xs
xsm
sm
md
lg

ผลสัมมนา “การเมืองใหม่” รอบ 2 เสนอไม่บังคับ ส.ส.สังกัดพรรค-ปฏิรูประบบยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการสัมมนาการเมืองใหม่ครั้งที่ 2 ที่โรงอาหารหลังตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ผลสัมมนาวางกรอบ “การเมืองใหม่” ครั้งที่ 2 กำหนดให้ ส.ส.ต้องไม่มีตำแหน่งบริหาร และไม่บังคับสังกัดพรรค ส่วนตัวแทนสาขาอาชีพห้ามมีคอกเด็ดขาด ปฏิรูปใหญ่ระบบยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ องค์กรอิสระ พร้อมกำหนดเวลาพิจารณาคดีให้รวดเร็ว เปิดให้ ปชช.ฟ้องคดีทุจริตเองได้ โดยไม่กำหนดอายุความ นัดหารืออีกรอบ บ่าย 2 โมง 1 ต.ค.นี้

ภายหลังจาก พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และนักวิชาการประมาณ 40 คน ได้ร่วมกันสัมมนาเรื่อง “การเมืองใหม่” ที่โรงอาหารหลังตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง เมื่อเวลา 18.30 น. วันที่ 27 ก.ย. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ แถลงว่า รูปแบบการเมืองใหม่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกภาคสาขาอาชีพและมีอำนาจตรวจสอบระบบการเมือง โดยที่ประชุมมีข้อสรุป ดังนี้ 1.ผู้ที่เป็น ส.ส.มีหน้าที่เป็น ส.ส.อย่างเดียว และไม่ให้ดำรงตำแหน่งในฝ่ายบริหาร หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร เพื่อให้อำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด 2.ให้นักการเมืองที่เป็น ส.ส.ในพื้นที่ สังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ 3.ตัวแทนประชาชนจากสาขาอาชีพต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองอย่างเด็ดขาด

4.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน โดยสามารถถอดถอนนักการเมืองและฟ้องศาลได้โดยตรง ขณะที่คดีต้องไม่มีอายุความ 5.ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) องค์กรอิสระ องค์กรสิทธิมนุษยชนไม่ให้มีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง และให้กระบวนการยุติธรรมต้องมีการกำหนดกรอบเวลาของคดีความนักการเมืองให้ชัดเจนและรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ อัยการต้องไม่เข้าไปเป็นกรรมการในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วย

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวว่า พันธมิตรฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของอธิการบดี 24 แห่ง แต่ในรายละเอียดมีข้อแตกต่างกัน แต่สังคมจะต้องร่วมเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมืองใหม่ อย่างไรก็ตาม พันธมิตรฯ พร้อมเดินหน้าสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อให้สังคมตระหนักในระบอบการเมืองใหม่

ด้าน ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการ กล่าวว่า แนวคิดของอธิการบดี 24 แห่งแสดงให้เห็นว่าประเทศชาติต้องมีการเมืองใหม่ แต่ข้อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาระดมความคิดนั้นจะเป็นการซื้อเวลา จะทำให้วิกฤตยาวออกไปมากกว่า นอกจากนี้ พันธมิตรฯ ขอร้องให้อธิการบดี 24 แห่ง เปิดพื้นที่ให้ข้อมูลความรู้ทางการเมืองให้นักวิชาการ นักศึกษา รับรู้และเข้ามามีส่วนร่วมกับพันธมิตรฯ

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ข้อเสนอของพันธมิตรฯ ในวันนี้ยังไม่ใช่ข้อยุติ แต่เป็นการจุดประกายให้สังคมประชาชน นักวิชาการได้วิพากษ์วิจารณ์เพื่อปรับปรุงให้การเมืองใหม่มีคุณภาพ ทั้งนี้ พันธมิตรฯ จะมีการสัมมนาอีกครั้งในวันพุธที่ 1 ต.ค. เวลา 14.00 น.นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุมได้หารือที่อธิการบดีเสนอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปฏิรูปการเมืองหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือในรายละเอียด แต่ต่างกันเรื่องกรอบเวลาและเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตั้งภายใน 120 วัน พันธมิตรฯ เห็นว่าล่าช้ามาก

“เราต้องการให้การเมืองใหม่เสร็จเร็วที่สุด แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของอธิการบดี 24 แห่ง เราเห็นด้วยกับทุกฝ่ายที่เสนอมา ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาความคิดของพันธมิตรฯ เป็นที่ตั้ง เชื่อว่าสุดท้ายแล้วความถูกต้องและความจริงจะมาเชื่อมต่อกันได้” นายปานเทพ กล่าว

นายปานเทพกล่าวเพิ่มเติมบนเวทีปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาลว่า คดีทุจริตคอร์รัปชันและคดีถอดถอนนักการเมือง ให้ถือว่าประชาชนคือผู้เสียหายโดยตรง สามารถฟ้องศาลเองได้ และคดีประเภทนี้จะต้องไม่มีอายุความ ส่วนกระบวนการยุติธรรมนั้น จำเป็นจะต้องปฏิรูปหน่วยงานต่อไปนี้คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด องค์กรตรวจสอบอิสระ และองค์กรสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ หนึ่งในผู้ร่วมการสัมมนาเสนอว่า อัยการต้องห้ามเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (บอร์ด) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เนื่องจากอัยการเป็นทนายของแผ่นดินจะไปทำหน้าที่บอร์ดได้อย่างไร

ที่สำคัญ กระบวนการยุติธรรมต้องกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดี โดยหน่วยงานที่ต้องมีกำหนดระยะเวลาการทำงานได้แก่ ตำรวจ อัยการ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และองค์กรอิสระทุกแห่งต้องมีการกำหนดระยะเวลา และมีระยะเวลาไม่พอต้องรวดเร็วด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น