xs
xsm
sm
md
lg

จีนโอบอุ้มวัฒนธรรมทิเบต บูรณะพระราชวังโปตาลาเสร็จแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระราชวังโปตาลาบนเนินเขามาร์โปรี อันถือเป็นตัวแทนของพระอวโลกิเตศวร
เอพี/วิกิพีเดีย – ในที่สุดรัฐบาลจีนก็บูรณะซ่อมแซมพระราชวังโปตาลาในกรุงลาซาจนเสร็จเรียบร้อย หลังจากใช้เวลาอยู่นาน 7 ปี และเพิ่งจัดพิธีฉลองกันไปเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

งานบูรณะซ่อมแซมพระราชวังโปตาลา มรดกวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวทิเบต และครั้งหนึ่งเคยเป็น“บ้าน” ขององค์ทะไลลามะ ศัตรูที่จีนแสนจะชิงชัง พญามังกรได้ทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 300 ล้านหยวน (43.9 ล้านดอลลาร์) ระดมคนงานมากมายถึงกว่า 189,000 คน โดยส่วนที่มีการซ่อมแซมครอบคลุมถึงนอร์บู ลิงกะ (Norbu Lingka) อันเป็นตำหนักประทับในฤดูร้อนขององค์ทะไลลามะ และวัดศากยะ (Sagya Monastery) สถานที่เก็บคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา

จีนอ้างว่า การบูรณะซ่อมแซมนี้เป็นโครงการหนึ่งในการอนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมและภาษาของชาวทิเบต ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจในเขตปกครองตนเองทิเบต ที่รายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว

ตอนนี้ พระราชวังโปตาลาสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ถึงวันละ 1,000 คน
ทหารจีนเบื้องหน้าพระราชวังโปตาลา
ทว่ามีผู้คนไม่น้อยข้องใจว่า การบูรณะ ที่จีนเป็นเจ้าภาพนั้น จีนมี“ลูกเล่น” อะไรรึเปล่า? เพราะทุกวันนี้ จีนยังดิ้นไม่หลุดจากข้อกล่าวหาว่า รุกรานทิเบต และพยายามกลืนชาติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อชาวทิเบตพลัดถิ่นมากมายเถียงคอเป็นเอ็นว่า มรดกวัฒนธรรมแห่งดินแดนหลังคาโลกกำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากนโยบายของรัฐบาลจีน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ชาวฮั่นแห่กันมาตั้งถิ่นฐานในทิเบตตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

นอกจากนั้น ยังออกกฎข้อบังคับควบคุมการปฏิบัติศาสนกิจของศาสนิกชนทิเบต ซึ่งองค์ทะไลลามะทรงระบุชัดเจนว่า เป็น“การล้างผลาญวัฒนธรรมของทิเบตให้สิ้นซาก”

ชีวิตของพระราชวังโปตาลา ดำรงอยู่มายาวนานนัก และบางครั้งโปตาลาก็อาจทอดถอนลมหายใจ เมื่อจำต้องรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้น

ก่อนหน้าที่ทิเบตจะถูกยึดครอง สถาปัตยกรรม อันอลังการที่สุดเหนือดินแดนทิเบตทั้งมวล ได้รับการก่อสร้างต่อเติม และบูรณะอยู่หลายครั้ง ทว่าด้วยการอุปถัมภ์ของทะไลลามะ ซึ่งเป็นผู้นำชาวทิเบต และคณะสงฆ์ของทิเบตหลายพระองค์
เท็นซิน เกียตโซ ทะไลลามะองค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นองค์ที่ที่14
พระราชวังแห่งนี้ยืนเด่นตระหง่านแลดูเหมือนป้อมปราการอันแข็งแกร่งบนเนินเขามาร์โปรี (Marpori) เหนือหุบเขาลาซา และได้รับการตั้งชื่อตามภูเขาโปตาลาในภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของเชินเรซี (Chenrezi) หรือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยเมตตา

พระราชวังโปตาลาเป็นที่ประทับของทะไลลามะต่อเนื่องกันมาหลายองค์ จนกระทั่งถึงทะไลลามะองค์ ที่14 คือเท็นซิน เกียตโซ (Tenzin Gyatso) ซึ่งเป็นทะไลลามะองค์ปัจจุบัน ผู้จำต้องนิราศร้าง หลังจากชาวทิเบต ซึ่งถูกรุกราน ได้ก่อกบฏโค่นล้มการปกครองของจีนไม่สำเร็จเมื่อปีค.ศ.1959

ทุกวันนี้ พระราชวังโปตาลากลายสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ไปเรียบร้อย เหมือนสิ่งมีชีวิตที่ตายไปแล้ว และถูกสต๊าฟให้ผู้คนผ่านมาดู

พระราชวังโปตาลามีจุดกำเนิดเก่าแก่มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 เมื่อจักรพรรดิซองต์เซน กัมโป (Songtsen Gampo) ของทิเบตมักเสด็จหลบมานั่งสมาธิภายในถ่ำศักดิ์สิทธิ์บนเนินเขามาร์โปรี เนินเขาแห่งนี้ถือเป็นตัวแทนของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ผู้ปกปักษ์รักษาทิเบต ต่อมาในปีค.ศ.637 พระองค์ทรงสร้างพระราชวังบนเนินเขา สำหรับเจ้าหญิงเหวิน เฉิง แห่งราชวงศ์ถัง ผู้เป็นเจ้าสาว

