xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางสู่การฟื้นตัวของ“สหรัฐฯ”ต้องวิ่งผ่าน“ปักกิ่ง”

เผยแพร่:   โดย: ฟรานเชสโก ซิสซี และ เดวิด พี โกลด์แมน

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US’s road to recovery runs through Beijing
By Francesco Sissi and David P Goldman
14/11/2008

โมเดลเศรษฐกิจแบบอเมริกา กำลังพังยับเยินและการฟื้นตัวก็เป็นไปไม่ได้หากภาคครัวเรือนไม่สามารถประหยัดอดออม เพื่อทำเรื่องเช่นนี้ให้ได้ อเมริกันชนก็ต้องขายสินค้าและบริการให้แก่คนอื่นๆ ซึ่งหากคำนึงถึงความสมบูรณ์แบบอุดมคติแล้ว คนอื่นๆ ที่ว่านี้น่าจะเป็นจีนนั่นเอง การเข้าเป็นหุ้นส่วนระดับบิ๊กเบิ้มดังกล่าวนี้ ด้านหนึ่งจะช่วยจีนในเรื่องการมุ่งหน้าปรับตัวทางเศรษฐกิจอย่างมโหฬาร ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งก็น่าจะเป็นเส้นทางสู่การฟื้นตัวที่เป็นไปได้เพียงเส้นทางเดียวของสหรัฐฯด้วย ทั้งสองประเทศต่างจะได้รับผลดีจากการร่วมมือกัน ยิ่งกว่าที่จะได้จากการขัดแย้งกันมากมายนัก

นักเขียนชาวอังกฤษ จี เค เชสเตอร์ตัน เป็นผู้เขียนบทกวีมีชื่อที่มีวรรคหนึ่งบอกว่า “คืนที่เราเดินทางสู่บันน็อกเบิร์น โดยผ่านไปทางไบรตันเพียร์” (“บันน็อกเบิร์น Bannockburn”เป็นชื่อลำธารเงียบสงบทางตอนกลางของสกอตแลนด์ ซึ่งก็คืออยู่ทางภาคเหนือของเกาะบริเตนใหญ่ หรือที่คนไทยคุ้นเคยเรียกกันว่า “เกาะอังกฤษ” ส่วน “ไบรตันเพียร์ Brighton Pier” เป็นสถานพักผ่อนหย่อนใจริมทะเลของเมืองไบรตัน ที่อยู่ตอนใต้สุดของอังกฤษ ซึ่งก็คืออยู่ทางใต้สุดของเกาะบริเตนใหญ่ –ผู้แปล) และมันก็อาจจะดูประหลาดพิกลพอๆ กันที่จะเสนอความคิดเห็นว่า ทางเดินสู่การฟื้นตัวของสหรัฐฯ ตลอดจนเส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของบารัค โอบามา ล้วนแต่ต้องตัดผ่านประเทศจีน

ในเวลาที่ต้องเร่งรีบกอบกู้พลิกฟื้นสถาบันการเงินแห่งต่างๆ ของอเมริกาเช่นขณะนี้ นโยบายด้านเศรษฐกิจต่างประเทศดูจะอยู่ห่างไกลจากระเบียบวาระของวอชิงตันเหลือเกิน อเมริกานั้นต้องการชุบชีวิตตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์และกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้คึกคักขึ้นมาใหม่ แต่ความพยายามเหล่านี้ถูกชี้ชะตาเอาไว้แล้วว่าจะต้องประสบความล้มเหลว เป็นเวลาถึงราวเสี้ยวศตวรรษทีเดียว ที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันคือหัวรถจักรที่ฉุดลากเศรษฐกิจโลกให้เติบโตขยายตัว มาบัดนี้หัวรถจักรคันนี้กลับตกรางเสียแล้ว และพาเอาเศรษฐกิจของส่วนอื่นๆ ของโลกพลอยพลิกคว่ำพลิกหงายไปด้วย

การฟื้นตัวของสหรัฐฯจะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในเรื่องทิศทางไหลเวียนของเงินทุน ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนผู้ยากจนในโลกกำลังพัฒนาเป็นผู้ออกเงินสนับสนุนการบริโภคของประชาชนผู้ร่ำรวยในอเมริกา อเมริกากู้ยืมเงินถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่ที่สุดจากโลกกำลังพัฒนา และใช้เงินเหล่านี้เพื่อนำเข้าสินค้าผู้บริโภคและซื้อบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ ผลลัพธ์ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันก็คือบรรดาครัวเรือนอเมริกันไม่สามารถชำระหนี้ได้จนเกิดเป็นวิกฤตการณ์ขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นในรูปของวิกฤตการณ์การไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่พวกสถาบันการเงิน ยิ่งกว่านั้น ถ้าหากเราพิจารณาถึงความจำเป็นต่างๆ ที่จะต้องบังเกิดขึ้นเมื่ออเมริกันชนเข้าสู่วัยเกษียณอายุ โดยถือว่านี่ก็จะต้องเป็นหนี้สินของภาคครัวเรือนด้วยแล้ว มันย่อมเท่ากับว่าภาคครัวเรือนอเมริกันตกอยู่ในสภาพล้มละลายแล้วนั่นเอง

เป็นไปไม่ได้เลยที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเกิดการฟื้นตัว ถ้าหากบรรดาครัวเรือนอเมริกันยังไม่สามารถที่จะประหยัดอดออม และพวกเขาย่อมไม่สามารถประหยัดอดออมได้หรอกในสภาพที่เศรษฐกิจกำลังหดตัว เมื่อรายได้กำลังควงสว่านดำดิ่ง เพื่อประหยัดอดออมให้ได้ ชาวอเมริกันก็จะต้องขายสินค้าและบริการให้แก่ใครคนอื่นๆ และเมื่อกวาดสายตาไปทั่วโลกแล้วย่อมเป็นที่ชัดเจนว่าใครคนนั้นจะเป็นคนอื่นไปไม่ได้เลย ในเมื่อเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และศักยภาพแห่งการเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดของโลก เวลานี้กำลังรวมศูนย์อยู่ที่ประเทศจีนและชาติริมชายฝั่งแปซิฟิก

ทางฝ่ายจีนนั้น ก็กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ทว่าอยู่ในลักษณะตรงกันข้ามกันกับของอเมริกา กล่าวคือ จีนประสบความสำเร็จมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอันรวดเร็วยิ่งโดยยอมแลกกับการเกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างมหาศาล ระหว่างเขตชายฝั่งที่เจริญรุ่งเรืองและพื้นที่ตอนในที่ล้าหลังซบเซา รวมทั้งยังต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศอย่างล้นเกินเลยเถิด เท่าที่ผ่านมา จีนดำเนินการตอบโต้เชิงนโยบายต่อวิกฤตทางเศรษฐกิจคราวนี้ ในลักษณะที่รุนแรงล้ำไกลกว่าของสหรัฐฯมาก กล่าวได้ว่า แทนที่จะเพียงแค่พยายามปะผุซ่อมแซมสถานการณ์ และฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สถานะเดิมก่อนหน้านี้ จีนกลับวางแผนจะใช้งบประมาณถึงเกือบหนึ่งในห้าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) มาเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องโครงการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ตอนในของจีนเอง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนออันมโหฬารยิ่งนี้ของจีนก็มีความเสี่ยงอันสาหัสยิ่งในด้านการดำเนินการหลายประการ ทำให้ตลาดยังไม่สู้จะไว้อกไว้ใจเท่าใดนัก

จีนสามารถที่จะลดความเสี่ยงในเรื่องการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจอันใหญ่โตมหึมาของตนให้หันไปสู่การบริโภคภายในประเทศ ขณะเดียวกัน อเมริกาก็สามารถแก้ไขปัญหาการออมของตนได้เช่นกัน ถ้าหากทั้งสองฝ่ายจับมือร่วมเป็นหุ้นส่วนอันยิ่งใหญ่ขึ้นมา การเป็นหุ้นส่วนกันนี้ไม่จำเป็นต้องสงวนสิทธิ์เฉพาะอเมริกากับจีนเท่านั้น แต่ต้องอาศัยเศรษฐกิจอันมีขนาดใหญ่โตมโหฬารยิ่งของอเมริกากับจีนเป็นรากฐาน จากนั้นก็ควรส่งเสริมสนับสนุนให้อินเดียและเศรษฐกิจในเอเชียอื่นๆ เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้วย ได้มีข้อเขียนมากมายเหลือเกินที่พูดว่าจีนกับสหรัฐฯจะต้องเกิดความขัดแย้งกันขึ้นมาในอนาคต ทว่ากลับแทบไม่มีการเสนอคำอธิบายว่าระหว่างประเทศทั้งสองจะเกิดประเด็นปัญหาอะไรขึ้นมาบ้าง อันที่จริงแล้วจีนกับอเมริกาจะได้รับผลดีจากความร่วมมือกัน ยิ่งกว่าที่จะได้รับจากความขัดแย้งกันมากมายนัก

