเหวยฉุน รองรัฐมนตรีฝ่ายงานแนวร่วม ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน พูดไว้เช่นนี้ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน
ถ้อยแถลงในตอนนั้นของเติ้งนี้เอง เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ทะไลลามะทรงตัดสินพระทัยที่จะเรียกร้องเพียงการปกครองตนเอง มิใช่ความเป็นเอกราช
รัฐบาลจีนนั้นยืนกรานมาตลอดว่า ถึงแม้ทางคณะบริหารของชาวทิเบตได้ออกคำแถลงอยู่หลายๆ ครั้งในทางตรงกันข้าม แต่ในทางเป็นจริงแล้วยังคงพยายามเรียกร้องความเป็นเอกราชในบางลักษณะอยู่นั่นเอง ขณะที่ในส่วนของฝ่ายคณะบริหารของชาวทิเบตเอง ก็ไม่เคยยอมปฏิบัติตามเงื่อนไข 2 ข้อที่รัฐบาลจีนเรียกร้องเรื่อยมา นั่นคือ การประกาศรับรองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และการยอมรับว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนเสมอมา ความสะดุดชะงักงันนี้ได้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เกิดความก้าวหน้าอันแท้จริงใดๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปีแล้ว และในการพูดจากันครั้งล่าสุดก็เป็นเช่นนั้นอีก
คำแถลงหลายๆ ครั้งของตู้ชิงหลิน รัฐมนตรีฝ่ายงานแนวร่วม แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามที่สำนักข่าวซินหัวรายงานนั้น บ่งชี้ให้เห็นว่าจุดยืนของฝ่ายจีนไม่ได้โยกคลอนไปจากเดิมเลยระหว่างการเจรจาหนล่าสุด ซินหัวรายงานคำพูดของตู้เอาไว้ดังนี้ “ทะไลลามะควรต้องเคารพประวัติศาสตร์ เผชิญหน้ากับความเป็นจริงและอ่อนน้อมต่อกาลเวลา เช่นเดียวกับที่ต้องเปลี่ยนแปลงข้อเสนอต่างๆ ทางการเมืองของเขาในขั้นพื้นฐาน”
มีการหยิบยกประเด็นต่างๆ จำนวนมากขึ้นมาระบุว่าเป็นสิ่งที่ปักกิ่งยอมรับไม่ได้ ทั้งนี้ข้อเสนอของฝ่ายทิเบตข้อหนึ่งก็คือ จำกัดมิให้กลุ่มชนชาติอื่นๆ อพยพเข้าไปอยู่ในทิเบตเพิ่มขึ้นอีก องค์ทะไลลามะยังทรงวาดหวังที่จะให้ทิเบตกลายเป็นเขตแห่งสันติภาพ ซึ่งจะต้องมีการลดจำนวนทหารจีนที่อยู่ในเขตนี้ลงมาอย่างจริงจัง
จวบจนถึงเวลานี้ คำแถลงจากทางการจีนยังไม่ถึงกับบอกปัดความเป็นไปได้ที่จะมีการเปิดการพูดจากันอีกในอนาคต ทว่าก็เป็นที่ชัดเจนว่าความอดทนของพวกเขากำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ
ดังที่องค์ทะไลลามะได้ทรงชี้แนะไว้ เวลานี้ความหวังสำหรับชาวทิเบตอยู่ที่ว่าจะต้องอุทธรณ์ต่อประชาชนจีน ไม่ใช่ต่อรัฐบาลปัจจุบันของจีน อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างทิเบตกับประชาชนจีนก็ได้เสียหายไปมากในปีนี้ การประท้วงต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะมีการวิ่งคบไฟโอลิมปิกไปทั่วโลก รวมทั้งการตีความการประท้วงในลาซาอย่างผิดๆ ของพวกสื่อมวลชนตะวันตกหลายๆ ราย ได้สร้างความโกรธกริ้วให้แก่ประชาชนจีนจำนวนมากที่มีศักยภาพที่จะหันมาเห็นอกเห็นใจทิเบต
กระนั้นก็ตาม จากการที่ทะไลลามะทรงจงใจที่จะไม่ทรงเข้าร่วมการประชุมพิเศษ ย่อมเป็นการตอกย้ำให้เห็นประเด็นที่ว่า นโยบายของเหล่าชาวทิเบตลี้ภัยนั้นไม่ได้เป็นนโยบายของพระองค์เลย นี่ย่อมเป็นการตีกลับข้ออ้างของทางการจีนที่กล่าวว่า พระองค์กำลังทรงดำเนินกิจกรรม “แบ่งแยกดินแดน” จากนอกประเทศ