พอถึงศตวรรษที่ 17 มหาทะไลลามะองค์ที่ 5 จึงทรงสร้างสถาปัตยกรรมเพิ่มเติมกลายเป็นหมู่อาคารมโหฬารอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มหาทะไลลามะองค์ที่ 5 และคณะผู้บริหารแผ่นดินของพระองค์ย้ายมายังโปตรัง การ์โป (Potrang Karpo) หรือตำหนักขาวในปีค.ศ.1649 ทว่าการก่อสร้างทั้งหมดใช้เวลาทั้งสิ้นจนถึงปีค.ศ.1694 หรือเมื่อมหาทะไลลามะสิ้นพระชนม์ไปแล้วราว 12 ปี จึงแล้วเสร็จ และพระราชวังโปตาลาก็กลายเป็นที่ประทับในฤดูหนาวของทะไลลามะนับจากนั้นมา
ตำหนักแดงเป็นสถานที่สำหรับการปฏิบัติกิจทางศาสนา
สำหรับโปตรัง มาร์โป (Potrang Marpo) หรือตำหนักแดง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมตรงกลางของหมู่อาคารนั้น ก่อสร้างระหว่างปีค.ศ.1690-1694 โดยใช้คนงานมากกว่า 700 คน ช่างศิลป์ และช่างหัตถกรรมอีก 1,500 คน

ในปีค.ศ.1922 ทะไลลามะองค์ที่ 13 ได้ทรงสั่งให้ซ่อมแซมห้องสวดมนต์ และหอประชุมหลายแห่งภายในตำหนักขาว นอกจากนั้น ยังต่อเติมตำหนักแดงอีก 2 ชั้น

ทั้งนี้ ตำหนักขาวเป็นส่วนที่ประทับของทะไลลามะ และลามะของพระองค์ ตลอดจนใช้ประกอบกิจกรรมทางฆราวาส กล่าวคือเป็นที่ตั้งของสำนักงานต่าง ๆ ที่ประชุมสัมมนา และโรงพิมพ์ โดย
มีเดยังชาร์ (Deyangshar) ลานกว้าง ซึ่งตกแต่งด้วยสีเหลือง คั่นกลางกับตำหนักแดง ซึ่งเป็นที่สำหรับศึกษาพระศาสนา และการสวดมนต์ปฏิบัติธรรมเท่านั้น
ตำหนักขาว ซึ่งเป็นส่วนที่ประทับของทะไลลามะ
ระหว่างการลุกฮือต่อต้านการปกครองของจีนเมื่อปีค.ศ. 1959 พระราชวังโปตาลาพังเสียหายเพียงเล็กน้อยจากกระสุนปืนของทหารจีน ที่ยิงทะลุหน้าต่างพระราชวัง นอกจากนั้น ยังรอดหวุดหวิดจากการถูกปล้นโดยกองทัพแดงในระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ต่างจากสถานที่ทางศาสนาอื่น ๆส่วนใหญ่ของทิเบต ทั้งนี้ ก็เพราะนายโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนในสมัยนั้น ยื่นมือเข้าขัดขวาง โดยนายโจวนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติวัฒนธรรม

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม คัมภีร์ทางศาสนา,เอกสารประวัติศาสตร์ และผลงานศิลปะจำนวนทั้งหมดกว่า 100,000 เล่ม ได้ถูกเคลื่อนย้าย , ได้รับความเสียหาย หรือถูกทำลายไปเลยเกือบทั้งหมด

องค์การยูเนสโก้ได้ขึ้นทะเบียนพระราชวังโปตาลาเป็นมรดกโลกในปีค.ศ.1994 จากนั้น วัดโจคัง (Jokhang Temple) ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนในปีค.ศ.2000 และนอร์บูลิงกะ ในปีค.ศ.2001 ในฐานะหมู่อาคารส่วนประกอบ

อย่างไรก็ตาม องค์การยูเนสโก้กำลังวิตกเรื่องความเจริญ ที่รุกล้ำเข้ามาอย่างรวดเร็ว โดยมีการสร้างอาคารทันสมัยในละแวกเดียวกับพระราชวัง ซึ่งเป็นการทำลายบรรยากาศ ที่เป็นเอกลักษณ์ของพระราชวังโปตาลาไป


รัฐบาลจึงดำเนินการออกประกาศห้ามการก่อสร้างอาคารสูงกว่า 21 เมตรในบริเวณนั้น

นอกจากนี้แล้ว ยูเนสโก้ยังกังวลเกี่ยวกับการใช้วัสดุในการบูรณะซ่อมแซมของจีน ซึ่งเริ่มในปี2002 อีกด้วย แต่ผู้อำนวยการพระราชวังชี้แจงว่า มีการใช้วัสดุและงานช่างฝีมือซึ่งเป็นไปตามขนบธรรมเนียมเก่าแก่ดั้งเดิมเท่านั้น

จะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ หลังจากเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมพระราชวังโปตาลาได้สักพักหนึ่ง คาดว่า หากมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ก็เชื่อว่า คงไม่คลาดสายตาของผู้ชำนาญการด้านทิเบตไปได้ และคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาให้ได้ยินเป็นแน่
กำลังโหลดความคิดเห็น