xs
xsm
sm
md
lg

คำถาม-คำตอบเกี่ยวกับผลกระทบ จากการล้มเหลวของWTOคราวนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

*ที่เรียกกันว่า “รอบโดฮา” นั้น จริงๆ แล้วคืออะไรกันแน่ ?

-การประชุมหารือคราวนี้ คือ การเจราจาต่อรองกันในประเด็นต่างๆ กว้างขวางมาก เพื่อขยายการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งการค้าในด้านเกษตรกรรม, สินค้าอุตสาหกรรม, และด้านภาคบริการ ในบรรดา 153 ประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) เหตุที่ได้ชื่อว่ารอบโดฮา เพราะเริ่มเปิดฉากการการเจรจากันที่เมืองหลวงโดฮา ของรัฐกาตาร์ เมื่อปี 2001 ทั้งนี้ นอกจากเรื่องหลักๆ ดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว การเจรจาหารือกันในรอบนี้ยังมีประเด็นปัญหาที่ย่อมๆ ลงมา อาทิ การปรับปรุงกฎเกณฑ์การดำเนินการค้าระหว่างประเทศให้รัดกุมยิ่งขึ้น และทำให้ผู้ส่งออกสามารถส่งสินค้าข้ามพรมแดนได้ง่ายยิ่งขึ้น

*แล้วทำไมการหารือจึงล้มครืนลง ?

-โดยพื้นฐานเลย ก็เป็นพวกปัญหาเดิมๆ ที่เป็นตัวการทำให้การเจรจายืดเยื้อไม่คืบหน้ามาหลายปีแล้วนั่นเอง กล่าวคือ พวกประเทศเจริญรุ่งเรืองใหม่ที่มีขนาดใหญ่ๆ บางประเทศ โดยเฉพาะจีนกับอินเดีย ต้องการรักษาสิทธิที่จะปกป้องคุ้มครองเกษตรกรและโรงงานอุตสาหกรรมของตน ซึ่งพวกเขาบอกว่ายังอ่อนแอนักเมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันระหว่างประเทศ ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ ตลอดจนอียูด้วย แม้จะด้วยระดับที่ลดน้อยลงมา ก็เรียกร้องให้สามารถเข้าสู่ตลาดประเทศเหล่านี้ได้มากขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่พวกเขาจะยอมตัดลดมาตรการช่วยเหลือชดเชยที่ให้แก่เกษตรกรของตนเอง แล้วปรากฏว่าทุกๆ ฝ่ายยังไม่สามารถตกลงกันเพื่อให้ได้ข้อแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นที่ยอมรับกันได้

*ดังนั้น มันก็เป็นเรื่องประเทศรวยต่อสู้กับประเทศจนเท่านั้นเองใช่ไหม ?

-ไม่ใช่เลย โลกกำลังพัฒนาเองก็มีการแตกแยกความเห็นกันในประเทศปัญหาเหล่านี้หลายๆ ประเด็น พวกชาติผู้ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมที่มีประสิทธิภาพสูง อาทิ บราซิล และ อุรุกวัย ก็ต้องการเข้าถึงตลาดการเกษตรในพวกประเทศอย่างเช่น อินเดีย ด้วยเหมือนกัน ทว่ามักจะไม่ค่อยส่งเสียงเรียกร้องในเรื่องนี้ดังกึกก้องกัมปนาทเหมือนกับสหรัฐฯ

*แล้วจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรต่อไป ?

-เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องบางคนพยายามทำใจให้กล้าหาญ และบอกว่าพวกเขาจะกลับมาเจรจากันใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทว่าเนื่องจากการเลือกตั้งในสหรัฐฯกำลังใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว จึงไม่น่าที่จะมีการประชุมหารืออย่างเป็นเรื่องเป็นราวในระดับรัฐมนตรีเกิดขึ้นอีก จนกว่าจะมีประธานาธิบดีคนใหม่เข้าไปอยู่ในทำเนียบขาวแล้ว

*หากการประชุมหารือคราวนี้มีการทำข้อตกลงกันได้สำเร็จจริงๆ จะทำให้สถานการณ์แตกต่างออกไปมากไหม ?

-ก็ไม่มากมายอะไรหรอก อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในระยะเฉพาะหน้านี้ การประมาณการในเรื่องที่ว่าเมื่อทำข้อตกลงโดฮาได้จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลกแค่ไหน ส่วนใหญ่ให้ตัวเลขในระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเท่ากับแค่ 0.1%ของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น และเนื่องจากพวกประเทศยากจนมากที่สุดของโลก ต่างได้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดของเหล่าประเทศร่ำรวยอยู่แล้ว การทำข้อตกลงระดับโลกฉบับนี้ได้ ซึ่งจะมีการตัดลดภาษีนำเข้ากันเป็นการทั่วไป อาจจะทำให้ประเทศยากจนที่สุดเหล่านี้เสียมากกว่าได้ด้วยซ้ำ

*ทำไมผลที่จะได้ถึงน้อยนิดเช่นนี้ ?

