เอเอฟพี - ภาวะล้มละลายที่อาจเกิดขึ้นกับ เจเนอรัล มอเตอร์ส(จีเอ็ม), ฟอร์ด, หรือไครสเลอร์ --"บิ๊กทรี"แห่งดีทรอยต์ อาจจะก่อให้เกิดภาวะชะงักงันทางด้านการผลิตในบรรดาโรงงานของคู่แข่งต่างชาติที่ตั้งในสหรัฐฯด้วย เนื่องจากพวกเขาใช้แหล่งผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆร่วมกันอยู่
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ก็เห็นว่า ไม่ว่า "บิ๊กทรี" จะได้หรือไม่ได้เงินช่วยเหลืออีก 25,000 ล้านดอลลาร์จากรัฐสภาเพื่อมาต่อชีวิตตามที่พวกเขากำลังกดดันเรียกร้องอยู่ในเวลานี้ แต่บรรดารถยี่ห้อดัง ๆจากทั้งเอเชียและยุโรปก็น่าจะกินส่วนแบ่งตลาดของสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่าหากหนึ่งในบิ๊กทรีล้มละลายเข้าจริงๆ แม้เพียงรายเดียว บรรดาคู่แข่งต่างชาติก็จะต้องปวดหัวไปด้วย เนื่องจากว่าโรงงานผลิตรถยนต์เหล่านี้ใช้แหล่งผลิตชิ้นส่วนแหล่งเดียวกัน
"หากว่าไครสเลอร์ร่วงไปบริษัทเดียว ผลกระทบก็จะไม่มากนัก" โจ ฟิลลิปปี จากออโต้เทรนด์ คอนซัลติ้งกล่าว "แต่หากจีเอ็มลงหลุมไปละก็ แม้แต่โตโยต้าก็ยังต้องกระเทือนไปด้วย"
ฟิลลิปปีชี้ว่า การล้มของจีเอ็ม จะก่อให้เกิดการล้มละลายต่อกันเป็นทอด ๆ จากบริษัทชั้นนำลงไปถึงบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนที่เล็กที่สุด อันจะกระทบกระเทือนการประกอบรถยนต์ของทุกๆ ค่ายจนได้ "ที่เห็นชัดเจนที่สุดก็คือหากขาดน็อตหรือชิปคอมพิวเตอร์ ก็อาจทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 1,000 ดอลลาร์ อันเป็นส่วนประกอบในรถยนต์นั้น ไม่สามารถส่งมอบได้ทันเวลา"
รีเบกก้า ลินแลนด์จากโกลบัล อินไซท์ก็เห็นในทำนองเดียวกัน "หากว่าบิ๊กทรีต้องปิดตัวลง ซัพพลายเออร์บางรายก็ต้องล้มละลายตามไปด้วยแน่ และจะทำให้อุตสาหกรรมนี้ชะงักงันในทันที"
ข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ระหว่างประเทศชี้ว่าหนึ่งในสามของรถยนต์ 10.8 ล้านคันที่ผลิตในสหรัฐฯเมื่อปีที่แล้ว เป็นของบริษัทรถจากเอเชียและยุโรป และอัตราส่วนนี้น่าจะเพิ่มขึ้นอีกเมื่อจีเอ็ม ฟอร์ด และไครสเลอร์ ต่างลดกำลังการผลิตลง ในขณะที่โตโยต้า โฟล์กสวาเก้น และเกีย ต่างก็เพิ่มการผลิตจากโรงงานใหม่ ๆ
ความยุ่งยากที่บิ๊กทรี "อาจจะเปิดโอกาสให้กับพวกเรา" ผู้บริหารบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นรายหนึ่งกล่าวในงานแสดงรถยนต์ที่ลอสแองเจลิส แต่เขาก็เป็นกังวลเช่นเดียวกันว่าการล้มละลายอาจทำให้เศรษฐกิจอเมริกันทรุดลงกับพื้น และก็ต้องตามมาด้วยยอดขายรถยนต์ตกต่ำรุนแรง และเมื่อถึงตอนนั้นไม่ว่าจะเป็นบริษัทอเมริกันหรือต่างชาติก็จะไม่ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น
นอกจากนี้ผลกระทบนี้ก็จะส่งแรงสะเทือนไปนอกสหรัฐฯด้วย คาร์ลอส โกสน์ ผู้บริหารสูงสุดของเรโนลต์ - นิสสัน เตือนในระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในงานแสดงรถยนต์ดังกล่าวว่า "ไม่มีใครรู้"ว่าเมื่อไรตลาดสหรัฐฯจะฟื้นตัว เพราะสภาวการณ์ของยอดขายนั้นขึ้นอยู่กับการขาดแคลนสินเชื่อว่าหนักหนาเพียงไร
โกสน์ยืนยันว่าแม้บริษัทผลิตรถยนต์ที่แข็งแกร่งที่สุด "ก็ยังไม่สามารถหาเงินกู้มาหนุนการดำเนินงานของบริษัทได้ เราทุกคนอยู่ในสภาพเดียวกัน" และก็ยังเตือนด้วยว่าแม้ว่าตอนนี้ทุกคนกำลังมุ่งความสนใจไปยังดีทรอยท์แต่ไม่นานนักปัญหาจะลุกลามไปยังยุโรปและเอเชียด้วยแน่นอน
ความกังวลเรื่องนี้ทำให้ผู้บริหารของโตโยต้าออกมาประกาศร่วมยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับคู่แข่งอเมริกัน "นี่ไม่ใช่เรื่องเราประจันหน้ากับพวกเขา" บ๊อบ คาร์เตอร์ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายโตโยต้า ของโตโยต้า มอเตอร์เซลส์ ยูเอสเอ กล่าว
คาร์เตอร์เห็นว่าหากว่าบิ๊กทรีร่วงลงดิน โดยเฉพาะจีเอ็ม จะทำให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นทอดๆ ขึ้นมา และซัพพลายเออร์จะล้มละลายไปตาม ๆกัน แล้วอุตสาหกรรมทั้งหมดจะเป็นอัมพาต เพราะว่าโรงงานผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์นั้น ใช้ซัพพลายเออร์ร่วมกันนับร้อย ๆราย
"ภาพรวมของตลาดที่ดีในสายตาเรานั้นก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งหมดแข็งแกร่ง สุขภาพดี และคึกคัก โดยที่ผู้เล่นรายใหญ่ต่าง ๆมีผลประกอบการที่ดี"