xs
xsm
sm
md
lg

อิหร่านฉวยประโยชน์จากความตึงเครียดสหรัฐฯ-รัสเซีย

เผยแพร่:   โดย: จิม โล้บ

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Tehran exploits US-Russia tensions
By Jim Lobe
28/08/2008

อิหร่านสามารถขยับเพิ่มฐานะความได้เปรียบในทางภูมิรัฐศาสตร์ของตนเองขึ้นมาอย่างมากมาย จากการที่ฝ่ายตะวันตกเผชิญหน้ากับรัสเซียในกรณีจอร์เจีย เนื่องจากเตหะรานสามารถที่จะกลายเป็นพันธมิตรอันทรงคุณค่าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ใน “สงครามเย็นครั้งที่สอง” อีกทั้งเวลานี้ยังใช้จุดยืนที่เฉลียวฉลาด ด้วยการพยายามทำให้ตนเองยังคงมีทางเลือกได้หลายๆ ทาง ขณะเดียวกับที่เพิ่มราคาสำหรับการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะให้พวกเขายอมร่วมมือด้วย

วอชิงตัน – อิหร่านสามารถที่จะก้าวผงาดขึ้นมากลายเป็นผู้ชนะรางวัลใหญ่ อย่างน้อยก็ในช่วงระยะสั้น จากการที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับรัสเซียมีความตึงเครียดเพิ่มทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังมอสโกเข้าแทรกแซงทางทหารในจอร์เจีย ทั้งนี้ตามความเห็นของนักวิเคราะห์หลายรายในนครหลวงของอเมริกา

ถ้าหากก่อนหน้านี้ ยังจะมีโอกาสแม้เพียงน้อยนิดที่สหรัฐฯจะเปิดการโจมตีทางทหารต่ออิหร่าน ก่อนที่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช จะก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนมกราคมปีหน้า บัดนี้โอกาสดังกล่าวก็ปิดตายหายวับไปหมดแล้ว เมื่อคำนึงจากข้อเท็จจริงที่ว่า วิกฤตจอร์เจียจะมีผลลัพธ์ออกมาอย่างไรบ้างนั้นยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ผู้สังเกตการณ์ในวอชิงตันเหล่านี้ส่วนใหญ่มองกันเช่นนี้

ทำนองเดียวกัน ความเป็นไปได้ที่มอสโกจะร่วมมือกับสหรัฐฯและยุโรป ในการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อเตหะราน โดยผ่านเป็นมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งรัสเซียมีสิทธิที่จะใช้อำนาจยับยั้ง ทั้งนี้เพื่อลงโทษอิหร่านที่ยังไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของคณะมนตรีที่ให้ยุติโครงการเพิ่มความเข้มข้นทางนิวเคลียร์ เมื่อถึงเวลานี้ก็ต้องบอกว่า ความเป็นไปได้ดังกล่าวก็หดหายลงอย่างฮวบฮาบแล้ว

การประจันหน้ากันระหว่างวอชิงตันกับศัตรูอภิมหาอำนาจรายเก่าของตน ไม่เพียงทำให้เตหะรานหลุดออกไปจากรายการลำดับบนสุด ในวาระทางนโยบายการต่างประเทศทั้งของคณะรัฐบาลสหรัฐฯและของสื่อมวลชนอเมริกันเท่านั้น แต่ผลของวิกฤตคราวนี้ยังทำให้เตหะรานมีความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์สูงเด่นขึ้นมาอย่างพรวดพราด ไม่ว่าในฐานะที่อิหร่านอาจจับมือเป็นหุ้นส่วนกับฝ่ายตะวันตกในการปิดล้อมรัสเซีย หรือในฐานะที่เตหะรานอาจเป็นพันธมิตรกับมอสโกเพื่อต่อสู้ต้านทานแรงกดดันจากฝ่ายตะวันตก

“ตอนที่สหรัฐฯรุกรานอิรัก วอชิงตันไม่ได้ตั้งใจที่จะทำให้มันกลายเป็นการปรับปรุงยกฐานะทางอำนาจของอิหร่านในภูมิภาคแถบนี้เลย ทว่านั่นคือผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมา” เป็นข้อสังเกตของ แกรี ซิก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่านแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติทั้งในยุคของอดีตประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด, จิมมี คาร์เตอร์, และ โรนัลด์ เรแกน “นั่นก็ไม่ได้เป็นจุดประสงค์ของรัสเซียในการเข้าไปรุกรานจอร์เจียเหมือนกัน ทว่าอีกนั่นแหละ ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะกลายเป็นอย่างนั้นไป”

