xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียคลี่พรมแดงต้อนรับพม่า

เผยแพร่:   โดย: Siddharth Srivastava

India lays out a red carpet for Myanmar
By Siddharth Srivastava
04/04/2008


การที่อินเดียจัดการต้อนรับอย่างให้เกียรติสูงยิ่งแก่ พลเอก หม่องเอ ผู้นำหมายเลขสองของพม่า ในสัปดาห์นี้ ก็สืบเนื่องจากปัญหาอันยุ่งยากใหญ่โตที่มักชอบเพิกเฉยละเลยกันในอดีต นั่นคือ จีนที่กำลังหิวกระหายพลังงาน ทั้งนี้หลังจากพ่ายแพ้ปักกิ่งมาหลายครั้ง ในการแข่งขันช่วงชิงแหล่งพลังงานต่างๆ ทั่วโลก นิวเดลีผู้เคยใช้ท่าทีระมัดระวังตัวมาก ก็กำลังผ่อนปรนจุดยืนคัดค้านพม่าของตนให้อ่อนลง และเกี้ยวพาคณะผู้ปกครองทหารในย่างกุ้งเพิ่มมากขึ้น เพราะนอกเหนือจากพลังงานแล้ว เดิมพันที่จะได้จากการนี้ยังมีโครงการท่าเรือ, เส้นทางขนส่ง, และการควบคุมทางยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรอินเดีย

นิวเดลี – อินเดียเกิดความตระหนักขึ้นมาแล้วว่า ผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดเมื่อความสัมพันธ์อินเดีย-พม่าอยู่ในสภาพตึงเครียด ก็คือจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสำคัญกว่าเพื่อนอย่างการเข้าถึงแหล่งพลังงานไฮโดรคาร์บอนทั้งหลาย หรือประเด็นเรื่องช่องทางคมนาคมขนส่ง ตลอดจนการควบคุมทางยุทธศาสตร์ต่อน่านน้ำเดินเรือทะเลในมหาสมุทรอินเดีย

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้อินเดียจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการมาเยือนของพลเอก หม่องเอ บุคคลสำคัญที่สุดเป็นอันดับสองในคณะผู้ปกครองทหารของพม่า นอกเหนือจากจีนและอีกไม่กี่ชาติในเอเชียตะวันออกแล้ว ก็คงจะไม่มีประเทศอื่นใดอีกแล้วที่จัดการต้อนรับอย่างให้เกียรติยิ่งชนิดคลี่ปูพรมแดงแก่หม่องเอเหมือนดังที่นิวเดลีกระทำ

หม่องเอได้พบปะหารือทั้งกับนายกรัฐมนตรีมานโมหัน สิงห์, รองประธานาธิบดี ฮามิด อันซารี, รัฐมนตรีต่างประเทศ ประนับ มูเคอร์จี และ บรรดาผู้บัญชาการทหารเหล่าทัพต่างๆ ดอกผลจากการพบปะหารือกันเป็นชุดระหว่างพวกเจ้าหน้าที่อินเดียและพม่าก็คือ หม่องเอและอันซารีได้ลงนามกันในข้อตกลงสำคัญด้านการขนส่ง ซึ่งจะเชื่อมโยงท่าเรือของพม่าที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญยิ่ง เข้ากับพื้นที่ส่วนที่อยู่ห่างไกลและด้อยพัฒนาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย

โครงการมูลค่า 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนี้ เปิดทางให้อินเดียเข้าไปพัฒนาท่าเรือสิตต่วย ริมฝั่งแม่น้ำกะลาโดง –อันเป็นโครงการที่สามารถทำให้ท่าเรือแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศแห่งสำคัญขึ้นมา- รวมทั้งอาจจะเป็นที่มั่นเพื่อการส่งกำลังบำรุงทางทหาร -สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ไม่มีทางออกทางทะเลของอินเดีย