เดนิส เบิร์ก เป็นนักเขียนและบรรณาธิการซึ่งพำนักอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเร็วๆ นี้เขาเพิ่งเสร็จสิ้นการทำงานวิจัยว่าด้วยกิจการจีน-ทิเบตในศตวรรษที่ 21
Tibetans stick to the ‘middle way’
By Denis Burke
26/11/2008
หนทางต่อสู้แบบ “ทางสายกลาง” ซึ่งคิดขึ้นโดยบรรดาชาวทิเบตผู้ลี้ภัยอยู่ต่างแดนในช่วงทศวรรษ 1980 นั้น มุ่งต่อสู้เรียกร้องให้ทิเบตได้รับสิทธิปกครองตนเองจากทางการจีนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก โดยจะใช้วิธีการต่อสู้แบบอหิงสา แต่หลังจากที่เวลาผ่านพ้นไปแล้ว 20 ปี หนทางดังกล่าวนี้ก็ยังแทบไม่บังเกิดผลลัพธ์เป็นชิ้นเป็นอันอะไรเลย กระนั้นก็ตาม การประชุมหารือครั้งพิเศษของเหล่าชาวทิเบตที่เป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญๆ (ยกเว้นแต่องค์ทะไลลามะที่มิได้ทรงเข้าร่วมด้วย) เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในที่สุดแล้วก็ยังคงลงมติให้ใช้ยุทธศาสตร์นี้กันต่อไป ด้วยความมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ระบบการเมืองของชุมชนชาวลี้ภัยของพวกเขาเอง
อัมสเตอร์ดัม – ตลอดระยะเวลา 50 ปีนับแต่ที่องค์ทะไลลามะเสด็จออกมาลี้ภัยในต่างแดน แทบไม่มีปีไหนเลยที่สามารถแข่งขันกับปี 2008 ได้ ในแง่ของการเป็นหลักหมายอันแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้ดิ้นรนของชาวทิเบต ช่วงเวลา 1 ปีแห่งการประท้วง, การจลาจล, การเปิดเจรจากันรอบใหม่, และการใช้ถ้อยคำอันรุนแรงจากทุกๆ ฝ่ายนี้ ในที่สุดแล้วก็มาขมวดปมกันอยู่ที่การประชุมหารือครั้งพิเศษของบรรดาชาวทิเบตลี้ภัยคนสำคัญๆ เพื่อประเมินถึงสถานการณ์ของทิเบต ตลอดจนยุทธศาสตร์ของพวกเขา
พวกผู้ลี้ภัยในต่างแดนเหล่านี้ได้คิดค้นสิ่งที่เรียกกันว่า หนทางการต่อสู้แบบ “ทางสายกลาง” ขึ้นในทศวรรษ 1980 ซึ่งต่อมายังได้รับการรับรองจากการจัดลงประชามติในกลางทศวรรษ 1990 ยุทธศาสตร์เช่นนี้มุ่งต่อสู้เรียกร้องให้ทิเบตได้รับสิทธิปกครองตนเองเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก แต่ยังคงรวมอยู่ในประเทศจีน และให้ต่อสู้เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ด้วยวิธีที่ไม่มีการใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านพ้นมาแล้ว 20 ปี แต่“ทางสายกลาง”ก็ยังไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์อันมีความหมายอะไรขึ้นมา การเจรจาระหว่างจีน-ทิเบตรอบล่าสุดได้ยุติลงในสัปดาห์ก่อนหน้าที่การประชุมพิเศษคราวนี้จะเริ่มขึ้น โดยไม่มีรายงานจากทั้งสองฝ่ายว่ามีความคืบหน้าอะไร