จวบจนถึงขณะนี้ เตหะรานแสดงปฏิกิริยาต่อวิกฤตจอร์เจียด้วยท่าทีระมัดระวังรอบคอบ ฟาริเดห์ ฟาร์ฮี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่าน แห่งศูนย์กลางวูดโรว์ วิลสันเพื่อนักวิชาการระหว่างประเทศ (Woodrow Wilson International Center for Scholars) บอกว่า ถึงแม้มีเสียงเรียกร้องจากพวกปีกขวาบางส่วนให้เข้าข้างมอสโก ทว่ารัฐบาลอิหร่าน รวมทั้งตัวประธานาธิบดีมาหมุด อาหมัดดิเนจัด ก็กลับออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัสเซีย โดยเฉพาะการที่มอสโกไปรับรองการประกาศเอกราชจากจอร์เจีย ของแคว้นอับฮาเซีย และ เซาท์ออสซีเชีย

“เหตุผลของการไม่เห็นด้วยนี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายในเชิงหลักการ กล่าวคือ ถ้าอิหร่านไปเริ่มให้ความสนับสนุนแก่การแยกตัวของดินแดนที่ไม่พอใจรัฐบาลกลางของตน อิหร่านเองก็จะเจอปัญหา เพราะก็มีประเด็นคล้ายคลึงกันอยู่เหมือนกัน ในเรื่องความไม่พอใจของกลุ่มชนชาติบางกลุ่ม” ฟาร์ฮี ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาวายด้วย กล่าวกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส

นอกจากนั้น เธอแจกแจงว่า พวกผู้มีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายการต่างประเทศของเตหะราน ส่วนใหญ่แล้ว “ไม่ได้มองรัสเซียว่าเป็นหุ้นส่วนที่น่าเชื่อถือ พวกเขาเข้าใจดีว่ารัสเซียอาจจะสนับสนุนอิหร่านในเรื่องโครงการนิวเคลียร์หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงหรือทางด้านนโยบายของตัวเองมากกว่า ทว่าที่ผ่านมารัสเซียก็ฉลาดมากในการใช้อิหร่านในฐานะเบี้ยสำหรับต่อรอง ในการดำเนินความสัมพันธ์ของตนเองกับทางสหรัฐฯ”

“ฝ่ายอิหร่านก็กำลังใช้ท่าทีที่ฉลาดมากในเรื่องนี้ พวกเขาไม่น่าที่จะรีบรุดออกไปปกป้องแก้ต่างให้รัสเซีย เว้นแต่รัสเซียจะมาหาพวกเขาและขอให้ช่วยเหลือ ซึ่งถึงตอนนั้นพวกเขาก็สามารถเรียกร้องขออะไรบางอย่างเป็นการตอบแทน” ฟาร์ฮีกล่าวต่อ

สิ่งที่อิหร่านอาจเรียกร้องจากรัสเซียเป็นการตอบแทน มีมากมายหลายอย่าง ตั้งแต่การขอให้เร่งรัดจัดสร้างโรงงานนิวเคลียร์บูชีห์ร ให้เสร็จสิ้นเสียทีหลังจากล่าช้ามานาน, การขอให้จัดส่งระบบต่อต้านขีปนาวุธรุ่นก้าวหน้าทันสมัย (อันเป็นสิ่งที่ซีเรียผู้เป็นพันธมิตรของอิหร่าน กำลังเรียกร้องขอจากมอสโกอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเมื่อดามัสกัสได้ออกมาประกาศสนับสนุนการที่รัสเซียเข้าแทรกแซงทางทหารในจอร์เจีย), การขอเข้าเป็นสมาชิกสมบูรณ์ขององค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (เอสซีโอ) อันเป็นกลุ่มความมั่นคงและการป้องกันร่วมกันในภูมิภาคเอเชียกลางที่มีจีนกับรัสเซียเป็นหัวเรือใหญ่ และกำลังจัดการประชุมประจำปีระดับผู้นำในสัปดาห์นี้พอดี โดยปีนี้จัดขึ้นที่กรุงดูชานเบ เมืองหลวงของทาจิกิสถาน

