(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Afghan talks widen US-UK rift
By Gareth Porter
10/10/2008
การเจรจาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน น่าที่จะยิ่งขยายความแตกแยกร้าวลึก ระหว่างสหรัฐฯซึ่งมุ่งมั่นปรารถนาที่จะเพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถาน กับอังกฤษซึ่งมองการเจรจาว่าเป็นการเสนอโอกาสที่จะถอนตัวออกไปได้อย่างรวดเร็วกว่าการพึ่งพาอาวุธปืนและลูกระเบิด
วอชิงตัน – การเริ่มต้นเจรจาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน ซึ่งได้รับการเปิดเผยจากรายงานของสื่อมวลชนหลายกระแสในสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าที่จะยิ่งขยายความแตกแยกร้าวลึกระหว่างสหรัฐฯกับอังกฤษ ซึ่งเพิ่งปะทุให้ปรากฏต่อสาธารณชน จากการที่สหรัฐฯยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มระดับสงครามในอัฟกานิสถาน
ตามรายงานการติดต่อสื่อสารทางการทูตของฝรั่งเศส ที่รั่วไหลออกไปยังนิตยสารฝรั่งเศสฉบับหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการระบุว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ กำลังเสาะแสวงหายุทธศาสตร์เพื่อการถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน แทนที่จะต้องติดอยู่ในสงครามที่ไม่รู้วันสิ้นสุด อีกทั้งรัฐบาลอังกฤษยังมองการที่สหรัฐฯกำลังเพิ่มขยายระดับของสงครามนี้ ในฐานะเป็นหนทางเลือกอีกหนทางหนึ่งที่แตกต่างไปจากการมุ่งทำความตกลงทางการเมือง ไม่ใช่ว่าการยกระดับสงครามจะเป็นตัวสนับสนุนให้ได้มาซึ่งการตกลงทางการเมือง
การพบปะกันครั้งแรกระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน ได้จัดขึ้นในซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 24 ถึง 27 กันยายน โดยที่กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบียทรงประทับอยู่ในที่ประชุมด้วย ทั้งนี้ตามรายงานของ นิค รอเบิร์ตสัน แห่งซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร(7 ต.ค.) โดยที่รอเบิร์ตสันระบุด้วยว่าพวกผู้เข้าร่วมประชุมเจรจาคราวนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนของตอลิบานจำนวน 11 คน, เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกัน 2 คน, และผู้แทนคนหนึ่งของ กัลฟาดิน เฮกมัตยาร์ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังอาวุธมูจาฮีดีนที่ถือเป็นฝ่ายอิสระ
พลจัตวา มาร์ก คาร์ลตัน-สมิธ แห่งกองบัญชาการทหารอังกฤษในอัฟกานิสถาน แสดงความกระตือรือร้นต้อนรับการพบปะเจรจาดังกล่าวนี้ หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ของลอนดอน อ้างอิงคำพูดของนายทหารผู้นี้ที่กล่าวว่า “เราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะวิสัยของการโต้แย้งกัน จากการเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขการโต้แย้งกันผ่านปากกระบอกปืน มาเป็นการแก้ไขการโต้แย้งด้วยการเจรจากัน”
หากฝ่ายตอลิบานพร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับการทำความตกลงกันทางการเมือง คาร์ลตัน-สมิธบอกว่า “นั่นก็จะเป็นความคืบหน้าประเภทที่สามารถนำไปสู่การยุติการก่อความไม่สงบอย่างนี้ได้จริงๆ”
อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานบ่งบอกว่าคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช รู้สึกประหลาดใจกับข่าวการเจรจาสันติภาพอัฟกันนี้ และแสดงความชาเย็นอย่างจงใจกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งบอกกับหนังสือพิมพ์ วอชิงตันไทมส์ ว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนหรอกว่าการพบปะหารือกันในซาอุดีอาระเบีย จะนำมาซึ่งการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน ท่าทีเหล่านี้ส่อแสดงนัยว่าคณะรัฐบาลบุชไม่รู้สึกยินดีกับการพูดจาที่เกิดขึ้นดังกล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมของสหรัฐฯผู้หนึ่งในอัฟกานิสถานกล่าวกับวอชิงตันไทมส์ว่า คณะรัฐบาลบุช “รู้สึกประหลาดใจ” ที่รัฐบาลอัฟกันไม่ได้บอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการพบปะพูดจาครั้งนี้
ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ รอเบิร์ต เกตส์ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไปกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เพื่อเจรจาเรื่องอัฟกานิสถานกับบรรดารัฐมนตรีกลาโหมของชาติสมาชิกอื่นๆ ในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้) แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าคณะรัฐบาลบุชจะให้การสนับสนุน ก็ต่อเมื่อเป็นการเจรจาที่มีวัตถุประสงค์ในการเกลี้ยกล่อมพวกผู้นำฝ่ายตอลิบานเป็นรายบุคคล ให้ผละหนีออกมาเข้าร่วมกับทางรัฐบาลอัฟกันเท่านั้น “สิ่งที่สำคัญคือการแยกเอาพวกที่สามารถประนีประนอมด้วยได้ และพวกที่มีเจตนารมณ์จะเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตของประเทศ ให้ออกมาจากพวกที่ไม่สามารถประนีประนอมด้วยได้” เขากล่าว
เกตส์บอกด้วยว่า เขาขีดเส้นอย่างชัดเจนว่าไม่เจรจากับ มูลลาห์ โมฮัมหมัด โอมาร์ หัวหน้าของกลุ่มตอลิบาน
อย่างไรก็ตาม พวกผู้แทนของหัวหน้าตอลิบานผู้นี้ดูหมือนจะเข้าร่วมในการเจรจาที่ซาอุดีอาระเบียด้วย และประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถาน ก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ไกลเกินกว่าเพียงแค่ยุทธวิธีในการเกลี้ยกล่อมพวกผู้นำตอลิบานเป็นรายบุคคลเท่านั้น
รัฐมนตรีกลาโหมอัฟกัน อับดุล รอฮิม วอร์ดัค กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมว่า หนทางในการคลี่คลายความขัดแย้งนี้ จำเป็นจะต้องมี “การตกลงทางการเมืองกับฝ่ายตอลิบาน” เขากล่าวต่อไปว่าการตกลงกันดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “หลังจากที่ฝ่ายตอลิบานยอมรับในรัฐธรรมนูญของอัฟกัน และยอมรับการผลัดเวียนกันขึ้นครองอำนาจอย่างสันติโดยวิถีทางแบบประชาธิปไตย”
การเจรจาระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน บังเกิดขึ้นในขณะที่คณะรัฐบาลบุชตัดสินใจที่จะส่งทหารสหรัฐฯอีก 8,000 คนเข้าไปที่อัฟกานิสถานในปีหน้า โดยที่ พลเอก เดวิด ดี แมคเคียร์แนน ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯที่นั่น เรียกร้องขอทหารทั้งหน่วยสู้รบและหน่วยสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีก 15,000 คนด้วยซ้ำ นอกจากนั้น ทั้งผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝ่ายพรรคเดโมแครต บารัค โอบามา และผู้สมัครของพรรครีพับลินกัน จอห์น แมคเคน ต่างก็บอกว่าพวกเขาต้องการที่จะเพิ่มความเข้มแข็งทางทหารของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานกันทั้งคู่
