xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กทพ.ไฟเขียว ITD เตรียมรับสัญญาทางด่วน "จตุโชติ-ลำลูกกา" 1.86 หมื่นล้านบาท เพิ่มโอกาสฟื้นธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด กทพ.ไฟเขียว "อิตาเลียนไทย" ชนะประมูลทางด่วนฉลองรัชส่วนต่อขยาย “ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา” หลังเสนอราคาต่ำสุด 1.86 หมื่นล้านบาท เช็กฐานะการเงิน แบงก์ยืนยันค้ำประกัน คาดเซ็นสัญญา ต.ค.นี้ อานิสงส์งานใหญ่เพิ่มโอกาสฟื้นธุรกิจ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด กทพ.) ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล เป็นประธาน วันที่ 25 มิ.ย. 2567 ว่า ที่ประชุมเห็นชอบผลการประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทาง 16.2 กม. ราคากลาง 18,739.55 ล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่ง บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก โดยเสนอราคาต่ำที่สุดและต่ำกว่าราคากลาง โดยบอร์ด กทพ.มีความเห็นให้ไปเจรจาลดราคาลงอีกหากสามารถต่อรองได้

หลังจากนี้ กทพ.จะดำเนินการตามความเห็นบอร์ดและประกาศผลประมูลต่อไป ซึ่งตามขั้นตอนผู้มีสิทธิ์อุทธรณ์ต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วันทําการนับแต่วันประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศกรมบัญชีกลาง ส่วนการลงนามสัญญานั้น จะต้องรอประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในราชกิจจานุเบกษาก่อนจึงจะดำเนินการลงนามสัญญาจ้างได้ ซึ่งคาดว่าประมาณเดือน ต.ค. 2567

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า กรณีที่อิตาเลียนไทยฯ มีประเด็นปัญหาสภาพคล่องทางการเงินนั้น คณะกรรมการประกวดราคาฯ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติอย่างครบถ้วน ส่วนฐานะการเงินได้ตรวจสอบตามระเบียบกรมบัญชีกลางแล้ว พร้อมทั้งยังให้บริษัทยืนยันจากธนาคารเพิ่มเติมในการสนับสนุนด้านการเงินด้วยเพื่อความมั่นใจ ซึ่งหลังลงนามสัญญาทางเอกชนจะต้องวางหลักประกันเป็นหนังสือค้ำประกัน 7.5% ของราคางานตามสัญญา ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 1,400 ล้านบาท

สำหรับโครงการทางพิเศษ ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกา มูลค่าลงทุนโครงการ 24,060 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืน 3,726.81 ล้านบาท กรอบค่าก่อสร้างงานโยธา 19,837.30 ล้านบาท (ราคากลาง 18,739.55 ล้านบาท) ค่าควบคุมงาน 495.93 ล้านบาท มีทางขึ้น-ลง 3 แห่ง ได้แก่ ทางขึ้น-ลงจตุโชติ, ทางขึ้น-ลงหทัยราษฎร์, ทางขึ้น-ลงลำลูกกา มีระยะเวลาดำเนินการ 1,080 วัน เปิดให้บริการในเดือน มิ.ย. 2571

ส่วนงานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดว่าจะประกาศประกวดราคาภายใน 1-2 ปี หลังจากเริ่มก่อสร้างงานโยธาไปแล้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า กทพ.กำหนดราคากลาง 18,739.55 ล้านบาท ซึ่งวงเงินของอิตาเลียนไทยฯ ลดจากราคากลางไม่ถึง 100 ล้านบาท หรือไม่ถึง 1% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่ กทพ.กำหนดราคากลางค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว โดยสามารถก่อสร้างได้ตามมาตรฐาน ขณะที่ผู้รับเหมาอาจจะมีกำไรไม่มาก สำหรับผู้รับเหมาที่เสนอราคาอีก 3 ราย ได้แก่ บมจ.ช.การช่าง หรือ CK, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ UNIQUE และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ STEC


@อิตาเลียนไทยฯ รับสัญญาใหญ่ 1.86 หมื่นล้านบาท เพิ่มโอกาสฟื้นธุรกิจ

รายงานข่าวแจ้งว่า บมจ.อิตาเลียนไทยฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และประสบกับการขาดทุนอย่างหนัก จนถึงขั้นไม่สามารถชำระหุ้นกู้ได้ตามกำหนด สร้างความกังวลทั้งวงการผู้รับเหมา การเงินและตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมไปถึงซัปพลายเออร์ ผู้รับเหมาช่วง พนักงาน แรงงานและตลาดวัสดุก่อสร้าง ขณะที่อิตาเลียนไทยฯ นับเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ที่รับงานภาครัฐและเอกชน มูลค่ารวมหลักแสนล้านบาท ทั้งโครงการมอเตอร์เวย์ ถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รวมไปถึงรถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น

ปัจจุบันมีงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญา 3 ดำเนินการในนามกิจการร่วมค้าไอทีดี-วีซีบี ร่วมกับ บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง มูลค่า 6,877 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 (มอเตอร์เวย์) สายทางยกระดับ ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 7 มูลค่า 1,868 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103.7 กิโลเมตร ในนาม กิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ มูลค่างาน 26,560 ล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จำนวน 3 สัญญา คือ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และปางอโศก-บันไดม้า มูลค่างาน 9,348,995,700 บาท, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด วงเงิน 9,848 ล้านบาท, สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย มูลค่างาน 6,573 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างยังเดินหน้า และสามารถเบิกจ่ายค่างานได้ตามแผน

ดังนั้น การชนะประมูลโครงการทางด่วนสายจตุโชติ-ลำลูกกา ที่มีมูลค่างานกว่า 1.86 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์แรกของกระทรวงที่เปิดประมูลในปีนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะช่วยให้อิตาเลียนไทยฯ ฟื้นฟูธุรกิจและกลับมาอยู่ในเส้นทางผู้รับเหมารายใหญ่ของไทยได้อีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น