xs
xsm
sm
md
lg

จีนสยายปีกรุกมหาสมุทรอินเดีย เจ้าถิ่นเร่งจับมือมะกันพร้อมต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่ทหารจีน-อินเดียจับมือแสดงไมตรีต่อกันระหว่างการฝึกซ้อมร่วมที่มณฑลหยุนหนัน (ยูนนาน) เมื่อปี 2007 - เอเยนซี
เอเยนซี – พญามังกรทุ่มเงินมหาศาลช่วยพัฒนาท่าเรือศรีลังกา หวังขยายอำนาจทางนาวีสู่มหาสุทรอินเดีย ด้านเจ้าถิ่นอินเดียหวั่นอิทธิพลจีนขยายมากเกินไป กังวลกระเทือนความมั่นคงทางยุทธศาตร์และพลังงาน

เมื่อปี 2007 การท่าเรือศรีลังกาได้ลงนามข้อตกลงร่วมกับบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง และซิโน ไฮโดร คอร์ปอเรชั่นเพื่อก่อสร้างท่าเรือ ฮัมบันโตตา ทางตอนใต้สุดของประเทศศรีลังกา โครงการทั้งหมดมีมูลค่าอยู่ที่ราว 360 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ช่วงเฟสแรกของโครงการนี้ จะมีการสร้างท่าเรืออุตสาหกรรม ซึ่งมีท่าเทียบเรือขนาด 300 เมตร และสถานีขนถ่ายน้ำมันที่ ฮัมบันโตตา จากนั้นจะมีการขยายไปเป็นท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ ในการก่อสร้างขั้นตอนต่อไป เพื่อรับรองขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ราว 20 ล้านตู้ต่อปีคาดว่าโครงการแรกจะเสร็จสิ้นภายใน 3 ปี และโครงการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายใน 15 ปี

ดูเผินๆแล้วความร่วมมือดังกล่าวน่าจะเป็นเรื่องการค้าล้วนๆ และไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองมากนัก ทว่าโครงการสร้างท่าเรือดังกล่าว เป็นเพียงเศษชิ้นส่วนเล็กๆของภาพความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่

บริเวณมหาสมุทรอินเดียเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ ที่แต่ละปีจะมีขบวนเรือบรรทุกน้ำมันและสินค้าแล่นผ่านเป็นจำนวนมาก โดยขบวนเรือบรรทุกน้ำมันจากตะวันออกกลางที่ผ่านบริเวณนี้เป็นเส้นเลือดหลัก ที่หล่อเลี้ยงความต้องการพลังงานของประเทศในแถบเอเชีย เหตุไม่คาดฝันใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นในท้องทะเลแห่งนี้ ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอาทิ ข่าวเรือบรรทุกน้ำมันญี่ปุ่นถูกโจมตีขณะแล่นผ่านมหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนเมษายน ก็กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกพุ่งกระฉูด

แต่เดิมบริเวณนี้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของนาวีอเมริกัน ทว่าเมื่อจีนและอินเดียเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในเวทีโลกมากขึ้น ทั้งสองฝ่ายต่างแข่งขัน แผ่อิทธิพลทางการเมืองเหนือน่านน้ำมหาสุทรอินเดีย ที่ซึ่งปริมาณความต้องการน้ำมันกว่า 80% ของจีน และ 65% ของอินเดีย ล้วนได้มาจากเรือที่แล่นผ่านบริเวณนี้ทั้งสิ้น

จีนได้ทุ่มเทให้ความช่วยเหลือจำนวนมากกับชาติต่างๆแถบมหาสมุทรอินเดีย ด้วยการเจริญสัมพันธไมตรี และช่วยเหลือสร้างท่าเรือในประเทศปากีสถาน, บังคลาเทศ และศรีลังกา นอกจากนี้ยังมีข่าวเสมอมาว่า จีนใช้หมู่เกาะโคโค ในทะเลอันดามันของพม่าเป็นที่ตั้งสถานีรวบรวมข่าวกรองทางการสื่อสาร โดยมุ่งเป้าหมายต่ออินเดีย เท่ากับว่าจีนได้ค่อยๆรุกเข้ามาปิดล้อมอินเดีย

อินเดียเองก็อาศัยทุนทรัพย์ที่ได้มาจากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ขยายอำนาจทางทหาร พร้อมทุ่มให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นๆในแถบนี้ อาทิ พม่าแข่งกับจีน โดยความพยายามของอินเดียได้รับแรงสนับสนุนจากวอชิงตันและโตเกียว ทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่นต่างหวังว่า อินเดียจะเป็นไพ่ใบสำคัญสำหรับการถ่วงดุลอำนาจจีน

เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างท่าเรือในประเทศอื่น ท่าเรือฮัมบันโตตา ที่ศรีลังกา ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ก็ถูกอินเดียตั้งคำถามว่ามีวาระซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังหรือไม่?

หากพิจารณาสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทั้งจีนและอินเดียกำลังเพลิดเพลินไปกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แถมการค้าระหว่างสองประเทศเมื่อปี 2007 ก็สูงถึง 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้กองทัพของทั้งสองประเทศยังได้ฝึกซ้อมร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่ชื่นมื่นนี้ต่างกับประสบการณ์ในปี 1962 ที่กองทัพจีนกับอินเดียต้องปะทะกันด้วยความขัดแย้งทางพรมแดน

แม้ภายนอกอาจดูว่าความสัมพันธ์จีน-อินเดียดำเนินไปอย่างสงบไร้คลื่นลม ทว่าลึกๆแล้วอินเดียก็ยังกังวลกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้น

ผู้บังคับบัญชากองทัพเรืออินเดียกล่าวว่า “อิทธิพลของจีนที่ปรากฏขึ้นแต่ละที่ เหมือนมุกแต่ละเม็ด ที่ค่อยๆถูกร้อยเรียงเข้าเป็นสร้อยวงหนึ่ง กองเรือจีนที่ปรากฏตัวตามท่าเรือที่จีนช่วยสร้างนี้ จะกลายเป็นกองกำลังที่เข้ามาควบคุมเส้นทางหลักในการขนส่งพลังงานของโลก”

ขณะเดียวกัน บี. รามาน อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองอินเดียแสดงความกังวลว่า ท่าเรือเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางทหาร “เราไม่ควรประมาทสรุปว่า การสร้างท่าเรือเหล่านี้ไม่มีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง” รามานกล่าว

ภูมิประเทศของศรีลังกาที่เป็นเกาะ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเป็นศูนย์กลางขนส่งสินค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย เจ้าหน้าที่ศรีลังการะบุว่า การสร้างท่าเรือที่ฮัมบันโตตาเป็นสิ่งจำเป็น เพราะท่าเรือที่โคลัมโบก็ถึงขีดจำกัดขยายไม่ได้แล้ว ส่วนที่ตรินโคมาลีก็ประสบปัญหาเป็นพื้นที่สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาล กับกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม นอกจากนี้ที่ท่าเรือแห่งใหม่ยังจะมีการสร้างโรงงานผลิตซีเมนต์และปุ๋ยสำหรับส่งออก

เมื่ออินเดียโต้กลับ

อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ชี้ว่า อินเดียก็ไม่ได้อยู่เฉย มีการแผ่อิทธิพลทางทหารออกไปข้างนอก อินเดียได้ตั้งสถานีรวบรวมข่าวกรองทางการสื่อสารที่โมซัมบิคและมาดากัสการ์ โดยมีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อสังเกตการณ์จีน นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า อินเดียแผ่อิทธิพลเข้าไปตั้งฐานทัพอากาศในคาซัคสถาน และศูนย์สังเกตการณ์อวกาศในมองโกเลีย ประเทศเพื่อนบ้านของจีน

นอกจากนี้อินเดียยังประกาศแผนว่า จะมีเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองภายใน 10 ปี ล่าสุดไม่นานนี้อินเดียยังได้ทดลองศักยภาพของขีปนาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งมีพิสัยไกลสามารถทำลายเมืองสำคัญๆของจีน นอกจากยังมีการเปิดใช้งานฐานทัพอากาศติดพรมแดนจีนที่หยุดใช้งานมานาน

ทางด้านสหรัฐฯก็ได้เพิ่มการซ้อมรบกับกองทัพอินเดีย แถมยังขายเรือรบรุ่น USS Trenton ระวาง 17,000 ตันให้กับอินเดียเพื่อที่จะสนับสนุนอินเดียคานอิทธิพลจีน นอกจากนี้บรรดาบริษัทค้าอาวุธอเมริกันที่เคยนิ่งเฉย ไม่สังฆกรรมกับอินเดียช่วงสงครามเย็น ณ ปัจจุบันก็หันมาค้าอาวุธให้กับอินเดียอย่างเต็มที่

เอียน สตอเรย์ แห่งสถาบันอุษาคเนย์ศึกษาในสิงคโปร์ระบุว่า จีนกังวลกับความร่วมมือระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ เมื่อปี 2007 ทางฝ่ายจีนได้ส่งสัญญาณทางการทูต แสดงจุดยืนต่อต้านการซ้อมรบระหว่างอินเดียกับชาติต่างๆอาทิ ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, สิงคโปร์ และออสเตรเลีย

นอกจากนี้ทั้งจีนและอินเดียต่างแข่งกันเพิ่มงบประมาณทางทหารปีต่อปี เมื่อปี 2007 งบประมาณทางทหารของอินเดียอยู่ที่ราว 21,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2006 7.8% ขณะที่จีนระบุว่า จะเพิ่มงบประมาณปี 2008 ขึ้นอีก 17.6% เป็น 59,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

แม้นักวิเคราะห์จะเชื่อว่า การพัฒนากองทัพเรือของจีนมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้านอิทธิพลของอเมริกัน ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน ทว่าอินเดียก็เร่งพัฒนากองเรือของตน เพื่อต้านการขยายอิทธิพลของจีนในพื้นที่เขตอิทธิพลอินเดีย อย่างเช่นที่จีนรุกเข้ามาสร้างท่าเรืออย่างเงียบๆในศรีลังกา
กำลังโหลดความคิดเห็น