xs
xsm
sm
md
lg

IMF เร่ง ปท.ร่ำรวยต้องใช้ "ยาแรง" เลี่ยงฉุด ศก.โลกตกต่ำตาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จอห์น ลิปสกี
เอเจนซี - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาระบุว่า บรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจหยุดนิ่ง หรือกระทั่งยืนอยู่บนปากเหวของภาวะถดถอย ดังนั้น รัฐบาลเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ยาแรง เพื่อป้องกันมิให้ฉุดรั้งภาวะเศรษฐกิจโลกให้ตกต่ำตามไปด้วย

"ช่วงท้ายๆ ของไตรมาส 3 ปีนี้ บรรดาเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าที่สุดจำนวนมากได้เข้าสู่ภาวะชะงักงันหรือไม่ก็ถึงกับอยู่บนขอบเหวของภาวะถดถอย แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลประเทศเหล่านี้ก็กำลังสามารถควบคุมภาะเงินเฟ้อเอาไว้ได้แล้ว" จอห์น ลิปสกี รองกรรมการผู้จัดการคนหนึ่งของไอเอ็มเอฟ กล่าวในสุนทรพจน์ซึ่งไปพูดให้กับศูนย์ศึกษาทางยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตันเมื่อวันพฤหัสบดี (18)

อย่างไรก็ตาม ลิปสกี เห็นว่า โลกยังสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงนี้ได้ แต่การฟื้นตัวใดๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นจะค่อยไปค่อยไป และอาจจะต้องมีการใช้เม็ดเงินสาธารณะเข้าอุ้มหรือประคองระบบการเงินเอาไว้

"และอาจจะต้องใช้วิธีการที่เป็นระบบมากกว่าเดิมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเช่นการจำหน่ายสินทรัพย์ที่เน่าแล้วออกไปเพื่อฟื้นฟู การคุ้มครองที่ให้แก่ผู้ฝากเงินหรือผู้ลงทุน ขนาดและขอบเขตของการอัดฉีดสภาพคล่องที่ให้แก่สถาบันการเงินและตลาดต่างๆ" เขากล่าว

ลิปสกียังได้พูดอีกว่า จะมีสถาบันการเงินมากขึ้นอีกที่จะล้มครืนลงมา แต่ก็เน้นว่าการพังทลายของทั้งระบบยังเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้

"นี่ควรเป็นเวลาที่เราจะต้องก้าวถอยหลัง และขบคิดในภาพรวมว่าควรจะใช้มาตรการใดเข้าไปแทรกแซงตลาด เพื่อปรับปรุงความพยายามในการแก้ไขสถานการณ์นี้ ด้วยวิถีทางที่มีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น และมุ่งเป็นฝ่ายกระทำมากขึ้น" ลิปสกีกล่าว รวมทั้งบอกด้วยว่า ความยุ่งเหยิงในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำเป็นต้องใช้การตัดสินใจที่เฉียบพลัน

"นอกจากนี้ก็เห็นได้ชัดยิ่งว่านี่จำเป็นต้องกระทำในวิถีทางที่มีการเชื่อมโยงสอดคล้องกันในระดับระหว่างประเทศ และทำอย่างเด็ดขาดแน่วแน่"

ในขณะที่ธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรปกำลังซวนเซจากที่ถูกวิกฤตสินเชื่อโหมเข้าใส่ และกำลังพยายามระดมเม็ดเงินใหม่เข้ามา ลิปสกีเชื่อว่า ธนาคารเหล่านี้ยังจะต้องตัดยอดขาดทุนเพิ่มขึ้นอีกราว 150,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้การระดุมทุนใหม่เข้ามา ถ้าไม่ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย ก็ยังต้องมีต้นทุนที่แพงขึ้นอย่างมากอยู่ดี

แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว ย่อมจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ลิปสกีชี้ และกล่าวต่อไปว่า ไอเอ็มเอฟเชื่อว่านโยบายการเงินที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้อยู่ตอนนี้มีความเหมาะสม แม้ยังมีความเป็นไปได้สำหรับธนาคารกลางยุโรปและอังกฤษที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอีก

สำหรับประเทศเฟื่องฟูใหม่นั้น ลิปสกี เสนอว่า ควรจะรอดูสถานการณ์ไปก่อนว่าควรจะปรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศอย่างไร แม้ว่าในบางประเทศจะเผชิญหน้ากับแรงกดดันเงินเฟ้อสูงซึ่งทำให้รัฐบาลออกจะโนมเอียงไปข้างการเข้มงวดมาตรการทางการเงินก็ตาม

ลิปสกี กล่าวว่า ตลาดเฟื่องฟูใหม่ยังมีเสถียรภาพมั่นคง ถึงแม้ตลาดการเงินระหว่างประเทศจะผันผวนมากก็ตาม ส่วนหนึ่งนั้นเป็นเพราะหลายประเทศเป็นผู้ส่งออกเงินทุนรวมทั้งมีการได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัดสูง

แต่เขาก็ได้เตือนว่า ประเทศเฟื่องฟูใหม่เหล่านี้อาจจะพบกับปัญหากระแสเงินไหลกลับอย่างรุนแรง ซึ่งมีส่งผลกระทบร้ายแรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและต่อสถาบันการเงินของประเทศเหล่านี้

เขากล่าวด้วยว่า ไอเอ็มเอฟกำลังติดตามว่าประเทศเหล่านี้สามารถเข้าถึงตลาดการเงินระหว่างประเทศมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะพวกชาติเฟื่องฟูใหม่ที่ต้องพึ่งพาเงินทุนไหลเข้า เพื่อมาประคองฐานะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น