โอบามาพูดว่าเขาจะส่งกำลังทหารที่เวลานี้มีกำหนดให้อยู่ในอิรักต่อไปจนกระทั่งถึงฤดูร้อนปีหน้า ให้ไปประจำยังอัฟกานิสถานแทน โดยถือเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเร่งด่วน ขณะที่แมคเคนยังไม่เคยบอกว่าเขาจะเพิ่มระดับกำลังทหารในอัฟกานิสถานเมื่อใดและอย่างไร
อย่างไรก็ดี การเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯเช่นนี้นี่เองคือสิ่งที่ฝ่ายอังกฤษหวาดกลัว “เลอ กานาร์ด อองเชนเน” นิตยสารข่าวแนวสืบสวนเจาะค้นของฝรั่งเศส ในฉบับเมื่อสัปดาห์ก่อนได้อ้างรายงานการติดต่อสื่อสารทางการทูตที่รั่วไหลมาถึงตน ซึ่งมีเนื้อหาว่า เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอัฟกานิสถาน เซอร์ เชอราร์ด คาวเพอร์-โคลส์ ได้บอกกับอัครราชทูตฝรั่งเศสว่า พวกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ “จะต้องได้รับการชี้ชวนเพื่อให้ถอยออกจากการเข้าไปเพิ่มความยุ่งยากขึ้นอีกในอัฟกานิสถาน”
ในรายงานทางการทูตของฝรั่งเศสซึ่งระบุว่าเป็นการสนทนากันเมื่อวันที่ 2 กันยายน เอกอัครราชทูตคาวเพอร์-โคลส์ ได้รับการอ้างอิงว่าได้พูดไว้ว่า การเพิ่มกำลังทหารต่างชาติในอัฟกานิสถานมีแต่จะทำให้ปัญหาทางการเมืองโดยรวมในอัฟกานิสถานยิ่งทรุดหนัก”
รายงานดังกล่าวนี้บอกว่า เอกอัครราชทูตผู้นี้พูดว่า การเพิ่มกำลังทหารต่างชาติ “จะยิ่งเป็นการระบุบ่งบอกอย่างแข็งแรงขึ้นไปอีกว่าเราเป็นกองกำลังผู้ยึดครอง และจะเพิ่มทวีเป้าหมายที่จะถูกโจมตี” ให้แก่พวกผู้ก่อความไม่สงบ
คาวเพอร์-โคลส์ถูกอ้างอิงว่าได้พูดว่า กองกำลังทหารต่างชาติกำลังกลายเป็น “เส้นชีวิต” ของระบอบปกครองอัฟกัน และการเพิ่มเติมกำลังทหารมากขึ้นจะ “ชะลอและสร้างความยุ่งยากให้แก่ความเป็นไปได้ที่จะก้าวออกมาจากวิกฤตดังกล่าว”
เอกอัครราชทูตอังกฤษผู้นี้บอกด้วยว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน ซึ่งจากบริบทแห่งคำพูดของเขา เห็นชัดว่าหมายถึงการเพิ่มระดับกำลังทหารให้สูงขึ้นนั้น “กำลังมุ่งหน้าไปสู่ความล้มเหลว”
รายงานทางการทูตที่รั่วไหลออกมานี้ระบุว่า คาวเพอร์-โคลส์กล่าวโทษเรื่องที่สถานการณ์ในอัฟกานิสถานกำลังเลวร้ายลงอย่างมากว่า ที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากรัฐบาลคาร์ไซ “สถานการณ์ด้านความมั่นคงกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ” รายงานอ้างคำพูดของเขา “เฉกเช่นเดียวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น และทุกๆ ฝ่ายต่างก็หมดความไว้วางใจในรัฐบาลคาร์ไซ”
จากเนื้อหาในรายงานที่รั่วไหลออกมานี้ เป็นที่ชัดเจนว่าอังกฤษนั้นต้องการที่จะถอนทหารของตนทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในเวลา 5-10 ปี โดยที่ คาวเพอร์-โคลส์ได้รับการอ้างอิงว่า ได้พูดเสนอแนะไว้ว่าหนทางเดียวที่จะทำให้ได้เช่นนั้น ก็คือต้องให้มีสิ่งที่เขาเรียกว่า “ผู้เผด็จการที่เป็นที่ยอมรับได้” ขึ้นมา
กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ออกมาแถลงปฏิเสธแล้วว่า รายงานดังกล่าวนี้ไม่ได้สะท้อนถึงนโยบายของรัฐบาลอังกฤษเลย กระนั้นก็ดี จากคำแถลงหลายๆ ครั้งของ พลจัตวา คาร์ลตัน-สมิธ ผู้บังคับบัญชาทหารระดับอาวุโสของอังกฤษในอัฟกานิสถานเมื่อสัปดาห์ก่อน กลับยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงทัศนะที่แตกต่างกันมากของสหรัฐฯกับอังกฤษในเรื่องนโยบายต่ออัฟกานิสถาน
“เราไม่ได้กำลังจะชนะสงครามนี้หรอก” หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ของลอนดอน อ้างคำพูดของ คาร์ลตัน-สมิธเมื่อวันที่ 28 กันยายน พลจัตวาผู้นี้ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองพลน้อยโจมตีทางอากาศ ได้เสร็จสิ้นการผลัดเวียนเข้ามาปฏิบัติการในอัฟกานิสถานครบ 2 รอบแล้ว เขาเสนอแนะว่า ในที่สุดแล้วกองทหารต่างชาติน่าที่จะถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถานโดยที่ยังไม่สามารถทำให้ผู้ก่อความไม่สงบประสบความปราชัยได้ “เราอาจจะต้องออกไปโดยที่จะยังคงมีกระแสคลื่นแห่งการก่อความไม่สงบในชนบทอย่างอ่อนๆ ทว่าปะทุขึ้นอยู่เรื่อยๆ” เขากล่าว
ก็เหมือนกับเอกอัครราชทูต คาวเพอร์-โคลส์ ทางพลจัตวาคาร์ลตัน-สมิธ เสนอว่าปัญหาแท้จริงของการสู้รบในอัฟกานิสถานนั้นไม่ใช่เรื่องทางทหาร แต่เป็นเรื่องการเมือง “การต่อสู้คราวนี้ต้องขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอัฟกัน มากกว่าจะขึ้นอยู่กับภัยคุกคามจากพวกตอลิบาน” เขาบอก
ตอนที่ กอร์ดอน บราวน์ เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษแทนที่ โทนี แบลร์ ในเดือนมิถุนายน 2007 พวกเจ้าหน้าที่อังกฤษได้สรุปว่า กลุ่มตอลิบานมีรากเหง้าลึกล้ำเกินกว่าที่จะสามารถใช้กำลังทหารเข้าไปทำให้พ่ายแพ้ได้ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์การ์เดียนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลบราวน์จึงตัดสินใจที่จะดำเนินยุทธศาสตร์ในการมุ่งเกี้ยวพาพวกผู้นำและนักรบตอลิบาน “สายกลาง” ซึ่งเชื่อกันว่าทำการสู้รบด้วยแรงจูงใจของความผูกพันภักดีต่อเผ่าของตน มากกว่าความศรัทธาในอุดมการณ์แห่งการทำสงครามศาสนา
แนวความคิดเช่นนั้นในขณะนั้นมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทั้งคาร์ไซและอังกฤษต่างเคลื่อนไหวเลยล้ำไปไกลถึงขั้นใช้นโยบายทำการเจรจาโดยตรงและอย่างเป็นทางการกับกลุ่มตอลิบานแล้ว สำหรับอังกฤษ เรื่องนี้ดูจะเป็นส่วนหนึ่งแห่งยุทธศาสตร์ในการถอนตัวออกมา อันเป็นสิ่งที่ทางวอชิงตันไม่ได้เห็นพ้องด้วยเลย
รัฐมนตรีกลาโหมเกตส์ เมื่อวันอังคาร(7) ได้ตอบโต้ข้อสังเกตของพลจัตวาคาร์ลตัน-สมิธ ด้วยการกล่าวย้ำทัศนะอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯที่ว่า จำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน พร้อมกับพูดเป็นนัยว่า ความคิดเห็นเช่นนี้ของนายทหารอังกฤษคือ “ลัทธิยอมจำนน” โดยเกตส์กล่าวว่า “เป็นที่แน่นอนว่าไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะกลายเป็นนักลัทธิยอมจำนน หรือไปประเมินต่ำเกินไปต่อโอกาสของการประสบความสำเร็จในระยะยาว”
แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
