เอเอฟพี/เอเจนซี - ฝ่ายตะวันตกกำลังวิตกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การสู้รบอย่างนองเลือดระหว่างจอร์เจีย กับ รัสเซีย จะส่งผลกระทบต่อท่อส่งน้ำมันสายสำคัญที่ตัดผ่านภูมิภาคแถบนี้ เพื่อนำเอาทรัพยากรน้ำมันและก๊าซในแถบทะเลสาบแคสเปียน ไปสู่ยุโรปและสหรัฐฯ ทั้งนี้เป็นความเห็นของนักวิเคราะห์หลายราย
ขณะที่ จอร์เจีย ไม่ได้เป็นผู้ผลิตน้ำมันด้วยตัวเอง ทว่า บริษัทพลังงานของอเมริกันกับยุโรปกลับกำหนดให้ประเทศที่มีแนวทางนิยมตะวันตกแห่งนี้ ซึ่งมีอาณาเขตแทรกหว่างกลางระหว่างรัสเซียกับอิหร่านที่อยู่ต่ำลงมาทางใต้ เป็นเจ้าบ้านรองรับแนวท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ที่ส่งออกมาจากประเทศอาร์เซอร์ไบจาน
ตั้งแต่ที่ประธานาธิบดี มีเฮอิล ซาคาชวิลลี ขึ้นครองอำนาจในจอร์เจียเมื่อปี 2004 ได้มีการสร้างสายท่อส่งน้ำมันและก๊าซขึ้นใหม่รวม 2 สาย ความรุนแรงที่กำลังปะทุขึ้นมาระหว่างจอร์เจีย กับรัสเซียผู้เป็นเพื่อนบ้านที่มีขนาดใหญ่มหึมากว่ามากทางตอนเหนือ จึงกำลังคุกคามท่อส่งน้ำมันเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่อส่งน้ำมันสาย บากู (เมืองหลวงของอาร์เซอร์ไบจัน) - ทบิลิซิ (เมืองหลวงของจอร์เจีย) - เซย์ฮาน (เมืองท่าในตุรกี) หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า สายบีทีซี
และราวกับจะเป็นการยืนยันความกังวลดังกล่าวนี้ ประธานของบริษัทน้ำมันแห่งรัฐของอาร์เซอร์ไบจัน ออกคำแถลงในวันเสาร์ (9) ที่ผ่านมา ว่า จะระงับการส่งออกน้ำมันผ่านเมืองท่าของจอร์เจีย 2 แห่ง คือ บาตูมี และ คูเลวี สืบเนื่องจากการสู้รบกันในดินแดนเซาท์ออสเซเทีย ที่ประกาศแยกตัวออกจากจอร์เจีย
การแถลงครั้งนี้มีขึ้นไม่นาน หลังจากนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย ลาโด กุรเกนิดเซ บอกว่า เครื่องบินรบของรัสเซียได้เปิดการโจมตีในบริเวณใกล้ๆ กับท่อส่งน้ำมันสายบีทีซี ซึ่งมีความยาว 1,774 กิโลเมตร นับเป็นท่อสายที่มีความยาวเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยที่ราวๆ 249 กิโลเมตรผ่านเขตแดนของจอร์เจีย และหลายๆ ส่วนอยู่ห่างจากเซาท์ออสเซเทียประมาณ 55 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม บีพี บริษัทน้ำมันยักษ์สัญชาติอังกฤษ ได้ลดทอนน้ำหนักความน่ากลัวของรายงานข่าวนี้ เมื่อโฆษกผู้หนึ่งของบีพี บอกว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายรัสเซีย “เราไม่ได้รับรู้เลยเกี่ยวกับการโจมตีนี้ และผมคิดว่าเราควรที่จะรู้นะ ถ้าหากข่าวนี้เป็นความจริง”
ท่อส่งน้ำมันบีทีซี เริ่มเปิดใช้ในปี 2006 สามารถที่จะลำเลียงน้ำมันได้ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากอาร์เซอร์ไบจาน ซึ่งอยู่ริมทะเลสาบแคสเปียน ไปยังเมืองท่าเซย์ฮาน ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนของตุรกี และจากที่นั่นก็จะมีเรือบรรทุกน้ำมันขนาดยักษ์มารอขนถ่าย เพื่อขนส่งต่อไปสู่ยุโรปและสหรัฐฯ ต่อไป
บีพีมีหุ้นอยู่ราว 30% ในท่อส่งน้ำมันสายนี้ ซึ่งสิ้นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างราว 3,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่มีหุ้นส่วนอื่นๆ อีกราว 10 รายมาร่วมลงขันด้วย อาทิ บริษัทน้ำมันยักษ์ของสหรัฐฯ อย่าง เชฟรอน และ โคโนโคฟิลิปส์
การขนส่งน้ำมันทางท่อผ่านเทือกเขาคอเคซัสเช่นนี้ มีความมุ่งหมายที่จะทำให้ตะวันตกลดการต้องพึ่งพิงน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย ซึ่งได้สร้างความกังวลใจด้วยการปิดท่อส่งน้ำมัน และก๊าซ ระหว่างที่เกิดการพิพาทกับพวกรัฐอดีตสหภาพโซเวียตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
แต่ พอล สตีเวนส์ นักวิเคราะห์ด้านน้ำมันแห่งชาแธม เฮาส์ สถาบันศึกษาวิจัยชื่อดังในลอนดอน ให้ความเห็นว่า ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดภัยคุกคามต่อท่อส่งน้ำมันบีทีซี ไม่น่าที่จะสร้างความหวาดหวั่นแก่ตลาดน้ำมัน อย่างน้อยก็ในระยะสั้น
อันที่จริง ท่อส่งน้ำมันสายนี้ต้องหยุดการลำเลียงมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว สืบเนื่องจากเกิดการระเบิดในช่วงผ่านภาคตะวันออกของตุรกี โดยที่พวกกบฏแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดอ้างความรับผิดชอบ สตีเวนส์อธิบาย พร้อมกับชี้ว่า กระทั่งท่อต้องปิดลง 1-2 สัปดาห์ ก็ยังไม่น่ากระทบกระเทือนอะไรนักต่อซัปพลายน้ำมันของโลก
บีพียังเป็นผู้ดำเนินการท่อส่งสายเซาท์คอเคซัส ความยาว 692 กิโลเมตร ที่ส่งก๊าซจากอาร์เซอร์ไบจัน ผ่านจอร์เจีย ไปยังพรมแดนตุรกี
นาตาเลีย เลชเชนโก นักวิเคราะห์แห่งโกลบอล อินไซต์ มีความเห็นว่า ความขัดแย้งในระดับปัจจุบัน แทบไม่ส่งผลอะไรต่อการลำเลียงน้ำมันและก๊าซผ่านท่อส่งเหล่านี้ อย่างน้อยก็ในเฉพาะหน้า ยกเว้นแต่สงครามจะยกระดับรุนแรงขึ้น
แต่แธอก็เสริมด้วยว่า “ถ้ารัสเซียเริ่มต้นการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ รัสเซียก็อาจจะพุ่งเป้าไปที่ท่อส่งน้ำมันและก๊าซเหล่านี้”
อย่างไรก็ตาม กองทัพรัสเซียได้ออกมาปฏิเสธเมื่อวานนี้ (10) ต่อรายงานข่าวที่ว่า พวกเขากำลังใช้กำลังนาวีมาปิดล้อม เพื่อสกัดกั้นเรือที่จะขนส่งอาวุธไปยังเมืองท่าต่างๆ ของจอร์เจีย