ความได้เปรียบในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เช่นนี้ของเตหะราน ส่วนหนึ่งเนื่องจากอยู่ในฐานะเดียวกันกับตุรกี นั่นคือ การเป็นชาติทรงอำนาจที่สุดในย่านที่มีความสำคัญยิ่งยวดทางยุทธศาสตร์ โดยประเทศละแวกบ้านในย่านดังกล่าว เป็นพวกรัฐกันชนอย่างเช่นจอร์เจีย ที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ทว่ายังคงค่อนข้างอ่อนแอ อันที่จริงแล้วระหว่างสงครามเย็นและจวบจนกระทั่งถึงการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 อิหร่านก็เคยทำหน้าที่เป็นป้อมปราการสำคัญที่สุดของวอชิงตัน ในการต้านทานไม่ให้สหภาพโซเวียตแผ่อิทธิพลเข้าไปในย่านอ่าวเปอร์เซียมาแล้ว

แต่นอกจากนั้นแล้ว ความได้เปรียบของอิหร่านยังมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ประเทศนี้คือผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ แถมยังสามารถแสดงบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นกว่าในปัจจุบันเป็นอันมาก ในฐานะของการเป็นจุดขนถ่ายทรัพยากรพลังงานจากแถบเอเชียกลางและทะเลสาบแคสเปียน เพื่อที่จะส่งต่อไปยังยุโรปอีกทอดหนึ่ง

เวลานี้ยุโรปกำลังวิตกว่าการที่ต้องพึ่งพารัสเซียเพิ่มขึ้นทุกทีในเรื่องซัปพลายพลังงาน ดูจะเป็นเรื่องเสี่ยงภัยยิ่งกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนเป็นพิเศษจากการรุกเข้าไปในจอร์เจียของกองทัพรัสเซีย โดยที่มอสโกสาธิตให้เห็นว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงและถ้าหากปรารถนาก็สามารถก่อกวนท่อส่งน้ำมันสาย บากู-ทบิลิซิ-เซย์ฮาน (Baku-Tbilisi-Ceyhan หรือ BTC) ได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้บีทีซีเป็นท่อส่งน้ำมันเพียงเส้นเดียวในเวลานี้ ที่ลำเลียงน้ำมันจากย่านแคสเปียนไปสู่โลกตะวันตกโดยไม่ต้องผ่านข้ามดินแดนของรัสเซียหรืออิหร่าน

“ถึงตอนนี้พวกบริษัทน้ำมันและก๊าซจะต้องคิดคำนวณเรื่องความไม่แน่นอนในระดับใหม่เช่นนี้เข้าไปด้วย” เจย์ สแตนลีย์ แห่ง เคนต์ มัวร์ส ให้ความเห็น เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญการเงินทางด้านพลังงาน และเขียนลงในจดหมายข่าว “แคสเปียน อินเวสเตอร์” ไว้ดังนี้ “... จอร์เจียเวลานี้ไม่มีเสถียรภาพ และนั่นจะเพิ่มความเสี่ยงให้แก่การขนส่งไฮโดรคาร์บอนข้ามดินแดนของประเทศนี้”

ทางด้าน ศาสตราจารย์ วิลเลียม บีแมน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอิหร่านแห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา บอกว่า “ถ้าหากท่อส่งสายบีทีซีและจอร์เจีย ไม่สามารถที่จะเป็นแหล่งซัปพลายพลังงานที่เชื่อถือได้เสียแล้ว ทางเลือกต่อไปที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณากันอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ก็ต้องเป็นอิหร่าน”

เขากล่าวต่อไปว่าจุดยืนของอิหร่านน่าจะเป็นไปในทางบวก “พวกคุณต้องการก๊าซใช่ไหม เราจะขายก๊าซให้พวกคุณ นี่น่าจะเป็นจุดยืนของอิหร่านอยู่แล้ว” บีแมนบอกพร้อมกับชี้ว่า สวิตเซอร์แลนด์ได้ลงนามในข้อตกลงด้านการซัปพลายก๊าซและด้านท่อส่ง เป็นระยะเวลา 25 ปี ที่มีมูลค่า 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับฝ่ายเตหะรานเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถึงแม้สหรัฐฯจะคัดค้านอย่างแข็งขันก็ตามที “ผมคิดว่าชาวสวิสคือผู้ส่งสัญญาณนำทางชั้นเยี่ยมให้แก่ประเทศยุโรปอื่นๆ สำหรับเรื่องนี้” บีแมนกล่าว