สำหรับผลการประชุมพิเศษครั้งนี้นั้นปรากฏออกมาว่า ผู้เข้าร่วมประชุมต่างมีความเห็นพ้องต้องกันโดยทั่วไปว่าจะยังคงสนับสนุนหนทางต่อสู้แบบ “ทางสายกลาง” กันต่อไป ถึงแม้ก่อนหน้าการประชุมจะเปิดขึ้น ได้ปรากฏสัญญาณหลายอย่างหลายประการว่าจะมีการประเมินทบทวนยุทธศาสตร์นี้กันครั้งใหญ่ ระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้ องค์ทะไลลามะเองก็ได้ทรงเสนอแนะว่า การที่จะดำเนินการเจรจากับคณะผู้นำจีนในปัจจุบันต่อไป คงจะไม่บังเกิดดอกผลอะไร พระองค์ยังทรงย้ำข้อสังเกตเหล่านี้อีกภายหลังการประชุมพิเศษนี้ เมื่อพระองค์ทรงเตือนให้ชาวทิเบตระลึกถึงความสำคัญที่จะต้องไม่ทำให้ผู้คนชาวจีนเกิดความรู้สึกแปลกแยก ถึงแม้ทิเบตจะต้องเผชิญกับการกระทำต่างๆ ของรัฐบาลจีนก็ตามที น่าสังเกตด้วยว่า องค์ทะไลลามะดูเหมือนจะทรงกำลังแสดงถึงความปรารถนาที่จะให้คณะผู้แทนทั้งหลายได้หารือประเด็นต่างๆ กันได้อย่างเสรี ดังนั้น พระองค์จึงทรงเลือกที่จะไม่ปรากฏพระองค์อยู่ในที่ประชุมครั้งนี้
ถึงแม้การประชุมจะดูเสมือนเป็นการหารือที่มุ่งจะทบทวนยุทธศาสตร์ของเหล่าผู้ลี้ภัยกันใหม่ทั้งหมด ทว่าการประชุมนี้กลับตอบสนองแก่วัตถุประสงค์อื่นที่ฉีกแนวแตกต่างออกไปอย่างมากมาย การตัดสินใจที่จะธำรงแรงขับเคลื่อนแบบอหิงสาเพื่อการมีอำนาจปกครองตนเองได้มากขึ้น ควรต้องถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเมื่อคำนึงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ภายในทิเบตปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความล้มเหลวที่จะสร้างความก้าวหน้าบนโต๊ะเจรจา หรือการใช้แนวทางที่แข็งกร้าวมากขึ้นในฝ่ายทางการปักกิ่ง หรือเหนืออื่นใด การที่สถานการณ์ย่ำแย่มากขึ้นเรื่อยๆ ภายในทิเบต
สิ่งที่ดำเนินมานานสักระยะหนึ่งแล้วคือ การที่คนหนุ่มสาวชาวทิเบตไหลทะลักจากเขตชนบทเข้าสู่ตัวเมืองต่างๆ เพื่อหางานทำ ดังเห็นได้ว่า จำนวนของคนทิเบตหนุ่มสาวยากจนและว่างงานทวีมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น ลาซา ในขณะเดียวกัน จำนวนคนจีนฮั่นก็เพิ่มขึ้นในเมืองเหล่านี้เช่นกัน โดยที่พวกนี้สามารถแสวงหาความสำเร็จทางเศรษฐกิจในจุดต่างๆ ที่คนทิเบตไม่สามารถทำได้ เงื่อนไขที่สร้างความตึงเครียดในระหว่างชนชาติปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวาง ปะทุเป็นการจลาจลในทิเบตปีนี้
จลาจลในระดับที่รุนแรงแบบที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ห่างหายไปจากทิเบตนานนับได้เป็นยี่สิบปี ปฏิกิริยาของตำรวจจีนในช่วงต้นปรากฎออกมาแบบระงับยับยั้งอย่างผิดปกติยิ่ง ซึ่งสะท้อนไปถึงนโยบายสร้างบรรยากาศส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศในยามเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ซึ่งทำให้จีนต้องผละจากยุทธวิธีปกติที่จะมีความอดกลั้นแค่ระดับ 0 เท่านั้น ความตึงเครียดในระหว่างชนชาติที่ปรากฏในการเดินขบวนที่ลาซานั้น ชัดเจนมากกว่าความวุ่นวายที่สามารถดึงความสนใจจากนานาชาติในครั้งอื่นๆ ก่อนหน้ากรณีมีนาคม สิ่งที่สำคัญและน่าจับตาเกี่ยวกับกรณีเดินขบวนลาซาเมื่อเดือนมีนาคม คือการที่โลกตะวันตกพากันประนามปฏิกิริยาในทางการรักษาความสงบของทางการจีน ซึ่งเป็นการประนามที่ออกมาอย่างรวดเร็วและรุนแรงก่อนที่สถานการณ์จะกระจ่าง ทั้งนี้ สื่อมวลชนจำนวนมากในโลกตะวันตก รายงานการปราบปรามด้วยมาตรการรุนแรงก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริง ส่งผลเป็นการกระตุ้นให้ภายในจีนเกิดกระแสต่อต้านตะวันตก ตลอดจนต่อต้านการวิพากษ์วิจารณ์ทิเบต แผ่ไปตามสารพัดบล็อกและเว็บไซต์ข่าวสาร