Afghan talks widen US-UK rift
By Gareth Porter
10/10/2008
การเจรจาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน น่าที่จะยิ่งขยายความแตกแยกร้าวลึก ระหว่างสหรัฐฯซึ่งมุ่งมั่นปรารถนาที่จะเพิ่มกำลังทหารในอัฟกานิสถาน กับอังกฤษซึ่งมองการเจรจาว่าเป็นการเสนอโอกาสที่จะถอนตัวออกไปได้อย่างรวดเร็วกว่าการพึ่งพาอาวุธปืนและลูกระเบิด
วอชิงตัน – การเริ่มต้นเจรจาทางการเมืองระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน ซึ่งได้รับการเปิดเผยจากรายงานของสื่อมวลชนหลายกระแสในสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าที่จะยิ่งขยายความแตกแยกร้าวลึกระหว่างสหรัฐฯกับอังกฤษ ซึ่งเพิ่งปะทุให้ปรากฏต่อสาธารณชน จากการที่สหรัฐฯยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มระดับสงครามในอัฟกานิสถาน
ตามรายงานการติดต่อสื่อสารทางการทูตของฝรั่งเศส ที่รั่วไหลออกไปยังนิตยสารฝรั่งเศสฉบับหนึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการระบุว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรี กอร์ดอน บราวน์ ของอังกฤษ กำลังเสาะแสวงหายุทธศาสตร์เพื่อการถอนตัวออกจากอัฟกานิสถาน แทนที่จะต้องติดอยู่ในสงครามที่ไม่รู้วันสิ้นสุด อีกทั้งรัฐบาลอังกฤษยังมองการที่สหรัฐฯกำลังเพิ่มขยายระดับของสงครามนี้ ในฐานะเป็นหนทางเลือกอีกหนทางหนึ่งที่แตกต่างไปจากการมุ่งทำความตกลงทางการเมือง ไม่ใช่ว่าการยกระดับสงครามจะเป็นตัวสนับสนุนให้ได้มาซึ่งการตกลงทางการเมือง
การพบปะกันครั้งแรกระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน ได้จัดขึ้นในซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 24 ถึง 27 กันยายน โดยที่กษัตริย์อับดุลเลาะห์แห่งซาอุดีอาระเบียทรงประทับอยู่ในที่ประชุมด้วย ทั้งนี้ตามรายงานของ นิค รอเบิร์ตสัน แห่งซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร(7 ต.ค.) โดยที่รอเบิร์ตสันระบุด้วยว่าพวกผู้เข้าร่วมประชุมเจรจาคราวนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนของตอลิบานจำนวน 11 คน, เจ้าหน้าที่รัฐบาลอัฟกัน 2 คน, และผู้แทนคนหนึ่งของ กัลฟาดิน เฮกมัตยาร์ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังอาวุธมูจาฮีดีนที่ถือเป็นฝ่ายอิสระ
พลจัตวา มาร์ก คาร์ลตัน-สมิธ แห่งกองบัญชาการทหารอังกฤษในอัฟกานิสถาน แสดงความกระตือรือร้นต้อนรับการพบปะเจรจาดังกล่าวนี้ หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ของลอนดอน อ้างอิงคำพูดของนายทหารผู้นี้ที่กล่าวว่า “เราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะวิสัยของการโต้แย้งกัน จากการเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขการโต้แย้งกันผ่านปากกระบอกปืน มาเป็นการแก้ไขการโต้แย้งด้วยการเจรจากัน”
หากฝ่ายตอลิบานพร้อมที่จะเจรจาเกี่ยวกับการทำความตกลงกันทางการเมือง คาร์ลตัน-สมิธบอกว่า “นั่นก็จะเป็นความคืบหน้าประเภทที่สามารถนำไปสู่การยุติการก่อความไม่สงบอย่างนี้ได้จริงๆ”
อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานบ่งบอกว่าคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช รู้สึกประหลาดใจกับข่าวการเจรจาสันติภาพอัฟกันนี้ และแสดงความชาเย็นอย่างจงใจกับเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯผู้หนึ่งบอกกับหนังสือพิมพ์ วอชิงตันไทมส์ ว่า ยังไม่เป็นที่ชัดเจนหรอกว่าการพบปะหารือกันในซาอุดีอาระเบีย จะนำมาซึ่งการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน ท่าทีเหล่านี้ส่อแสดงนัยว่าคณะรัฐบาลบุชไม่รู้สึกยินดีกับการพูดจาที่เกิดขึ้นดังกล่าว
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมของสหรัฐฯผู้หนึ่งในอัฟกานิสถานกล่าวกับวอชิงตันไทมส์ว่า คณะรัฐบาลบุช “รู้สึกประหลาดใจ” ที่รัฐบาลอัฟกันไม่ได้บอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการพบปะพูดจาครั้งนี้
ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ รอเบิร์ต เกตส์ ซึ่งอยู่ระหว่างเดินทางไปกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เพื่อเจรจาเรื่องอัฟกานิสถานกับบรรดารัฐมนตรีกลาโหมของชาติสมาชิกอื่นๆ ในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ(นาโต้) แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าคณะรัฐบาลบุชจะให้การสนับสนุน ก็ต่อเมื่อเป็นการเจรจาที่มีวัตถุประสงค์ในการเกลี้ยกล่อมพวกผู้นำฝ่ายตอลิบานเป็นรายบุคคล ให้ผละหนีออกมาเข้าร่วมกับทางรัฐบาลอัฟกันเท่านั้น “สิ่งที่สำคัญคือการแยกเอาพวกที่สามารถประนีประนอมด้วยได้ และพวกที่มีเจตนารมณ์จะเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตของประเทศ ให้ออกมาจากพวกที่ไม่สามารถประนีประนอมด้วยได้” เขากล่าว
เกตส์บอกด้วยว่า เขาขีดเส้นอย่างชัดเจนว่าไม่เจรจากับ มูลลาห์ โมฮัมหมัด โอมาร์ หัวหน้าของกลุ่มตอลิบาน
อย่างไรก็ตาม พวกผู้แทนของหัวหน้าตอลิบานผู้นี้ดูหมือนจะเข้าร่วมในการเจรจาที่ซาอุดีอาระเบียด้วย และประธานาธิบดี ฮามิด คาร์ไซ ของอัฟกานิสถาน ก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปให้ไกลเกินกว่าเพียงแค่ยุทธวิธีในการเกลี้ยกล่อมพวกผู้นำตอลิบานเป็นรายบุคคลเท่านั้น
รัฐมนตรีกลาโหมอัฟกัน อับดุล รอฮิม วอร์ดัค กล่าวในที่ประชุมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมว่า หนทางในการคลี่คลายความขัดแย้งนี้ จำเป็นจะต้องมี “การตกลงทางการเมืองกับฝ่ายตอลิบาน” เขากล่าวต่อไปว่าการตกลงกันดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ “หลังจากที่ฝ่ายตอลิบานยอมรับในรัฐธรรมนูญของอัฟกัน และยอมรับการผลัดเวียนกันขึ้นครองอำนาจอย่างสันติโดยวิถีทางแบบประชาธิปไตย”
การเจรจาระหว่างรัฐบาลอัฟกันกับฝ่ายตอลิบาน บังเกิดขึ้นในขณะที่คณะรัฐบาลบุชตัดสินใจที่จะส่งทหารสหรัฐฯอีก 8,000 คนเข้าไปที่อัฟกานิสถานในปีหน้า โดยที่ พลเอก เดวิด ดี แมคเคียร์แนน ผู้บัญชาการทหารสหรัฐฯที่นั่น เรียกร้องขอทหารทั้งหน่วยสู้รบและหน่วยสนับสนุนเพิ่มขึ้นอีก 15,000 คนด้วยซ้ำ นอกจากนั้น ทั้งผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของฝ่ายพรรคเดโมแครต บารัค โอบามา และผู้สมัครของพรรครีพับลินกัน จอห์น แมคเคน ต่างก็บอกว่าพวกเขาต้องการที่จะเพิ่มความเข้มแข็งทางทหารของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานกันทั้งคู่
