เอเอฟพี/เอเจนซี/ซีเอ็นเอ็น - สื่อต่างประเทศหลายสำนักเกาะติดศาลฎีกาไทยมีกำหนดตัดสินคดีที่ดินรัชดาฯ คดีแรกคอร์รัปชันที่มีต่อตัว “ทักษิณ” ระบุตำรวจวางกำลังหลายร้อยนายป้องกันเหตุปะทะระหว่างฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน พร้อมอ้างนักวิเคราะห์ ชี้ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรความยุ่งเหยิงทางการเมืองก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป
สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นายกรัฐมนตรี 2 สมัย และพจมาน ภรรยา อาจต้องโทษสูงสุดจำคุกคนละ 13 ปี หากพบว่ามีความผิดในข้อหาคอร์รัปชัน ที่สืบเนื่องจาก ทักษิณ ถูกกล่าวหาใช้อิทธิพลทางการเมืองช่วยเหลือภรรยาซื้อที่ดินจากหน่วยงานรัฐบาลในปี 2003 ในราคาแค่ 1 ใน 3 ของราคาประเมิน
เอเอฟพี ระบุต่อว่า ทั้ง 2 คนจะไม่มาปรากฏตัวต่อศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อฟังคำพิพากษาในเวลา 14.00 น.หลังจากสองสามีภรรยา ได้หลบหนีออกจากประเทศไทยไปอาศัยอยู่ในอังกฤษ พร้อมกับอ้างว่าพวกเขาไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่ยุติธรรม
สำหรับ พจมาน ถูกพิพากษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมว่า มีความผิดฐานหลีกเลี่ยงภาษีและลงโทษจำคุก 3 ปี โดยเธอใช้สิทธิ์อุทธรณ์ ทั้งนี้ เอเอฟพีได้อ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ว่าคำตัดสินดังกล่าวของศาลที่มีต่อพจมาน ได้จุดชนวนให้ทั้งคู่หนีออกไปใช้ชีวิตในต่างแดน
อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศ ระบุว่า แม้ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยแล้วและมีแผนขอลี้ภัยทางการเมืองในสหราชอาณาจักร แต่เงาของเขายังมีอิทธิพลเหนือการเมืองของไทย
พรรคพลังประชาชน พันธมิตรของเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม แต่ในเดือนพฤษภาคม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มต้นประท้วงบนท้องถนนอีกครั้ง โดยอ้างว่า พรรคพลังประชาชนจัดการประเทศในนามของอดีตนายกรัฐมนตรี และพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เขารอดพ้นจากข้อหาคอร์รัปชัน
เอเอฟพี รายงานว่า การประท้วงขยายตัวอย่างไม่ลดละ โดยพันธมิตรฯ หลายพันคนบุกยึดทำเนียบนายกรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 2 รายและบาดเจ็บเกือบ 500 คน จากเหตุตำรวจยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมที่พยายามกีดขวางรัฐสภา
นับตั้งแต่เหตุปะทะนองเลือดเป็นท้องถนน มีความกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อตัวนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน น้องเขยของทักษิณ ให้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อความรุนแรง
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับเอเอฟพีว่า ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาอย่างไรในวันนี้ (21) ความยุ่งเหยิงทางการเมืองดูเหมือนจะยังคงมีต่อไป
“สังคมไทยแตกแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มผู้สนับสนุนทักษิณและกลุ่มที่ต่อต้านเขา ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเผชิญหน้ากัน” เขาบอกกับเอเอฟพี “คำตัดสินอาจเป็นสิ่งหนึ่งที่เร่งการเผชิญหน้า”
ด้านสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาอาจทำให้ทักษิณเป็นนักการเมืองไทยคนแรกที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดในข้อหาคอร์รัปชันระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกันนั้นซีเอ็นเอ็นยังระบุต่อว่าทางตำรวจวางแผนคุ้มกันอย่างหนาแน่นบริเวณรอบศาลฎีกาเพื่อป้องกันความเป็นไปได้ในเหตุปะทะกันระหว่างฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านทักษิณ
ขณะที่รอยเตอร์ บอกว่า มีตำรวจราว 300 นาย ถูกส่งเข้าประจำการรอบศาลฎีกา แต่อ้างคำสัมภาษณ์ของ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกของพันธมิตรฯ ที่ระบุว่าจะไม่เดินขบวนไปยังศาลเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้สนับสนุนทักษิณ