xs
xsm
sm
md
lg

สู่ “กัมพูชา” ที่เป็นของ “ฮุน เซน” มั่นคงยิ่งขึ้นอีก (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เคร็ก กูธรี

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Towards Hun Sen’s Cambodia
By Craig Guthrie
22/07/2008

ท้องถนนของกรุงพนมเปญกำลังปรากฏภาพละลานตาของการต่อสู้ทางการเมืองอันเต็มไปด้วยสีสัน ก่อนหน้าการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาวันอาทิตย์ (27) นี้ ทว่าสิ่งที่อยู่เบื้องลึกลงไปของภาพดังกล่าวนี้กลับค่อนข้างจะมีแต่สีดำกับขาวเท่านั้น เพราะนายกรัฐมนตรีฮุน เซน และพรรคประชาชนกัมพูชาของเขา สามารถยึดกุมผู้มีสิทธิออกเสียงเอาไว้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้นกว่าเดิมเสียอีก ด้วยการใช้กลวิธีต่างๆ อย่างชำนิชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสีเหน็บแนม, การปล่อยข่าวให้ขวัญผวา, และกระทั่งมนตร์เสน่ห์จากฟันเลี่ยมทองของเขา

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอน1)

**กรณีเขาพระวิหารอีกครั้ง**

ชาวนาและชาวประมงผู้ยากจนทุกข์เข็ญจำนวนล้านๆ คนของกัมพูชา ถูกกระหน่ำจนชุ่มโชกมาเป็นปีๆ แล้ว ด้วยคำปราศรัยต่างๆ ของฮุน เซนที่นำออกอากาศวนเวียนวันละ 4 ชั่วโมงตามสื่อมวลชนที่รัฐควบคุม ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ก็ได้รับแจกบะหมี่สำเร็จรูปอยู่เป็นระยะจากเหล่าเจ้าหน้าที่พรรคซีพีพี พวกเขาจึงยังคงจะต้องทนอยู่กันไปอีก 5 ปีภายใต้ความไม่เสมอภาค, งานหนักจำเจ, และทีวีเลวๆ

คะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรีผู้นี้ ซึ่งได้รับการหนุนส่งจากอิทธิพลสื่อ กำลังทะยานพุ่งลิ่วขึ้นไปอีกมากมายในช่วงหลังๆ มานี้ จากการที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) รับรองให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตอนที่มีการแถลงผลการตัดสินกันแบบสดๆ ฉับไวโดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติช่อง ซีทีเอ็นนั้น ได้มีการฉายรูปของฮุน เซน ที่มีดวงดาวรายล้อมหมุนรอบด้วย จากนั้นเมื่อมีรายการคอนเสิร์ตถ่ายทอดสดทางทีวี เพื่อเฉลิมฉลองการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกคราวนี้ พวกโฆษกก็พากันตะโกนคำขวัญแสดงความสนับสนุนฮุน เซนไปด้วย นอกเหนือจากการเปล่งเสียงอันสะท้อนความปลาบปลื้มในเกียรติยศของประเทศชาติ

ความตึงเครียดตามแนวชายแดนติดต่อกับประเทศไทยที่เกิดขึ้นตามมา จากการขึ้นทะเบียนมรดกโลกครั้งนี้ จะเป็นบททดสอบครั้งสำคัญถึงความสามารถของรัฐบาลของเขาในการยืนเผชิญหน้ากับพวกเพื่อนบ้านที่แข็งแรงกว่า ท่ามกลางการจับจ้องอย่างไม่คลาดสายตาของสาธารณชนกัมพูชา ในบรรยากาศอันร้อนรุ่มของฤดูหาเสียงเลือกตั้ง

แต่นอกเหนือจากการพิพาทกันเรื่องเขาพระวิหารแล้ว เมื่อพินิจให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นถึงท้องถิ่นชนบทอื่นๆ ที่ได้รับการติดตามเฝ้าสังเกตการณ์น้อยกว่า ก็ปรากฏว่าระดับของการสังหาร การข่มขู่คุกคาม, และการก่อกวนทางการเมือง ซึ่งเคยสร้างรอยด่างให้แก่การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ นั้น คราวนี้กลับเรียกได้ว่าหดหายไปเลยในระยะไม่กี่วันก่อนถึงการเลือกตั้งสุดสัปดาห์นี้