การที่อเมริกามีความรู้สึกคัดค้านต่อต้านนโยบายด้านการต่างประเทศของจีน มีศูนย์กลางอยู่ตรงที่ปักกิ่งยังคงเดินหน้าหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์กับพวกประเทศ (อิหร่าน, ซูดาน) ซึ่งมีพฤติกรรมที่วอชิงตันมองว่ายอมรับไม่ได้ แต่จากการร่วมมือกับปักกิ่ง อเมริกาก็จะมีโอกาสได้พันธมิตรรายหนึ่ง ที่จะช่วยเหลือในปัญหาต่างๆ จำนวนมาก ตั้งแต่เรื่องพฤติกรรมของรัฐอันธพาล, การก่อการร้าย, การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์, และเรื่องอื่นๆที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติ ถ้าหากยินยอมแลกเปลี่ยนด้วยการเข้าช่วยเหลือจีนให้บรรลุเป้าหมายที่ถูกต้องชอบธรรมของประเทศนั้น

เป้าหมายต่างๆ ของการจับมือเป็นหุ้นส่วนกันนี้ ควรจะประกอบด้วย

--สนับสนุนจีนในการพัฒนาภายในประเทศ ด้วยการปรับทิศทางการไหลเวียนของการส่งออกเสียใหม่ โดยให้สินค้าออกจากสหรัฐฯและประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ไหลเข้าสู่จีนและประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่นๆ
--ถ่ายทอดเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญชำนาญการอื่นๆ ให้แก่พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
--เปิดทางให้พวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ร่วมเป็นหุ้นส่วนในการฟื้นฟูราคาสินทรัพย์อเมริกัน

สิ่งที่เข้ากำหนดเงื่อนไขการไหลเวียนของเงินทุนทั้งเข้าทั้งออก ระหว่างพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่กับสหรัฐฯในช่วงเวลาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คือ ความหวาดกลัวและการมุ่งหลีกเลี่ยงความเสี่ยง แทนที่จะเป็นความไว้วางใจและการมองในแง่ดี ทั้งนี้ หลังจากวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 และการหยุดพักชำระหนี้ของรัสเซียในปี 1998 พวกนักลงทุนในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ก็ได้นำเอาเงินออมของพวกตนมาปล่อยกู้ให้แก่รัฐบาลอเมริกันตลอดจนหน่วยงานกึ่งรัฐบาลของอเมริกัน เพื่อเป็นการกระจายพอร์ตลงทุนของพวกเขาให้มีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยมากขึ้น ขณะที่ชาวตะวันตกก็ลงทุนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระดับท้องถิ่นของพวกประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

ดังที่หนึ่งในผู้เขียนบทความนี้ได้รายงานเอาไว้ในเว็บไซต์นี้เมื่อไม่นานมานี้ (ดู Who will finance America’s deficit? , David P Goldman, Asia Times Online, November 13, 2008) การที่รัฐบาลอเมริกันซึ่งอยู่ในฐานะขาดดุลหนัก ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากทั่วโลกเข้ามาจุนเจือ แท้ที่จริงแล้วก็ด้วยอาศัยการก่อหนี้กู้ยืมในบรรดาเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ แต่เมื่อระบบการเงินของโลกกำลังเปลี่ยนไปอยู่ในภาวะที่ใครๆ ก็เรียกร้องให้ชำระคืนหนี้เก่า อีกทั้งไม่ยอมปล่อยกู้ให้แก่คนอื่นอย่างง่ายๆ มันจึงกำลังเป็นการตัดลดความสามารถที่จะได้เงินทุนต่างประเทศมาจุนเจือการขาดดุลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯอย่างหนักหน่วงยิ่ง