ก่อนหน้านี้ การค้าขายกระทำกันได้เพียงด้วยการใช้เส้นทางที่ยืดยาวและอ้อมวกวนผ่านรัฐเบงกอลตะวันตก โดยไปตามช่องระเบียงสิลิกุริ ซึ่งการจราจรคับคั่งอยู่แล้ว จนเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ช่อง “คอไก่”

ถนนสายใหม่และทางเชื่อมต่อผ่านแม่น้ำจะไม่ต้องผ่านเข้าเขตแดนบังกลาเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ปฏิเสธไม่ยอมให้ใช้ท่าเรือจิตตะกองมาทำการค้ากับอินเดีย เนื่องจากแรงคัดค้านทางการเมืองภายในประเทศนั้น

“อินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าถั่วรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่ง จะสามารถได้สินค้านี้มาโดยตรงจากพม่าแทนที่จะต้องผ่านสิงคโปร์” เป็นคำกล่าวของรัฐมนตรีพาณิชย์ ชัยราม ราเมศ

เส้นทางนี้ยังจะทำให้อินเดียมีช่องทางเข้าถึงสิตต่วย เมืองใหญ่ซึ่งตั้งอยู่แค่ห่างจากแม่น้ำกะลาโดงนิดเดียว และกำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางบนบกสำหรับแก๊สของพม่า ในทันทีที่ปริมาณสำรองอันมหาศาลในแหล่งฉ่วย ซึ่งอยู่ในอ่าวเบงกอลเหือดแห้งลง

อินเดียกับจีนกำลังแข่งขันกันช่วงชิงโครงการพัฒนาแก๊สธรรมชาติในแหล่งฉ่วย อันมีปริมาณมหาศาล เป็นเรื่องน่าขันซึ่งหัวเราะไม่ออกที่รัฐวิสาหกิจด้านสำรวจและผลิตของอินเดีย คือ ออยล์ แอนด์ เนเจอรัล แก๊ส คอร์ป กับรัฐวิสาหกิจสาธารณูปโภค แก๊ส ออธอริตี้ ออฟ อินเดีย ลิมิเต็ด ต่างเป็นหุ้นส่วนข้างน้อยภายใต้ผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งคือ บริษัทแดวู ของเกาหลีใต้

ตามคำแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน อินเดียยังได้ลงนามในสนธิสัญญาด้านภาษีกับพม่า เพื่อปราบปรามการหนีภาษี และเพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุน ขณะที่ข้อตกลงป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อนก็จะครอบคลุมภาษีประเภทต่างๆ ทั้งภาษีเงินได้บุคคล, ผลกำไรของภาคบริษัท, เงินปันผล, ดอกเบี้ย, และกำไรจากการขายหลักทรัพย์

ดูเหมือนว่าอินเดียจะไม่ยอมหยุดยั้งการติดต่อกับพม่าในทุกเรื่องราว ถึงแม้เผชิญแรงกดดันจากฝ่ายตะวันตก

แม้กระนั้นกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ก็ได้ออกคำแถลงซึ่งแสดงออกถึงการเดินตามความถูกต้องเที่ยงตรงทางการเมือง โดยระบุว่า มานโมหัน “ได้เน้นถึงความจำเป็นที่พม่าควรจะเร่งรัดกระบวนการ และทำให้มันมีรากฐานอันกว้างขวางซึ่งครอบคลุมทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้ง อองซานซูจี และกลุ่มชนชาติต่างๆ ในพม่าด้วย”

ทว่าอันซารีก็ได้ย้ำถึงจุดยืนของอินเดียที่ว่า การใช้มาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ “รังแต่จะกลายเป็นการสร้างปัญหาความยุ่งยาก” ให้แก่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของพม่า และเป็นอันตรายต่อผลประโยชน์ของประชาชนพม่า

นี่คือการตอกย้ำคำแถลงหลายๆ ครั้งของมูเคอร์จีในปีที่แล้วที่ว่า สหประชาชาติไม่ควรที่จะดำเนินการคว่ำบาตรต่อพม่า และที่ว่านิวเดลีไม่ได้มีปัญหาใดๆ เลยในการติดต่อกับระบอบปกครองทหารในประเทศเพื่อนบ้านของตนรายนี้

