xs
xsm
sm
md
lg

การสิ้นสุดของยุคหลังสงครามเย็น (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The end of the post-Cold War era
By M K Bhadrakumar
12/08/2008

สหรัฐฯกำลังใช้ความพยายามอย่างระมัดระวัง เพื่อปลูกฝังความคิดเห็นเอาไว้ตามบรรดาเมืองหลวงของโลกตะวันตก โดยมุ่งให้เห็นไปว่า รัสเซียกำลัง “ข่มเหงรังแก” จอร์เจีย ความมุ่งหมายของการกระทำเช่นนี้ ก็คือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ความพยายามของวอชิงตันที่จะโน้มน้าวให้จอร์เจียได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในทางกลับกัน เมื่อทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ย่อมจะส่งผลเอื้ออำนวยแก่การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯเอาไว้ที่บริเวณชายแดนของรัสเซีย ดังนั้น ถ้าหากมอสโกยังคงมัวทำเฉยอยู่ ภูมิภาคคอเคซัสก็อาจจะกลายเป็น “บาดแผลที่เลือดไหลออกไม่หยุด” ของรัสเซีย

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

มองกันจากแง่มุมต่างๆทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์อันรุนแรงในภูมิภาคคอเคคัส ณ ช่วงจังหวะเวลานี้ ก็เป็นประโยชน์แก่วอชิงตันอยู่เหมือนกัน การระดมกระหน่ำด้วยโฆษณาชวนเชื่ออันดุเดือดเข้าใส่รัสเซียได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และกำลังอยู่ในระดับเสียงสูงปริ๊ดทีเดียว คำแถลงต่างๆ ของสหรัฐฯนั้นมุ่งหมายที่จะไม่เหลือบมองการสังหารของจอร์เจียในเซาท์ออสซีเชีย ตลอดจนการโจมตีใส่กองกำลังรักษาสันติภาพชาวรัสเซีย แต่จุดเน้นหนักของโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้คือ การตอบโต้ของรัสเซียซึ่งอันที่จริงแล้วเป็นปฏิกิริยาต่อการยั่วยุของจอร์เจีย เริ่มมีความพยายามกันแล้วที่จะวาดภาพรัสเซียให้เป็นผู้รุกราน วอชิงตันกำลังใช้ความพยายามอย่างระมัดระวังในการปลูกฝังความคิดเห็นไว้ตามบรรดาเมืองหลวงของโลกตะวันตก เพื่อให้เห็นไปว่า มอสโกกำลัง “ข่มเหงรังแก” ทบิลิซิ

การโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้อเรียกร้องของวอชิงตันที่ให้รับรองจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ในการประชุมระดับผู้นำของนาโต้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา การณ์ดูจะปรากฏว่าถึงแม้ได้ใช้ความพยายามอย่างแข็งขันมาเป็นแรมเดือน วอชิงตันก็ยังไม่สามารถเอาชนะแรงต้านทานภายในนาโต้ที่ยังไม่อยากให้รับจอร์เจียเป็นสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเยอรมนี, ฝรั่งเศส, และอิตาลี ประเทศยุโรปเหล่านี้ต่างระวังตัวไม่อยากยั่วยุมอสโก อันจะกลายเป็นการสร้างกำแพงขวางกั้นระหว่างตะวันออก-ตะวันตกขึ้นมาใหม่ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เรื่องความจำเป็นของความมั่นคงด้านพลังงาน ต่างก็เป็นสิ่งที่อยู่ในใจของทุกๆ ฝ่าย

ด้วยเหตุนี้ ในการประชุมซัมมิตนาโต้ที่โรมาเนียดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำหลักเกณฑ์ลักษณะประนีประนอมขึ้นมา โดยที่กำหนดว่า ณ การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของนาโต้เดือนธันวาคมนี้ จะมีการหารือเรื่องจอร์เจียขอสมัครเป็นสมาชิกกันอีกครั้ง ไรซ์พูดอย่างชัดเจนที่โรมาเนียว่า สหรัฐฯจะไม่ยอมแพ้ในเรื่องนี้แต่จะผลักดันต่อไปอย่างเข้มแข็ง การประชุมเดือนธันวาคมยังจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่เกี่ยวกับนาโต้ครั้งสุดท้ายในยุคสมัยของบุชอีกด้วย จอร์เจียนั้นถือเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมชมชื่นเป็นส่วนตัวจากคณะรัฐบาลบุช และด้วยเหตุนี้ การทำให้จอร์เจียได้เข้านาโต้ ย่อมจะกลายเป็นมรดกอันน่าภาคภูมิประการหนึ่งสำหรับยุคของประธานาธิบดีผู้นี้ สงครามในคอเคซัสในช่วงจังหวะเวลานี้ จึงมีส่วนเอื้ออำนวยให้คณะรัฐบาลบุชทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ในการผลักดันให้จอร์เจีย (ตลอดจนยูเครน) ได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้

การเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ของจอร์เจียนั้นมีนัยทางยุทธศาสตร์อันกว้างไกลมาก ด้วยการรับจอร์เจียเข้าองค์การ นาโต้ก็จะแผ่จากภูมิภาคทะเลดำ ขยายไปสู่ริมขอบของเอเชีย เรื่องนี้ย่อมเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่สำหรับพันธมิตรนาโต้ ซึ่งจวบจนกระทั่งไม่นานมานี้เอง ยังอยู่ในอาการไม่ค่อยมั่นอกมั่นใจชะตาชีวิตของตนเองในยุคหลังสงครามเย็นแห่งคริสต์ศตวรรษที่ 21

การที่จอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ จะทำให้เกิดความมั่นใจว่า แนวโค้งแห่งการปิดล้อมรัสเซียของทางสหรัฐฯจะมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีก สายสัมพันธ์ของนาโต้จะอำนวยความสะดวกให้แก่การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯในจอร์เจีย สหรัฐฯนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะได้ประเทศต่างๆ ที่ต่างเป็น “หุ้นส่วน” กับนาโต้ มาเรียงร้อยต่อกันเป็นสายโซ่ภายในระบบป้องกันขีปนาวุธของตน โดยที่จะแผ่ขยายจากพวกชาติพันธมิตรนาโต้ในคาบสมุทรบอลข่านและยุโรปกลาง, ตุรกี, จอร์เจีย, อิสราเอล, อินเดีย, และไปสู่ย่านเอเชีย-แปซิฟิก

จากทัศนะมุมมองของฝ่ายวอชิงตัน ถ้าหากต้องการลดทอนศักยภาพของรัสเซียในการแสดงบทบาทอันทรงประสิทธิภาพบนเวทีโลกแล้ว ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำให้รัสเซียต้องเผชิญความยุ่งยากในภูมิภาคคอเคซัส ทั้งนี้เป็นที่ชัดเจนจนไม่ต้องคาดเดาเลยว่า มอสโกนั้นหวาดกลัวเหลือเกินว่าจะเกิดสงครามเต็มขั้นปะทุขึ้นมาในคอเคซัส และดังนั้นจึงพยายามดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์เพื่อไม่ให้เกิดสงครามดังกล่าว

มอสโกโดยพื้นฐานแล้วยังรังเกียจที่จะเปิดการแผชิญหน้าใดๆ กับฝ่ายตะวันตก นโยบายการต่างประเทศของมอสโกให้ความสำคัญลำดับแรกสุดแก่การที่รัสเซียจะบูรณาการเข้ากับยุโรป แต่ความคาดหวังสำคัญของวอชิงตันกลับอยู่ที่ว่า ด้วยการ “อ่อยเหยื่อล่อหมี” ในระดับต่างๆ พอถึงจุดหนึ่งมอสโกก็จะหมดความอดทนและต้องโจมตีออกฤทธิ์ออกเดช ถึงแม้นั่นจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัสเซียในยุโรป

จริงๆ แล้ว ถ้ามอสโกโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องมานานแล้วของเซาท์ออสซีเชีย ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซีย มอสโกก็จะกลายเป็นอาหารสำหรับให้นักวิจารณ์ชาวตะวันตกโจมตีเล่นงานว่า เครมลินกำลังกลายเป็นพวกที่ต้องการกอบกู้ฐานะศักดิ์ศรีเดิมๆ กลับคืน และจึงกำลังเที่ยวผนวกดินแดนต่างๆ ที่เคยอยุ่ในอดีตสหภาพโซเวียต แต่ถ้ามอสโกยังคงอยู่เฉยไม่เคลื่อนไหวอะไร ภูมิภาคคอเคซัสก็อาจจะกลายเป็น “บาดแผลที่เลือดไหลออกไม่หยุด” ของรัสเซีย และเกียรติภูมิของรัสเซียในช่วงหลังโวเวียตก็จะสูญสลายไป

กล่าวโดยรวมแล้ว มันทำให้เราไม่เชื่อทฤษฎีที่ว่าซาคัชวิลีกระทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไปโดยสัญชาตญาณ ชาวจอร์เจียมีชื่อเสียงในเรื่องเป็นคนเลือดร้อนก็จริงอยู่ แต่สำหรับบุคคลผู้นี้แล้ว เขาเป็นนักกฎหมายที่ผ่านการฝึกฝนอบรมมาอย่างดี –โดยผ่านฝึกฝนในสหรัฐฯ เป็นไปไม่ได้หรอกที่เขาจะไร้เดียงสาถึงขนาดไม่รู้ความเป็นจริงของชีวิต ตลอดจนไม่ทราบว่าเป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วที่เขาจะต้องถูกเล่นงานจนเลือดกำเดาไหลออกจมูก หากขืนไปโจมตีกองทัพรัสเซีย

