xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียขีด “เส้นสีแดง ”ที่ไม่ยอมให้สหรัฐฯ รุกคืบ

เผยแพร่:   โดย: เอฟ วิลเลียม เองดาห์ล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Russia marks its red lines
By F William Engdahl
12/08/2008

ศึกสงครามที่จอร์เจียเข้าโจมตีแคว้นออสซีเชีย และรัสเซียก็ทำการตอบโต้ คือยุทธการครั้งแรกในสงครามตัวแทนครั้งใหม่ ระหว่างผลประโยชน์ของสหรัฐฯและอิสราเอล กับทางฝ่ายรัสเซีย ทว่าจอร์เจียและพันธมิตรวอชิงตันดูเหมือนจะคำนวณผิดพลาดอย่างร้ายแรง รัสเซียแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่มีเจตนารมณ์ที่จะสละการสนับสนุนที่ตนให้แก่เซาท์ออสซีเชีย หรือจะยินยอมให้มีการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของตน

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในภูมิภาคคอเคซัส กำลังได้รับการรายงานจากสื่อสหรัฐฯในแบบชักจูงให้เกิดความเข้าใจผิดพลาดอย่างน่ากลัวอันตราย โดยกำลังทำให้มอสโกเหมือนกับเป็นผู้รุกรานที่โดดเดี่ยว หลังจากที่ส่งกองทหารเข้าไปในแคว้นเซาท์ออสซีเชีย ซึ่งได้ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากจอร์เจีย ทั้งนี้ ภายหลังที่จอร์เจียได้บุกเข้าโจมตีดินแดนแห่งนั้นก่อน

คำถามมีอยู่ว่า ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช และ รองประธานาธิบดี ดิ๊ก เชนีย์ กำลังส่งเสริมสนับสนุนให้ประธานาธิบดี มิเฮอิล ซาคัชวิลี ของจอร์เจีย บีบบังคับให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไป ต้องหนุนหลังวาระทางการทหารในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ของคณะรัฐบาลบุชชุดปัจจุบันหรือเปล่า วอชิงตันอาจจะวินิจฉัยผิดพลาดไปอย่างเลวร้ายยิ่งเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในกรณีนี้ เฉกแช่นที่ได้เคยผิดพลาดมาแล้วในอิรัก แต่สำหรับคราวนี้มันยังมีความเป็นไปได้ด้วยว่า อาจจะมีผลต่อเนื่องตามมาในระดับเกี่ยวข้องกับอาวุธนิวเคลียร์ทีเดียว

ประเด็นที่อยู่เบื้องลึกลงไปของสิ่งที่กำลังบังเกิดขึ้นมาคราวนี้ ก็คือข้อเท็จจริงที่ว่านับแต่การยุบเลิกองค์การกติกาสัญญาวอร์ซอในปี 1991 อดีตสมาชิกขององค์การนี้รายแล้วรายเล่า ก็เช่นเดียวกับประดาอดีตรัฐที่เคยรวมอยู่ในสหภาพโซเวียต ต่างถูกวอชิงตันเข้ามาเกลี้ยกล่อมชักจูง เพื่อให้เข้าร่วมในองค์การที่เป็นปรปักษ์กับกติกาสัญญาวอร์ซอ ซึ่งก็คือ นาโต้ นั่นเองโดยหลายๆ กรณีมีการติดสินบนด้วยคำมั่นสัญญาอันเป็นเท็จอีกด้วย

ภายหลังการยุบเลิกกติกาสัญญาวอร์ซอในปี 1991 แทนที่วอชิงตันจะริเริ่มให้มีการอภิปรายหารือเพื่อยุบเลิกนาโต้กันอย่างเป็นระบบ สหรัฐฯกลับเดินหน้าเปลี่ยนแปลงนาโต้ ให้กลายเป็นสิ่งที่ต้องเรียกว่า เป็นพาหะทางการทหารสำหรับการปกครองแบบจักรวรรดิในขอบเขตทั่วโลกของอเมริกัน โดยที่มีเครือข่ายฐานทัพทางทหารเชื่อมโยงติดต่อถึงกันหมด จากโคโซโวไปยังโปแลนด์ไปสู่ตุรกีไปจนถึงอิรักและอัฟกานิสถาน

ในปี 1999 อดีตสมาชิกกติกาสัญญาวอร์ซออย่าง ฮังการี, โปแลนด์, และสาธารณรัฐเช็ก เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ จากนั้น บัลแกเรีย, เอสโตเนีย, ลัตเวีย, ลิทัวเนีย, โรมาเนีย, และสโลวาเกีย ก็เดินตามในเดือนมีนาคม 2004 เวลานี้วอชิงตันกำลังใช้แรงกดดันอย่างหนักหน่วงต่อบรรดาชาติสหภาพยุโรปที่เป็นสมาชิกของนาโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนีและฝรั่งเศส เพื่อให้พวกเขาออกเสียงในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ยอมรับจอร์เจียและยูเครนเข้าองค์การแห่งนี้

**รากเหง้าของความขัดแย้ง**
ความขัดแย้งกันจริงๆ ระหว่างจอร์เจีย กับ 2 แคว้นที่ประกาศแยกตัวออกไปเป็นอิสระ ซึ่งได้แก่ เซาท์ออสซีเชีย และ อับฮาเซีย นั้นมีรากเหง้าความเป็นมาดังนี้

เซาท์ออสซีเชีย นั้น เคยมีฐานะเป็นแคว้นปกครองตนเอง (autonomous region) ภายในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย (Georgian Soviet Socialist Republicที่เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต หรือเรียกชื่อกันเต็มๆ ว่า สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต Union of Soviet Socialist Republics ใช้อักษรย่อวา USSR –ผู้แปล)) จวบจนกระทั่งถึงปี 1990 (หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย ดินแดนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศจอร์เจีย –ผู้แปล) และพวกเขามุ่งหาทางที่จะรวมตัวเข้าเป็นรัฐหนึ่งเดียว กับพี่น้องชนชาติเดียวกันกับพวกเขาใน นอร์ทออสซีเชีย อันมีฐานะเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเอง (autonomous republic) ของสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหพันธ์โซเวียตรัสเซีย (Russian Soviet Federated Socialist Republicที่ก็เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต -ผู้แปล) โดยสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหพันธ์โซเวียตรัสเซีย ในปัจจุบันก็คือ ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation หรือเรียกสั้นๆ ว่า รัสเซีย -ผู้แปล)

การที่ชาวออสซีเชียมีความหวาดกลัวต่อลัทธิชาตินิยมอันรุนแรงของชาวจอร์เจีย เป็นเรื่องที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์รองรับ แถมยังเพิ่งผ่านประสบการณ์แห่งความเกลียดชังชนกลุ่มน้อยของชาวจอร์เจียมาหยกๆ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ในยุคที่ ซเวียด กัมซาฮุร์เดีย เป็นผู้นำของจอร์เจีย ชาวออสซีเชียมองว่าความเกลียดชังเช่นนี้ก็ปรากฏขึ้นอีกครั้งภายใต้ มิเฮอิล ซาคัชวิลี ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจอร์เจีย ซาคัชวิลีนั้นขึ้นสู่อำนาจได้ด้วยการสนับสนุนทางการเงินของสหรัฐฯ ตลอดจนกิจกรรมลับๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในจอร์เจียของสหรัฐฯ ซึ่งบังเกิดผลในเดือนธันวาคม 2003 ในเหตุการณ์ที่เรียกขานกันว่า “การปฏิวัติสีกุหลาบ” (Rose Revolution) ทว่าบัดนี้หนามแหลมของกุหลาบดอกนั้น กำลังก่อให้เกิดการหลั่งเลือดขึ้นมาแล้ว

อับฮาเซีย ซึ่งเป็นดินแดนริมทะเลดำที่ผู้คนนิยมไปพักผ่อนกันแต่ไหนแต่ไรมา และ เซาท์ออสซีเชีย ที่เป็นดินแดนยากจนผู้คนเบาบาง ต่างก็มีพรมแดนติดกับรัสเซียที่อยู่ทางตอนเหนือ และต่างก็มีภาษา, วัฒนธรรม, และประวัติศาสตร์ของตนเอง เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงไป ดินแดนทั้งสองต่างพยายามแยกตัวเองออกจากจอร์เจียในความขัดแย้งที่ถึงขั้นทำศึกกันอย่างนองเลือด โดยที่เซาท์ออสซีเชียเกิดขึ้นในปี 1990-91 และอับฮาเซียในปี 1992-94

ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 1990 จอร์เจียภายใต้การปกครองของกัมซาฮุร์เดีย ได้ส่งทหารเข้าสู่เซาท์ออสซีเชีย ภายหลังแคว้นนี้ประกาศเอกราช แต่ความเคลื่อนไหวของจอร์เจียคราวนี้ต้องประสบความปราชัยด้วยฝีมือของกองทหารจากกระทรวงมหาดไทยโซเวียต จากนั้นจอร์เจียได้ประกาศยุบเลิกฐานะแคว้นปกครองตนเองของเซาท์ออสซีเชีย โดยให้มารวมเข้ากับส่วนกลางของจอร์เจียโดยตรง

สงครามระหว่างจอร์เจียกับดินแดนทั้งสอง ที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ต่างก็ยุติลงด้วยการทำข้อตกลงหยุดยิงกันโดยที่มีรัสเซียเป็นผู้เจรจาผลักดัน และกำหนดให้มีกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามาเป็นผู้ดูแลรักษาความสงบในทั้ง 2 แคว้น กองกำลังรักษาสันติภาพนี้อยู่ใต้องค์การที่ก่อตั้งกันขึ้นภายหลังยุคโซเวียต เพื่อรวบรวมบรรดาอดีตสาธารณรัฐโซเวียตต่างๆ เอาไว้อย่างหลวมๆ นั่นคือ เครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States)

สถานการณ์จึงอยู่ในลักษณะกลายเป็น “ความขัดแย้งที่ถูกจับแช่แข็งไว้” ทำนองเดียวกับกรณีไซปรัสที่เป็นความขัดแย้งระหว่างกรีซกับตุรกี ต่อมาเมื่อถึงปลายปี 2005 จอร์เจียได้ลงนามในข้อตกลงฉบับหนึ่ง ให้สัญญาว่าจะไม่ใช้กำลัง และฝ่ายอับฮาเซียจะยินยอมให้คนชนชาติจอร์เจียกว่า 200,000 คนที่หลบหนีไปตอนเกิดความรุนแรง ค่อยๆ กลับเข้ามาอยู่ในแคว้นนี้ได้ ทว่าข้อตกลงนี้ล้มครืนลงตอนต้นปี 2006 เมื่อซาคัชวิลีส่งทหารเข้าไปยึดคืนหุบเขาโคโดรี ในอับฮาเซีย นับแต่นั้น ซาคัชวิลียังได้เพิ่มกิจกรรมการตระเตรียมต่างๆ เพื่อการปฏิบัติการทางทหาร

ทางฝ่ายรัสเซียนั้นเห็นว่าการให้ความสนับสนุนแก่แคว้นทั้งสองเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในกรณีของเซาท์ออสซีเชีย รัสเซียไม่ต้องการให้จอร์เจียได้เข้าเป็นสมาชิกนาโต้ นอกจากนี้ ชาวออสซีเชียคือพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดของชาวรัสเซียในภูมิภาคคอเคซัส โดยเป็นผู้จัดส่งลูกหลานเข้าไปเป็นทหารในกองทัพรัสเซียในสงครามหลายๆ ครั้งในอดีต รัสเซียไม่ต้องการทอดทิ้งพวกเขาตลอดจนชาวอับฮาเซีย แถมหากทำเช่นนั้นก็ยังจะเป็นการเติมเชื้อเพลิงทำให้เกิดความไม่สงบทางชนชาติเพิ่มมากขึ้น ในหมู่ชาวออสซีเชียและอับฮาเซีย ที่พำนักอาศัยอยู่ในดินแดนของรัสเซียเองทางตอนเหนือของภูมิภาคคอเคซัส

ตอนที่มีการจัดการลงประชามติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2006 ปรากฏว่าชาวเซาท์ออสซีเชีย 99% ออกเสียงเลือกที่จะแยกตัวเป็นเอกราชจากจอร์เจีย ในขณะที่พวกเขาส่วนใหญ่ต่างยังคงถือพาสปอร์ตของรัสเซียกันมานานแล้ว สภาพเช่นนี้จึงทำให้ประธานาธิบดี ดมิตรี เมดเวเดฟ สามารถอ้างเอาเป็นเหตุผลความชอบธรรม ในการใช้กำลังทหารเข้าโจมตีตอบโต้จอร์เจียเมื่อวันศุกร์(8) โดยระบุว่าเป็นความพยายามที่จะ “ปกป้องคุ้มครองชีวิตและศักดิ์ศรีของพลเมืองชาวรัสเซีย ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ตรงไหน”

สำหรับรัสเซียแล้ว ตั้งแต่ยุคสมัยพระเจ้าซาร์ในอดีตทีเดียว ออสซีเชียยังมีความสำคัญในแง่ของการเป็นฐานทางยุทธศาสตร์ที่อยู่ใกล้ๆ กับพรมแดนของตุรกีและอิหร่าน

ขณะที่ในปัจจุบัน จอร์เจียได้เป็นประเทศทางผ่านที่สำคัญ สำหรับน้ำมันและก๊าซที่สูบขึ้นมาจากบริเวณทะลสาบแคสเปียน ซึ่งจะส่งต่อไปยังเมืองท่าเซย์ฮาน ของตุรกี แล้วลำเลียงกันต่อไปยังโลกตะวันตก นอกจากนั้นวอชิงตันยังมองจอร์เจียว่าอาจใช้ฐานแห่งหนึ่งในความพยายามของตนที่จะเข้าโอบล้อมอิหร่าน

ในส่วนมุมมองของชาวจอร์เจีย แคว้นเซาท์ออสซีเชีย และ อับฮาเซีย คือส่วนหนึ่งในดินแดนแห่งชาติของพวกเขา ที่จะต้องกอบกู้กลับคืนมาไม่ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายขนาดไหน คำมั่นสัญญาของพวกผู้นำนาโต้ที่จะนำเอาจอร์เจียเข้ามาอยู่ในองค์การพันธมิตรแห่งนี้ด้วย ตลอดจนการประกาศโอ้อวดสนับสนุนจากวอชิงตัน กระตุ้นให้ซาคัชวิลีมีความกล้าที่จะเปิดการบุกโจมตีด้วยกำลังทหารเข้าสู่แคว้นทั้งสองนี้

ทว่าซาคัชวิลี และน่าจะรวมถึงทำเนียบรองประธานาธิบดีของเชนีย์ในกรุงวอชิงตันด้วย ดูจะคำนวณผิดพลาดอย่างเลวร้ายมาก รัสเซียแสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่มีเจตนามรณ์แม้แต่น้อยที่จะยุติการสนับสนุนที่ให้แก่เซาท์ออสซีเชียและอับฮาเซีย

**สงครามตัวแทน**
ในเดือนมีนาคม เมื่อวอชิงตันเดินหน้าประกาศรับรองเอกราชของจังหวัดโคโซโว ในอดีตยูโกสลาเวีย อันทำให้โคโซโวกลายเป็นดินแดนในการบริหารของนาโต้โดยพฤตินัย แม้จะขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการไม่ฟังเสียงประท้วงของรัสเซีย ประธานาธิบดี(ในเวลานั้น โดยที่ปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรี) วลาดิมีร์ ปูติน ได้ตอบโต้ด้วยการที่สภาดูมา (สภาล่าง) ของรัสเซีย ได้จัดการไต่สวนอยู่หลายครั้ง ในประเด็นเกี่ยวกับการรับรองเอกราชของ อับคาเซีย, เซาท์ออสซีเชีย, และ ทรานสนิสเตรีย สาธารณรัฐที่นิยมรัสเซียและต้องการแยกตัวเป็นอิสระในประเทศมอลโดวา

มอสโกโต้แย้งว่า หลักเหตุผลของฝ่ายตะวันตกที่ใช้ในกรณีของโคโซโว ควรที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับประชาคมชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ซึ่งก็กำลังแสวงหาทางทำให้ตนเองเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐที่วางตัวเป็นปรปักษ์ ถึงกลางเดือนเมษายน ปูตินยืนยันถึงความเป็นไปได้ในการให้การรับรองสาธารณรัฐที่ประกาศแยกตัวออกเป็นอิสระเหล่านี้ มันจึงเป็นการเล่นเกมหมากรุกภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคคอเคซัสอันทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพื่อกินเดิมพันที่สูงสุดๆ –นั่นคืออนาคตของรัสเซียเอง

