xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อสหรัฐฯ ไร้ “มูชาร์รัฟ” ในปากีสถาน

เผยแพร่:   โดย: ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US faces up to life without Musharraf
By Syed Saleem Shahzad
19/08/2008

เมื่อถูกต้อนเข้ามุมโดยพวกนักการเมืองที่กำลังกระหายอยากได้เลือดของเขา อีกทั้งไม่เป็นที่นิยมชมชื่นของคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช เสียแล้ว เปอร์เวซ มูชาร์รัฟก็แทบไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการรับใช้ “ผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ” และอำลาออกจากทำเนียบประธานาธิบดีไป วอชิงตันนั้นเชื่อว่าตนเองมีผู้นำกองทัพและเหล่าผู้นำทางการเมืองของปากีสถานมาอยู่เคียงข้างเรียบร้อยแล้ว เวลานี้สิ่งที่จำเป็นก็คือ การทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาว่า ผู้ครองตำแหน่งประธานาธิบดี อันถือเป็นทรัพย์สินชิ้นที่สามที่สหรัฐฯต้องได้มาไว้ในครอบครอง ในประเทศที่กลายเป็นสังเวียนสำคัญยิ่งยวดแห่งสงครามต่อสู้การก่อการร้ายแห่งนี้ จะยังคงเป็นคน“ของพวกเขา” อยู่เช่นเดิม

การาจี –สำหรับ เปอร์เวซ มูชาร์รัฟ ผู้ที่ปัจจุบันมีอายุ 65 ปี ปัญหาใหญ่ที่สุดของเขาในเวลานี้ก็คือ การที่ต้องตัดสินใจว่าจะใช้ช่วงเวลาแห่งวัยเกษียณของเขาที่ไหนดี ควรจะยังอยู่ในปากีสถานที่ซึ่งเขาเคยมีอิทธิพลครอบงำทางการเมืองตลอดเกือบ 9 ปีที่ผ่านมา หรือลี้ภัยไปต่างแดน ไปให้ไกลจากฝูงชนผู้บ้าคลั่งที่เขาจะทอดทิ้งเอาไว้เบื้องหลัง

สำหรับผู้ที่เคยสนับสนุนมูชาร์รัฟมาแต่เก่าก่อนในกรุงวอชิงตันนั้น การค้นหาได้เริ่มต้นขึ้นเรียบร้อยแล้ว เพื่อเสาะแสวงผู้เหมาะสมที่จะเข้าแทนที่บุรุษผู้นี้ บุรุษผู้ซึ่งในปี 2001 ได้เปลี่ยนแปลงกลับตาลปัตรการจัดวางลำดับเหล่ามิตรและศัตรูของประเทศของเขา จนกระทั่งทำให้ปากีสถานกลายเป็นผู้เล่นสำคัญที่สุดรายหนึ่งใน “สงครามต่อสู้การก่อการร้าย” และทำให้ตัวเขาเองกลายเป็นส่วนประกอบที่ไม่อาจขาดไปได้ในนโยบายทั้งหลายของสหรัฐฯที่มีต่อภูมิภาคแถบนี้

ทว่าประโยชน์ใช้สอยดังกล่าวได้ถูกใช้งานจนหมดประสิทธิภาพเสียแล้ว และมูชาร์รัฟก็ต้องยอมค้อมศีรษะให้แก่สิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีในวันจันทร์(18) “ผมตัดสินใจในท้ายที่สุดที่จะลาออกโดยไม่ต้องการก่อให้เกิดความวิตกตื่นตระหนก โดยยึดมั่นอยู่ในผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ” เขาบอก

อันที่จริงแล้ว มูชาร์รัฟได้กลับกลายไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แทนที่จะเป็นผู้ที่จะช่วยแก้ปัญหา และเขาจำเป็นต้องไป นี่เป็นข้อความอันกระจ่างชัดเจนที่สื่อสารถ่ายทอดออกมา ทั้งจากสหรัฐฯและจากเหล่าปรปักษ์ทางการเมืองของเขาในปากีสถาน ผู้ซึ่งได้ดำเนินการเพื่อเริ่มต้นกระบวนการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งในสัปดาห์นี้อยู่แล้ว