อย่างไรก็ตาม การประชุมพิเศษคราวนี้ได้กลายเป็นการเปิดเวทีให้แก่การหารือกันอย่างจริงจังในเรื่องของอนาคตทิเบต และเหนืออื่นใดคือการเป็นเวทีให้แก่การฝึกที่จะสร้างนโยบายขึ้นมาด้วยวิธีการประชาธิปไตย องค์ทะไลลามะได้ทรงแสดงความกังวลให้ได้ทราบกันหลายครั้งหลายหนในเรื่องที่ว่า แรงสนับสนุนต่อ “ทางสายกลาง” นั้นนับวันแต่จะลดน้อยถอยลง มาบัดนี้เมื่อการประชุมพิเศษมีมติที่จะดำเนินยุทธศาสตร์นี้ต่อไป จึงไม่เพียงเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีเป็นเอกภาพในหมู่ผู้ต้องลี้ภัยอยู่ต่างแดนเหล่านี้ให้เกิดความเข้มแข็งยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ระบบการเมืองทั้งระบบของชุมชนผู้ลี้ภัยเหล่านี้อีกด้วย
เป็นเวลานานมาแล้วที่องค์ทะไลลามะได้ทรงพยายามผลักดันให้ชาวทิเบตลี้ภัย หวังพึ่งพาคำชี้แนะทางการเมืองของพระองค์ให้น้อยลง โดยที่มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเมื่อถึงเวลาในการเสาะแสวงหาผู้ที่จะเป็นทายาทสืบตำแหน่งต่อจากทะไลลามะพระองค์นี้ จะต้องบังเกิดความสับสนซับซ้อนเป็นอย่างยิ่งทีเดียว การประชุมคราวนี้จึงเป็นการให้โอกาสแก่ชุมชนชาวลี้ภัยที่จะร่วมกันดำเนินการอภิปรายถกเถียงทางการเมืองซึ่งมีความสำคัญ ในสภาพที่ทะไลลามะมิได้ปรากฏพระองค์ ทั้งนี้ รวมทั้งการถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะสรรหาทายาทของพระองค์ในขณะที่ทะไลลามะองค์ปัจจุบันยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่
สิ่งที่ยังไม่ได้ปรากฏออกมาจากการประชุมนี้ เห็นจะได้แก่ตารางกำหนดเวลาสำหรับการดำเนินการไปตาม “ทางสายกลาง” กรรมะ โชเภล ผู้เป็นประธานการประชุมพิเศษครั้งนี้บอกกับเว็บไซต์ข่าวภายุล ว่าถ้าหากคณะผู้นำจีนไม่ยอมสนองตอบต่อวิธี “ทางสายกลาง” เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมไม่มีเหตุผลใดๆ เลย ที่ชาวทิเบตจะไม่หันไปหานโยบายเรียกร้องต่อสู้เพื่อเป็นเอกราช
ทว่ารัฐบาลจีนได้แถลงออกมาอย่างชัดเจนมากๆ เมื่อเร็วๆ นี้แล้วว่า พวกเขาตีความหนทางการต่อสู้แบบ “ทางสายกลาง” ว่าเป็นเพียงการอำพรางซ่อนเร้นเจตนามุ่งไปสู่เอกราช ไม่มีอะไรที่เกิดขึ้นในปีนี้ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าปักกิ่งมีความสนใจใดๆ ที่จะอภิปรายหารือเรื่องการเพิ่มอำนาจปกครองตนเองแก่ทิเบต แม้กระทั่งถ้อยแถลงในปลายทศวรรษ 1970 ของเติ้งเสี่ยวผิง ที่บอกว่ายกเว้นแต่เรื่องเอกราชแล้ว เรื่องอื่นๆ ล้วนสามารถเจรจากันได้ทั้งสิ้น มาในบัดนี้ก็ยังถูกปฏิเสธบอกปัดโดยเจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่ง
“สหายเติ้งเสี่ยวผิงไม่เคยพูดแถลงเช่นนั้นเลย มันเป็นการอ้างคำพูดที่ไม่มีจริง” เว็บภายุลรายงานว่า จูเหวยฉุน รองรัฐมนตรีฝ่ายงานแนวร่วม ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน พูดไว้เช่นนี้ในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน
ถ้อยแถลงในตอนนั้นของเติ้งนี้เอง เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ทะไลลามะทรงตัดสินพระทัยที่จะเรียกร้องเพียงการปกครองตนเอง มิใช่ความเป็นเอกราช