ข้อตกลงกะลาโดงกำลังถูกจับตามองว่า เป็นก้าวแรกที่จริงจังในการปฏิบัติตามนโยบาย “มองตะวันออก” ของนิวเดลี ซึ่งเป็นนโยบายที่มูเคอร์จีเป็นผู้เสนอรายสำคัญ

การเยือนของหม่องเอคราวนี้ บังเกิดขึ้นหลังจากที่อินเดียได้เปิดฉากเดินหน้าความริเริ่มทางการทูตเชิงรุกในพม่า ในปีนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดียได้ไปเยือนพม่า ในวาระคล้องจองพอดีกับช่วงที่ระบอบปกครองทหารพม่าประกาศจัดให้มีการลงประชามติรัฐธรรมนูญในเดือนพฤษภาคมนี้ และจัดการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยในปี 2010

อินเดียใช้พยายามมามากกว่าสิบปีแล้วในการติดต่อพัวพันกับพม่า ประเทศซึ่งอินเดียมีพรมแดนร่วมยาวเหยียดถึง 1,600 กิโลเมตร ถึงแม้มีแรงกดดันของนานาชาติที่มุ่งจะโดดเดี่ยวย่างกุ้ง สืบเนื่องจากประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงหลังๆ มานี้

พวกเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญได้เสนอเหตุผลต่างๆ หลากหลายมาอธิบายแนวทางของอินเดีย เป็นต้น การที่อินเดียมีความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์กับพม่าทำให้เป็นเรื่องสำคัญที่อินเดียจะต้องติดต่อพัวพันกับพม่า นอกจากนี้ การค้าและเรื่องเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทั้งสองฝ่าย ยิ่งกว่านั้น เดลียังอ้างเรื่องความต้องการที่จะมีการปฏิบัติการร่วมกันเพื่อต่อต้านพวกแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งมักเข้าไปหลบภัยในพม่า

อินเดียยังไม่มีความสบายใจเป็นอย่างยิ่งต่อการที่จีนมีลู่ทางที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างท่าเรือต่างๆ ทั้งในปากีสถาน (ท่าเรือกวาดาร์), ศรีลังกา, และพม่า รายงานข่าวเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่าความช่วยเหลือที่จีนให้แก่ศรีลังกาในเรื่องโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน เวลานี้มียอดทะลุหลัก 1,000 ล้านดอลลาร์แล้ว มากกว่าสองเท่าตัวของจำนวนที่ลงทุนโดยพวกหุ้นส่วนหน้าเดิมๆ ของศรีลังกา อย่างอินเดียและญี่ปุ่น

ความพยายามดังกล่าวเหล่านี้ของปักกิ่ง เปิดทางความเป็นไปได้ที่อินเดียจะถูกโอบล้อมด้วยการปรากฏตัวทางนาวีของจีนจากทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม ยังไม่น่าเป็นไปได้หรอกที่อินเดียจะกล้าต้านทานแรงกดดันระหว่างประเทศในระดับที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน หากมิใช่เป็นเพราะแหล่งแก๊สธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของพม่า ปริมาณแก๊สสำรองที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วของพม่า อยู่ในระดับ 19 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ณ สิ้นปี 2006 โดยที่ยังมีพื้นที่ซึ่งยังไม่ได้สำรวจอีกกว้างขวางมาก

ตลอดระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้ไปลงทุนอย่างมหาศาลในพม่า ซึ่งเป็นการสร้างเหตุผลสำหรับการได้เข้าถึงแหล่งพลังงานดังกล่าว ปักกิ่งได้ดำเนินยุทธศาสตร์ทำนองเดียวกันนี้มาแล้วทั้งในเอเชีย, แอฟริกา, และละตินอเมริกา เพื่อเป็นผู้ชนะได้แปลงสัมปทานด้านพลังงานหลายต่อหลายแห่ง รวมทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ก็ได้ทำข้อตกลงทั้งในคาซัคสถาน, รัสเซีย, อินโดนีเซีย, ไนจีเรีย, และอังโกลา โดยในกรณีเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว เป็นการเอาชนะอินเดียที่เป็นหนึ่งในคู่แข่งขันสำคัญด้วย