มูชาร์รัฟยึดอำนาจด้วยการก่อรัฐประหารที่ปราศจากการนองเลือดเมื่อเดือนตุลาคม 1999 และปกครองประเทศด้วยกำปั้นเหล็กตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีแห่งความอลเวงวุ่นวาย ช่วงเวลาซึ่งแรกสุดปากีสถานได้ทอดทิ้งพวกตอลิบานที่เคยเป็นพันธมิตรมาแต่ไหนแต่ไรของพวกเขาในอัฟกานิสถาน และเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการแผ้วถางทางสู่การขับไล่ตอลิบานออกจากอำนาจ ด้วยการรุกรานอัฟกานิสถานที่นำโดยสหรัฐฯในปี 2001 จากนั้นแล้วปากีสถานก็ได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะพวกนักรบทั้งของตอลิบานและอัลกออิดะห์ ณ อาณาบริเวณที่เป็นเขตพำนักอาศัยของชาวชนเผ่าต่างๆ และกระทั่งพื้นที่ซึ่งเลยล้ำออกมาอีก

จุดตายของมูชาร์รัฟเริ่มปรากฏให้เห็นในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เมื่อเขาสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานศาลสูงสุด อิฟติคาร์ เชาธรี แล้วการแข็งข้อท้าทายของเชาธรีได้กลายเป็นการปลุกระดมขบวนการนักกฎหมายให้ออกมาพิทักษ์ปกป้องอำนาจตุลาการ รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้กำลังใจแก่บรรดาฝ่ายค้านทางการเมืองของมูชาร์รัฟ

ถึงเดือนพฤศจิกายน มูชาร์รัฟในฐานะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน และใช้อำนาจที่เพิ่มขึ้นมาจากการนี้ไปสั่งปลดเหล่าผู้พิพากษา ก่อนที่ศาลสูงสุดจะสามารถตัดสินคดีที่มีการฟ้องร้องให้วินิจฉัยว่า การได้รับเลือกตั้งกลับขึ้นเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งของเขานั้นเป็นเรื่องชอบด้วยกฎหมายหรือเปล่า

จากนั้นเขาก็ถอดเครื่องแบบอำลาชีวิตทหาร และภายใต้ข้อตกลงที่จัดทำขึ้นโดยมีวอชิงตันเป็นนายหน้าติดต่อวิ่งเต้น มูชาร์รัฟก็ได้พยายามที่จะนำพาประเทศชาติให้กลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตย ด้วยการจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ แต่ปรากฏว่า พรรคของเขา (พรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน - กออิด Pakistan Muslim League – Qaid) กลับถูกผู้ออกเสียงลงโทษ จนทำให้ทางฝ่ายค้านได้รวมตัวกันจัดตั้งคณะรัฐบาลผสม นำโดยพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan People’s Party หรือ PPP) ของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง เบนาซีร์ บุตโต ผู้ถูกลอบสังหารอย่างอุกอาจ และพรรคสันนิบาตมุสลิมปากีสถาน - นาวาซ (Pakistan Muslim League – Nawaz หรือ PML-N) ที่มี นาวาซ ชาริฟ อดีตนายกรัฐมนตรีอีกผู้หนึ่งเป็นหัวเรือใหญ่

“มูชาร์รัฟได้สูญเสียประโยชน์ใช้สอยในฐานะทรัพย์สินที่มีคุณค่าสำหรับ ‘สงครามต่อสู้การก่อการร้าย’ ไปแล้ว” ฮามิด กุล อดีตนายพลที่เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงมือฉมัง โดยที่เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานประมวลข่าวกรอง (Inter-Services Intelligence หรือ ISI)ของปากีสถานมาแล้ว บอกกับเอเชียไทมส์ออนไลน์ “พวกอเมริกันได้ออกแรงกดดันทางการอิสลามาบัดมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว ให้เขาดำเนินการประสานปฏิบัติการของฝ่ายปากีสถานในการต่อสู้กับพวกตอลิบานและอัลกออิดะห์ แล้วรัฐมนตรีต่างประเทศปากีสถาน [ชาห์ มะหมุด กูเรชี] และเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำวอชิงตัน ฮูเซ็น ฮักกอนี ก็บอกกับวอชิงตันอยู่เรื่อยๆ ว่า รัฐบาลปากีสถานไม่สามารถเดินหน้าอย่างเป็นอิสระได้ สืบเนื่องจากมูชาร์รัฟ” กุลแจกแจง

