ตอนนี้นักวิเคราะห์หลายคนเริ่มให้ความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น โดยได้อานิสงค์ผลพวงจากประเทศจีน ประเทศอินเดีย หรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นนั้นเอง โดยธนาคารโลกหรือ เวิลด์แบงก์ มองว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว 2.9% และจะขยายตัวเป็นบวก 2% ในปีหน้า ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับตัวเลขภาคการส่งออกที่หดตัวลงจากการบริโภคของสหรัฐจะที่ลดลงเช่นกัน เเต่กระนั้นเศรษฐกิจไทยยังน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 1.8% ในไตรมาส 4 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2552 จะติดลบ 2.7%
ขณะที่ผลสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาส 2 ของปี 2552 ที่จัดทำโดย ING Group เปิดเผยว่า นับเป็นครั้งแรกในช่วงระยะ 12 เดือน ที่ความเชื่อมั่นและทัศนคติในการลงทุนของนักลงทุนไทยได้ปรับจากเชิงลบมาเป็นเชิงบวก ซึ่งดำเนินไปพร้อมกับภาพรวมทางเศรษฐกิจไทยและความเชื่อมั่นในสถานะการเงินส่วนบุคคล การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่ดูสดใสขึ้น โดยดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของนักลงทุนไทยในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 113 จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 85 ในไตรมาสที่ 2 ของปี ที่แล้ว
ถึงแม้ประเทศไทยมีปัจจัยบั่นทอนจากความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศและสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่ได้มีการคาดการณ์ว่าตัวเลข GDP จะปรับลดลง 4.4% ในปี 2552 แต่นักลงทุนไทยต่างก็มีความเชื่อมั่นและทัศนคติในการลงทุนในเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศนักลงทุนทั้งหลายต่างเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศจะปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับสถานะการเงินส่วนบุคคลและผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุน โดยต่างมีความเชื่อมั่นสูงต่อการลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในประเทศ นอกจากนี้ ภาพการพุ่งทะยานของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ช่วยลดความกังวลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ หลายประเทศเชื่อว่าสภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นของภาคธุรกิจการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ หากไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากการระบาดของไข้หวัด 2009 (H1N1) ปัจจัยที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นในเชิงบวกของนักลงทุนมาจากภาพการปรับตัวที่ดีขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลายๆ ตลาด และความเชื่อมั่นที่ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในไตรมาสถัดไป
สำหรับทิศทางในการลงทุนนั้น แม้ว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก แต่นักลงทุนเหล่านี้ต่างเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยบั่นทอนการลงทุนในระยะยาว และพยายามที่จะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ แทนการถือเงินสด เราคาดว่าสภาพคล่องจากเม็ดเงินลงทุนจะไหลกลับมาลงทุนยังภูมิภาคเอเชียโดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากนักลงทุนจากประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งถือเป็นโอกาสดีของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีปัจจัยชี้ชัดถึงการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจและมีความเป็นไปได้ที่การรับรู้รายได้ของหลายๆบริษัทอาจลดลง ไม่เป็นไปตามที่ได้คาดการณ์ไว้ ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนควรเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive ซึ่งมีการเติบโตต่อเนื่อง และผลการดำเนินงานไม่อิงกับการส่งออก ได้แก่ หุ้นในกลุ่มธุรกิจยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ หุ้นนอกกลุ่มสินค้าอุปโภค บริโภคระดับกลาง และหุ้นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
-นักลงทุนไทยมีทัศนคติในเชิงบวกกับสภาพเศรษฐกิจในประเทศ แม้จะคาดการณ์ปรับลด GDP ของประเทศ 4.4% ในปีนี้
-นักลงทุนไทยเชื่อมั่นว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจะขยับสูงขึ้นโดยประมาณ 4.0% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
-นักลงทุนโดยส่วนใหญ่ลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในระดับต่ำ และหันกลับมาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในระดับปานกลางที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า (เป็นสัดส่วน 60% ในไตรมาสที่ 2 ของปี เทียบกับสัดส่วน 40% ในไตรมาสที่ 1 ของปี)
มุมมองผู้จัดการกองทุน
ทางด้าน มาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า การประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ได้หวนกลับมาสู่ระดับราคาที่เหมาะสมอีกครั้ง หลังจากที่ระดับราคาหลักทรัพย์ได้ดีดตัวสูงขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา ดังนั้น นักลงทุนที่จะหันกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ควรคำนึงถึงการประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่จะประกาศออกมาในช่วงเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ไปพร้อมกัน ซึ่งคาดว่าหลายๆ บริษัทจะรายงานผลประกอบการที่ปรับลดลง อย่างไรก็ตาม เราคาดว่าพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ปราศจากความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความไร้เสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง
ขณะเดียวกันประเทศจีนนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมาก นักลงทุนไทยได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศจีนอย่างใกล้ชิดเพื่อพิจารณาโอกาสการลงทุนในระยะสั้นและระยะกลาง ซึ่งจากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนจีนยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศซึ่งเป็นผลจากความมีประสิทธิภาพในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในช่วงที่เผชิญกับวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจโลก โดยในระหว่างที่ประเทศในแถบภูมิภาคกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา มีเพียงเศรษฐกิจของประเทศจีนและอินเดียที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
จากจำนวนทั้งหมดของนักลงทุนจีน 90% ของนักลงทุนจีนเชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนจำนวนกว่า 4 ล้านล้านหยวนมีประสิทธิผลและนำผลดีมาสู่เศรษฐกิจของประเทศจีน
เเนวโน้มเศรษฐกิจโลกในQ3
เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของปี เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยังไม่หลุดพ้นจากภาวะถดถอยอย่างสิ้นเชิง นักลงทุนควรติดตามตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศออกมาอย่างใกล้ชิด อาทิ อัตราการว่างงานที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การบริโภคที่หดตัวลงและการตกต่ำของภาคอสังหาริมทรัพย์ และยังมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะทยอยประกาศตัวเลขที่แสดงถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ยอดขายบ้าน, อุตสาหกรรมรถยนต์ และสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าอุปโภคและบริโภค
“ถึงแม้จะมีปัจจัยบั่นทอนเข้ามาตลอดช่วงปี 2552แต่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยยังปรับสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลข GDP ที่ถูกคาดการณ์ว่าอาจมีการปรับลด 4.4% ในปีนี้หลังจากในไตรมาสที่ 1 ตัวเลข GDP ได้ปรับลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการลดลงอย่างชัดเจนในการบริโภคในครัวเรือน, การส่งออก, รายได้จากภาคเกษตรกรรม, จำนวนนักท่องเที่ยว และอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เรามองว่า ปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากการที่เศรษฐกิจโลกได้ฟื้นคืนกลับมา ความมีประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่หลากหลายและนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวย