xs
xsm
sm
md
lg

การสิ้นสุดของยุคหลังสงครามเย็น (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

The end of the post-Cold War era
By M K Bhadrakumar
12/08/2008

สหรัฐฯกำลังใช้ความพยายามอย่างระมัดระวัง เพื่อปลูกฝังความคิดเห็นเอาไว้ตามบรรดาเมืองหลวงของโลกตะวันตก โดยมุ่งให้เห็นไปว่า รัสเซียกำลัง “ข่มเหงรังแก” จอร์เจีย ความมุ่งหมายของการกระทำเช่นนี้ ก็คือเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ความพยายามของวอชิงตันที่จะโน้มน้าวให้จอร์เจียได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ในทางกลับกัน เมื่อทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ ย่อมจะส่งผลเอื้ออำนวยแก่การติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯเอาไว้ที่บริเวณชายแดนของรัสเซีย ดังนั้น ถ้าหากมอสโกยังคงมัวทำเฉยอยู่ ภูมิภาคคอเคซัสก็อาจจะกลายเป็น “บาดแผลที่เลือดไหลออกไม่หยุด” ของรัสเซีย

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ณ วันที่จีนจัดการจุดพลุและดอกไม้ไฟ อีกทั้งบุกเบิกพรมแดนใหม่ๆ สำหรับการแสดงอันน่าตื่นตาตื่นใจในระดับโลก โดยที่มีผู้นำของทั่วพื้นพิภพประมาณ 80 คนไปเฝ้าชมและเฝ้าเชียร์ พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปักกิ่ง ย่อมสมควรที่จะได้เป็นข่าวนำสำหรับรายงานข่าวประจำวันศุกร์(8)วันนั้น ทว่าเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นในภูมิภาคคอเคซัสกลับสอดแทรกเข้าชิงความสำคัญนี้ไปเสียฉิบ

การสังหารผู้คนนับพันๆ คนในแคว้นเซาท์ออสซีเชีย ที่ได้ประกาศแยกตัวเป็นอิสระจากจอร์เจีย จะต้องเป็นช่วงเวลาที่กลายเป็นหลักหมายหนึ่งในความสัมพันธ์ของรัสเซียยุคหลังสหภาพโซเวียต กับฝ่ายตะวันตกทีเดียว การโจมตีของจอร์เจียต่อซ์ออสซีเชียในวันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม มีเจตนาที่จะใช้เป็นการยั่วยุ การโจมตีดังกล่าวมีทหารรัสเซียตายไป 13 คน และบาดเจ็บ 150 คน รวมทั้งผลาญชีวิตพลเรือนไป 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเมืองรัสเซีย นครซฮินวาลี เมืองหลวงของเซาท์ออสซีเชีย ถูกทำลายยับเยิน มีผู้อพยพกว่า 30,000 คนข้ามพรมแดนเข้าไปในรัสเซีย

วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนใต้ของภูมิภาคคอเคซัสคราวนี้ ได้ก่อตัวคุกรุ่นขึ้นอย่างช้าๆ นับตั้งแต่ที่ โคโซโว จังหวัดที่แยกตัวออกเป็นอิสระของเซอร์เบีย ได้ประกาศตัวเป็นประเทศเอกราชในเดือนกุมภาพันธ์ โดยที่เมื่อถึงเดือนสิงหาคม ก็มี 45 ประเทศทำตามคำชักชวนเกลี้ยกล่อมของสหรัฐฯ แถลงให้การรับรองแก่โคโซโว ในจำนวนนี้รวมทั้งพวกมหาอำนาจสำคัญในยุโรปอย่าง ฝรั่งเศส, เยอรมนี, และสหราชอาณาจักร เป็นที่คาดหมายกันว่ารัสเซียจะตอบโต้แก้เผ็ด ด้วยการอุปถัมภ์การประกาศแยกดินแดนในจอร์เจียและมอลโดวา ทว่าตรงกันข้ามกับเสียงคาดหมาย รัสเซียกลับยึดมั่นนโยบายอันเฉียบคม ด้วยการเดินหน้าเรียกร้องรวบรวมความคิดเห็นในทั่วโลก ให้ช่วยกันคัดค้านการเมืองที่ส่งเสริมลัทธิแบ่งแยกดินแดน