โมเดลเศรษฐกิจแบบอเมริกากำลังพังยับเยิน อีกทั้งไม่สามารถที่จะเล่นเทปเดิมต่อไปโดยเพียงแค่กลับไปเล่นเทปอีกด้านหนึ่งได้อีกต่อไปแล้ว นั่นคือ อเมริกาไม่สามารถที่จะกอบกู้ชุบชีวิตเศรษฐกิจ โดยยังคงอาศัยให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันก่อหนี้สูงขึ้นๆ และไม่มีการประหยัดอดออมกันเลยได้อีกแล้ว อเมริกาจะต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยี ส่วนการโยนเงินทองจำนวนเพิ่มมากขึ้น ไปในเรื่องการกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค, การช่วยชีวิตภาคอุตสาหกรรมรถยนต์, และอะไรอย่างอื่นทำนองเดียวกัน ล้วนแล้วแต่จะประสบความล้มเหลวอย่างน่าเศร้า เป็นการดีกว่าที่อเมริกาจะหันมายอมรับว่า ความพิกลพิการของเศรษฐกิจของตนนั้น มีลักษณะที่เป็นการกลับตาลปัตรตรงกันข้ามกับความพิกลพิการของเศรษฐกิจจีน และปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ร่วมกันนั้นก็สามารถใช้วิธีเยียวยารักษาอย่างเดียวกันได้

ความยุ่งยากลำบากในเศรษฐกิจโลกเวลานี้อยู่ที่ว่า คนจีนที่ร่ำรวยจะไม่ปล่อยเงินกู้ให้แก่คนจีนที่ยากจน เว้นแต่ว่าก่อนอื่นเลยคนจีนยากจนนั้นจะย้ายไปอยู่ที่อเมริกาเสียก่อน อันที่จริง จีนได้ไปซื้อสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของอเมริกันเอาไว้ รวมทั้งพวกสินทรัพย์คุณภาพต่ำที่ตกแต่งหน้าตาให้ดูเหมือนสินทรัพย์คุณภาพสูงด้วย เพราะว่าจีนนั้นไม่ได้มีศักยภาพทางด้านการเงิน, ตัวบทกฎหมาย, และการบริหารจัดการ ตลอดจนความเชื่อถือไว้วางใจกัน จนสามารถที่จะดำเนินธุรกิจออกสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในบ้านของตัวเองได้อย่างเพียงพอ

ด้วยเหตุนี้เอง จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่าความพยายามของจีนที่จะใช้เงินประมาณหนึ่งในห้าของจีดีพีของตนไปในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะประสบกับปัญหาด้านธรรมาภิบาลอย่างหนักหนาสาหัสยิ่ง ในสหรัฐฯนั้น ถึงอย่างไรโครงการการใช้จ่ายสาธารณะในระดับท้องถิ่น ส่วนใหญ่แล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ออกเสียง อีกทั้งมีระบบของระดับรัฐบาลกลางที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบและคานอำนาจ ไม่ให้มีการใช้เงินทุนสาธารณะไปในทางมิชอบได้ง่ายๆ ขณะที่ในประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ กลับมีแต่ต้องคอยพึ่งพาความซื่อสัตย์ของเจ้าหน้าที่จำนวนน้อยจำนวนหนึ่งซึ่งมีอำนาจมหาศาล จึงเป็นระบบตรวจสอบต่อต้านการทุจริตที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่าของอเมริกามาก

จีนสามารถอาศัยความช่วยเหลือจากอเมริกาในการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของตนให้หันกลับไปสู่การส่งเสริมตลาดภายในประเทศ เป็นเรื่องน่าขันชวนเสียดสีอยู่เหมือนกัน ในเมื่อเหล่าเจ้าหน้าที่อเมริกันกำลังพยายามมาหลายปีแล้วเพื่อเกลี้ยกล่อมชี้ชวนให้จีนยอมนำเข้าโมเดลการเงินแบบอเมริกันมาใช้ แล้วเมื่อโมเดลอเมริกันพังครืนลงไปแล้วเช่นนี้ จึงย่อมทำให้มนตร์เสน่ห์ที่จะดึงดูดจีนยิ่งคลายจางลงไปอีก แต่จังหวะเวลานี้แหละคือจังหวะอันเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับจีนที่จะนำเอาพวกธนาคารอเมริกันเข้ามา และเริ่มต้นสร้างตลาดปล่อยกู้ยืมแก่ผู้บริโภคภายในประเทศในแดนมังกร