โอบามาพูดว่าเขาจะส่งกำลังทหารที่เวลานี้มีกำหนดให้อยู่ในอิรักต่อไปจนกระทั่งถึงฤดูร้อนปีหน้า ให้ไปประจำยังอัฟกานิสถานแทน โดยถือเรื่องนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเร่งด่วน ขณะที่แมคเคนยังไม่เคยบอกว่าเขาจะเพิ่มระดับกำลังทหารในอัฟกานิสถานเมื่อใดและอย่างไร
อย่างไรก็ดี การเพิ่มกำลังทหารสหรัฐฯเช่นนี้นี่เองคือสิ่งที่ฝ่ายอังกฤษหวาดกลัว “เลอ กานาร์ด อองเชนเน” นิตยสารข่าวแนวสืบสวนเจาะค้นของฝรั่งเศส ในฉบับเมื่อสัปดาห์ก่อนได้อ้างรายงานการติดต่อสื่อสารทางการทูตที่รั่วไหลมาถึงตน ซึ่งมีเนื้อหาว่า เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำอัฟกานิสถาน เซอร์ เชอราร์ด คาวเพอร์-โคลส์ ได้บอกกับอัครราชทูตฝรั่งเศสว่า พวกผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ “จะต้องได้รับการชี้ชวนเพื่อให้ถอยออกจากการเข้าไปเพิ่มความยุ่งยากขึ้นอีกในอัฟกานิสถาน”
ในรายงานทางการทูตของฝรั่งเศสซึ่งระบุว่าเป็นการสนทนากันเมื่อวันที่ 2 กันยายน เอกอัครราชทูตคาวเพอร์-โคลส์ ได้รับการอ้างอิงว่าได้พูดไว้ว่า การเพิ่มกำลังทหารต่างชาติในอัฟกานิสถานมีแต่จะทำให้ปัญหาทางการเมืองโดยรวมในอัฟกานิสถานยิ่งทรุดหนัก”
รายงานดังกล่าวนี้บอกว่า เอกอัครราชทูตผู้นี้พูดว่า การเพิ่มกำลังทหารต่างชาติ “จะยิ่งเป็นการระบุบ่งบอกอย่างแข็งแรงขึ้นไปอีกว่าเราเป็นกองกำลังผู้ยึดครอง และจะเพิ่มทวีเป้าหมายที่จะถูกโจมตี” ให้แก่พวกผู้ก่อความไม่สงบ
คาวเพอร์-โคลส์ถูกอ้างอิงว่าได้พูดว่า กองกำลังทหารต่างชาติกำลังกลายเป็น “เส้นชีวิต” ของระบอบปกครองอัฟกัน และการเพิ่มเติมกำลังทหารมากขึ้นจะ “ชะลอและสร้างความยุ่งยากให้แก่ความเป็นไปได้ที่จะก้าวออกมาจากวิกฤตดังกล่าว”
เอกอัครราชทูตอังกฤษผู้นี้บอกด้วยว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในอัฟกานิสถาน ซึ่งจากบริบทแห่งคำพูดของเขา เห็นชัดว่าหมายถึงการเพิ่มระดับกำลังทหารให้สูงขึ้นนั้น “กำลังมุ่งหน้าไปสู่ความล้มเหลว”
รายงานทางการทูตที่รั่วไหลออกมานี้ระบุว่า คาวเพอร์-โคลส์กล่าวโทษเรื่องที่สถานการณ์ในอัฟกานิสถานกำลังเลวร้ายลงอย่างมากว่า ที่สำคัญแล้วเนื่องมาจากรัฐบาลคาร์ไซ “สถานการณ์ด้านความมั่นคงกำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ” รายงานอ้างคำพูดของเขา “เฉกเช่นเดียวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น และทุกๆ ฝ่ายต่างก็หมดความไว้วางใจในรัฐบาลคาร์ไซ”
จากเนื้อหาในรายงานที่รั่วไหลออกมานี้ เป็นที่ชัดเจนว่าอังกฤษนั้นต้องการที่จะถอนทหารของตนทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานภายในเวลา 5-10 ปี โดยที่ คาวเพอร์-โคลส์ได้รับการอ้างอิงว่า ได้พูดเสนอแนะไว้ว่าหนทางเดียวที่จะทำให้ได้เช่นนั้น ก็คือต้องให้มีสิ่งที่เขาเรียกว่า “ผู้เผด็จการที่เป็นที่ยอมรับได้” ขึ้นมา
กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้ออกมาแถลงปฏิเสธแล้วว่า รายงานดังกล่าวนี้ไม่ได้สะท้อนถึงนโยบายของรัฐบาลอังกฤษเลย กระนั้นก็ดี จากคำแถลงหลายๆ ครั้งของ พลจัตวา คาร์ลตัน-สมิธ ผู้บังคับบัญชาทหารระดับอาวุโสของอังกฤษในอัฟกานิสถานเมื่อสัปดาห์ก่อน กลับยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงทัศนะที่แตกต่างกันมากของสหรัฐฯกับอังกฤษในเรื่องนโยบายต่ออัฟกานิสถาน
