xs
xsm
sm
md
lg

ชนชั้นนำในสหรัฐฯ หาวิธีปกครองโลกหลังยุค ‘บุช’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: มาร์ก เองเกลอร์

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

How to rule the world after Bush
By Mark Engler
19/05/2008

ชนชั้นนำผู้เชิดชู “การค้าเสรี” ในสหรัฐฯ รู้สึกหงุดหงิดผิดหวังกับลัทธิชาตินิยมแบบ “ข้าทำคนเดียว” ตามแนวความคิดพวกอนุรักษ์นิยมใหม่ ของคณะรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งไม่ใยดีที่จะนำเอาพวกเครื่องมือแบบร่วมมือกันหลายฝ่าย มาใช้ในการรักษาอิทธิพลของอเมริกาให้มั่นคง พวกเขาจึงต้องการที่จะดำเนินการ “โจมตีแบบจรยุทธ์” เพื่อที่จะได้หวนกลับคืนไปสู่จักรวรรดิแห่งโลกาภิวัตน์ภาคบรรษัทซึ่งมีความอ่อนโยนนุ่มนวลมากกว่า เวลานี้ พวกนักโลกาภิวัตน์ภาคบรรษัทเหล่านี้กำลังพยายามหาทางเข้าควบคุมทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ได้ และพวกเขาก็เห็นว่าผู้สมัครของพรรคเดโมแครตนั่นแหละ คือโอกาสที่ดีที่สุดของพวกเขา

*รายงานนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอน 1)

ถ้าแรงกดดันจากฐานรากของพรรคค่อยๆ จางหายไปภายหลังการเลือกตั้ง ก็จะไม่ค่อยน่าประหลาดใจเลยที่จะได้เห็นผู้สมัครของเดโมแครตซึ่งได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีแล้ว หวนกลับไปนำเอาโมเดลแบบบรรษัทของบิล คลินตัน มาเป็นวิธีในการปกครองโลก อย่างไรก็ตาม การกลับไปสู่การเมืองระหว่างประเทศในแบบฉบับของยุคก่อนหน้าบุช อาจจะเป็นเรื่องง่ายที่จะฝันมากกว่าที่จะทำให้เป็นจริง

** ความขัดแย้งในตัวเองของพวกอนุรักษนิยมใหม่**
สิ่งที่พวกชนชั้นนำ ผู้เชิดชู “การค้าเสรี” จะต้องรู้สึกเสียใจผิดหวังก็คือ แนวความคิดยึดมั่นหลักการพื้นฐานเรื่อง “พลังของตลาด”ชนิดสุดๆ ที่เคยครอบงำความคิดทางด้านการพัฒนาระหว่างประเทศตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อยนั้น เวลานี้กลับกำลังถูกโจมตีโห่ไล่จากทั่วทั้งโลก ที่เป็นเช่นนี้ส่วนใหญ่ทีเดียวเนื่องมาจากยารักษาโรคทางเศรษฐกิจที่ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกชอบสั่งจ่าย (และบังคับให้ประเทศผู้รับความช่วยเหลือต้องทำ) อย่างเช่น การลดเลิกระเบียบกฎเกณฑ์ควบคุม, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, ตลาดแบบเปิดกว้าง, และการตัดลดบริการต่างๆ ทางสังคม ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นยาที่ก่อให้เกิดความหายนะ

ในปี 2003 รายงานเรื่องการพัฒนามนุษย์ ของสหประชาชาติ ได้แจกแจงว่า มีประเทศที่ยากจนอยู่แล้วรวม 54 ประเทศ ได้กลับมีฐานะยากจนลงไปกว่าเก่า ระหว่างช่วง “การค้าเสรี” ในยุคทศวรรษ 1990 หนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษได้สรุปสาระของรายงานฉบับนี้เอาไว้เป็นอย่างดี ดังนี้

“รายงานได้ให้ความเห็นที่แตกต่างไปจากพวกซึ่งชอบอ้างว่า การดำเนินนโยบาย “รักโหดๆ” ของรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการเติบใหญ่ของชนชั้นกลางใหม่ในทั่วโลก โดยรายงานบอกว่าโลกกำลังเกิดการแบ่งแยกกันมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีตด้วยซ้ำ ระหว่างพวกที่ร่ำรวยล้นเหลือ และพวกซึ่งยากจนสุดๆ กล่าวคือ พวกที่อยู่ในระดับรวยที่สุด 1% ของประชากรโลก (คิดเป็นจำนวนประมาณ 60 ล้านคน) เวลานี้มีรายได้มากเท่ากับพวกคนจนที่สุดราวๆ 57% ของประชากรโลก และรายได้ของคนอเมริกันระดับรวยที่สุดจำนวน 25 ล้านคน ก็อยู่ในระดับพอๆ กับรายได้ประชาชนยากจนที่สุดของโลกเกือบ 2,000 ล้านคน”

