xs
xsm
sm
md
lg

รมช.คค.ลงพื้นที่โคราช ติดตามความก้าวหน้า โครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนช่วงมาบกะเบา -ชุมทางถนนจิระ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ และโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ณ สถานีนครราชสีมา เพื่อติดตามการดำเนินโครงการให้เสร็จสิ้นเป็นตามแผนที่กำหนด พร้อมทั้งได้ร่วมโดยสารขบวนรถไฟท่องเที่ยว KIHA ที่สถานีรถไฟปากช่อง และเยี่ยมชมรับประทานอาหาร “ของดีวิถีริมราง” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟฯ และผู้บริหารการรถไฟฯ ให้การต้อนรับ

นายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา นับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ เพราะนอกจากเปรียบเป็นประตูของการเดินทางไปสู่พื้นที่ภาคอีสานแล้ว จังหวัดนครราชสีมายังมีโครงการคมนาคมสำคัญ ที่สามารถเชื่อมโยงไปกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นอีกหลายโครงการ โดยเฉพาะรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ รวมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) หรือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่จึงมีเป้าหมาย เพื่อต้องการติดตามความก้าวหน้า และผลักดันการดำเนินการของโครงการฯในด้านต่างๆ หากพบอุปสรรคใดก็จะเร่งแก้ไข ให้เสร็จสิ้นตามแผนที่กำหนดไว้ โดยในส่วนโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี ซึ่งเริ่มต้นก่อสร้างที่สถานีมาบกะเบา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านพื้นที่ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และมาสิ้นสุดโครงการที่สถานีชุมทางถนนจิระ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา วงเงินลงทุน 29,968 ล้านบาท

ปัจจุบัน ภาพรวมด้านงานโยธา สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา – คลองขนานจิตร คืบหน้าไปแล้วร้อยละ 96.36 ช้ากว่าแผนงานร้อยละ 3.64 และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์ มีความคืบหน้าร้อยละ95.36 ช้ากว่าแผนงานร้อยละ 4.64 เนื่องจากอยู่ระหว่างการเวนคืนพื้นที่จากประชาชน ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร – ชุมทางถนนจิระ อยู่ระหว่างการแก้ไขรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ช่วงสถานีโคกกรวด – ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 16 กิโลเมตร และปรับกรอบวงเงินเพื่อให้สอดคล้องกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงโคกกรวด - นครราชสีมา งานสัญญาที่ 3 – 5 เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่องบประมาณสูงสุด โดยคาดว่าจะเสนอคณะกรรมการรถไฟฯ ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2567 จึงมอบหมายให้การรถไฟฯ เร่งรัดดำเนินการในด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนงาน

ส่วนในรายละเอียดของสัญญาที่ 1 ช่วงบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) บ้านท่ามะนาว อำเภอปากช่อง ความยาว 900 เมตร ปัจจุบันในส่วนที่เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามทางรถไฟ ความยาว 400 เมตรเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นถนนทางราบ (At-grade) อีกประมาณ 500 เมตรที่อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ ขณะที่การสร้างอุโมงค์ลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) บริเวณถนนเทศบาล 9 อำเภอปากช่อง ความยาว 300 เมตร ก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 77 ของมูลค่างาน ที่เหลืออยู่ระหว่างเวนคืนที่ดินของเอกชน ซึ่งการรถไฟฯ กำลังขออนุมัติงบประมาณเวนคืนเพิ่มเติม 197.38 ล้านบาท หากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ความเห็นชอบ ก็จะเร่งดำเนินการได้ต่อในเดือนตุลาคม 2567 เพื่อให้การดำเนินทั้งโครงการเสร็จตามเป้าหมายภายในเดือนธันวาคม 2568