เรื่องที่อินเดียชอกช้ำเป็นอย่างมาก ได้แก่การที่จีนกระทั่งเสนอที่จะซื้อแก๊สจากอิหร่าน หากอินเดียเลือกที่จะผละออกจากโครงการวางท่อแก๊ส อินเดีย-ปากีสถาน-อิหร่าน (ไอพีไอ) อินเดียกำลังแสดงท่าทีรวนเรในเรื่องโครงการไอพีไอ สืบเนื่องจากสหรัฐฯออกแรงกดดันขัดขวาง

เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความพยายามเกี้ยวพาของปักกิ่ง พม่าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับหนึ่งไปแล้วกับ ปิโตรไชน่า ซึ่งจะจ่ายแก๊สจำนวน 6.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตจากแปลงเอ ของแหล่งแก๊สฉ่วย ในอ่าวเบงกอล ให้แก่ทางบริษัทจีนแห่งนี้เป็นเวลา 30 ปี เรื่องนี้ถูกมองว่าเป็นความเพลี่ยงพล้ำสำคัญในความพยายามของนิวเดลีในการแสวงหาแก๊สจากพม่า

เป็นที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าผู้ที่จะได้รับสิทธิทางด้านน้ำมันและแก๊สจากพม่านั้น หากไม่ใช่จีนก็จะเป็นอินเดียนี่แหละ เมื่อเร็วๆ นี้ย่างกุ้งได้ปฏิเสธคำขอให้ขายแก๊สแก่บังกลาเทศ เพื่อช่วยประเทศนั้นรับมือกับวิกฤตพลังงานซึ่งรุนแรงขึ้นทุกที

รัฐมนตรีช่วยพลังงาน เอ็ม ทามิม ของบังกลาเทศ ถูกอ้างคำพูดซึ่งเขากล่าวว่า “พวกเขาบอกว่าพวกเขาจะขายแก๊สของพวกเขาให้แก่อินเดียและจีน แต่ไม่สามารถส่งออกแก๊สมายังบังกลาเทศในขณะนี้ได้ พม่าจะพิจารณาขายแก๊สให้แก่บังกลาเทศ ก็ต่อเมื่อหลังจากมีการค้นพบแหล่งใหม่ๆ เท่านั้น”

จากการพ่ายแพ้ปักกิ่งในการประมูลแปลงสัมปทานด้านพลังงานแห่งแล้วแห่งเล่าทั่วโลก นิวเดลีซึ่งเคยระมัดระวังตัวจึงได้ผ่อนปรนจุดยืนในการต่อต้านพม่าของตนให้อ่อนลงในรอบปีที่ผ่านมา

เดือนกันยายนที่แล้ว รัฐมนตรีปิโตเลียม มูรลี เดโอรา ของอินเดีย ไปเยือนพม่าเพื่อลงนามในข้อตกลงสำรวจหลายฉบับ แม้ในตอนนั้นจะเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยกันอย่างขนานใหญ่ เดโอราต้องรีบเร่งไปยังพม่าภายหลังถูกตำหนิอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนโดยสำนักนายกรัฐมนตรี จากความล้มเหลวไม่สามารถเอาชนะจีนในการชิงเดิมพันด้านพลังงานในพม่าได้

รายงานข่าวที่ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้บ่งชี้ว่า จีนกำลังมองหาลู่ทางความเป็นไปได้ที่จะสร้างแนวท่อน้ำมันและแก๊ส จากพม่าไปยังมณฑลหยุนหนาน ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของตน

เป็นที่แจ่มกระจ่างว่า อินเดียยังมีภารกิจอันยากลำบากรออยู่ข้างหน้า

Siddharth Srivastava เป็นนักหนังสือพิมพ์ที่พำนักอยู่ในนิวเดลี
กำลังโหลดความคิดเห็น