เอเอฟพี/เอเจนซี/ไฟแนนเชียลไทมส์ - ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เบน เบอร์นันกี ต่างสนับสนุนเต็มที่เมื่อวันพฤหัสบดี (17) ต่อเสียงเรียกร้องให้จัดทำมาตรการกระตุ้นทางด้านการคลัง ซึ่งอาจจะมีมูลค่าถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อขับดันเศรษฐกิจอเมริกัน ตลอดจนลดทอนความเสี่ยงที่อาจจะเกิดภาวะถดถอยอย่างยืดเยื้อ
เวลานี้ทั้งคณะรัฐบาลที่นำโดยบุชซึ่งเป็นฝ่ายพรรครีพับลิกัน และรัฐสภาที่นำโดยพรรคเดโมแครต กำลังมีฉันทามติร่วมกันแล้ว ถึงความจำเป็นที่จะต้องคลอดแผนการพลิกฟื้นกู้ชีวิตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งกำลังถูกกระหน่ำหนักทั้งจากวิกฤตภาคที่อยู่อาศัย, ภาวะสินเชื่อตึงตัว, และราคาน้ำมันพุ่งลิ่ว ทว่ายังไม่ได้มีการตกลงกันในเรื่องรายละเอียด
สื่อจำนวนมากต่างอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อบอกว่า ทำเนียบขาวและรัฐสภากำลังหารือกันในเรื่องแผนการดังกล่าว ซึ่งอาจมีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ โดยมาตรการที่ถูกระบุมากเป็นพิเศษ มีอาทิ มาตรการคืนภาษีและลดภาษีให้แก่ภาคครัวเรือนและแก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนงบประมาณใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อยให้รับมือกับภาวะเศรษฐกิจขาลง
บุชมีกำหนดที่จะแถลงเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ณ ทำเนียบขาวในเวลา 11.50 น.วานนี้ (18) ซึ่งตรงกับ 23.50 น.วันเดียวกัน ตามเวลาเมืองไทย โดยที่ โทนี แฟลตโต โฆษกทำเนียบขาวบอกว่า บุช "จะพูดเกี่ยวกับชนิดของนโยบายซึ่งท่านคิดว่า จะเป็นการดำเนินมาตรการอย่างชั่วคราว และมีประสิทธิภาพ ในการเพิ่มพูนอัตราการเติบโตในช่วงระยะสั้น"
สิ่งที่ดูจะมีน้ำหนักอยู่ไม่น้อยในการสร้างโมเมนตัม ให้ทำเนียบขาวกับรัฐสภาเห็นความจำเป็นที่จะต้องรีบตกลงกันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ท่าทีของประธานเฟด เบอร์นันกี ที่ไปแถลงต่อคณะกรรมาธิการงบประมาณ ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดี
เบอร์นันกี บอกว่า เฟดไม่ได้กำลังทำนายว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ก็ย้ำว่าธนาคารกลางพร้อมที่จะดำเนินการในเชิงรุกเพื่อพยุงอัตราการเติบโต นอกจากนั้น เขายังไม่พูดอะไรที่จะเป็นการท้าทายโต้แย้งเสียงคาดหมายที่ว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อย 0.5% ในการประชุมนโยบายครั้งต่อไปวันที่ 29-30 มกราคมนี้
เขายังแสดงความเห็นชอบกับการออกมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ "การดำเนินการทางด้านการคลังสามารถที่จะเป็นประโยชน์เมื่อมองในทางหลักการ โดยที่แรงกระตุ้นทางการคลังและทางการเงินร่วมกัน น่าจะเป็นการเพิ่มความสนับสนุนแก่เศรษฐกิจ ได้มากยิ่งกว่าการดำเนินการทางด้านการเงินเพียงอย่างเดียว"
ประธานเฟด บอกว่า วงเงินระดับ 50,000 ล้าน ถึง 150,000 ล้านดอลลาร์ เป็นขนาดที่สมเหตุสมผล และจะให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ แต่เขาก็ย้ำว่าเป็น "เรื่องสำคัญยิ่งยวด" ที่มาตรการทางการคลังใดๆ ก็ตาม จะต้องออกมากระตุ้นการใช้จ่ายได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบอย่างสูงสุดภายในระยะ 12 เดือนข้างหน้า เพราะขืนชักช้า มาตรการกระตุ้นก็อาจแสดงผลในช่วงซึ่งไม่เป็นที่ต้องการ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปและเพิ่มปัญหาเงินเฟ้อเสียอีก
อย่างไรก็ตาม คำพูดของเบอร์นันกีและท่าทีของทำเนียบขาวกับรัฐสภา ปรากฏว่ายังไม่อาจปลอบใจวอลล์สตรีทได้ โดยดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดวันพฤหัสบดี ดำดิ่งถึง 306.95 จุด หรือ 2.46% ส่วนเอสแอนด์พี500 ก็ถลาลง 2.91% และดัชนีคอมโพสิตของตลาดแนสแดค ติดลบ 1.99%
ทั้งนี้ วอลล์สตรีทยังคงวิตกกับตัวเลขดัชนีกิจกรรมโรงงานย่านแอตแลนติกกลาง ของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ซึ่งชะลอตัวกว่าคาดหมายมาก จนอยู่ในระดับที่ปกติแล้วแสดงว่าเข้าสู่ภาวะถดถอย นอกจากนั้นรายงานผลประกอบการไตรมาส 4/2007 ของเมอร์ริลล์ลินช์ ก็ฉุดให้หุ้นภาคการเงินทรุดหนัก
เมื่อถึงช่วงการซื้อขายในแถบเอเชียวานนี้ ตลาดหุ้นของภูมิภาคนี้ต่างก็ดิ่งต่อในช่วงครึ่งวันแรก ทว่าพอเข้าตอนบ่ายราคาหุ้นกลับเริ่มเงยหัวขึ้นได้ โดยนักวิเคราะห์บอกว่าเพราะตลาดชักมั่นใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่บุชกับรัฐสภากำลังจะเร่งออกมา
ตอนปิดตลาดวานนี้ โตเกียวขึ้นมาเป็นบวก 0.56%, ฮ่องกง ลบ 1.22% แต่ก็กระเตื้องขึ้นมากจากช่วงลงต่ำสุด, ขณะที่สิงคโปร์ ลบ 0.38%