ความบกพร่องล้มเหลวของตลาดการเงินสำหรับผู้บริโภคของอเมริกัน ไม่อาจลบล้างประสบการณ์เป็นร้อยปีของภาคธนาคารอเมริกันในเรื่องการประเมินตีราคา ตลอดจนการนำเอาหนี้สินผู้บริโภคมาแปลงให้เป็นหลักทรัพย์การลงทุน และเพื่อช่วยให้แดนมังกรสามารถนำเข้าโมเดลแบบอเมริกันเข้ามา อเมริกาก็ควรเปิดโอกาสให้จีนสามารถซื้อสถาบันอันสำคัญๆ ของอเมริกันเป็นการตอบแทน ตัวอย่างเช่น ซิตี้คอร์ป ซึ่งเวลานี้สามารถซื้อหาได้ด้วยราคาประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์ หรือ แคปิตอลวัน ในราคาประมาณ 13,000 ล้านดอลลาร์

อเมริกานั้นยังคงเป็นเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมากที่สุดในโลก จีนจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงของอเมริกัน แต่มีกรณีที่ปรากฏให้เห็นจำนวนมากว่า อเมริกากำลังจำกัดกีดขวางการขายเทคโนโลยีให้แก่จีน เนื่องจากความวิตกกังวลทางด้านความมั่นคง

อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯควรที่จะยื่นข้อเสนอแบบชุดใหญ่ เพื่อลดข้อจำกัดการนำเข้าเทคโนโลยีอเมริกันของจีน ตลอดจนการที่จีนจะเข้าผนวกครอบครองบริษัทอเมริกัน โดยแลกเปลี่ยนกับการทำสนธิสัญญาที่จะเชื่อมโยงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีนและอเมริกันเข้าด้วยกัน

สนธิสัญญาดังกล่าวนี้ ควรจะประกอบด้วย

--ระบบการคิดค่าธรรมเนียมสำหรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีและการรับประกันว่าจะไม่มีการละเมิดสิทธิ์
--เสรีภาพสำหรับบริษัทจีนที่จะเข้าครอบครองบริษัทอเมริกัน โดยรวมถึงพวกสถาบันการเงินด้วย
--ข้อตกลงว่าด้วยการมีจุดยืนร่วมกันทั้งในเรื่อง รัฐอันธพาล, การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์, การก่อการร้าย, และประเด็นปัญหาอื่นๆที่เป็นความสนใจร่วมกัน โดยให้ครอบคลุมประเด็นปัญหาอย่างเช่น ปากีสถาน, ซูดาน, อิหร่าน, และอาณาบริเวณอื่นๆ ที่เคยเป็นความขัดแย้งทางการทูตกันมาในอดีต
--ข้อตกลงว่าด้วยการติดตั้งอาวุธทางยุทธศาสตร์ในเอเชีย
--โรดแมปสำหรับกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของจีน
--เป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน
--การทำให้เงินหยวนของจีนมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์อเมริกัน เพื่อสนับสนุนให้มีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรีระหว่างสหรัฐฯกับจีน

ประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ที่อยู่รายล้อมติดกับจีนนั้นมีประชากรรวมกันร่วมๆ 2,000 ล้านคน แล้วยังมีอีก 1,100 ล้านคนอยู่ในอินเดีย ครึ่งหนึ่งของประชากรโลกกำลังพำนักอาศัยอยู่ในบรรดาเขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย และความสามารถผลิตของพื้นที่เหล่านี้ก็อาจเพิ่มพูนขึ้นเป็นสามเท่าตัวภายในเวลาเพียงแค่หนึ่งชั่วอายุคน หากออกจากวิกฤตในคราวนี้ได้ โลกอาจจะได้ชื่นชมมีชีวิตอยู่กับความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจครั้งยาวนานที่สุดและครั้งที่มีการเติบโตขยายตัวรวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ หรือไม่ก็อาจจะยังต้องจ่อมจมอยู่ในหล่มโคลนทางเศรษฐกิจต่อไปอีกนับสิบปี

และคณะรัฐบาลอเมริกันชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามารับตำแหน่ง อาจจะได้รับการจดจำในฐานะ หนึ่งในคณะรัฐบาลที่ดีที่สุด หรือหนึ่งในคณะรัฐบาลที่เลวร้ายที่สุด ในประวัติศาสตร์อเมริกัน ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น

เดวิด พี โกลด์แมน เคยเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยตราสารหนี้ทั่วโลก ให้แก่ แบงค์ ออฟ อเมริกา ซีเคียวริตีส์ และ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์สินเชื่อทั่วโลก ที่ เครดีต์ สวิส
ฟรานเชสโก ซิสซี เป็นบรรณาธิการโต๊ะเอเชีย ของหนังสือพิมพ์ ลา สตัมปา ของอิตาลี
กำลังโหลดความคิดเห็น