xs
xsm
sm
md
lg

สู่ “กัมพูชา” ที่เป็นของ “ฮุน เซน” มั่นคงยิ่งขึ้นอีก (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เคร็ก กูธรี

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Towards Hun Sen’s Cambodia
By Craig Guthrie
22/07/2008

ท้องถนนของกรุงพนมเปญกำลังปรากฏภาพละลานตาของการต่อสู้ทางการเมืองอันเต็มไปด้วยสีสัน ก่อนหน้าการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาวันอาทิตย์ (27) นี้ ทว่าสิ่งที่อยู่เบื้องลึกลงไปของภาพดังกล่าวนี้กลับค่อนข้างจะมีแต่สีดำกับขาวเท่านั้น เพราะนายกรัฐมนตรีฮุน เซน และพรรคประชาชนกัมพูชาของเขา สามารถยึดกุมผู้มีสิทธิออกเสียงเอาไว้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้นกว่าเดิมเสียอีก ด้วยการใช้กลวิธีต่างๆ อย่างชำนิชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสีเหน็บแนม, การปล่อยข่าวให้ขวัญผวา, และกระทั่งมนตร์เสน่ห์จากฟันเลี่ยมทองของเขา

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

พนมเปญ – ถึงแม้กัมพูชากำลังจะจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์(27)นี้ โดยเป็นการเลือกตั้งรัฐสภาครั้งที่ 4 ของประเทศแล้ว นับแต่การยึดครองของเวียดนามสิ้นสุดลงในปี 1989 แต่นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ก็ยังคงสามารถหลบเร้นจากความอึกทึกของการรณรงค์หาเสียงอันชุลมุนวุ่นวาย มาพักผ่อนอย่างสบายใจในคฤหาสน์กว้างใหญ่ที่ตกแต่งอย่างหรูหราและมีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเขา ณ ย่านชานกรุงพนมเปญ พร้อมกับสูบบุหรี่ 555 อันหามาได้โดยต้องลงแรงพอสมควร –เขาชอบสูบบุหรี่ยี่ห้อนี้ตั้งแต่สมัยที่เป็นทหารแล้ว

ชายตาเดียวและสูบบุหรี่ชนิดมวนต่อมวน ผู้ได้รับสมญาว่า “บุรุษเหล็กแห่งกัมพูชา” ผู้นี้ สามารถที่จะเล่นกอล์ฟสักรอบหนึ่งอย่างสบายอารมณ์ ในสนามกอล์ฟส่วนตัวที่บำรุงรักษาไว้อย่างดี ภายในเขตคฤหาสน์ซึ่งเป็นที่รู้จักมักคุ้นของคนท้องถิ่นในนามของ “ถ้ำเสือ” (Tiger’s Lair) หรือไม่ก็อาจจะขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากสนามบินทหารที่อยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อเดินทางไปไหนต่อไหนในประเทศที่ยังคงมีฐานะยากจนของเขา อันที่จริงแล้ว ขณะที่พวกปรปักษ์ของเขายังคงขะมักเขม้นรณรงค์หาเสียงและเดินขบวนกันอยู่ในเขตนครหลวงนั้น มันอาจจะไม่ค่อยสำคัญอะไรนักหรอกว่าตัว ฮุน เซน เองกำลังทำอะไรอยู่

จากด้านนอกตัวคฤหาสน์ออกไปตามท้องถนนสายต่างๆ ในเมืองหลวง ขบวนรณรงค์หาเสียงอันเต็มไปด้วยสีสันกำลังทำให้การจราจรตามถนนสายใหญ่ที่ปลูกต้นไม้เรียงรายของกรุงพนมเปญถึงกับติดขัดและดังอึงคะนึง ด้วยเสียงโทรโข่งซึ่งติดตั้งอยู่บนรถบรรทุก และเสียงตีฉิ่งฉาบและกลองสนั่นหวั่นไหวเพื่อสนับสนุนผู้สมัครแต่ละราย ทัศนียภาพที่มองเห็นช่างเต็มไปด้วยสีสันและมีชีวิตชีวา บรรยากาศดูตื่นเต้นเข้มข้น ทว่าหลายๆ คนกลับบอกว่าภาพทางการเมืองที่อยู่เบื้องลึกลงไปแท้ที่จริงแล้วกลับมีแต่สีดำกับขาว