ส่วนการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่างปากอุโมงค์ลำตะคอง (อุโมงค์ 3) ฝั่งมุ่งหน้าสถานีคลองไผ่ ระยะทาง 237 เมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางนั้น ขณะนี้การรถไฟฯ อยู่ระหว่างเสนองานเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนงานภายในปี 2567 ต่อมานายสุรพงษ์ ได้นำคณะเดินทางไปที่สถานีนครราชสีมา เพื่อติดตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) ระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ซึ่งได้กำชับให้การรถไฟฯ เร่งรัดการก่อสร้าง รวมถึงแก้ไขอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ภายในปี 2571
สำหรับความก้าวหน้าโครงการ ล่าสุด ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ภาพรวมได้ดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 33.48 โดยในส่วนแผนก่อสร้างงานโยธา 14 สัญญา ซึ่งเริ่มก่อสร้างไปตั้งแต่เมื่อปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา และยังไม่ลงนาม 2 สัญญา มีรายละเอียด ดังนี้

ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว 2 สัญญา
- สัญญาที่ 1 – 1 ช่วงกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม.
- สัญญาที่ 2 - 1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก ระยะทาง 11.00 กม.

อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา
1. สัญญา 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. ผลงาน 0.43 %
2. สัญญา 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. ผลงาน 66.32 %
3. สัญญาช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.10 กม. ผลงาน 51.19 %
4. สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. ผลงาน 75.97 %
5. สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. ผลงาน 7.62 %
6. สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.80 กม. ผลงาน 0.32 %
7. สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. ผลงาน 33.46 %
8. สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผลงาน 12.24 %
9. สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.60 กม. ผลงาน 2.62 %
10. สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. ผลงาน 54.65 %

ส่วนที่ยังไม่ลงนาม 2 สัญญา
1. ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม.
2. ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กม.

นอกจากนี้ การรถไฟฯ ได้รายงานความคืบหน้าแผนการสร้างสถานีรถไฟนครราชสีมาแห่งใหม่ สำหรับรองรับโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่เพื่อการรื้อถอนสถานีรถไฟเดิม เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานีใหม่ โดยรูปแบบจะเป็นลักษณะอาคารขนาดใหญ่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งลิฟต์ บันไดเลื่อน บันไดทางขึ้นลง บันไดหนีไฟ ห้องสุขา ห้องพักสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ห้องให้นมบุตร ห้องรับฝากสิ่งของ ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ตลอดจนพื้นที่ใช้สอยสำหรับประชาชน นักท่องเที่ยว

ทั้งนี้ จึงได้สั่งการให้การรถไฟฯ เร่งพัฒนาระบบเชื่อมโยงการขนส่ง เพื่อให้นครราชสีมาเป็นศูนย์กลางรองรับการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว ไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นในจังหวัด รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะการเชื่อมโยงจากโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา ไปยังพื้นที่ต่างๆ ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทาง แก่ประชาชนคนไทยได้อีกมาก

ในโอกาสนี้ นายสุรพงษ์ ยังได้นำคณะร่วมโดยสารขบวนรถไฟท่องเที่ยว KIHA ที่สถานีรถไฟปากช่อง และร่วมรับประทานอาหาร ของดีวิถีริมราง เพื่อร่วมประชาสัมพันธ์เส้นทางรถไฟท่องเที่ยว ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล โดยในเส้นทางของดีวิถีริมรางในจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นแหล่งรวบรวมอาหารที่มีชื่อเสียงมากมายไม่ว่า ข้าวหมูแดงที่สถานีปากช่อง ผัดหมี่และปลาร้าทอดกรอบที่สถานีนครราชสีมา ข้าวโพดหวาน ที่หอมหวาน เปลือกบางที่สถานีปางอโศก น้อยหน่าผลใหญ่ รสหวานทานง่าย ที่สถานีกลางดง เป็นต้น

นายสุรพงษ์ มั่นใจว่า หากการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมาดำเนินการได้แล้วเสร็จ จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มขีดความสามารถในระบบโลจิสติกส์ของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ และขับเคลื่อนให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางคมนาคมของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ในการเดินทาง การขนส่งสินค้าของประชาชนคนไทยได้ดียิ่งขึ้นต่อไป