ทว่า การที่มิได้มีความรุนแรงบังเกิดขึ้นเช่นนี้ น่าจะเป็นเพียงหลักฐานยืนยันความสำเร็จของพรรคซีพีพี ในการกำจัดกลไกระดับรากหญ้าของพรรคสม รังสี (Sam Rainsy Party หรือ SRP) ที่เป็นฝ่ายค้านเสียมากกว่า พรรคฝ่ายค้านหลักพรรคนี้ประสบความยากลำบากมาเป็นแรมเดือนแล้ว ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากชั้นเชิงทางการเมืองอันแยบยลของฮุน เซนและกลไกทางการเมืองของพรรคซีพีพี กระนั้นการทรุดฮวบลงอย่างฉับพลันชวนตะลึงของพรรคสม รังสีในช่วงเวลาก่อนจะถึงการเลือกตั้งวันที่ 27 กรกฎาคม ก็ยังคงสร้างความเซอร์ไพรซ์ให้แก่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนมาก

ทั้งนี้ พรรคเอสอาร์พีต้องสูญเสียกำลังไปอย่างมากมาย จากการแปรพักตร์ของสมาชิกรัฐสภาชื่อดังๆ กว่า 20 คน พร้อมด้วยสมาชิกพรรคระดับรากหญ้าอีกนับหมื่นๆ คน โดยเหล่าผู้บริหารพรรคอ้างว่า เป็นเพราะซีพีพีมาซื้อตัวไป

“เรากำลังพบเห็นการรณรงค์ไล่ซื้อคน ... นายกรัฐมนตรีฮุน เซนเที่ยวหาซื้อสมาชิกเอสอาร์พีอย่างกระตือรือล้นยิ่งโดยใช้เงินเป็นเหยื่อล่อ... สมาชิกพรรคแต่ละคนได้รับเงินอย่างน้อย 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และพวกที่อยุ่ในตำแหน่งสูงในเอสอาร์พีได้รับถึง 200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ” สม รังสี ระบุไว้ในจดหมายฉบับหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ “ผมรู้สึกวิตกและสงสารคนที่ถูกหลอกลวงไปเหล่านี้มาก หลังจากการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว พวกเขาก็จะถูกเตะกระเด็นออกมา” เขาบอก ทางด้านฮุน เซนได้ตอบโต้โดยพูดว่า บุคคลที่แปรพักตร์ออกจากเอสอาร์พี “ไม่ได้เป็นสินค้าหรือสัตว์นะ จะได้ไปเที่ยวซื้อขายกัน”

เอสอาร์พีเวลานี้จึงอยู่ในสภาพนิ่งเงียบเคลื่อนไหวอะไรไม่ออก ได้แต่หวังอย่างค่อนข้างลมๆ แล้งๆ ว่า หลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไปจะเกิดขบวนการ “อำนาจประชาชน” มาท้าทายรัฐบาลที่ครอบงำโดยซีพีพี การรณรงค์หาเสียงของเอสอาร์พีส่วนใหญ่แล้ว มุ่งเน้นที่เรื่องซึ่งพวกฝ่ายค้านทั่วโลกต่างยอมรับนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์กันอยู่ในเวลานี้ นั่นคือการชี้ไปยังราคาน้ำมันและอาหารที่แพงลิ่ว ว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลปัจจุบัน ทว่ายุทธศาสตร์เช่นนี้ดูจะประสบความล้มเหลวในกัมพูชา ตัวอย่างเช่น “การชุมนุมมวลชน” เพื่อต่อต้านภาวะเงินเฟ้อ ที่พวกผู้สนับสนุนเอสอาร์พีวางแผนจัดขึ้นมา ปรากฏว่ามีผู้ออกมาเข้าร่วมเพียงแค่ 300 คน ทำให้ฮุน เซนออกมาเหน็บแนมทันทีว่า การแสดงตามปกติของดาวตลกตัวเตี้ยแคระของกัมพูชาคนหนึ่งยังสามารถดึงดูดผู้ชมได้มากกว่านี้เลย

พรรคเอสอาร์พีที่ถูกไล่ถลุงจนมีอาการเมาหมัดเสียแล้ว ยังต้องสูญเสียเพื่อนมิตรที่มีความสำคัญมากรายหนึ่งในขบวนการสหภาพแรงงาน ซึ่งเคยมีพลังในการระดมคนงานสิ่งทอและแรงงานตามโรงงานอื่นๆ จำนวนนับแสนๆ คนให้ออกมาชุมนุมประท้วง กล่าวคือ เจีย โมนี (Chea Mony) ซึ่งเวลานี้เป็นผู้นำของสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุด -อีกทั้งเป็นน้องชายของ เจีย วิเชีย (Chea Vichea) ผู้นำสหภาพแรงงานที่มีคนนิยมชมชื่นมากและมีสายสัมพันธ์กับเอสอาร์พี ทว่าถูกยิงเสียชีวิตไปในปี 2004- ได้ออกประกาศตอนต้นปีนี้ว่า ทางกลุ่มของเขากำลังจะถอนตัวไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแล้ว การตัดสินใจคราวนี้เกิดขึ้นแทบจะในทันทีภายหลังฮุน เซนประกาศขึ้นค่าจ้างของคนงานสิ่งทออีกเดือนละ 6 ดอลลาร์ รวมเป็น 56 ดอลลาร์