ไม่ว่าจะพิจารณาจากแง่มุมใด ฮุน เซนซึ่งเวลานี้อายุ 57 ปี และครองอำนาจมาตั้งแต่ปี 1985 แทบไม่มีอะไรต้องกังวลใจกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้เลย ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เขาสามารถยึดกุมผู้มีสิทธิออกเสียงเอาไว้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยการใช้กลวิธีต่างๆ อย่างชำนิชำนาญ ไม่ว่าจะเป็นการเสียดสีเหน็บแนม, การปล่อยข่าวให้ขวัญผวา, และกระทั่งมนตร์เสน่ห์จากฟันเลี่ยมทองของเขา

ด้วยการอาศัยอุบายพลิกแพลงเพื่อเชือดเฉือนเอาชนะฝ่ายค้านที่อยู่ในสภาพแตกแยกกันเป็นเสี่ยงอยู่แล้ว, ความสำเร็จในการการเกี้ยวพาดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศมาได้เป็นพันๆ ล้านดอลลาร์, และการใช้ชั้นเชิงอันสูงส่งมาสงบปากสงบคำขบวนการแรงงานที่ครั้งหนึ่งเคยทรงอำนาจ ตลอดจนเหล่ามหาอำนาจซึ่งเมื่อก่อนเคยแสดงท่าทีเป็นศัตรู จอมบงการผู้เยี่ยมยุทธ์ผู้นี้ก็สามารถยังความปราชัยให้แก่บรรดาปรปักษ์ของเขาได้อีกคำรบหนึ่ง

ฮุน เซน ผู้ได้รับแรงหนุนส่งทั้งจากเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟู, สภาพสังคมที่กลับมีเสถียรภาพอีกครั้งหลังจากปั่นป่วนผันผวนมายาวนาน, และเครือข่ายอันใหญ่โตกว้างขวางแห่งการอุปถัมภ์และความสัมพันธ์ทางสายเลือด [ดู One big happy family in Cambodia, Asia Times Online, March 20, 2007] มีทุกสิ่งทุกอย่างพรักพร้อมแล้วที่จะทำให้เกิดความมั่นใจว่า เขาและอดีตพรรคแนวทางคอมมิวนิสต์ของเขาที่ปัจจุบันใช้นามว่า พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา (Cambodian People’s Party หรือ CPP) จะเป็นผู้นำประเทศต่อไป ในช่วงเวลาที่ความมั่งคั่งร่ำรวยซึ่งอาจจะถึงขั้นมหาศาลยิ่ง จากแหล่งน้ำมันและก๊าซที่ค้นพบโดยบริษัทเชฟรอน ณ บริเวณนอกชายฝั่งทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เริ่มที่จะไหลทะลักทลายขึ้นมา

ฮุน เซน กำลังอยู่ในฐานะที่สามารถเกาะกุมสถาบันต่างๆ ของประเทศชาติเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังจับมือเป็นพันธมิตรอย่างแนบแน่นกับพวกเจ้าพ่อร่ำรวยที่สุดของกัมพูชา เป็นที่คาดการณ์กันว่า กลไกพรรคซีพีพีของเขาจะสามารถกวาดที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติมาได้ 81 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งสิ้น 123 ที่นั่ง โดยได้คะแนนเสียงประมาณ 73%

แต่ที่จริงแล้วจะคว้าชัยชนะมาได้มโหฬารขนาดไหนก็อาจไม่ใช่สิ่งสลักสำคัญนัก เนื่องจากกัมพูชาได้ยอมรับข้อเสนอของ สม รังสี (Sam Rainsy) ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ที่เสนอไว้เมื่อปี 2004 มาปฏิบัติ นั่นคือถ้ามีที่นั่งตั้งแต่ 50+1 ขึ้นไป ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แทนที่จะต้องรวบรวมให้ได้ถึงสองในสามเหมือนดังแต่ก่อน ข้อเสนอนี้ผ่านออกมาด้วยความมุ่งหมายที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ซ้ำรอยภาวะชะงักงันทางการเมืองซึ่งทำเอาประเทศไร้เสถียรภาพ ภายหลังการเลือกตั้งทั่งไปปี 1998 และ 2003 และตามมาด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีแต่ความแตกแยกแบ่งเป็นฝักฝ่าย