การค้นพบดังกล่าวทำให้ มาร์ก มอลลอช บราวน์ ผู้บริหารโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ถึงกับหลุดคำพูดที่แสนจะตรงไปตรงมา นั่นคือเรียกร้องให้ “ทำการโจมตีแบบจรยุทธ์ต่อฉันทามติวอชิงตัน”

อันที่จริงเมื่อถึงปี 2008 การโจมตีดังกล่าวก็กำลังดำเนินอยู่แล้ว และวอชิงตันก็กำลังมีฐานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงไปมาก ในการรับมือกับเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่น พวกประเทศที่บาดเจ็บจากวิกฤตทางการเงินเอเชียปี 1997-98 เวลานี้กำลังสร้างกองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศขนาดมหึมาขึ้นมา จนพวกเขาจะไม่ต้องมาวิงวอนขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ(และจะต้องยอมเจ็บปวดรับประกาศิตคำบงการจากวอชิงตัน)อีกแล้วในเวลาเกิดวิกฤต ยิ่งกว่านั้น ภูมิภาคละตินอเมริกาทั้งหมดก็กำลังก่อการกบฎในทางเป็นจริงด้วยเช่นกัน มีประชาชนมากกว่า 500 ล้านคนอาศัยกันอยู่ในภูมิภาคนั้น และพวกเขามากกว่าสองในสามเวลานี้มีชีวิตอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งภายหลังจากปี 2000 รัฐบาลเหล่านี้ได้รับอำนาจมาด้วยการรณรงค์หาเสียงที่จะแยกขาดจากหลักเศรษฐศาสตร์แบบ “การค้าเสรี”, ประกาศอิสรภาพจากวอชิงตัน, และดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของคนยากจนอย่างแท้จริง

ในปลายเดือนเมษายน นักเศรษฐศาสตร์ มาร์ก เวสบร็อต ชี้ให้เห็นว่า จากการที่มีประเทศจำนวนมากหลุดรอดเป็นอิสระออกจากกำมือของไอเอ็มเอฟ ทำให้องค์การแห่งนี้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยสั่งการให้บรรดารัฐบาลในทั่วโลกที่บากหน้าไปขอความช่วยเหลือ ต้องดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามที่ตนเองปรารถนานั้น เวลานี้กลับตกอยู่ในสภาพเป็นแค่เงาของตัวตนอันเดิมเท่านั้น ระยะ 4 ปีที่ผ่านมา ยอดปล่อยเงินกู้ของไอเอ็มเอฟได้ลดฮวบลงจากระดับ 105,000 ล้านดอลลาร์ จนเหลือไม่ถึง 10,000 ล้านดอลลาร์แล้ว โดยที่เงินกู้ก้อนโตที่ยังปล่อยได้เวลานี้ ก็ไปยัง 2 ประเทศเท่านั้น คือ ตุรกี และ ปากีสถาน เรื่องนี้ทำให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯที่เคยใช้องค์การนี้ในการควบคุมเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ตกอยู่ในภาวะหมดอำนาจลงไปมากมายเมื่อเทียบกับรอบหลายๆ สิบปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์เวสบร็อตเขียนเอาไว้ว่า “การสูญเสียอิทธิพลของไอเอ็มเอฟ บางทีอาจจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในระบบการเงินระหว่างประเทศในช่วงเวลากว่าครึ่งศตวรรษ”

เป็นเรื่องที่สุดแสบสันต์ครั้งประวัติการณ์ทีเดียว ในการที่พวกอนุรักษนิยมใหม่ของคณะรัฐบาลบุช ผู้หลงใหลได้ปลื้มกับแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ และรู้สึกคันในหัวใจอยากจะเปิดศึกทำสงครามในเอเชียกลางและตะวันออกกลาง ตลอดจนหลีกเลี่ยงไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับพวกสถาบันที่เป็นความร่วมมือของหลายๆ ประเทศนั้น แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นพวกที่ช่วยบ่มเพาะให้เกิดสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ซึ่งอิทธิพลของสหรัฐฯกำลังลดต่ำลงทุกที และประเทศต่างๆ กำลังแสวงหาเส้นทางเดินที่เป็นอิสระกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2005 นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ จอร์จ มอนบิออต ได้เรียกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า “ความขัดแย้งกันเองที่ยังไม่เป็นที่รับรู้กันนักในวิธีคิดของพวกอนุรักษนิยมใหม่” เขาเขียนเอาไว้ดังนี้