ซาคัชวิลลีโทรศัพท์ถึงปูตินเพื่อเรียกร้องให้เขาถอนการตัดสินใจดังกล่าว เขาเตือนปูตินให้ระลึกไว้ว่าฝ่ายตะวันตกได้เลือกอยู่ข้างจอร์เจียแล้ว ในเดือนเมษายนนี้เอง ณ การประชุมระดับผู้นำของนาโต้ที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ได้เสนอให้ยอมรับจอร์เจีย เข้าสู่ “แผนปฏิบัติการเพื่อการเข้าเป็นสมาชิก” ของนาโต้ อันเป็นขั้นตอนที่จะต้องผ่านก่อนที่จะได้รับฐานะเป็นสมาชิกสมบูรณ์ขององค์การนี้ แต่แล้ววอชิงตันก็ต้องเซอร์ไพรซ์ เมื่อ 10 รัฐสมาชิกนาโต้ปฏิเสธไม่สนับสนุนแผนการของเขา โดยในจำนวนนี้รวมทั้ง เยอรมนี, ฝรั่งเศส, และอิตาลี

พวกเขาโต้แย้งว่า การยอมรับจอร์เจียเข้ามาจะก่อให้เกิดปัญหามาก เนื่องจากความขัดแย้งที่มีอยู่ในอับฮาเซีย และ เซาท์ออสซีเชีย หรือในทางเป็นจริงแล้วพวกเขากำลังบอกว่า พวกเขาไม่มีความปรารถนาที่จะหนุนหลังจอร์เจียในการต่อกรกับรัสเซีย เพราะตามมาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโต้ ระบุบ่งบอกไว้ชัดเจนว่า หากประเทศสมาชิกนาโต้หนึ่งใดถูกโจมตีด้วยกำลังอาวุธ จักต้องถือว่าเป็นการโจมตีต่อรัฐสมาชิกนาโต้ทั้งมวล และผลก็คือจำเป็นต้องใช้กองกำลังอาวุธร่วมกันของทุกชาติสมาชิกนาโต้ นั่นย่อมจะหมายความว่ายุโรปอาจต้องเผชิญกับการทำสงครามต่อสู้กับรัสเซีย สืบเนื่องจากสาธารณรัฐเล็กๆ ในภูมิภาคคอเคซัสอย่างจอร์เจีย ซึ่งปกครองโดยผู้เผด็จการที่คาดคำนวณแน่นอนไม่ได้อย่างซาคัชวิลี และหากสถานการณ์พัฒนาไปไกลถึงขนาดนั้น นั่นหมายถึงว่า ภูมิภาคคอเคซัสที่ยุ่งเหยิงปั่นป่วนอยู่แล้ว อาจจะกลายเป็นตัวกดชนวนทำให้สงครามโลกครั้งที่สามระเบิดขึ้นมา

รัสเซียนั้นคุกคามจอร์เจีย แต่จอร์เจียก็คุกคามอับฮาเซีย และเซาท์ออสซีเชีย รัสเซียดูเหมือนเป็นจระเข้ร้ายสำหรับจอร์เจีย แต่จอร์เจียก็ดูเหมือนอุ้งเล็บแมวของฝ่ายตะวันตกสำหรับรัสเซีย นับแต่ที่ซาคัชวิลีขึ้นครองอำนาจตอนปลายปี 2003 เพนตากอนก็ได้เข้าไปอยู่ในจอร์เจีย คอยให้ความช่วยเหลือและการฝึกอบรมทางทหาร เวลานี้ไม่เพียงเฉพาะบุคลาการทางทหารของสหรัฐฯเท่านั้นที่เคลื่อนไหวอย่างคึกคักอยู่ในจอร์เจีย “เดบคาไฟล์” (Debkafile) เว็บไซต์ด้านข่าวกรองทางทหารของอิสราเอลระบุว่า ในปี 2007 ซาคัชวิลี “ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาทางทหารจำนวนหลายร้อยคน หรือกระทั่งอาจจะถึง 1,000 คน จากพวกบริษัทด้านความมั่นคงปลอดภัยของภาคเอกชนอิสราเอล ไปฝึกอบรมกองทัพจอร์เจีย ในด้านยุทธวิธีสู้รบทั้งแบบหน่วยคอมมานโด, ทางอากาศ, ทางทะเล, การสู้รบด้วยยานหุ้มเกราะและปืนใหญ่”