การสูญเสียสหภาพแรงงาน อันเป็นภาคส่วนในสังคมที่มีการจัดตั้งรวมตัวเป็นองค์กรกันมากที่สุดของกัมพูชา ถือเป็นความเสียหายใหญ่หลวงสำหรับสม รังสี ผู้ซึ่งได้ร่วมมือกับ เจีย วิเชีย และ อู มารี (Ou Mary) ก่อตั้งขบวนการแรงงานขึ้นในปี 1996

**ฝ่ายค้านเสียท่าซ้ำๆ ซากๆ**

สม รังสี ซึ่งในอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการคลัง แต่ถูกปลดหลังพยายามพูดตำหนิเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง ยังคงพยายามต่อสู้โดยงัดเอากลเม็ดทางการเมืองอีกอันหนึ่งขึ้นมาใช้ นั่นคือ การออกมาเคลื่อนไหวกล่าวโจมตีอย่างรุนแรงกว้างขวาง เกี่ยวกับภูมิหลังความเป็นมาของบุคคลในคณะรัฐบาลฮุน เซนซึ่งเขาบอกว่าเป็นอดีตสมาชิกเขมรแดง เมื่อไม่นานมานี้ เขาได้ปราศรัยกับบรรดาผู้สนับสนุนในระหว่างพิธีบำเพ็ญกุศลแบบชาวพุทธ ณ “ทุ่งสังหาร” เชือง เอ๊ก” (Choeung Ek) โดยกล่าวหา ฮอร์ นัมฮง (Hor Numhong) รัฐมนตรีต่างประเทศที่เป็นบุคคลผู้ภักดีและห้าวหาญคนหนึ่งของพรรคซีพีพี ว่าครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวหน้าศูนย์ “อบรมให้การศึกษาใหม่” เบือง ตระเบก (Boeung Trabek) ของเขมรแดง ที่ซึ่งนักการทูตและปัญญาชนนับพันๆ คนถูกส่งไปพำนักอาศัย ก่อนจะถูกประหารชีวิตในที่สุด

ฮอร์ นัมฮง ได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหา โดยบอกว่าเขาไม่ได้เป็นหัวหน้าศูนย์เลย ตรงกันข้าม เขาคือคนทำหน้าที่ติดต่อระหว่างพวกนักโทษกับพวกผู้คุมในค่ายแห่งนั้น และยืนยันว่าสมาชิกในครอบครัวของเขาเองก็ถูกประหารชีวิตที่นั่นอยู่หลายคน เขายังยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาทต่อสม รังสีด้วย ขณะเดียวกัน การระดมยิงโจมตีคราวนี้ก็แทบไม่ได้ให้ประโยชน์ทางการเมืองอะไรแก่พรรคเอสอาร์พี

การจับกุมบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่เป็นพันธมิตรกับฝ่ายค้าน ซึ่งได้นำเอาข้อกล่าวหาของสม รังสีไปตีพิมพ์ซ้ำ อาจจะทำให้มีเสียงประณามโจมตีรัฐบาลจากนานาชาติ ทว่าไม่ได้ช่วยเพิ่มโอกาสในการเลือกตั้งของเอสพีอาร์สักเท่าใดเลย เฉกเช่นเดียวกับเสียงประท้วงคัดค้านอย่างรุนแรงจากนานาชาติ ต่อกรณีการลอบสังคม คิม ซัมบอร์ (Khim Sambor) นักหนังสือพิมพ์ผู้เป็นพันธมิตรของเอสอาร์พี พร้อมกับบุตรชายของเขา โดยคนร้ายใช้ปืนสังหารบุคคลทั้งสองอย่างอุกอาจขณะขับขี่พาหนะเข้าประกบ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม

สำหรับพรรคการเมืองฝ่ายค้านใหญ่อีกพรรคหนึ่ง คือ พรรคฟันซินเปก (Funcinpec) ซึ่งมีแนวทางนิยมราชวงศ์ ก็อยู่ในสภาพแตกเป็นเสี่ยงๆ ก่อนหน้าจะถึงการเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้เช่นเดียวกัน จากการวางแผนใช้เล่ห์กลแพรวพราว ชนิดที่แทบจะเหมือนการกำหนดจัดวางท่วงท่าความเคลื่อนไหวของนักแสดงบนเวที ทำให้เจ้านโรดม รณฤทธิ์ (Norodom Ranariddh) ผู้นำของพรรคฟันซินเปกในอดีตและก็เคยเป็นศัตรูไม้เบื่อไม้เมากับฮุน เซน มายาวนานได้ถูกขับไล่ออกจากพรรคเมื่อเกิดการก่อการยึดอำนาจขึ้นภายในฟันซินเปก ความเคลื่อนไหวคราวนั้น วางแผนบงการโดย เนียก บุน เจย (Nhiek Bun Chhay) เลขาธิการพรรคและอดีตรัฐมนตรีกลาโหม เวลานี้ฟันซินเปกยังคงมีฐานะเป็นพันธมิตรรัฐบาลผสมของซีพีพี ทว่านับแต่มีการขับเจ้ารณฤทธิ์แล้ว พรรคนี้ก็ถูกมองกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดของพรรคซีพีพี

ในเวลาต่อมา เจ้ารณฤทธิ์ยังถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานนำเอาเงินที่ได้จากการขายสำนักงานใหญ่แห่งเก่าของพรรคฟันซินเปก มาเข้ากระเป๋าตัวเอง 3.6 ล้านดอลลาร์ และถูกตัดสินลงโทษจำคุก 18 เดือน โดยความเคลื่อนไหวคราวนี้มีบางคนเห็นว่าเป็นเพราะฮุน เซนใช้อิทธิพลเอากับศาล เจ้ารณฤทธิ์ได้หลบหนีออกจากประเทศในเดือนธันวาคม 2005 และนับแต่นั้นก็ต้องหันมาใช้วิธีกล่าวปราศรัยทางโทรศัพท์ถึงบรรดาผู้สนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ของเขา ที่ใช้ชื่อว่าพรรคนโรดม รณฤทธิ์ (Norodom Ranariddh Party) จากประเทศมาเลเซียที่เขาเลือกเนรเทศตัวเองไปพำนักที่นั่น

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีรายงานว่าเจ้ารณฤทธิ์ได้ส่งจดหมายส่วนตัวด้วยข้อความนอบน้อมถึงฮุน เซน ขอร้องให้คืนเครื่องบินไอพ่นส่วนตัวของเขา ขณะเดียวกัน คฤหาสน์สไตล์ยุคโคโลเนียลอันใหญ่โตมูลค่า 2 ล้านดอลลาร์ของเขา ที่ตั้งอยู่กลางกรุงพนมเปญ ก็ได้ถูกรัฐบาลขายไปให้ให้แก่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งกัมพูชาเสียแล้ว โดยที่ทางสโมสรวางแผนจะปรับปรุงทำให้เป็นโรงแรมขนาดเล็กแต่หรูหราและเน้นเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ฮุน เซนยังคงบอกว่า เจ้ารณฤทธิ์จะถูก “ใส่กุญแจมือและถูกนำตัวเข้าคุก” ถ้ากลับมากัมพูชา รวมทั้งฮุน เซนยังใช้ความพยายามในการสกัดขัดขวางไม่ให้เจ้ารณฤทธิ์มีโอกาสที่จะได้รับลดหย่อนโทษหรือได้รับพระราชทานอภัยโทษ

พรรคการเมืองฝ่ายค้านอีกพรรคหนึ่งเป็นพรรคเพิ่งตั้งใหม่ ใช้ชื่อว่า พรรคสิทธิมนุษยชน (Human Rights Party หรือ HRP) ผู้นำคือ เขม โสกา (Kem Sokha) ผู้วาดภาพตัวเองเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยได้รับความสนับสนุนจาก เพน โสวันน์ (Pen Sovann) อดีตประมุขแห่งรัฐที่ยังคงมีความเห็นเกี่ยวกับตัวเขาในทางที่แตกแยกกันอยู่มาก พรรคนี้มั่นอกมั่นใจว่าจะชนะได้ที่นั่งในรัฐสภาอย่างน้อยก็จำนวนหนึ่ง แนวทางของพรรคนี้ดูเหมือนมุ่งที่จะเสนอตัวเองเป็นทางเลือกแบบเน้นเรื่องชาตินิยมให้แก่บรรดาผู้มีสิทธิออกเสียง ตลอดจนสร้างภาพให้เหมือนกับพรรคเอสอาร์พีในเรื่องที่น่าจะมีสหรัฐฯเป็นผู้คอยหนุนหลัง