-การเจรจาใน WTO นั้น มุ่งต่อรองกันที่ “อัตราผูกพัน” (bound rate) ซึ่งหมายถึงอัตราสูงสุดที่ตกลงสัญญากันว่าประเทศต่างๆ สามารถขึ้นภาษีศุลกากร หรือให้การอุดหนุนภาคเกษตรกรรม ได้จนถึงระดับนั้น ไม่ใช่ที่ “อัตราใช้จริง” (applied rate) อันหมายถึงอัตราที่ประเทศต่างๆ ใช้กันอยู่จริงๆ ในปัจจุบัน ช่วงห่างระหว่างอัตราทั้งสองนี้ เรียกกันว่า “water” เนื่องจาก อัตราใช้จริง มักต่ำกว่า อัตราผูกพัน อยู่มาก พวกข้อตกลง WTO จึงมักอยู่ในรูปของการตัดลด “water” มากกว่าการตัดลดอัตราภาษีศุลกากรหรืออัตราการอุดหนุนชดเชยที่เป็นจริง ตัวอย่างเช่น สหรัฐฯกำลังเสนอตัดลดการอุดหนุนภาคเกษตรกรรมของตน ซึ่งเป็นการบิดเบือนการค้าระหว่างประเทศ ลงมาในระดับสูงสุด 14,400 ล้านดอลลาร์ ทว่าเนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯจะจ่ายเงินอุดหนุนชดเชยกันจริงๆ แค่ไหนย่อมขึ้นอยู่กับราคาในตลาด และเพราะช่วงหลังๆ มานี้ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์เฟื่องฟูมาก เวลานี้สหรัฐฯจึงกำลังให้การอุดหนุนชดเชยแก่เกษตรกรของตนจริงๆ เพียง 7,000 ล้าน ถึง 9,000 ล้านดอลลาร์

*แล้วอย่างนี้ทำไมจึงต้องพยายามกันนักเพื่อทำข้อตกลงกันให้ได้ ?

-เหตุผลประการหนึ่งได้แก่ เพื่อให้เกิดหลักประกันขึ้นมา กล่าวคือ การตกลงกันได้เกี่ยวกับเพดาน “อัตราผูกพัน” ของภาษีศุลกากรที่เก็บจากสินค้าหนึ่งๆ ย่อมทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถที่จะขึ้นอัตราภาษีดังกล่าวได้อย่างฉับพลัน ดังนั้น จึงลดความเสี่ยงที่จะโลกจะกลับไปสู่ลัทธิกีดกันการค้าชนิดที่แต่ละประเทศขึ้นภาษีตอบโต้กันไปมา อย่างที่โลกเคยเผชิญในยุคทศวรรษ 1930

*องค์การ WTOเองจะเสียหายอะไรไหมเมื่อทำข้อตกลงกันไม่ได้เช่นนี้ ?

-เฉพาะหน้าแล้ว ไม่เสียหายอะไรหรอก แต่ในระยะปานกลางแล้ว อาจจะมีก็ได้ WTO นั้นทำอะไรอีกมากไม่ใช่เพียงแค่เป็นเวทีเจรจาทำข้อตกลงเปิดเสรี องค์การนี้ยังมีระบบแก้ไขชี้ขาดกรณีพิพาท ซึ่งวินิจฉัยว่าประเทศสมาชิกหนึ่งใดกำลังละเมิดกฎเกณฑ์ที่กำลังใช้กันอยู่แล้วในเวลานี้หรือเปล่า ตัวอย่างเช่น ระบบนี้เองบังคับให้อียูต้องปฏิรูประบบให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมน้ำตาลของตนที่แสนจะซับซ้อนและเสียเงินมหาศาล และทำให้รัฐสภาสหรัฐฯต้องแก้ไขกฎหมายว่าด้วยภาษีนิติบุคคล ถ้ารัฐบาลชาติต่างๆ ไม่สามารถทำข้อตกลงการค้ากันได้โดยผ่านการเจรจาภายใต้กรอบ WTO พวกเขาก็อาจจะเกิดความลังเลเพิ่มขึ้น ที่จะยอมทำตามบรรดากฎเกณฑ์ที่บังคับใช้กันอยู่แล้วขององค์การนี้

(จากไฟแนนเชียลไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น