“ต่อจากนั้นมา วอชิงตันก็บอกกล่าวอย่างสุภาพไปถึงมูชาร์รัฟ โดยผ่านช่องทางต่างๆ หลายหลาก ให้เขาลาออกจากตำแหน่งอย่างมีเกียรติ แต่เขาก็ยังดื้อแพ่ง จนในที่สุดแล้ววอชิงตันก็ถอนการสนับสนุนที่ให้แก่เขา และคณะรัฐบาลผสมก็เคลื่อนไหวเพื่อดำเนินการถอดถอนเขาออกจากตำแหน่ง ซึ่งบังคับให้เขาต้องยอมลาออกในที่สุด” กุลบอก

ตามรัฐธรรมนูญของปากีสถานนั้น ไม่ได้กำหนดให้มีตำแหน่งรองประธานาธิบดี โดยที่ประธานของวุฒิสภา ซึ่งปัจจุบันคือ โมฮัมหมัด มิอัน โซโม จะกลายเป็นผู้รักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีไป จนกระทั่งมีการเลือกประธานาธิบดีคนใหม่โดยคณะผู้เลือกตั้ง อันเป็นกระบวนการที่อาจจะกินเวลาประมาณ 3 เดือน

จวบจนกระทั่งไม่กี่วันก่อนที่เขาจะกล่าวคำปราศรัยอันเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกเพื่อประกาศการอำลาตำแหน่งเมื่อวันจันทร์(18) เชื่อกันว่ามูชาร์รัฟกำลังวางแผนการที่จะสั่งยุบสมัชชานิติบัญญัติของแคว้นต่างๆ ตลอดจนยุบรัฐสภาแห่งชาติ อันเป็นสิ่งที่เขามีอำนาจกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

ทว่าเอเชียไทมส์ออนไลน์ได้ทราบมาว่า เขาได้รับแจ้งอย่างชัดเจนจาก พลเอก อัสฟัค ปาร์เวซ คิอานี ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน ที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเขามาก่อน ว่ากองทัพจะวางตัวเป็นกลาง และไม่เข้าแทรกแซงในกระบวนการทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ นี่ย่อมหมายถึงว่า มูชาร์รัฟจะถูกปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งตายไปเองจากกลุ่มกำลังที่เคยเป็นฐานของเขา

“กองทัพบกจะแสดงบทบาทเดียวกับที่เคยเล่นมาแล้วในช่วงปี 1996 ถึง 1998” กุลกล่าวต่อโดยไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม สิ่งที่เขาพูดนี้หมายความว่ากองทัพจะเป็นผู้ธำรงรักษานโยบายเกี่ยวกับอัฟกานิสถานเอาไว้อย่างเข้มแข็งและเป็นอิสระ โดยที่รัฐบาลที่เป็นฝ่ายการเมืองไม่ต้องมามีบทบาทใดๆ หรือไม่ก็ให้คอยจำกัดบทบาทเอาไว้ เฉพาะแค่การให้ความสนับสนุนทางการเมืองแก่นโยบายในการปฏิบัติการของกองทัพเท่านั้น

“อเมริกันมีบทบาทอย่างใหญ่โตมโหฬารในการเมืองของปากีสถานเสมอมา อดีตพลเอกเซีย อุล-ฮัก ผู้ล่วงลับ เคยดื้อแพ่งท้าทายผลประโยชน์ของวอชิงตัน แล้วเขาก็ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอุบัติเหตุ [โดยอุบัติเหตุทางเครื่องบินเมื่อปี 1988อันยังคงเป็นปริศนาซ่อนเงื่อน] ถ้าหากมูชาร์รัฟขืนพยายามใช้อำนาจ [ตามรัฐธรรมนูญของเขา เพื่อทำการยุบสภา] เขาก็จะกลายเป็นผู้ที่กำลังขัดขวางผลประโยชน์ของอเมริกันในภูมิภาคแถบนี้ไปเช่นกัน และคงจะประสบชะตากรรมเดียวกับเซีย” เป็นความเห็นของอดีตนายใหญ่สปายสายลับของปากีสถานอย่างกุล ผู้ซึ่งรับผิดชอบหน่วยงานไอเอสไอในเวลาที่ เซีย อุล-ฮัก สิ้นชีวิต