“พวกเขาต้องการดึงทึ้งโยนเอา ระเบียบเก่าที่เป็นแบบร่วมมือกันหลายฝ่าย ทิ้งไป แล้วแทนที่ด้วยระเบียบใหม่ที่เป็นของสหรัฐฯเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำความเข้าใจเลยก็คือ ระบบ ‘ที่เป็นแบบร่วมมือกันหลายฝ่าย’ นั้น ในความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงภาพอันปรากฏออกมาภายนอก ของลัทธิทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ที่มีการตกแต่งวางหมากเอาไว้อย่างฉลาด จนทำให้ชาติอื่นๆ ลดหย่อนความระมัดระวังตัวและไม่คิดที่จะต่อต้านระบบนี้ พวกอนุรักษนิยมใหม่ก็เหมือนกับเหล่าปรปักษ์ของพวกเขานั่นแหละ ไม่ได้มีความเข้าใจเลยว่า (ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี) รูสเวลต์ และ (แฮร์รี เอส) ทรูแมน ได้เดินฝีเข็มเย็บปักถักร้อยระเบียบระหว่างประเทศดังกล่าวนี้เอาไว้อย่างดีเยี่ยมแค่ไหน พวกเขาจึงคิดที่จะโยนทิ้งระบบครอบงำเป็นใหญ่เหนือคนอื่นๆ ซึ่งได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วในเรื่องความทนทานและทรงประสิทธิภาพ แล้วแทนที่ด้วยระบบที่ยังไม่เคยผ่านการทดลอง และไร้เสถียรภาพ (เพราะชาติอื่นๆ จะต้องต่อต้านอย่างแน่นอน)”

สหรัฐฯซึ่งถูกเล่นงานหนักหน่วงทั้งจากการทำสงครามที่กำลังพ่ายแพ้และจากวิกฤตทางเศรษฐกิจ เวลานี้จึงกลายเป็นอภิมหาอำนาจที่เห็นชัดเจนว่ากำลังเสื่อมโทรมร่วงหล่นลงมาแล้ว กระนั้นก็ตาม ยังไม่มีหลักประกันหรอกว่ายุคใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้จะสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ ในโลกซึ่งมูลค่าของเงินดอลลาร์กำลังทรุด, น้ำมันกำลังหายากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับความต้องการใช้, และบรรดารัฐต่างประเทศกำลังยืนขึ้นมาเป็นปรปักษ์กับแสนยานุภาพของอเมริกัน จึงไม่มีความเป็นไปได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าใช้ลัทธิทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียวตามสไตล์ของบุช/เชนีย์ หรือการหวนกลับอย่างประสบความสำเร็จไปสู่ลัทธิบรรษัทนิยมแบบร่วมมือกันหลายฝ่าย ที่ “ทนทานและทรงประสิทธิภาพ”ของยุคทศวรรษ 1990

ทว่าแม้หนทางเลือกเหล่านี้มีแต่ประสบความล้มเหลว ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะยังไม่ขาดไร้ผู้ที่พยายามทดลองเดินหรอก แม้กระทั่งเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์แบบรรษัท กำลังอยู่ในภาวะเสื่อมทรุด บรรดาธุรกิจยักษ์ระดับนานาชาติก็ยังจะพยายามรวบรวมหรือกระทั่งแผ่ขยายอำนาจของพวกเขา และแม้กระทั่งเมื่อกระแสโลกาภิวัตน์โมเดลจักรวรรดิได้ถูกพิสูจน์ว่าล้มเหลวไม่เป็นท่า กองทัพสหรัฐฯที่อยู่ในสภาพกระจายกำลังแบกรับภารกิจกันจนเกินตัวแล้ว ก็ยังอาจจะพยายามยึดที่มั่นเดิมไว้ต่อไปให้ได้โดยอาศัยความรุนแรง

มรดกที่แท้จริงของคณะรัฐบาลบุช จึงอาจจะเป็นการปล่อยทิ้งให้พวกเราอยู่ในโลกซึ่งด้านหนึ่งมีความเปิดกว้างยิ่งกว่าเดิมมากมาย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีอันตรายเพิ่มขึ้นมหาศาลด้วย ทิศทางอนาคตดังกล่าวมานี้ย่อมไม่อาจบั่นทอนลดความสำคัญของการเฉลิมฉลองในเดือนมกราคมที่รอคอยกันมานาน แต่ขณะเดียวกัน มันก็บ่งชี้ให้เห็นว่า ยุคใหม่แห่งการสู้รบด้านโลกาภิวัตน์ (การต่อสู้เพื่อสร้างระเบียบโลกขึ้นมาใหม่ ที่ทั้งไม่อิงอยู่กับอิทธิพลของภาคธุรกิจ และก็ไม่พึ่งพาแสนยานุภาพแบบจักรวรรดิ) กำลังเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นมาเท่านั้น

มาร์ก เองเกลอร์ เป็นนักวิเคราะห์ที่ทำงานให้กับ Foreign Policy in Focus เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “How to Rule the World: The Coming Battle over the Global Economy” ที่เพิ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Nation Books


  • ชนชั้นนำในสหรัฐฯหาวิธีปกครองโลกหลังยุค‘บุช’ (ตอนแรก)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น