แหล่งข่าวด้านข่าวกรองของอิสราเอลแห่งนี้รายงานต่อไปว่า “พวกเขายังกำลังให้คำแนะนำในเรื่องข่าวกรองทางทหารและความมั่นคงปลอดภัยสำหรับระบอบการปกครองส่วนกลาง ทบิลิซียังได้ซื้อหาอาวุธ, ข่าวกรอง, และระบบทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์ จากอิสราเอล ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าที่ปรึกษาเหล่านี้ได้เข้าเกี่ยวข้องพัวพันอย่างลึกซึ้ง ในการเตรียมพร้อมของกองทัพบกจอร์เจียเพื่อเข้าพิชิตเมืองหลวงเซาท์ออสซีเชียเมื่อวันศุกร์”

เดบคาไฟล์ยังรายงานว่า “มอสโกได้เรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกให้เยรูซาเลมยุติการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่จอร์เจีย ลงท้ายก็กำลังข่มขู่ว่าจะเกิดวิกฤตในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสอง ทางฝ่ายอิสราเอลได้ตอบโต้โดยกล่าวว่า ความช่วยเหลืออย่างเดียวที่ได้ให้แก่ทบิลิซีนั้น เป็นไปเพื่อ ‘การป้องกันตัว’ ”

แหล่งข่าวด้านข่าวกรองของอิสราเอลแห่งนี้กล่าวต่อไปว่า การที่อิสราเอลสนใจในจอร์เจีย ต้องเนื่องมาจากความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับท่อส่งน้ำมันจากแคสเปียนด้วยแน่นอน “เยรูซาเลมมีผลประโยชน์อย่างแข็งขัน ในการทำให้ท่อน้ำมันและก๊าซจากแคสเปียน ผ่านต่อไปจนถึงเมืองท่าเซย์ฮานของตุรกี แทนที่จะผ่านไปในเครือข่ายท่อส่งของรัสเซีย มีการเคลื่อนไหวเจรจากันอย่างเข้มข้น ระหว่างอิสราเอล, ตุรกี, จอร์เจีย, เติร์กเมนิสถาน, และอาร์เซอร์ไบจัน ในเรื่องการต่อท่อให้ไปถึงตุรกี และจากนั้นก็มาถึงศูนย์ขนถ่ายน้ำมันของอิสราเอลที่ แอชเคลอน ตลอดจนเมืองเอแลต อันเป็นเมืองท่าริมทะเลแดงของอิสราเอล แล้วจากตรงนั้น เรือบรรทุกน้ำมันและก๊าซขนาดยักษ์ ก็จะบรรทุกก๊าซและน้ำมันไปยังตะวันออกไกล ผ่านทางมหาสมุทรอินเดีย”

นี่หมายความว่าการโจมตีชิงเซาท์ออสซีเชีย เป็นสมรภูมิแห่งแรกในสงครามตัวแทนครั้งใหม่ ระหว่างกลุ่มผู้ประโยชน์ที่นำโดยพวกแองโกลอเมริกัน-อิสราเอล กับทางรัสเซีย คำถามเพียงประการเดียวมีอยู่ว่า วอชิงตันคาดคำนวณอย่างผิดพลาดไปหรือเปล่า เกี่ยวกับความรวดเร็วและความดุเดือดเข้มข้นในปฏิกิริยาตอบโต้ของรัสเซียต่อการโจมตีของจอร์เจียเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม

จวบจนถึงเวลานี้ แต่ละย่างก้าวในละครโรงใหญ่แห่งภูมิภาคคอเคซัส ต่างได้ทำให้ความขัดแย้งนี้ไต่ระดับขึ้นสู่อันตรายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย่างก้าวต่อไปจะไม่เพียงจำกัดอยู่แค่เฉพาะคอเคซัส หรือกระทั่งเฉพาะยุโรปอีกแล้ว ในปี 1914 มันเป็นเพราะ “เสียงปืนแห่งเดือนสิงหาคม” ซึ่งจุดชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในคราวนี้ “เสียงปืนแห่งเดือนสิงหาคม” 2008 อาจจะกลายเป็นเครื่องจุดระเบิดของสงครามโลกครั้งที่ 3 และความหฤโหดเหลือที่จะบรรยายจากการทำลายล้างโลกด้วยนิวเคลียร์

ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกยังไม่ได้ตระหนักกันเลยว่า ความขัดแย้งเกี่ยวกับ 2 แคว้นเล็กๆ ในพื้นที่อันห่างไกลของยูเรเชีย กำลังกลายเป็นอันตรายใหญ่หลวงขนาดไหนแล้ว สิ่งที่ขาดหายไปจากการเสนอข่าวของสื่อส่วนใหญ่ก็คือ บริบทด้านความมั่นคงทางทหารในเชิงยุทธศาสตร์ของกรณีพิพาทในภูมิภาคคอเคซัสคราวนี้