“เวลานี้พวกอเมริกันจะต้องใช้ทรัพย์สินแห่งชาติที่ยังเหลืออยู่อีก 2 ชิ้น มารักษาผลประโยชน์ของพวกเขา นั่นคือ พวกพรรคการเมืองต่างๆ แล้วก็ผู้บัญชาการทหารบก [คิอานี] วอชิงตันนั้นชิงชังนาวาซ ชาริฟ ดังนั้นพวกเขาจะต้องพาตัวเองออกมาให้ห่างๆ จากเขา และโฟกัสไปที่ อาซิฟ ซาร์ดารี [สามีหม้ายของเบนาซีร์ บุตโต และเวลานี้เป็นหัวหน้าพรรคพีพีพี]

“ซาร์ดารี ด้วยความที่ยังติดคดีทุจริตคอร์รัปชั่น [ที่เกิดขึ้นในอดีต และยังคงถูกนำมาใช้เล่นงานเขา] จึงสามารถที่จะบงการได้อย่างง่ายดาย และดังนั้นเขาจะกระทำการอย่างซื่อสัตย์ตามคำแนะนำของพวกอเมริกัน” กุลยืนยัน และกล่าวต่อไปว่า บทบาทที่ต้องถือว่าสำคัญยิ่งยวดก็คือบทบาทของผู้บัญชาการทหารบก ดังนั้น อเมริกันจึงจะโฟกัสไปที่คิอานีด้วย “ผมน่ะสงสัยว่าคิอานีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเกมของพวกอเมริกันแล้วด้วยซ้ำไป”

**ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนใหม่**

การวิ่งเต้นต่อรองเพื่อหาตัวประธานาธิบดีปากีสถานคนใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วอย่างกระตือรือร้น บิลาวัล ซาร์ดารี บุตรชายของเบนาซีร์ บุตโต และมีฐานะเป็นประธานพรรคพีพีพี กล่าวที่นครการาจี อันเป็นเมืองท่าทางตอนใต้ของปากีสถานว่า ผู้ที่จะขึ้นมาแทนที่มูชาร์รัฟควรมาจากพรรคพีพีพี

ทว่าพรรคพีเอ็มแอล-เอ็นของนาวาซตอบโต้ว่า ควรที่จะคัดเลือกจากการปรึกษาหารือร่วมกัน ขณะที่บรรดาผู้สังเกตการณ์อิสระบอกว่า อัสฟันด์ยาร์ วาลี ข่าน หัวหน้าพรรคอะวามิแห่งชาติ (Awami National Party หรือ ANP) ซึ่งเป็นผู้ปกครองแคว้นพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือ (North-West Frontier Provice) คือบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้

ถ้าหากการถอยออกไปของมูชาร์รัฟเป็นส่วนหนึ่งในเกมของฝ่ายอเมริกันแล้ว สหรัฐฯก็จำเป็นจะต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่า นอกเหนือจากบรรดาพรรคการเมืองและกองทัพแล้ว ทรัพย์สินชิ้นที่สามของตนในประเทศนี้ ก็จะต้องมีความใกล้ชิดกับวอชิงตันด้วย

อัสฟันด์ยาร์ สามารถที่จะเติมเต็มข้อเรียกร้องเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี เขาเป็นหลานชายของ “คานธีแห่งแคว้นพรมแดน” ข่าน อับดุล กัฟฟาร์ ข่าน โดยที่ครอบครัวของเขามีความใกล้ชิดกับทางอินเดียและอัฟกานิสถานเสมอมา นอกจากนั้นเขายังจะเป็นตัวเชื่อมต่อชั้นเยี่ยมที่สุดในการปิดสมรภูมิสงครามในอัฟกานิสถาน โดยในฐานะที่เขาเป็นคนเชื้อชาติปาชตุนที่มีความเป็นนักชาตินิยม เขาและพรรคของเขามีนโยบายคัดค้านพวกตอลิบานเรื่อยมา