มองกันในทางยุทธวิธี การเดินนโยบายเช่นนี้เหมาะสมสำหรับรัสเซีย ในการทำให้จอร์เจียยังคงเกิดความหวังว่า จากท่าทีมี “ไมตรีจิต” ของรัสเซียเช่นนี้ ในที่สุดแล้วก็อาจสามารถทำความตกลงแก้ไขปัญหากับพวกแคว้นของจอร์เจียเองที่ประกาศแยกตัวเป็นอิสระ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มอสโกหวังที่จะใช้การดำเนินการทางการทูตเช่นนี้ เพื่อทำให้จอร์เจียต้องแสดงการตอบแทนต่อ “ไมตรีจิต” ของรัสเซีย และแสดงสปิริตแห่งการรอมชอม หากแปลความออกมาให้ง่ายๆ ชัดๆ มอสโกนั้นถือว่าการแสดงท่าทีของตนเช่นนี้เป็นเรื่องของการยื่นหมูยื่นแมว โดยที่กรุงทบิลิซิก็ควรจะต้องเข้าใจและคำนึงถึงผลประโยชน์อันละเอียดอ่อนของรัสเซียในภูมิภาคคอเคซัส

ภายในแวดวงเจ้าหน้าที่คณะรัฐบาลและทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียในวังเครมลิน ยังคงปรากฏความคิดเห็นอย่างหนึ่งที่มีน้ำหนักอิทธิพลอยู่ไม่น้อย ความคิดเห็นนั้นเสนอว่าแม้กระทั่งภายหลังการปฏิวัติ “สี[กุหลาบ]” ในเดือนพฤศจิกายน 2003 ก็ใช่ว่าได้สูญเสียจอร์เจียไปให้แก่สหรัฐฯอย่างชนิดไม่มีวันกอบกู้กลับคืนมาได้แล้ว และหากใช้ความอดทนและปฏิภาณไหวพริบ รวมทั้งการใช้ปัจจัยในด้านสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, และเศรษฐกิจ ด้วยความสุขุมรอบคอบแล้ว กรุงทบิลิซิก็ยังอาจจะรู้สึกซาบซึ้งใจขึ้นมาได้ว่า การมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับมอสโกนั้นคือผลประโยชน์ในระยะยาวไกล อันที่จริงแล้ว ความคิดเห็นทำนองนี้ก็ปรากฏอยู่ในทลิบิซิเช่นเดียวกัน (แม้จะอยู่ในสภาพค่อนข้างปิดเงียบมากกว่าก็ตาม) โดยเสนอแนะกันว่า อนาคตของจอร์เจียไม่สามารถที่จะเดินไปบนเส้นทางที่เป็นศัตรูกับรัสเซียได้ และระบอบการปกครองของประธานาธิบดี มิเฮอิล ซาคัชวิลี ก็กำลังมีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนแก้ไขทิศทางกันอยู่แล้ว

เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจและภาวะไร้กฎหมายขื่อแปในจอร์เจีย ทำท่าขยายตัวหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงระยะหลังๆ มานี้ การทูตของรัสเซียในกรุงทบิลิซิก็ได้เริ่มเปลี่ยนเป็นเกียร์สูง เพื่อเร่งเครื่องกระตุ้นสนับสนุนฝ่ายที่ต้องการให้มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับมอสโก จวบจนถึงจุดตรงนั้น ต้องถือว่ารัสเซียกำลังดำเนินงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทว่ามอสโกกลับมีความผิดพลาดตรงที่ไม่มองสถานการณ์จากมุมมองของซาคัชวิลี เพราะเมื่อระบอบการปกครองเผด็จการรวบอำนาจของเขา เป็นที่เกลียดชังของประชาชนเพิ่มขึ้นทุกที อีกทั้งเศษซากของการไร้ธรรมาภิบาล, การทุจริตฉ้อโกง, และการรับสินบน เริ่มที่จะสั่งสมเป็นกองโตขึ้นทุกขณะ มันก็คุ้มค่าที่เขาจะก่อกระแสต่อต้านต่างชาติขึ้นมา เพื่อการนี้ รัสเซียย่อมเป็นเป้าหมายที่ดีเลิศที่สุด เนื่องจากไม่มีอะไรอีกแล้วที่สามารถโหมกระพืออารมณ์ความรู้สึกของชาวจอร์เจีย ได้มากกว่าประเด็นปัญหาเรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำไมมอสโกจึงประท้วง เมื่อเริ่มทราบมาว่าด้วยการสนับสนุนเสริมส่งจากวอชิงตัน กรุงทลิบิซิกำลังดำเนินแผนการเพิ่มงบประมาณทางทหารของตนเองขึ้นอย่างมโหฬารถึง 30 เท่าตัว ความเคลื่อนไหวของจอร์เจียนี้ยังสอดประสานไปกับการที่สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการฝึกอบรมกองทัพจอร์เจีย มอสโกจึงเริ่มตั้งคำถามแบบยิงตรงประเด็นว่า ทลิบิซิทำเช่นนี้โดยวาดภาพไว้ว่าจะทำสงครามกับใครหรือ

มอสโกได้ยื่นเสนอให้ทำข้อตกลงซึ่งผูกมัดให้ผู้มีบทบาทสำคัญทุกฝ่าย ต้องให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้กำลังในการแก้ไขกรณีพิพาท ทว่าทบิลิซิยืนกรานไม่ยินยอมทำข้อตกลงแบบนี้ ส่วนวอชิงตันก็ไม่มีทีท่าจะออกแรงกดดันให้ทบิลิซิยอมลงนามเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น วอชิงตันยังหลับตาทำไม่รู้ไม่เห็นเมื่อเริ่มมีการลำเลียงอาวุธอย่างลับๆ ทะลักเข้าสู่ทบิลิซิ ต่อมาในเดือนกรกฎาคม กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเป็นผู้ออกเงินทุนจัดการซ้อมรบกับจอร์เจีย แต่เมื่อหวนย้อนทบทวนถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา ข้อสรุปดูจะออกมาว่า จุดพลิกผันสำคัญนั้นบังเกิดขึ้นจากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ คอนโดลิซซา ไรซ์ ไปเยือนทบิลิซิ ในเดือนที่แล้ว

ซาคัชวิลีดูจะได้รับแรงบันดาลใจจากคำแถลงของไรซ์ ซึ่งรับรองเห็นชอบการเรียกร้องขอเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ของจอร์เจีย อีกทั้งยังหนุนหลังอย่างเปิดเผยต่อจุดยืนของจอร์เจียในการแสดงท่าทีแข็งกร้าวประจันหน้ากับรัสเซีย มันยังเป็นประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไปว่า ซาคัชวิลีสรุปเอาเองตามอำเภอใจจากท่าทีทางการทูตของไรซ์ หรือว่านี่เป็นผลจากการทำความตกลงกันอย่างเป็นนัยๆ ระหว่างวอชิงตันกับทบิลิซิ

แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เห็นชัดเจนคือซาคัชวิลีได้กระโจนเข้าสู่สงครามภายในเวลา 1 เดือนหลังการเยือนทบิลิซิของไรซ์ และเขาทำศึกคราวนี้โดยเลือกจังหวะเวลาได้อย่างไม่มีที่ติ นั่นคือ เป็นขณะที่ประธานาธิบดีรัสเซีย ดมิตรี เมดเวเดฟ กำลังพักผ่อนช่วงฤดูร้อน และนายกรัฐมนตรีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ได้ออกจากกรุงมอสโกเพื่อไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เมื่อพิจารณากันอย่างรอบด้านแล้ว มันไม่สามารถคาดคิดไปได้หรอกว่าวอชิงตันไม่ได้รู้เรื่องอะไรเอาเลยว่า หัวสมองของซาคัชวิลีกำลังคิดทำอะไรอยู่

เราย่อมเกิดความรู้สึกเหมือนกับกำลังอยู่ในเครื่องจักรไทม์แมชชีน ย้อนหลังกลับไปสู่ยุคสงครามเย็น พวกจอมบงการในกรุงวอชิงตันขณะนี้จะต้องคอยจับตามองว่า วังเครมลินภายใต้การนำของเมดเวเดฟจะรับมือกับวิกฤตคราวนี้อย่างไร พวกเขาจะมองหาร่อยรอยข้อพิสูจน์ว่าเขามีกำปั้นเหล็กและเส้นประสาทใยเหล็กกล้าเหมือนปูตินหรือไม่ เมื่อตอนที่ปูตินขึ้นครองอำนาจในปี 2000 การทดสอบทำนองเดียวกันนี้ก็รอคอยเขาอยู่ที่เชชเนีย เมดเดเวฟทำท่าว่าพร้อมที่จะทำสิ่งที่รัสเซียต้องทำ ทว่านี่เท่ากับว่าเวลาได้มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว ลมหนาวยะเยือกกำลังเริ่มพัดกรรโชกใส่ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันออกกับตะวันตกเสียแล้ว

อันที่จริงแล้ว คำถามยังคงมีอยู่ว่า รัสเซียมีหนทางอะไรให้เลือกได้บ้าง รัสเซียนั้นจำเป็นที่จะต้องหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความหายนะทางมนุษยธรรมครั้งมโหฬาร ในเมื่อพลเรือนชาวออสซีเชียจำนวนหลายพันคน ยังคงถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังที่เกิดจากการเข้าโจมตีด้วยกำลังขนาดใหญ่ของจอร์เจีย โดยใช้ทั้งรถถัง, เครื่องบินรบ, ปืนใหญ่ขนาดหนัก, และกองทหารราบ ขณะเดียวกัน รัสเซียก็ต้องทำสิ่งเหล่านี้ในสภาพที่เหมือนมือข้างหนึ่งถูกมัดเอาไว้ข้างหนึ่ง เพราะยังต้องเผชิญกับการโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตะวันตกที่ไม่ค่อยยอมเลิกรา

สแตรทฟอร์ (Stratfor) สำนักศึกษาวิจัยที่มักสะท้อนความคิดเห็นของประชาคมข่าวกรองของสหรัฐฯ ได้ให้ภาพออกมาเรียบร้อยแล้วว่า “ช่วงขณะแห่งการชี้ชะตา” (defining moment) ของยุคหลังสงครามเย็น (post-Cold War era) กำลังมาถึงแล้ว และโลกกำลังเป็นประจักษ์พยาน “การแทรกแซงครั้งสำคัญครั้งแรกของรัสเซีย นับแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต [ในปี 1991]” สแตรทฟอร์วาดภาพว่า พวกประเทศที่เคยเป็นอดีตสาธารณรัฐในสหภาพโซเวียตและมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ถึงเวลานี้จะต้อง “หวาดผวาถึงสิ่งที่พวกเขาจะต้องเผชิญต่อไปในระยะยาวไกล”

ทบิลิซิเองก็เปลี่ยนกลับไปอาศัยถ้อยคำโวหารเช่นกัน ประธานาธิบดี ซาคัชวิลี ของจอร์เจียผู้ผ่านการศึกษาจากสหรัฐฯกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับจอร์เจียอีกต่อไปแล้ว มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอเมริกา เกี่ยวกับค่านิยมทั้งหลายของอเมริกา” ไกลออกไปในกรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ซึ่งไปร่วมชมกีฬาโอลิมปิกอยู่ที่นั่น ก็รีบแสดงความเห็นพ้อง

บุชบอกว่า เขารู้สึก “กังวลอย่างยิ่ง” และว่าการเข้าแทรกแซงในจอร์เจียของรัสเซีย เป็น “การยกระดับความรุนแรงที่อันตรายมาก ... เป็นอันตรายต่อสันติภาพของภูมิภาค” เขากล่าวต่อไปว่า “เราเรียกร้องให้รัสเซียยุติการโจมตีทิ้งระเบิด และขอให้ฝ่ายต่างๆ หวนกลับไปสู่สถานะเดิมของเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม”

ทว่าเมื่อตอนที่ความรุนแรงระเบิดขึ้นนั้น รัสเซียได้เคยพยายามให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกคำแถลงเรียกร้องให้จอร์เจียและเซาท์ออสซีเชียวางอาวุธโดยทันที อย่างไรก็ตาม วอชิงตันไม่มีอาการสนอกสนใจอะไร ดังที่เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำยูเอ็น วีตาลี ชุร์คิน กล่าวว่า ภายในคณะมนตรีความมั่นคงนั้น “ปราศจากเจตนารมณ์ทางการเมือง” ที่จะทำอะไรในเรื่องนี้ ดูเหมือนว่าวอชิงตันคาดหวังไว้ด้วยว่า จะสามารถทำให้เกิดการยื่นหมูยื่นแมวกัน กับการให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นผ่านญัตติฉบับใหม่ที่จะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอย่างดุดันยิ่งขึ้นต่ออิหร่าน โดยที่เรื่องหลังนี้เป็นสิ่งที่สหรัฐฯกำลังผลักอยู่อยู่ แต่รัสเซียต่อต้านคัดค้านเรื่อยมา

