xs
xsm
sm
md
lg

การกลับคืนสู่ความสงบสุขของเร็ปกอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายในวัดแห่งหนึ่งที่เมืองเร็ปกอง ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในเทือกเขา
เอเอฟพี – จลาจลต่อต้านการปกครองของจีนทั่วแผ่นดินทิเบตผ่านพ้นไปนาน 5 เดือนแล้ว แม้ภาพภายนอกแลดูสงบราบคาบ แต่แท้จริงนั้น ซ่อนบรรยากาศตึงเครียด นับวันจะเขม็งเกลียว พระสงฆ์และชาวบ้านร้านถิ่นที่นั่นต่างหวาดกลัวเงื้อมมือจีน เสียจนกระทั่งไม่กล้าแม้แต่จะปริปากพูดคุยกับชาวต่างชาติ

“คุณกำลังถูกจับตามองอยู่ คุณก็รู้ พวกนั้นกำลังจับตามองเราด้วยเหมือนกัน” ชายชาวทิเบตคนหนึ่งในอำเภอเร็ปกอง (Repkong) บอก เขาไม่กล้าแจ้งชื่อเสียงเรียงนาม เพราะกลัวถูกเช็คบิล

เร็ปกองเป็นเมืองพลุกพล่านด้วยผู้คนบนเทือกเขาหิมาลัย และมีชื่อเสียงรู้จักกันดีว่าเป็นที่ตั้งของอารามพุทธศาสนานิกายทิเบต 3 แห่ง

เมืองนับสิบแห่งในภาคตะวันตกของจีน ซึ่งมีชาวทิเบตอาศัยอยู่ ได้เห็นการประท้วงนองเลือด เร็ปกองก็เป็นเมืองหนึ่ง ชาวทิเบตลุกฮือต่อต้านจีนครั้งล่าสุดนี้ถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตสำหรับผู้ปกครองคอมมิวนิสต์ทีเดียว เนื่องจากจีนกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง

เหตุการณ์ความไม่สงบอุบัติขึ้นจุดแรกในกรุงลาซา เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองทิเบตเมื่อวันที่ 14 มีนาคม หลังจากชาวทิเบตชุมนุมประท้วงจีนอย่างสงบอยู่ 4 วัน เหตุจลาจลขยายวงกว้างไปยังเมืองใกล้เคียง รวมทั้งในมณฑลชิงไห่ ซึ่งเมืองเร็ปกองตั้งอยู่

รัฐบาลจีนจึงตอบโต้ด้วยการส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าปราบปราม พร้อมกับสั่งปิดภูมิภาคแถบนี้ ไม่ให้ชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวเยี่ยมกรายเข้ามาได้ การกระทำดังกล่าวถูกบรรดาผู้นำโลก และกลุ่มสิทธิมนุษยชนรุมประณาม

พวกผู้นำพลัดถิ่นทิเบตยืนยันว่า มีประชาชนเสียชีวิตถึง 203 คนจากการปราบปราม แต่ทางการจีนกลับรายงานว่าได้สังหาร“ ผู้ก่อกบฎ”ชาวทิเบตไปแค่คนเดียว นอกจากนั้น ยังกล่าวหาอีกว่า “พวกผู้ก่อจลาจล” ต้องรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิต 21 คน

ขณะที่นักรณรงค์ระบุว่า มีประชาชนในเมืองเร็ปกอง 140 คนถูกทางการจับกุมระหว่างการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งระเบิดขึ้นที่นั่นในเดือนเมษายน

ต่อมา จีนได้อนุญาตให้ชาวต่างชาติกลับเข้าสู่ทิเบตและพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งเคยเกิดการประท้วงได้ ภาวะปกติกลับคืนสู่เร็ปกอง หรือที่เรียกในภาษาจีนว่าอำเภอถงเหริน

ทว่านั่นเป็นเพียงภาพที่แลเห็นแค่ภายนอกเท่านั้น !

ภาพทหารเดินลาดตระเวน และรถตำรวจขับโฉบผ่านมาในบางครั้ง ล้วนเตือนความทรงจำของผู้มาเยือนถึงเหตุการณ์ประท้วงนองเลือด ความตึงเครียดพอมองเห็นได้อย่างแจ่มชัดจากสิ่งที่ผู้คนในเมืองจำต้องตอบ เมื่อถูกถาม และแทบไม่มีใครกล้าสนทนากับชาวต่างชาติเลย

“ฉันไม่ทราบ” หรือ “สบายดีไม่มีปัญหา” นี่คือคำตอบมาตรฐานสำหรับคำถาม เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมือง ซึ่งเป็นคำถามที่ล่อแหลม

ส่วนวัดทิเบตทั้ง 3 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเร็ปกอง และละแวกใกล้เคียง คือวัดหลงอู้วัดอู่ถุนเหนือ และวัดอู่ถุนล่างได้เปิดให้นักท่องเที่ยว รวมทั้งชาวต่างชาติเข้าชมได้อีกครั้ง หลังจากปิดอยู่จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน

ถนนจากเมืองซีหนิง เมืองเอกของมณฑลชิงไห่ลงมา เป็นเส้นทางคดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามหน้าผาสูงชัน แลลงไปเห็นแม่น้ำเหลืองไหลเอื่อย ปรากฎว่าถนนสายนี้ ตำรวจตั้งด่านตรวจเพียงจุดเดียว ขอตรวจใบขับขี่ แล้วก็โบกมือให้รถแล่นผ่านไปได้

