xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภชัย” แนะทางออกวิกฤตอาหาร พัฒนาเกษตร-การค้าโลกยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตราคาอาหารโลกทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ
เอเจนซี - “ศุภชัย พานิชภักดิ์” ในฐานะผู้อำนวยการอังค์ถัด แสดงทัศนะ กุญแจสำคัญสำหรับทางออกระยะยาวต่อวิกฤตราคาอาหารโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ คือ การเพิ่มความช่วยเหลือในการพัฒนาภาคเกษตรกรรม ควบคู่ไปกับการยกเลิกมาตรการอุดหนุนในประเทศมั่งคั่ง

ภาวะที่ราคาธัญญาหารในตลาดระหว่างประเทศ พุ่งขึ้นเป็นสองเท่าตัวนับจากกลางปีที่แล้ว กำลังทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีความเสี่ยงต่อปัญหาความอดอยาก และความยากจนเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ ภาวะข้าวยากหมากแพงกลายเป็นชนวนเหตุของการจลาจลในหลายประเทศในเอเชียและแอฟริกาแล้วด้วยซ้ำ

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการองค์การที่ประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (อังค์ถัด) กล่าวเมื่อวันเสาร์ (20) ในการแถลงข่าวก่อนเปิดประชุมสุดยอดอังค์ถัดที่ประเทศกานา ว่า การจัดสรรเงินช่วยเหลือให้แก่มาตรการริเริ่มของภาครัฐอย่างไม่เหมาะสมในประเทศกำลังพัฒนาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ภาคการเกษตรถูกละเลยมาตลอดนั้น ส่งผลให้ประเทศยากจนที่เคยเป็นผู้ส่งออกอาหารสุทธิกลับกลายต้องนำเข้าอาหารราคาแพงไปโดยปริยายในขณะนี้

ดร.ศุภชัย สำทับว่า หากประชาคมโลกไม่สามารถจัดการกับปัญหา ด้วยการปรับโครงสร้างการจัดสรรเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศ โลกจะต้องเผชิญวิกฤตระลอกแล้วระลอกเล่า

นายใหญ่อังต์ถัด แจกแจงว่า ระหว่างปี 2003-2005 เงินช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาจำนวน 1,300 ล้านดอลลาร์ถูกอัดฉีดให้กับมาตรการริเริ่มภาครัฐในประเทศยากจนที่สุด โดยในจำนวนนี้จัดสรรให้แก่ภาคเกษตรกรรมเพียง 12 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ดร.ศุภชัย ยังกล่าวอีกว่า นี่เป็นทศวรรษแรกในประวัติศาสตร์เท่าที่มีการบันทึกไว้ ที่แรงงานในประเทศยากจนที่สุดซึ่งทิ้งงานเกษตรกรรมออกไปหางานทำในภาคอื่นนั้น มีจำนวนมากกว่าแรงงานภาคเกษตรกรรมที่ยังหางานทำในภาคนี้อยู่ และส่งผลให้วิกฤตอาหารเลวร้ายลง

“คนจำนวนมากจะทิ้งภาคเกษตรกรรมเข้าไปทำงานในเมือง แต่ส่วนใหญ่จะหางานไม่ได้ หมายความว่าการสนับสนุนจากภาคเกษตรกรรมจะลดลง แต่มีคนที่รอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น”

“ขณะนี้ ช่องว่างด้านประสิทธิภาพการผลิตกว้างขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีวี่แววว่าปัญหาจะยุติลงในเร็ววันนี้”

แม้มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดหาความช่วยเหลือด้านอาหารให้แก่ภูมิภาคต่างๆ ที่ประสบปัญหาการขาดแคลน แต่ในกระบวนการหาทางออกระยะยาวควรคำนึงด้วยว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วโลกที่มีอาหารล้นเกินความต้องการ ผู้อำนวยการอังค์ถัด กล่าว

ดร.ศุภชัย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ยังบอกด้วยว่าการบรรลุข้อตกลงภาคการเกษตรและการลดการอุดหนุนของชาติมั่งคั่งในการประชุมการค้าโลกรอบโดฮา จะเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาวิกฤตอาหารโลกในระยะยาว

ก่อนหน้านี้ ไม่กี่วัน ปาสกาล ลามี ผู้อำนวยการคนปัจจุบันของดับเบิลยูทีโอ เคยกล่าวไว้ว่า องค์การการค้าโลกสามารถจัดการกับปัญหาการบิดเบือนเชิงระบบในตลาดอาหารระหว่างประเทศซึ่งเกิดจากการขึ้นภาษีศุลกากรและการเพิ่มมาตรการอุดหนุน แต่ไม่สามารถเข้าไปแก้ไขวิกฤตเฉพาะหน้าขณะนี้ได้

ต่อเรื่องนี้ ดร.ศุภชัย กล่าวว่า การขจัดการบิดเบือนดังกล่าวอาจส่งผลต่อภาวะราคาอาหารแพงในบางส่วน แต่ผลลัพธ์ที่แท้จริงน่าจะมาจากการที่การขจัดมาตรการอุดหนุน และการบิดเบือนในภาคเกษตรกรรม จะทำให้เกษตรกรในประเทศยากจนสามารถคาดหวังราคาผลิตภัณฑ์ที่เป็นจริงได้เป็นครั้งแรก และทำให้เกษตรกรเหล่านั้นสามารถเพิ่มผลผลิตได้ต่อไป

ผู้อำนวยการอังค์ถัด ยังโจมตีว่า นักเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ล่วงหน้าเป็นตัวการทำให้ปัญหาอาหารแพงทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เขาหวังว่าการประชุมอังค์ถัดที่กานาระหว่างวันที่ 20-25 เม.ย.นี้ จะมีการหารือถึงวิถีทางในการทำให้ตลาดล่วงหน้าเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาอาหาร ไม่ใช่ทำให้ปัญหาเลวร้ายลงอย่างที่เป็นอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น