อัสฟันด์ยาร์เคยเป็นผู้ถือธงนำของ “การปฏิวัติสีแดง” ที่เคยคิดหวังอาศัยกำลังทหารโซเวียตในอัฟกานิสถาน มาช่วยการรวมดินแดนของชาวปาชตุน ทั้งที่อยู่ในอัฟกานิสถานและปากีสถานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ปาชตุนิสถาน) ทว่าไม่นานนักภายหลัง 11 กันยายน 2001 เขาก็ได้เปลี่ยนข้าง หลังจากที่ได้ไปเยือนสหรัฐฯ ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเป็นผู้นำของอาคันตุกะผู้มาเยือนจากนานาประเทศ

ในปี 2006 เขาได้รับเชิญให้ไปสหรัฐฯอีกครั้ง เพื่อพูดจาในเรื่องนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ตลอดจนได้ไปเยือนกองบัญชาการทหารเขตกลางของสหรัฐฯ (US Central Command ซึ่งพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมตะวันออกกลาง รวมทั้งอิรัก และอัฟกานิสถาน) เพื่อไปบรรยายสรุป แต่การเยี่ยมเยียนครั้งสำคัญที่สุดเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้เอง ภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาปากีสถานอันมีความหมายสำคัญยิ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลผสมของพลเรือนชุดปัจจุบัน โดยในคราวนี้อัสฟันด์ยาร์ได้ใช้เวลาอยู่กับพวกเจ้าหน้าที่ ณ กองบัญชาการทหารเขตกลาง ในเมืองเทมปา มลรัฐฟลอริดา รวมทั้งใช้เวลาอีก 1 สัปดาห์ที่กรุงวอชิงตัน เพื่อพบปะหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯหลายต่อหลายคน

ความเคลื่อนไหวคราวนี้เชื่อกันว่าเป็นการเตรียมตัวสำหรับบทบาทใหม่ของเขาในเขตพื้นที่ชาวปาชตุน ซึ่งแผ่สยายกินเข้าไปในเขตสองประเทศทั้งปากีสถานและอัฟกานิสถาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาบริเวณของชาวปาชตุนที่ถูกควบคุมโดยพวกผู้ก่อความไม่สงบที่นำโดยตอลิบานในประเทศทั้งสองนี้

กุลให้ความเห็นว่า “ใช่เลย เขาอาจจะเป็นคนหนึ่งที่ขึ้นมาได้ ทว่าอัสฟันด์ยาร์ประสบความล้มเหลว ในการยืนหยัดแสดงบทบาทของเขาให้ได้ตามที่ใครต่อใครตั้งความหวังไว้ ในเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมพวกหัวรุนแรงในเขตพื้นที่ชาวชนเผ่าให้อยู่หมัด โดยไม่ต้องวิ่งกลับมาพึ่งพาการปฏิบัติการทางทหารอีก เพราะระหว่างที่พรรคเอเอ็นพีของเขาปกครองแคว้นพรมแดนตะวันตกเฉียงเหนือนั้น ต้องมีการดำเนินยุทธการทางทหารทั้งในเขตไคเบอร์ เอเยนซี, บาจาอูร์ เอเยนซี, และเซาท์วาซิริสถาน

“ในความเห็นของผมแล้ว นาวับ อัตตาอุลเลาะห์ เมงกัล นักการเมืองชนชาติบาลูจ ควรจะได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศ เมื่อพิจารณาจากการปฏิบัติอย่างมิชอบต่างๆ ที่ได้มีการกระทำไปเมื่อเร็วๆ นี้ในแคว้นบาลูจิสถาน ในนามของการปฏิบัติการทางทหาร” กุลกล่าว