“ความเป็นจริงของชีวิต”ที่ว่านี้คืออะไร ตามข้อมูลของแจนส์ (Jane’s) จอร์เจียมีกำลังทหาร 26,900 คน เปรียบเทียบกับรัสเซียที่มี 641,000 คน, รถถังใช้ทำศึก 82 คัน ต่อ 6,717 คัน, ยานยนต์ลำเลียงพลหุ้มเกราะ 139 คันต่อ 6,388 คัน, และเครื่องบินรบ 7 ลำต่อ 1,206 ลำ กระนั้นก็ตาม หลักฐานต่างๆ บ่งชี้ว่าในวันจันทร์(11) จอร์เจียกลับไปทิ้งระเบิดโจมตีเมืองซฮินวาลี ตลอดจนที่มั่นต่างๆ ของรัสเซียในแถบนั้นอีกครั้งหนึ่ง สังหารทหารรักษาสันติภาพของรัสเซียตายไปอีก 3 คน ความสูญเสียทางทหารของรัสเซียเวลานี้จึงเพิ่มเป็น ถูกฆ่าไป 18 คน สูญหาย 14 คน และบาดเจ็บกว่า 50 คน

เมื่อวันอาทิตย์(10) เครื่องบินทหารของสหรัฐฯได้ลำเลียงทหารจอร์เจีย 800 คนที่ประจำการอยู่ในอิรัก พร้อมด้วย “สินค้าประมาณ 11 ตัน กลับคืนสู่จอร์เจีย” หากคิดกันตามธรรมดาแล้ว มันยากที่เราจะเชื่อว่าสหรัฐฯสามารถยอมให้จอร์เจีย “ถอนทหาร” ออกจากอิรักได้โดยที่ไม่เกิดความเสียหายอะไรในสมรภูมิแห่งนั้น เนื่องจากกองทหารจอร์เจียที่มีกำลังพล 2,000 คนนี้ มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจอันละเอียดอ่อนในการคอยขัดขวางไม่ให้พวกนักรบท้องถิ่นชาวชิอะห์ลักลอบขนอาวุธข้ามมาจากชายแดนอิหร่าน ก็เฉกเช่นที่ผู้รู้ชาวอเมริกันท่านหนึ่งพูดเอาไว้ดังนี้ “การที่สหรัฐฯลำเลียงทหารจอร์เจีย 2,000 คนทางอากาศ ให้ไปสู้รบกับทหารรัสเซียในช่วงจังหวะเวลานี้ ย่อมไม่ใช่เครื่องแสดงถึงความเป็นมิตรกับมอสโกเลย”

ประเด็นอยู่ที่ว่า คณะรัฐบาลบุชไม่สามารถที่จะกลายเป็นผู้ล้มเหลวในการเสี่ยงภัยในคอเคซัสคราวนี้ มันจะดูเหมือนการทำให้มือตัวเองเลือดออกอย่างไม่จำเป็นอะไรเลย ทั้งนี้ยกเว้นแต่ว่าการทูตของสหรัฐฯจะประสบความสำเร็จในการพลิกกระแสให้หันมาอยู่ข้างวอชิงตัน และทำให้เรื่องราวเดินไปสู่บทสรุปตามหลักเหตุผลอันเลือดเย็นของพวกเขา นั่นคือ การที่ให้จอร์เจียได้เข้าสู่องค์การนาโต้ในที่สุด

วอชิงตันเหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ แต่มันก็ไม่ถึงขนาดเป็นงานที่ยากจะทำให้สำเร็จได้ ถ้าหากคณะรัฐบาลบุชทำได้จริงๆ ก็เป็นอันว่าประวัติศาสตร์จะต้องพลิกเข้าสู่หน้าใหม่ เพราะเราอาจจะได้กล่าวอำลาต่อยุคหลังสงครามเย็น ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยุโรปและสหรัฐฯจะไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมได้อีกแล้ว ถึงอย่างไรก็ได้มีการหลั่งเลือดแล้ว ดังนั้น เมื่อกล่าวโดยเปรียบเทียบ โอลิมปิกที่ปักกิ่งก็ต้องถือว่ามีความสำคัญลดลงมา

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยทำงานเป็นนักการทูตอาชีพของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยไปประจำตามประเทศต่างๆ จำนวนมาก อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี

  • การสิ้นสุดของยุคหลังสงครามเย็น (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น