แต่ลามะรูปหนึ่งในวัดอู่ถุนเล่าว่า มีนักท่องเที่ยวมาที่นี้กันน้อย

“นักท่องเที่ยวมาไม่มากหรอกคุณ เพราะเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ แต่เราพูดอะไรอีกไม่ได้” ท่านก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่ไม่กล้าเปิดเผยชื่อ เพราะกลัวถูกเล่นงาน

ส่วนลามะอีกรูปหนึ่ง ตอนแรกไม่ยอมตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์ที่นี่ ทว่าสีหน้าฉายชัดถึงความโกรธแค้นแน่นอก

แต่สักพัก ระหว่างการสนทนาดำเนินไป ลามะรูปนี้ก็อดกระซิบไม่ได้ว่า “อาตมาเป็นสหายของ314” ซึ่งท่านหมายถึงวันเวลาที่การจลาจลในกรุงลาซาระเบิด

“ตอนนี้ก็ยังมีการบีบบังคับกันอยู่” ท่านว่า พร้อมกับทำท่าทางประกอบ โดยค่อย ๆ เคลื่อนมือทั้งสองข้างเข้าใกล้กัน เพื่อสื่อความหมายว่าทางการจีนเข้ามาคุมเข้มพระในวัดวูตันมากขึ้นทุกที

“พวกมันไม่ยอมให้เราออกไปไหนอีกเลย” ระบายความอัดอั้นจบ ท่านก็เปลี่ยนเรื่องคุย

ความตึงเครียดยิ่งปรากฏชัดเจนในหมู่บ้านตักเซอร์ (Taktser) หรือหงหย่า ในภาษาจีน สถานที่ประสูติของทะไลลามะองค์ปัจจุบัน หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ลึกเข้าไปในเทือกเขานอกเมืองซีหนิง

การเดินทางจากเมืองซีหนิงไปยังหมู่บ้านตักเซอร์ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง และราบรื่นดี ภาพตำรวจที่คอยตั้งด่านตรวจตามจุดต่าง ๆในช่วงที่การจลาจลเดือดพล่านถึงขีดสุดในเดือนมีนาคมและเมษายนนั้น ไม่มาให้เห็นอีกแล้ว

แต่ครั้นพอไปถึงตรงหน้าบริเวณบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งปิดตาย ชาวบ้านคนหนึ่งก็ตรงรี่เข้ามาบอกว่า ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้มาที่นี่

ครั้งหนึ่ง บ้านหลังดังกล่าวเคยเป็นที่อาศัยของหนูน้อยลาโม ดอนดุบ ซึ่งถือกำเนิดเมื่อปี 1935 จนกระทั่งวันหนึ่ง มีการค้นพบว่า เด็กน้อยผู้นี้คือการเสด็จกลับชาติของทะไลลามะพระองค์ที่ 13

“เราต้องไปแล้วล่ะครับ” โชเฟอร์กระตุ้นเตือน

“หรือคุณจะหาเรื่องใส่ตัว? เดี๋ยว ผมก็พลอยซวยไปด้วยเท่านั้นเอง”
พระพุทธรูปแบบทิเบตประดิษฐานในอารามที่เมืองเร็ปกอง, มณฑลชิงไห่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ถ่ายเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2551
ลามะทิเบต ขณะเดินตัดลานวัด แม้สถานการณ์คืนสู่ปกติแล้ว แต่กระแสความหวาดกลัวตำรวจจีนยังระบาดไปทั่วเมืองเร็ปกอง
ศิลปินรุ่นเยาว์บรรจงสร้างสรรค์ “ทังข่า” (Thangka) ในหมู่บ้านซังเกชาน(Sangkeshan) ชานเมืองเร็ปกอง ทังกาคือผืนผ้า ซึ่งวาดภาพ หรือเย็บปักเป็นรูปพระพุทธองค์ แขวนไว้ในอาราม,หน้าแท่นบูชาตามบ้านเรือน และในบางโอกาสพระภิกษุจะถือทังข่าในพิธีแห่แหนทางศาสนา ทังข่าเป็นภาพวาดที่สามารถนำไปไหนได้สะดวกสบาย เพียงแต่ม้วนเก็บเหมือนม้วนแผ่นกระดาษ โดยทังข่าเป็นอุปกรณ์สำคัญในการสอนพระพุทธประวัติ
ลามะทิเบตขี่จักรยานยนต์เป็นพาหนะ
ตะเกียงเนยใสให้แสงไฟดวงน้อยภายในโบสถ์
กองกำลังรักษาความมั่นคงพร้อมอุปกรณ์ปราบจลาจลเดินแถวไปตามถนนในเมือง
หญิงทิเบตกำลังคลุกทรายเปียกน้ำกับใยฝ้ายสำหรับนำมาปั้นงานประติมากรรมทางศาสนา
สตรีผู้มีจิตศรัทธากำลังช่วยกันขนทราย ซึ่งราดน้ำจนชุ่ม เพื่อนำไปผสมกับใยฝ้าย จากนั้นจะนำมาปั้นงานศิลปะทางศาสนา
กำลังโหลดความคิดเห็น