ขณะที่อิหร่านได้สร้างความแปลกแยกหงุดหงิดให้แก่บริษัทพลังงานสำคัญของยุโรปบางแห่ง โดยช่วงหลังที่สุดก็คือกรณีของบริษัทโททาลแห่งฝรั่งเศส ด้วยการเรียกร้องเงื่อนไขที่ออกจะโหดเกินไป แต่เตหะรานน่าที่จะ “มองเห็นวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันว่าเป็นโอกาสที่จะได้หวนกลับไปหาพวกยุโรปที่เคยร่วมงานกันมา และบอกว่า ‘มาลองพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่อีกทีดีไหม’ ซิกแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียให้ความเห็น “มันทำให้พวกเขามีความได้เปรียบเพิ่มขึ้นบางประการ ถ้าหากจะเดินไปหาฝ่ายตะวันตกและบอกว่า ‘ตอนนี้พวกคุณกำลังทำร้ายตัวเองอยู่นะ(ในการร่วมมือกับสหรัฐฯคว่ำบาตรอิหร่าน) เมื่อไหร่พวกคุณจึงจะรู้สึกตัวเสียที’”

ข้อโต้แย้งเช่นนี้ของเตหะรานน่าจะฟังดูมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมื่อความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตกไม่มีท่าทีจะหยุดยั้งลง กระทั่งว่ามันอาจจะส่งผลไปถึงการพิจารณาไตร่ตรองภายในหมู่รัฐมนตรีของบุชเอง ในเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรกับข้อเสนอแนะของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ให้หาทางทำให้อิหร่านตกลงยินยอมให้เปิดแผนกผลประโยชน์ของอเมริกัน ขึ้นในสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำเตหะราน ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ ณ จุดหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นปัจจุบัน น่าที่จะถูกมองว่าเป็นการเดินหมากสำคัญในกระดานหมากรุกทางภูมิยุทธศาสตร์ ทั้งนี้แม้มีรายงานก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ว่า บุชได้อนุมัติให้เดินหน้าตามข้อเสนอแนะนี้ไปแล้ว ทว่าเอาเข้าจริงดูเหมือนเรื่องนี้ยังไม่ได้มีมติอะไรออกมามากกว่า

กระนั้นก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังคงมองว่าฐานะความได้เปรียบของอิหร่านจะดำรงคงอยู่เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น ตริตา ปาร์ซี ประธานสภาแห่งชาติของชาวอเมริกันเชื้อสายอิหร่าน (National Iranian American Council) บอกว่า ในเมื่อเวลานี้เห็นชัดๆ ว่ารัสเซียคงจะใช้อำนาจยับยั้งไม่ให้คณะมนตรีความมั่นคงผ่านมติลงโทษคว่ำบาตรเพิ่มเติมใดๆ ต่ออิหร่าน วอชิงตันก็อาจตัดสินใจเลิกเดินเส้นทางสายยูเอ็น แล้วหันไปประกาศใช้ระบบลงโทษคว่ำบาตร ร่วมกับพันธมิตรรายที่สมัครใจร่วมมือด้วย

ทางด้าน ไมเคิล แคลร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Rising Powers, Shrinking Planet: The New Geopolitics of Energy” ก็บอกกับอินเตอร์เพรสเซอร์วิสว่า เขาเชื่อว่า การที่รัสเซียหันไปใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อเล่นงานจอร์เจียตามอำเภอใจฝ่ายเดียว น่าจะกลายเป็นการกระตุ้นเพิ่มความกล้าให้แก่บุช และ รองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ ผู้นำสายเหยี่ยวในคณะรัฐบาล ซึ่งมีกำหนดไปเยือนจอร์เจียและอาร์เซอร์ไบจานในสัปดาห์หน้า

“คำถามก็คือ บุชและเชนีย์จะรู้สึกว่าพวกเขาได้รับมอบอำนาจให้ประพฤติตนในลักษณะก้าวร้าวมุ่งก่อสงครามเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหรือเปล่า” เขาเตือน

จิม โล้บ ทำบล็อกว่าด้วยนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของพวกอนุรักษนิยมใหม่ ในคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ www.ips.org/blog/jimlobe/

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น