ตั้งแต่สงครามเย็นยุติลงเมื่อตอนเริ่มต้นทศวรรษ 1990 นาโต้ หรือถ้าพูดกันให้ตรงจุดที่สุดก็คือวอชิงตัน ได้มุ่งแสวงหาอย่างเป็นระบบ ในสิ่งที่พวกนักยุทธศาสตร์ทางการทหารเรียกกันว่า การครองความเป็นหนึ่งทางด้านนิวเคลียร์ พูดอย่างง่ายๆ ได้ดังนี้ ถ้ามหาอำนาจนิวเคลียร์ที่เป็นปรปักษ์กันอยู่ 2 ราย เกิดมีรายหนึ่งสามารถพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธที่สามารถใช้งานได้ขึ้นมาก่อน แม้กระทั่งอยู่ในขั้นที่ยังแค่หยาบๆ เบื้องต้น แต่นั่นก็สามารถที่จะบั่นทอนสมรรถนะแห่งการโจมตีตอบโต้จากคลังแสงนิวเคลียร์ของปรปักษ์อีกฝ่ายหนึ่งลงได้อย่างมากมายแล้ว และฝ่ายที่มีระบบป้องกันขีปนาวุธก็จะเป็นฝ่าย “ชนะ” ในสงครามนิวเคลียร์

แม้แนวคิดนี้ยังมีข้อสงสัยข้องใจกันอยู่มาก ทว่ามันก็กลายเป็นนโยบายของเพนตากอนอย่างเปิดเผย ตลอดยุคสมัยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3 คนหลังสุด ไล่ตั้งแต่บุชผู้บิดา เอช ดับเบิลยู บุช ในปี 1990 มาจนถึง บิลล์ คลินตัน และ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเดินหน้านโยบายนี้อย่างมุ่งมั่นแข็งกร้าวกว่าเพื่อน นี่เป็นประเด็นที่รัสเซียได้ขีดเส้นเอาไว้บนทรายอย่างลึกมากๆ เพื่อเป็นการปรามสหรัฐฯว่าอย่าฝ่าข้ามเข้ามา

ความพยายามอย่างแข็งขันของสหรัฐฯที่ผลักดันจอร์เจียตลอดจนยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ย่อมทำให้รัสเซียมองว่าปีศาจร้ายของนาโต้กำลังย่างสามขุมเข้ามาถึงหน้าประตูบ้านของตัวเองแล้ว อันเป็นภัยคุกคามทางการทหารที่ก้าวร้าวอย่างสุดๆ และรับไม่ได้เลยสำหรับความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย

นี่เองที่ทำให้การสู้รบที่ดูไม่โดดเด่นอะไร เพื่อมุ่งชิง 2 แคว้นซึ่งมีขนาดเล็กพอๆ กับประเทศลักเซมเบิร์ก มีศักยภาพที่จะกลายเป็นเหมือนกรณีลอบสังหารมกุฏราชกุมารจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ในเมืองซาราเจโวเมื่อปี 1914 อันเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งแรก

แต่สำหรับการจุดชนวนคราวนี้ มันอาจจะเกิดเป็นสงครามโลกครั้งใหม่ที่เป็นสงครามนิวเคลียร์ สืบเนื่องจากฝ่ายต่างๆ ก็คาดคำนวณประเมินฝ่ายอื่นๆ อย่างผิดพลาด ชนวนสำหรับสงครามดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องสิทธิของจอร์เจียที่จะผนวกดินแดนเซาท์ออสซีเชียและอับฮาเซียกลับคืนไป แต่มันก็คือการที่สหรัฐฯยังคงยืนกรานผลักดันนาโต้ตลอดจนระบบป้องกันขีปนาวุธของตน ให้แผ่ขยายไปจนถึงประตูหน้าบ้านรัสเซียต่างหาก

เอฟ วิลเลียม เองดาห์ล เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order (Pluto Press) และ Seeds of Destruction: The Hidden Agenda of Genetic Manipulation (www.globalresearch.ca) สามารถที่จะติดต่อเขาได้ผ่านทางเว็บไซต์ของเขา www.engdahl.oilgeopolitics.net
กำลังโหลดความคิดเห็น