รัฐบาลจีนนั้นยืนกรานมาตลอดว่า ถึงแม้ทางคณะบริหารของชาวทิเบตได้ออกคำแถลงอยู่หลายๆ ครั้งในทางตรงกันข้าม แต่ในทางเป็นจริงแล้วยังคงพยายามเรียกร้องความเป็นเอกราชในบางลักษณะอยู่นั่นเอง ขณะที่ในส่วนของฝ่ายคณะบริหารของชาวทิเบตเอง ก็ไม่เคยยอมปฏิบัติตามเงื่อนไข 2 ข้อที่รัฐบาลจีนเรียกร้องเรื่อยมา นั่นคือ การประกาศรับรองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และการยอมรับว่าทิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีนเสมอมา ความสะดุดชะงักงันนี้ได้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เกิดความก้าวหน้าอันแท้จริงใดๆ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปีแล้ว และในการพูดจากันครั้งล่าสุดก็เป็นเช่นนั้นอีก
คำแถลงหลายๆ ครั้งของตู้ชิงหลิน รัฐมนตรีฝ่ายงานแนวร่วม แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ตามที่สำนักข่าวซินหัวรายงานนั้น บ่งชี้ให้เห็นว่าจุดยืนของฝ่ายจีนไม่ได้โยกคลอนไปจากเดิมเลยระหว่างการเจรจาหนล่าสุด ซินหัวรายงานคำพูดของตู้เอาไว้ดังนี้ “ทะไลลามะควรต้องเคารพประวัติศาสตร์ เผชิญหน้ากับความเป็นจริงและอ่อนน้อมต่อกาลเวลา เช่นเดียวกับที่ต้องเปลี่ยนแปลงข้อเสนอต่างๆ ทางการเมืองของเขาในขั้นพื้นฐาน”
มีการหยิบยกประเด็นต่างๆ จำนวนมากขึ้นมาระบุว่าเป็นสิ่งที่ปักกิ่งยอมรับไม่ได้ ทั้งนี้ข้อเสนอของฝ่ายทิเบตข้อหนึ่งก็คือ จำกัดมิให้กลุ่มชนชาติอื่นๆ อพยพเข้าไปอยู่ในทิเบตเพิ่มขึ้นอีก องค์ทะไลลามะยังทรงวาดหวังที่จะให้ทิเบตกลายเป็นเขตแห่งสันติภาพ ซึ่งจะต้องมีการลดจำนวนทหารจีนที่อยู่ในเขตนี้ลงมาอย่างจริงจัง
จวบจนถึงเวลานี้ คำแถลงจากทางการจีนยังไม่ถึงกับบอกปัดความเป็นไปได้ที่จะมีการเปิดการพูดจากันอีกในอนาคต ทว่าก็เป็นที่ชัดเจนว่าความอดทนของพวกเขากำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ
ดังที่องค์ทะไลลามะได้ทรงชี้แนะไว้ เวลานี้ความหวังสำหรับชาวทิเบตอยู่ที่ว่าจะต้องอุทธรณ์ต่อประชาชนจีน ไม่ใช่ต่อรัฐบาลปัจจุบันของจีน อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างทิเบตกับประชาชนจีนก็ได้เสียหายไปมากในปีนี้ การประท้วงต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะมีการวิ่งคบไฟโอลิมปิกไปทั่วโลก รวมทั้งการตีความการประท้วงในลาซาอย่างผิดๆ ของพวกสื่อมวลชนตะวันตกหลายๆ ราย ได้สร้างความโกรธกริ้วให้แก่ประชาชนจีนจำนวนมากที่มีศักยภาพที่จะหันมาเห็นอกเห็นใจทิเบต
กระนั้นก็ตาม จากการที่ทะไลลามะทรงจงใจที่จะไม่ทรงเข้าร่วมการประชุมพิเศษ ย่อมเป็นการตอกย้ำให้เห็นประเด็นที่ว่า นโยบายของเหล่าชาวทิเบตลี้ภัยนั้นไม่ได้เป็นนโยบายของพระองค์เลย นี่ย่อมเป็นการตีกลับข้ออ้างของทางการจีนที่กล่าวว่า พระองค์กำลังทรงดำเนินกิจกรรม “แบ่งแยกดินแดน” จากนอกประเทศ
เดนิส เบิร์ก เป็นนักเขียนและบรรณาธิการซึ่งพำนักอยู่ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเร็วๆ นี้เขาเพิ่งเสร็จสิ้นการทำงานวิจัยว่าด้วยกิจการจีน-ทิเบตในศตวรรษที่ 21