เขม โสกาก้าวออกมาจากองค์การของเขาก่อนหน้านี้ที่ใช้ชื่อว่า ศูนย์กลางเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวกัมพูชา (Cambodian Center for Human Rights) ท่ามกลางเมฆหมอกของเรื่องอื้อฉาว จากการที่อดีตลูกจ้าง 16 คนกล่าวหาเขาว่าทุจริตและยักยอกเงินของทางองค์การ ซึ่งได้รับความสนับสนุนทางการเงินของสหรัฐฯ

ถึงแม้ เขม โสกา จะได้รับความนิยมอยู่มากในระดับรากหญ้า แต่พรรค HRP ของเขาก็ไม่ถูกมองว่าจะเป็นภัยคุกคามใหญ่โตอะไรต่อพรรคมหึมาทรงพลังอย่างซีพีพี นอกจากนั้นในเวลานี้สหรัฐฯก็ไม่ได้มีท่าทีให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยแก่พรรคฝ่ายค้านใดๆ เป็นพิเศษ เหมือนอย่างที่เคยถูกมองในอดีต วอชิงตันซึ่งเมื่อปี 2004 เคยข่มขู่กัมพูชาว่าจะถูกลงโทษคว่ำบาตร เนื่องจากไม่มีการดำเนินการให้คืบหน้าในประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์ ทว่าหลังจากนั้นมา สหรัฐฯก็ได้เสนอภาพที่สุกใสสำหรับประเทศนี้ ไว้ในรายงานว่าด้วยการค้ามนุษย์ฉบับล่าสุด

สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯในกรุงพนมเปญ ยังออกมาชมเชยเรื่องที่ช่วงเวลาก่อนหน้าการเลือกตั้งปีนี้ไม่ได้เกิดความรุนแรงอะไรนัก ถึงแม้จะแสดงปฏิกิริยารุนแรงและเสนอว่าสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) พร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ภายหลังเกิดกรณีสังหารนักหนังสือพิมพ์ คิม ซัมบอร์

วอชิงตันกำลังใช้ท่าทีที่อ่อนลงต่อกัมพูชาในรอบปีที่ผ่านมา ขณะที่จีนก็กำลังพยายามที่จะเพิ่มอิทธิพลระดับท้องถิ่นของตน หลังจากข่าวเรื่องเชฟรอนค้นพบน้ำมันและก๊าซที่น่าจะมีปริมาณมากแล้ว ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้สหรัฐฯก็ได้ยอมยกเลิกมาตรการห้ามให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาที่ใช้บังคับมา 10 ปี และได้เริ่มให้ความช่วยเหลือทางทหารโดยตรงอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม

ถ้าหากมีน้ำมันและก๊าซอยู่ที่บริเวณนอกชายฝั่งของกัมพูชาจริงๆ ทรัพย์สินด้านพลังงานเหล่านี้ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและดุลการค้าของกัมพูชาไปอย่างลึกซึ้ง บริษัทสิงคโปร์แห่งหนึ่งเริ่มเข้ามาสำรวจขุดเจาะตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมแล้ว และพวกบริษัททั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากจีน, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, และฝรั่งเศส เวลานี้ต่างก็กำลังเจรจาขอทำข้อตกลงอันเกี่ยวเนื่องกับการพบน้ำมันและก๊าซดังกล่าว ถึงแม้รัฐบาลกัมพูชายังคงกำลังรอคอยการประเมินผลตัวหลักจากทางเชฟรอน แต่ก็มีการประมาณการกันไว้ว่า ทรัพย์สินด้านพลังงานเหล่านี้น่าจะเป็นตัวสร้างรายได้ได้ระหว่าง 200 ล้าน ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

นั่นน่าที่จะทำให้ฮุน เซนยิ่งมีทรัพยากรอันมหาศาล ในการรวมศูนย์อำนาจครอบงำบงการการเมืองของเขาให้แน่นหนามั่นคงขึ้นอีก และถ้าหากการเลือกตั้งในวันอาทิตย์(27)นี้ ปรากฏผลเป็นชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคซีพีพีของเขา ดังที่นักวิเคราะห์จำนวนมากทำนายไว้ มันก็อาจจะเป็นสัญญาณแสดงถึงการเริ่มต้นยุคใหม่ที่จะมีพรรคปกครองประเทศอยู่เพียงพรรคเดียวในกัมพูชา

เคร็ก กูธรี เป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ แม่โขงไทมส์ ในกรุงพนมเปญ เขามีประสบการณ์ทำข่าวเกี่ยวกับกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2004

  • สู่“กัมพูชา” ที่เป็นของ“ฮุน เซน”มั่นคงยิ่งขึ้นอีก (ตอนต้น)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น