กระนั้นก็ตาม ในระยะหลายๆ เดือนที่ผ่านมา ฮุน เซน ยังคงใช้ออกมาใช้ยุทธวิธีเยาะหยันเสียดสีอย่างเปิดเผยไม่ยอมหยุด ต่อโอกาสชนะของฝ่ายค้าน เมื่อไม่กี่สัปดาห์มานี้ เขาบอกกับฝ่ายค้านว่า ในวันเลือกตั้งพวกฝ่ายค้านสามารถ “อยู่กับบ้าน” ได้อย่างสบายใจ โดยที่ตัวเขาเองประกาศมาก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำว่า ตั้งแต่ระยะสองสามสัปดาห์ท้ายๆ ของการรณรงค์หาเสียง เขาจะอยู่เฉยๆ ไม่ไปยุ่งอะไรด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องพบกับ “การประจันหน้ากันทางถ้อยคำพูดจา”

ในการปราศรัยอีกหนหนึ่ง นายกรัฐมนตรีผู้นี้จัดแจงเผยชื่อคณะรัฐมนตรีที่จะเขาจะแต่งตั้งเมื่อชนะเลือกตั้ง ขณะที่เปรียบเทียบลีลาการบริหารจัดการของเขากับ เซอร์ อเล็ก เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมฟุตบอล แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด นี่เป็นแบบฉบับอันแสนคลาสสิกของ ฮุน เซน ทีเดียว นั่นคือ การเป็นนักพูดปราศรัยผู้ทรงพลัง ผู้สามารถผสมผสานเอาลัทธิประชานิยมที่มีกลิ่นไอของท้องทุ่ง, บุคลิกของคนที่เก่งกาจรอบตัว, และอารมณ์ขันแบบหยาบโลนที่กระตุ้นให้พันธมิตรฮึกเหิมและข่มขวัญฝ่ายปรปักษ์ เข้าไว้ด้วยกัน

เมื่อปี 2006 เขาหัวเราะเยาะแผนการโจมตีรัฐบาลที่ประสบความล้มเหลวไม่เป็นท่า โดยตามรายงานของหนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ เขากล่าวปราศรัยว่า “ผมรู้หมดแหละ แม้กระทั่งพวกคุณตด ผมก็ยังรู้เลย พวกคุณไม่สามารถปิดบังอะไรผมได้หรอก”

ในอดีตเขาพูดอยู่เสมอว่า เขายังไม่คิดที่จะก้าวลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี จนกว่าเขาจะมีอายุอย่างน้อย 90 ปี ถ้าเขาทำได้ตามนี้ก็จะเป็นการดำรงตำแหน่งที่ต่อเนื่องยาวนานมากทีเดียว เพราะเขาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีกัมพูชาภายใต้การสนับสนุนของเวียดนามในปี 1985 ตอนที่มีอายุเพียง 33 ปีเท่านั้น

บัดนี้ กัมพูชาที่ถูกชาวต่างประเทศบางคนเรียกว่าเป็น “ความลี้ลับที่ยังคงถูกเก็บงำเอาไว้อย่างดีเยี่ยม” ของเอเชีย (Asia’s “best kept secret”) กำลังบ่ายหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งภาษาของที่นี่พูดกันว่า เป็น“การมอบอำนาจการปกครองครั้งที่สี่” (Fourth Mandate) ในสภาพที่กลายเป็นประเทศชาติในกำมือของฮุน เซนยิ่งกว่าอดีตที่ผ่านๆ มา

เรื่องนี้ย่อมไม่เป็นที่พอใจเลยของคนซึ่งวิพากษ์วิจารณ์เขาที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก บางคนได้ประทับตราให้แก่ระบอบปกครองของพรรคซีพีพีมานานแล้วว่า เป็น “การปกครองที่ชนชั้นนำคือโจรปล้นชาติ” (kleptocratic elite) ซึ่งสุดแสนจะทุจริตคอร์รัปชั่น และแทบไม่แยแสสนใจชาวนาจำนวนนับล้านๆ คนที่กำลังอาศัยอยู่ในชนบทด้วยสภาพยากจนชวนสังเวช ขณะที่นักวิจารณ์อื่นๆ รวมทั้งนักการทูตหลายๆ คน ใช้คำพูดที่พรรณานาถึงความเลวร้ายยิ่งกว่านี้ด้วยซ้ำ

