xs
xsm
sm
md
lg

นานาทัศนะถึงประเทศไทยของพวกสำนักจัดอันดับความเสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซี - สถานการณ์ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยในช่วงหลังๆ มานี้ ได้ทำให้บรรดาบริษัทและสำนักจัดอันดับความเสี่ยงต่างๆ พากันปรับเพิ่มความเสี่ยง และปรับลดเรตติ้งความน่าเชื่อถือของประเทศไทย

จากการรวบรวมของสำนักข่าวรอยเตอร์ บริษัทและสำนักจัดอันดับความเสี่ยงได้มีความเคลื่อนไหวและให้คำอธิบายได้ดังนี้

**ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์**
ไอเอชเอส โกลบอล อินไซต์ปรับเพิ่มอันดับความเสี่ยงทางการเมืองของไทยให้สูงมากขึ้นเป็น 3.25 จาก 3 และอันดับความเสี่ยงด้านความมั่นคงมาเป็น 3.50 จาก 3.25 เมื่อวันอังคาร(2)

คริสตินา คาซมิ นักวิเคราะห์ของบริษัท กล่าวว่าการปรับเช่นนี้เป็นการสะท้อนถึงการชะงักงันทางการเมือง และความเสี่ยงของการเข้ามาแทรกแซงจากทหารเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการจลาจลด้วย ประเทศไทยยังคงติดอยู่ใน "วงจรแห่งความไร้เสถียรภาพ" เพราะว่าการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พรรคที่เป็นตัวแทนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ถูกโค่นล้มไปแล้วก็ยังจะได้รับเลือกเข้ามาด้วยคะแนนเสียงที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้อยู่ดี เนื่องจากประชาชนในชนบทยังนิยมในตัวเขาอยู่มาก ซึ่งก็จะกระตุ้นให้กลุ่มพันธมิตรฯออกมาประท้วงอีกครั้งหนึ่ง "และในอนาคตที่มองเห็นได้ ประเทศไทยก็ยังคงหาทางออกจากระบบที่บกพร่องในระดับโครงสร้างไม่ได้ต่อไป

"ประเทศไทยไม่มีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงทำให้ไม่สามารถเดินหน้ามาตรการและนโยบายต่าง ๆไปได้ ความเสี่ยงของการเกิดจลาจลก็เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเข้าแทรกแซงของทหารด้วย ความเป็นไปได้ของการทำรัฐประหารที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้มีการปรับเพิ่มอันดับความเสี่ยงทางด้านการเมืองของประเทศ...

"หากว่ารัฐสภาซึ่งประชุมในเร็วๆ นี้เลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯไม่สนับสนุน วงจรของการประท้วงและการเผชิญหน้ากันก็จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง ในกรณีดังกล่าวการรัฐประหารโดยกองทัพก็ดูเหมือนว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือนนั้นอ่อนแออย่างยิ่ง แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะดูเหมือนว่าพวกชนชั้นนำในเมืองจะมีชัยเหนือพลังประชาชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในชนบท"

**ยูเรเชีย กรุ๊ป**
"มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเลือกตั้งครั้งใหม่มากที่สุด แต่ความขัดแย้งบนพื้นฐานรุนแรงระหว่างกลุ่มที่สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร และชนชั้นกลางในกรุงเทพรวมทั้งชนชั้นสูงด้วยยังคงดำเนินต่อไป" เดวิด คิว นักวิเคราะห์ของยูเรเชียกรุ๊ปกล่าวในรายงานการวิจัย

นักวิเคราะห์ผู้นี้บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาจจะทรงเข้ามาเป็นผู้หาทางออกให้แก่ประเทศได้ ดังนั้นจึงทำให้พระราชดำรัสของพระองค์ในวันที่ 4 ธันวาคม เป็นที่รอคอยติดตาม แต่เขาก็กล่าวด้วยว่า บางทีพระองค์ก็อาจจะทรงมีพระราชปรารภในโอกาสอื่นที่เหมาะสมกว่านี้ก็เป็นได้

**อินเตอร์เนชั่นแนล คันทรี ริสก์ ไกด์ (ไอซีอาร์จี) **
บรรณาธการใหญ่ คริสโตเฟอร์ แมคคี กล่าวว่าไอซีอาร์จีได้ปรับลดความน่าเชื่อของเสถียรภาพทางการเมืองของไทยมาตั้งแต่ปี 2006 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล" ซึ่งเน้นที่ว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการต่าง ๆให้เป็นไปตามนโยบายหลักได้หรือไม่ ซึ่งดัชนีนี้ ไทยถูกปรับลดให้เป็น "มีความเสี่ยงสูง" มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2007

"ปัญหาของประเทศไทยนั้นก็คือมีการแบ่งชนชั้นกัน เป็นชนชั้นในเมืองซึ่งประกอบด้วยชนชั้นนำที่เป็นข้าราชการและชนชั้นกลาง กับคนที่อยู่ในชนบท ซึ่งในขณะนี้ดูเหมือนว่าไม่สามารถที่จะประนีประนอมกันได้ และกลายเป็นการประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่าที่เกิดขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนสั่นคลอนการปกครองในแง่นิติธรรม

**อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนท์ ยูนิต (อีไอยู)**
ในสายตาของอีไอยู ความมั่นคงด้านการเมืองและความสามารถทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยมิได้ดิ่งลงในช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่มีการยึดสนามบินสองแห่งในกรุงเทพฯ เจคอบ แฮมสตรา นักวิเคราะห์ของอีไอยูบอกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยอ่อนแอลงเรื่อย ๆในช่วงเดือนที่แล้ว ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองนั้นไร้เสถียรภาพมาตั้งแต่สองปีก่อน

ในเดือนพฤศจิกายนอีไอยูลดประมาณการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลงเหลือ 1.9% จาก 3.8% และคะแนนความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 50 สำหรับเดือนธันวาคม จากที่เคยอยู่ระดับ 48 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจที่กำลังเพิ่มขึ้น ส่วนความเสี่ยงทางด้านการเมืองยังคงอยู่ที่ 65 ตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา

**สแตนดาร์ด แอนด์ พัวส์ (เอสแอนด์พี)**
เอสแอนด์พีปรับลดเรตติ้งทิศทางอนาคตของประเทศไทย จาก "มีเสถียรภาพ" เป็น "ลบ" เมื่อวันจันทร์(1)ที่ผ่านมา "การเข้าไปยึดครองสนามบินทั้งสองแห่งของกรุงเทพโดยผู้ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรฯทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือโดยรวมของประเทศ" คิมเอ็งตัน นักวิเคราะห์ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งนี้กล่าว

"มันทำให้เกิดการชะงักงันอย่างรุนแรงของในกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์เหล่านี้จะเพิ่มแรงกดดันให้แก่เศรษฐกิจไทยนอกเหนือไปจากปัญหาจากเศรษฐกิจโลก และอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศจะลดลงไปอีกหากว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลงรุนแรงอันเป็นผลจากการยึดสนามบิน" คิมกล่าวแต่ก็ชี้ว่าภาพรวมของประเทศอาจจะกลับมาสู่ระดับมีเสถียรภาพอีกครั้งหากว่าความขัดแย้งการแบ่งฝ่ายทางการเมืองได้รับการแก้ไข "โดยถาวร"

**ฟิตซ์**
ฟิตซ์ได้ปรับลดเรตติ้งทิศทางอนาคตของประเทศไทยจาก "มีเสถียรภาพ" เป็น "ลบ" เมื่อวันจันทร์(1)เช่นกัน

"การปรับลดเรตติ้งทิศทางอนาคตเช่นนี้ อิงอยู่กับทัศนะของฟิตซ์ที่ว่า ความปั่นป่วนทางการเมืองที่แวดล้อมคณะผู้นำของประเทศไทย ซึ่งได้ยืดขยายเวลาออกมาเรื่อยๆ นั้นยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีหนทางแก้ไขกันได้ และอาจจะบ่อนทำลายปัจจัยพื้นฐานต่างๆ แห่งความน่าเชื่อถือระดับประเทศของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจโลกกำลังย่างเข้าสู่ภาวะถดถอย" วินเซนต์ โฮ รองผู้อำนวยการกลุ่มงานจัดเรตติ้งระดับรัฐบาล ของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือแห่งนี้กล่าว

"เป็นที่วิตกกันว่า ในเมื่อปราศจากคณะผู้นำทางการเมืองที่ทรงประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ นโยบายทางเศรษฐกิจก็อาจจะถูกละเลยหรือไม่มีประสิทธิภาพ ในช่วงเวลาที่น่าจะมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางนโยบาย เพื่อรับมือกับการปรับตัวอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ"

**มูดี้ส์**
จนถึงเวลานี้ มูดี้ส์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเรตติ้งทิศทางอนาคตของประเทศไทย ซึ่งให้ไว้ที่ "มีเสถียรภาพ"

"จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้มองเห็นจุดยุติของการปิดท่าอากาศยานระหว่างประเทศในกรุงเทพฯ ทว่าเป็นเรื่องลำบากที่จะมองเห็นจุดสิ้นสุดของการแบ่งขั้วทางการเมืองที่กำลังสร้างความเสียหายร้ายแรงในประเทศไทย" ทอม ไบร์น เจ้าหน้าที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในภูมิภาค ของทางมูดี้ส์ ให้ความเห็น

"เราคิดว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในสัปดาห์ที่แล้วจะสร้างความเสียหายให้แก่ทิศทางเศรษฐกิจระยะสั้นของไทย และเพิ่มความยุ่งยากให้แก่การจัดทำนโยบาย ในเวลาที่รัฐบาลนี้จำเป็นจะต้องตอบสนองอย่างแน่นแฟ้นมีเหตุมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทั่วโลก หากความไม่ลงรอยกันทางการเมืองที่เกิดขึ้นใน 2 ปีที่ผ่านมายังคงดำเนินต่อไปแล้ว มีความเป็นไปได้ที่สุดว่าความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของประเทศไทยก็จะได้รับความเสียหายไปด้วย"


กำลังโหลดความคิดเห็น