****รสชาติของสิ่งที่กำลังจะติดตามมา**
ระยะไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าการลาออกของมูชาร์รัฟ ได้มีการเปิดยุทธการครั้งใหญ่ในเขตบาจาอูร์ เอเยนซี บริเวณพรมแดนติดต่อกับจังหวัดคูนาร์ ของอัฟกานิสถาน เพื่อมุ่งขุดรากถอนโคนพวกนักรบของอัลกออิดะห์และตอลิบาน

ยุทธการทำนองนี้ไม่ใช่ของใหม่สำหรับพื้นที่ชนเผ่าที่ประสบปัญหาความยุ่งยากเรื่อยมา ทว่าคราวนี้มีลักษณะพิศษตรงที่มีการใช้การโจมตีทิ้งระเบิดทางอากาศอย่างหนักหน่วง ซึ่งบังคับให้พวกตอลิบานต้องล่าถอย พวกเขาได้พุ่งเป้ามายังเขตเอเยนซีแห่งนี้ ด้วยความมุ่งหมายที่จะก่อกวนการลำเลียงสัมภาระเข้าสู่อัฟกานิสถาน เพื่อสนับสนุนกองกำลังทหารพันธมิตรของฝ่ายตะวันตกที่นั่น

“ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยที่จะใช้กำลังอย่างเหี้ยมโหดทารุณถึงขนาดนี้ในพื้นที่ชาวชนเผ่าอย่างเช่นเขตบาจาอูร์” กุลให้ความเห็น ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเขตนอร์ทวาซิริสถาน และ เซาท์วาซิริสถาน ซึ่งพวกนักรบหัวรุนแรงตั้งหลักลงรากลึกมากแล้ว สภาพในบาจาอูร์จึงต้องถือว่าเป็นมิตรกว่ากันเยอะด้วยซ้ำ

“เหตุผลประการเดียวของปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวนี้ ก็คือมุ่งทำลายช่องทางที่ตอลิบานจะเคลื่อนเข้าสู่คูนาร์ ที่กองทหารอเมริกันกำลังทุ่มเทเต็มที่เพื่อเล่นงานตอลิบาน จังหวัดคูนาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ [และอยู่ติดกับกรุงคาบูล] ก่อนหน้านี้ พวกตอลิบานยังมุ่งความสนใจไปเพียงแค่พวกจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น” กุลชี้

“นี่คือบทบาทที่วอชิงตันต้องการให้กองทัพปากีสถานเล่น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่ชาวปากีสถานต้องจ่าย และมีผู้คน 250,000 คนพลัดถิ่นที่อยู่ระหว่างการเปิดยุทธการในบาจาอูร์” กุลกล่าวต่อ พร้อมกับชี้ถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เมื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆทางด้านความมั่นคง โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอัฟกานิสถานแล้ว ปากีสถานยังคงอยู่ในสภาพเหมือนมีสะโพกเชื่อมติดอยู่กับสหรัฐฯ โดยที่ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา ปากีสถานจึงได้รับความช่วยเหลือต่างๆ และยุทโธปกรณ์คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์

มูชาร์รัฟกำลังจะเดินทางไปยังซาอุดีอาระเบียในช่วงไม่กี่วันข้างหน้านี้ เพื่อเข้าร่วมการจาริกแสวงบุญ อีกทั้งมีความเป็นไปได้ว่าจะใช้ชีวิตลี้ภัยอยู่ในต่างแดน (เพราะถึงอย่างไรเขาก็ยังคงเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของพวกอัลกออิดะห์อยู่ดี) สิ่งที่เขาสามารถกระทำได้จึงมีแต่การขุ่นคิดพิจารณาว่า ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขาจะสามารถทำได้ดีกว่าเขาหรือไม่ ในการพยายามสร้างสมดุลระหว่างความต้องการเหล่านี้ของสหรัฐฯ กับผลประโยชน์ของปากีสถานเอง

ไซเอด ซาลีม ชาห์ซาด เป็นหัวหน้าสำนักงานปากีสถานของเอเชียไทมส์ออนไลน์ สามารถติดต่อกับเขาได้ที่ saleem_shahzad2002@yahoo.com
กำลังโหลดความคิดเห็น