เมื่อปี 2006 หลุยส์ อาร์เบอร์ ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น พูดถึงปัญหาที่มีอยู่ภายในระบบศาลยุติธรรมของกัมพูชาว่า “ลึกล้ำเหลือเกิน” ขณะที่ ดร.เหลามองเฮย์ นักวิจัยอาวุโสของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชีย เขียนไว้ในบทบรรณาธิการวันที่ 18 มิถุนายนว่า

...สถาบันต่างๆ ยังคงตกอยู่ภายใต้การควบคุม ที่ได้ตกทอดมาจากยุคคอมมิวนิสต์ครองเมืองในช่วงก่อนปี 1993 และกำลังถูกนำมารับใช้ผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองแทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของประชาชน ถึงแม้กัมพูชามีการจัดการเลือกตั้งตามกำหนดเวลา และกำลังเตรียมตัวเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทว่าระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีและหลายพรรคของกัมพูชา ยังคงแทบไม่ได้มีเนื้อหาสาระที่เป็นจริงเลย

คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติ ถูกฝ่ายค้านกล่าวหาเป็นประจำว่าไร้ความเป็นอิสระ ส่วนพวกกลุ่มอิสระติดตามสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ก็กล่าวหารัฐบาลว่า มีการใช้ทรัพยากรและสื่อมวลชนของรัฐ เพื่อทำให้พรรคซีพีพีได้เปรียบในการเลือกตั้ง

“อย่าได้ทึกทักเป็นอันขาดว่ากัมพูชาเป็นประชาธิปไตย” เจีย วันนาถ (Chea Vannath) นักวิจารณ์การเมืองบอก “ถ้าประชาธิปไตยหมายถึงประเทศชาติที่ปกครองด้วยรัฐบาลที่มาจากการเลือกของประชาชนแล้ว ก็ใช่เลย กัมพูชาเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้ามองในแง่มุมของธรรมาภิบาลแล้ว กัมพูชาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย มันไม่ได้มีระบบการตรวจสอบและคานอำนาจต่อฝ่ายบริหาร, ฝ่ายตุลาการ, หรือสถาบันพระมหากษัตริย์”

ระยะไม่กี่สัปดาห์หลังมานี้ ฮุน เซนถึงกับแสดงท่าทีเบี้ยวคำมั่นสัญญาก่อนหน้านี้ ที่ว่าจะยอมเปิดไฟเขียวผ่านร่างกฎหมายต่อต้านการทุจริต ที่ทั้งพวกประเทศผู้บริจาคความช่วยเหลือ และกลุ่มประชาสังคมต่างๆ เรียกร้องมานมนาน แล้วเขาก็ใช้วิธีแบบเก่าๆ ในการปล่อยข่าวกระพือกระแสให้เกิดความหวาดผวา มาสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของเขาคราวนี้

“พวกข้าราชการขี้โกงจะยอมให้ริบทรัพย์สินของพวกเขาไหมล่ะ ไม่มีทางเลย มันจึงจะต้องเกิดสงครามขึ้นมาแน่นอน” ฮุน เซนกล่าวในการปราศรัยถ่ายทอดทางวิทยุทั่วประเทศเมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคม “หลังจากการยึดทรัพย์ดำเนินไปได้พักหนึ่ง พวกคนรวยทั้งหมดก็จะกลายเป็นคนจนไปหมดเลย เหมือนกับในสมัยเขมรแดงนั่นแหละ คนกว่า 3 ล้านคนจะถูกทำลายไป อย่าไปเล่นกับเรื่องอย่างนั้นเลย” เขาบอก

เคร็ก กูธรี เป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ แม่โขงไทมส์ ในกรุงพนมเปญ เขามีประสบการณ์ทำข่าวเกี่ยวกับกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2004

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)

  • สู่“กัมพูชา” ที่เป็นของ“ฮุน เซน”มั่นคงยิ่งขึ้นอีก (ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น