“เราไม่ได้กำลังจะชนะสงครามนี้หรอก” หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ของลอนดอน อ้างคำพูดของ คาร์ลตัน-สมิธเมื่อวันที่ 28 กันยายน พลจัตวาผู้นี้ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกองพลน้อยโจมตีทางอากาศ ได้เสร็จสิ้นการผลัดเวียนเข้ามาปฏิบัติการในอัฟกานิสถานครบ 2 รอบแล้ว เขาเสนอแนะว่า ในที่สุดแล้วกองทหารต่างชาติน่าที่จะถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถานโดยที่ยังไม่สามารถทำให้ผู้ก่อความไม่สงบประสบความปราชัยได้ “เราอาจจะต้องออกไปโดยที่จะยังคงมีกระแสคลื่นแห่งการก่อความไม่สงบในชนบทอย่างอ่อนๆ ทว่าปะทุขึ้นอยู่เรื่อยๆ” เขากล่าว
ก็เหมือนกับเอกอัครราชทูต คาวเพอร์-โคลส์ ทางพลจัตวาคาร์ลตัน-สมิธ เสนอว่าปัญหาแท้จริงของการสู้รบในอัฟกานิสถานนั้นไม่ใช่เรื่องทางทหาร แต่เป็นเรื่องการเมือง “การต่อสู้คราวนี้ต้องขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลอัฟกัน มากกว่าจะขึ้นอยู่กับภัยคุกคามจากพวกตอลิบาน” เขาบอก
ตอนที่ กอร์ดอน บราวน์ เข้าเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษแทนที่ โทนี แบลร์ ในเดือนมิถุนายน 2007 พวกเจ้าหน้าที่อังกฤษได้สรุปว่า กลุ่มตอลิบานมีรากเหง้าลึกล้ำเกินกว่าที่จะสามารถใช้กำลังทหารเข้าไปทำให้พ่ายแพ้ได้ ทั้งนี้ตามรายงานข่าวที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์การ์เดียนเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ดังนั้น รัฐบาลบราวน์จึงตัดสินใจที่จะดำเนินยุทธศาสตร์ในการมุ่งเกี้ยวพาพวกผู้นำและนักรบตอลิบาน “สายกลาง” ซึ่งเชื่อกันว่าทำการสู้รบด้วยแรงจูงใจของความผูกพันภักดีต่อเผ่าของตน มากกว่าความศรัทธาในอุดมการณ์แห่งการทำสงครามศาสนา
แนวความคิดเช่นนั้นในขณะนั้นมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทั้งคาร์ไซและอังกฤษต่างเคลื่อนไหวเลยล้ำไปไกลถึงขั้นใช้นโยบายทำการเจรจาโดยตรงและอย่างเป็นทางการกับกลุ่มตอลิบานแล้ว สำหรับอังกฤษ เรื่องนี้ดูจะเป็นส่วนหนึ่งแห่งยุทธศาสตร์ในการถอนตัวออกมา อันเป็นสิ่งที่ทางวอชิงตันไม่ได้เห็นพ้องด้วยเลย
รัฐมนตรีกลาโหมเกตส์ เมื่อวันอังคาร(7) ได้ตอบโต้ข้อสังเกตของพลจัตวาคาร์ลตัน-สมิธ ด้วยการกล่าวย้ำทัศนะอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯที่ว่า จำเป็นที่จะต้องเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน พร้อมกับพูดเป็นนัยว่า ความคิดเห็นเช่นนี้ของนายทหารอังกฤษคือ “ลัทธิยอมจำนน” โดยเกตส์กล่าวว่า “เป็นที่แน่นอนว่าไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะกลายเป็นนักลัทธิยอมจำนน หรือไปประเมินต่ำเกินไปต่อโอกาสของการประสบความสำเร็จในระยะยาว”
แกเรธ พอร์เตอร์ เป็นนักประวัติศาสตร์และนักหนังสือพิมพ์เชิงสืบสวน ที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ชื่อ Perils of Dominance: Imbalance of Power and the Road to War in Vietnam ฉบับปกอ่อนได้รับการตีพิมพ์ในปี 2006
(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)