แผนการเล่นเกมของสหรัฐฯเป็นอย่างไร เริ่มต้นเลยต้องเข้าใจก่อนว่า ซาคัชวิลีเป็นดอกผลของ “การปฏิวัติสี[กุหลาบ]” ในจอร์เจีย โดยที่การปฏิวัติในปี 2003 คราวนั้นได้รับเงินทุนสนับสนุนและกำกับเวทีโดยสหรัฐฯ ทั้งนี้จอร์เจียและดินแดนตอนใต้ของคอเคซัส ถือเป็นดินแดนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับสหรัฐฯ เนื่องจากวอชิงตันต้องคอยกางขาคร่อมเส้นทางขนส่งพลังงานที่มีการสัญจรหนาแน่น อย่างเช่น มหาสมุทรอินเดีย หรืออ่าวเปอร์เซีย ขณะที่ดินแดนบริเวณนี้สามารถที่จะใช้เป็นจุดสกัดได้เป็นอย่างดี พูดง่ายๆ ก็คือ หากสามารถควบคุมจอร์เจียและคอเคซัสตอนใต้เอาไว้เป็นเขตอิทธิพลได้ ย่อมจะทำให้สหรัฐฯเกิดความได้เปรียบอย่างสูง ในการเดินหน้าแสวงหาผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในย่านยูเรเชีย ด้วยเหตุนี้ การผลักดันอิทธิพลรัสเซียให้ถดถอยไป จึงกลายเป็นวัตถุประสงค์ที่สหรัฐฯมุ่งมาตรปรารถนา

ความขัดแย้งในคอเคคัสที่กำลังปรากฏให้เห็นอยู่ในเวลานี้ แกนกลางของมันก็คือเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ทางด้านพลังงานนั่นเอง สหรัฐฯเป็นฝ่ายพลาดท่าเสียทีครั้งใหญ่หลายต่อหลายครั้งในระยะสองปีที่ผ่านมา ในเกมสำคัญเพื่อครองแหล่งพลังงานในแถบทะเลสาบแคสเปียน ความสำเร็จของมอสโกที่ทำให้เติร์กเมนิสถานยอมตกลงในสิ่งที่เสมือนกับสัญญาให้ “กาซปรอม” ยักษ์ใหญ่พลังงานของรัสเซีย เป็นผู้ส่งออกก๊าซทั้งหมดที่ประเทศนี้ผลิตได้ ยังคงเป็นการกระหน่ำโจมตีชนิดสุดเจ็บต่อการดำเนินหมากกลทางการทูตด้านพลังงานของสหรัฐฯ ทำนองเดียวกัน สหรัฐฯก็ล้มเหลวไม่สามารถทำให้คาซัคสถานโยนทิ้งสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่มีอยู่กับรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนเส้นทางส่งออกน้ำมันของคาซัคสถาน ซึ่งที่สำคัญแล้วเป็นการลำเลียงผ่านท่อน้ำมันของรัสเซีย

ความล้มเหลวเหล่านี้ส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดความไม่แน่อนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของโครงการท่อส่งสาย บากู-ทบิลิซิ-เซย์ฮาน ซึ่งมีการลงแรงวิ่งเต้นกันมากเหลือเกิน และได้ทำสัญญาว่าจ้างกันเมื่อปี 2005 โดยสหรัฐฯเป็นผู้ออกเงินทุนพร้อมกับให้การสนับสนุนในทางการเมืองอย่างเปิดเผย ทำนองเดียวกัน การที่รัสเซียเสนอโครงการวางท่อส่งก๊าซสาย เซาท์ สตรีม (South Stream) ที่มุ่งหมายจะขนส่งก๊าซของรัสเซียและย่านแคสเปียน ไปสู่คาบสมุทรบอลข่านและประเทศยุโรปใต้ ขณะที่โครงการสร้างท่อส่งก๊าซนาบุคโค (Nabucco) ซึ่งสหรัฐฯเป็นผู้อุปถัมภ์ (และเมื่อพูดกันอย่างกว้างๆ แล้ว เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์อันเดียวกันกับโครงการเซาท์ สตรีม ของรัสเซียนั่นเอง) กลับทำท่าว่าจะประสบความล้มเหลวไปไม่รอด ก็ต้องถือเป็นความปราชัยสำหรับวอชิงตันเช่นกัน

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยทำงานเป็นนักการทูตอาชีพของกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เขาเคยไปประจำตามประเทศต่างๆ จำนวนมาก อาทิ สหภาพโซเวียต, เกาหลีใต้, ศรีลังกา, เยอรมนี, อัฟกานิสถาน, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน, คูเวต, และตุรกี

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)

  • การสิ้นสุดของยุคหลังสงครามเย็น (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น